การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอสำหรับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

ความเป็นมา

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnoea; OSA) เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของการนอนหลับ โดยผู้ที่มีภาวะ OSA จะมีช่วงหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้เกิดอาการนอนกรน, พักผ่อนไม่เพียงพอ, ง่วงนอนตอนกลางวัน, อ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย, นอนหลับยาก และปวดหัวตอนเช้าได้

เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous positive airway pressure; CPAP) ถือเป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ที่มีภาวะ OSA อย่างไรก็ตาม มีเพียงส่วนน้อยที่จะใช้เครื่อง CPAP อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเครื่อง CPAP จะส่งแรงดันอากาศที่คงที่และต่อเนื่องผ่านทางท่อที่ต่อกับหน้ากากหรือที่ครอบจมูก ซึ่งมักพบปัญหาว่าทำให้คัดจมูกและท้องอืด รู้สึกอึดอัด และเครื่องมีเสียงดัง ซึ่งรบกวนคู่นอน

การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอเป็นวิธีที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลิ้นและลำคอ ซึ่งวิธีนี้เพียงวิธีเดียวอาจลดความรุนแรงของอาการ OSA และลดอาการง่วงนอนตอนกลางวันได้ หรือใช้ร่วมกับเครื่อง CPAP ก็ได้

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ผู้วิจัยพบการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) 9 รายการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 347 คน เป็นสตรี 69 คนและเด็ก 13 คน

ในผู้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการบำบัดหลอก (sham therapy) การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจช่วยลดอาการง่วงนอนในตอนกลางวัน, อาจเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ, อาจส่งผลให้ค่า Apnea-Hypopnoea Index (AHI) ลดลงอย่างมาก (จำนวนการหยุดหายใจหรือหายใจตื้นที่บันทึกในหนึ่งชั่วโมงของการนอนหลับด้วยเครื่อง polysomnography), อาจไม่ทำให้ความถี่ของการกรนลดลงหรือลดลงเพียงเล็กน้อย และอาจช่วยลดความรุนแรงของการกรนได้เล็กน้อย

ในช่วงที่อยู่ในระหว่างรอรับการรักษา, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน, ไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน และอาจลดค่า AHI

เมื่อเทียบกับการใช้เครื่อง CPAP, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจไม่ช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน และอาจเพิ่มค่า AHI

เมื่อเทียบกับการใช้เครื่อง CPAP ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอ, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน และอาจเพิ่มค่า AHI

เมื่อเทียบกับการบริหารทางเดินหายใจร่วมกับการใช้แถบขยายจมูก, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจไม่ช่วยทำให้อาการง่วงนอนตอนกลางวันแตกต่างกันหรือแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย, อาจเพิ่มคุณภาพการนอนได้เล็กน้อย และไม่ทำให้ค่า AHI แตกต่างกันหรือแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวันและอาจเพิ่มคุณภาพการนอน

ในเด็ก เมื่อเทียบกับการล้างจมูกเพียงอย่างเดียว การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอร่วมกับการล้างจมูกอาจไม่ส่งผลต่อค่า AHI

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ระดับความเชื่อมั่นของผลการศึกษามีตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงต่ำมากสำหรับการเปรียบเทียบทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการมีอคติ (การปกปิดผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่ดีพอ และข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ในบางการศึกษา) และความไม่ชัดเจนของผลการศึกษา

ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและผู้วิจัยไม่สามารถทำการวิเคราะห์แยกต่างหากสำหรับสตรีได้

บทสรุป

เมื่อเทียบกับการบำบัดหลอก, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน และอาจเพิ่มคุณภาพการนอนในระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมที่ดำเนินการปกปิดผู้เข้าร่วมและผู้ประเมินผลลัพธ์ มีจำนวนผู้เข้าร่วมมากขึ้น และต้องใช้เวลาในการรักษาและติดตามผลนานขึ้น

เนื้อหารวบรวมถึงเดือนพฤษภาคม 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เมื่อเทียบกับการบำบัดหลอก, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน และอาจเพิ่มคุณภาพการนอนในระยะสั้น ความน่าเชื่อถือของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบทั้งหมดมีตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงต่ำมาก สาเหตุหลักมาจากการขาดการปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์ในการประเมินผลลัพธ์ของการศึกษาแบบ subjective, ผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ และความไม่ชัดเจนของผลการศึกษา จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ในอนาคต ผู้ประเมินผลลัพธ์ควรจะได้รับการปกปิด และการศึกษาใหม่ควรเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงและเด็ก และมีระยะเวลาการรักษาและติดตามผลที่นานขึ้น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnoe; OSA) เป็นกลุ่มอาการที่มีการหยุดหายใจ (apneoe) หรือหายใจตื้น (hypopnoea) ขณะหลับ อาการที่พบบ่อยของโรคนี้ คือ การนอนกรน, การพักผ่อนที่ไม่ได้คุณภาพ และการง่วงนอนตอนกลางวัน โดยส่วนใหญ่เจอในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมักมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น รู้สึกล้าหรืออ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย, นอนหลับยาก และปวดหัวตอนเช้า ภาวะ OSA สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการทำงาน, การเป็นโรคเกี่ยวกับการเผาผลาญ (metabolic disease), การเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด, การเสียชีวิต และการเกิดอุบัติเหตุจราจร

เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous positive airway pressure; CPAP) ทำหน้าที่ส่งแรงดันอากาศที่คงที่และต่อเนื่องผ่านทางท่อที่ต่อกับหน้ากากหรือที่ครอบจมูก ซึ่งถือเป็นตัวเลือกแรกสำหรับการรักษาภาวะ OSA ในคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้เครื่อง CPAP ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งวิธีนี้เป็นการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ตัวอย่างเช่น การบริหารปากและลำคอ โดยผสมผสานการออกแรงแบบ isotonic และ isometric ของกล้ามเนื้อส่วนปาก, คอหอย และทางเดินหายใจส่วนบน ให้ทำกิริยาต่างๆ เช่น การพูด, การหายใจ, การเป่า, การดูด, การเคี้ยว และการกลืน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และผลเสียของการบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอสำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) จากฐานข้อมูลของ Cochrane Airways Trials Registry (วันที่สืบค้นล่าสุด 1 พฤษภาคม 2020) และสืบค้นการศึกษาอื่นๆ ที่ได้ลงทะเบียนบนเว็บไซต์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยรวบรวม RCTs ที่ศึกษาในผู้ใหญ่และเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ OSA

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยใช้วิธี GRADE ผลลัพธ์หลัก คือ อาการง่วงนอนตอนกลางวัน, การเจ็บป่วยและการเสียชีวิต

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยพบการศึกษา 9 รายการ ที่เข้าเกณฑ์สำหรับการทบทวนครั้งนี้ และการศึกษาอีก 9 รายการที่กำลังดำเนินการวิจัยอยู่ การศึกษา RCTs ทั้ง 9 รายการ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 347 คน (สตรี 69 คนและเด็ก 13 คน) อายุเฉลี่ยของผู้ใหญ่อยู่ระหว่าง 46-51 ปี, คะแนนความง่วงนอนตอนกลางวันมีตั้งแต่ 8 ถึง 14, และความรุนแรงของอาการ OSA มีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาของการศึกษาอยู่ระหว่าง 2 ถึง 4 เดือน

ไม่มีการศึกษาใดที่วัดผล การเกิดอุบัติเหตุ, การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือการเสียชีวิต ผู้วิจัยพยายามค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ แต่ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานสิ่งนี้

ในผู้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการบำบัดหลอก (sham therapy), การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (Epworth Sleepiness Scale (ESS), MD (mean difference) -4.52 คะแนน, 95% Confidene interval (CI) -6.67 ถึง -2.36; 2 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 82 คน; หลักฐานความมีความเชื่อมั่นปานกลาง); อาจเพิ่มคุณภาพการนอน (MD -3.90 คะแนน, 95% CI -6.31 ถึง -1.49; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 31 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ); อาจทำให้ค่า Apnea-Hypopnoea Index ลดลงอย่างมาก (AHI, MD -13.20 คะแนน, 95% CI -18.48 ถึง -7.93; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 82 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); อาจไม่ลดความถี่ในการนอนกรน แต่หลักฐานยังไม่แน่นอน (Standardized Mean Difference (SMD) -0.53 คะแนน, 95% CI -1.03 ถึง -0.03; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 67 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); และอาจลดความความรุนแรงของการนอนกรนได้เล็กน้อย (MD -1.9 คะแนน, 95% CI -3.69 ถึง -0.11, 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 51 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)

ในช่วงที่อยู่ในระหว่างรอรับการรักษา, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอ: อาจลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (ESS, change from baseline MD -3.00 คะแนน, 95% CI -5.47 ถึง -0.53; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 25 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน (MD -0.70 คะแนน, 95% CI -2.01 ถึง 0.61; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 25 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); ทำให้ค่า AHI ลดลง (MD -6.20 คะแนน, 95% CI -11.94 ถึง -0.46; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 25 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเทียบกับการใช้เครื่อง CPAP, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจไม่ช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (MD 0.30 คะแนน, 95% CI -1.65 ถึง 2.25; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 54 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); และอาจเพิ่มค่า AHI (MD 9.60 คะแนน, 95% CI 2.46 ถึง 16.74; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 54 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเทียบกับการใช้เครื่อง CPAP ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอ, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (MD 0.20 คะแนน, 95% CI -2.56 ถึง 2.96; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 49 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); และอาจเพิ่มค่า AHI (MD 10.50 คะแนน, 95% CI 3.43 ถึง 17.57; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 49 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเทียบกับการบริหารทางเดินหายใจร่วมกับการใช้แถบขยายจมูก, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจไม่ช่วยลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (MD 0.20 คะแนน, 95% CI -2.46 ถึง 2.86; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 58 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); อาจเพิ่มคุณภาพการนอนเล็กน้อย (-1.94 คะแนน, 95% CI -3.17 ถึง -0.72; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 97 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง); อาจไม่ส่งผลต่อค่า AHI (MD -3.80 คะแนน, 95% CI -9.05 ถึง 1.45; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 58 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน, การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคออาจลดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (MD -6.40 คะแนน, 95% CI -9.82 ถึง -2.98; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 26 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); และอาจเพิ่มคุณภาพการนอน (MD -3.10 คะแนน, 95% CI -5.12 ถึง -1.08; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 26 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

ในเด็ก เมื่อเทียบกับการล้างจมูกเพียงอย่างเดียว การบริหารกล้ามเนื้อปากและลำคอร่วมกับการล้างจมูกอาจไม่ส่งผลต่อค่า AHI (MD 3.00, 95% CI -0.26 ถึง 6.26; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 13 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 17 ธันวาคม 2020

Tools
Information