แมกนีเซียมซัลเฟตสำหรับรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันในเด็กอายุไม่เกินสองปี

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ผู้วิจัยต้องการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของแมกนีเซียมซัลเฟตในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันในเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี

ที่มาและความสำคัญ

โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและมักพบในเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี การติดเชื้อจะทำให้ทางเดินหายใจเล็กๆ ในปอดถูกอุดกั้น ก่อให้เกิดอาการไอ, หายใจหอบ และหายใจลำบาก การรักษาตามปกติเป็นการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งรวมถึงการให้สารน้ำและออกซิเจนที่มีความชื้นอย่างเพียงพอ มีโอกาสที่เด็กที่ติดเชื้อบางคนอาจต้องได้รับการดูแลใน ICU

ช่วงเวลาที่สืบค้น

หลักฐานที่มีจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2020

ลักษณะของการศึกษา

ผู้วิจัยได้รวบรวมการศึกษา 4 ฉบับ (เด็ก 564 คน) ที่ดำเนินการในประเทศกาตาร์, ตุรกี, อิหร่านและอินเดีย มีการศึกษา 3 ฉบับ ศึกษาในเด็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบในระดับปานกลางถึงรุนแรง การศึกษาเหล่านี้ได้เปรียบเทียบระหว่างแมกนีเซียมซัลเฟตที่ให้ทางหลอดเลือดดำ (intravenous) หรือเป็นแบบละอองฝอย (nebulised) กับการรักษาหลอก (เรียกว่ายาหลอก - สิ่งที่ดูคล้ายการรักษาด้วยแมกนีเซียมซัลเฟต) หรือยาขยายหลอดลม (salbutamol หรือ epinephrine) หรือน้ำเกลือ (hypertonic saline) หรือการไม่ได้รับยาใดๆ

แหล่งเงินทุนของการวิจัย

มีการศึกษา 1 ฉบับ ได้รับทุนจากโรงพยาบาลและ การศึกษาอีก 1 ฉบับ ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย ส่วนการศึกษา 2 ฉบับที่เหลือไม่ได้รายงานแหล่งเงินทุน

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่าแมกนีเซียมซัลเฟตที่ให้ทางหลอดเลือดดำหรือแบบพ่นละอองฝอย (ไม่ว่าจะเป็นตัวยาเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ) จะทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กอายุไม่เกินสองปี และยังไม่สามารถระบุได้ว่าแมกนีเซียมซัลเฟตช่วยลดการเสียชีวิต, ปัญหาทางการแพทย์ที่ไม่คาดคิดระหว่างการรักษา, เวลาที่นอนโรงพยาบาล หรือความรุนแรงของโรค (ตามคะแนนจากการประเมินทางคลินิกของแพทย์) อย่างไรก็ตาม การศึกษาไม่ได้รายงานเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัว

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

โดยรวมแล้ว ผู้วิจัยไม่แน่ใจในผลลัพธ์เหล่านี้มากนัก

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่จะบ่งบอกประสิทธิผลและความปลอดภัยของแมกนีเซียมซัลเฟตในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันในเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และไม่มีการศึกษาใดที่รายงานระยะเวลาในการฟื้นตัว, ระยะเวลาที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ, ระยะเวลาที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หรือผลการทดสอบสมรรถภาพปอด ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในบางการศึกษา สิ่งที่จำเป็นในอนาคตคือ การศึกษา RCT ที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อประเมินผลของแมกนีเซียมซัลเฟตในการรักษาเด็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน และควรมีการวัดผลลัพธ์ที่สำคัญ เช่น ระยะเวลาในการฟื้นตัว และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันเป็นความเจ็บป่วยที่เป็นภาระอย่างมากต่อเด็ก, ครอบครัวและสถานพยาบาล ส่วนใหญ่จะพบในเด็กที่อายุน้อยกว่าสองปี การรักษาประกอบด้วยการ ให้สารน้ำอย่างเพียงพอ, การเสริมออกซิเจนที่มีความชื้น และการพ่นยาละอองฝอย (nebulisation) เช่น salbutamol, epinephrine และ hypertonic saline แต่ทว่า ประสิทธิผลของแมกนีเซียมซัลเฟตสำหรับการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันยังไม่ชัดเจน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของแมกนีเซียมซัลเฟตในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันในเด็กอายุไม่เกินสองปี

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นจากฐานข้อมูล CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, LILACS และคลังลงทะเบียนงานวิจัยอีก 2 แหล่ง จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2020 และได้ติดต่อคณะผู้ทำการวิจัยเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม รวมไปถึงสืบค้นจาก หนังสือประมวลผลการประชุมทางวิชาการ (conference proceedings) และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่คัดเลือกมา โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์แล้วหรือยังไม่ได้เผยแพร่ก็ตามล้วนมีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือก

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาแบบ Randomized controlled trials (RCTs) และ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบระหว่างการให้แมกนีเซียมซัลเฟตเพียงอย่างเดียวหรือให้ร่วมกับการรักษาอื่น กับการให้ยาหลอกหรือการรักษาแบบอื่น ในเด็กอายุไม่เกิน 2 ปีที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน ผลลัพธ์หลักคือเวลาในการฟื้นตัว, อัตราการเสียชีวิตและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล, คะแนนความรุนแรงทางคลินิกที่ 0 ถึง 24 ชั่วโมงและ 25 ถึง 48 ชั่วโมงหลังการรักษา, ผลการทดสอบสมรรถภาพปอด (pulmonary function test), การเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน, ระยะเวลาที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ และระยะเวลาที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนัก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane และใช้วีธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยได้รวบรวม RCT 4 ฉบับ (เด็ก 564 คน) มีการศึกษา 1 ฉบับ ได้รับทุนจากโรงพยาบาลและ การศึกษาอีก 1 ฉบับ ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย ส่วนการศึกษา 2 ฉบับที่เหลือไม่ได้รายงานแหล่งเงินทุน การรักษาที่เป็นคู่เปรียบเทียบแตกต่างกันไประหว่างการทดลองทั้ง 4 ฉบับ การศึกษาดำเนินการในประเทศกาตาร์, ตุรกี, อิหร่านและอินเดีย ผู้วิจัยประเมินงานวิจัย 2 ฉบับว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำ และอีก 2 ฉบับ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอคติโดยรวมไม่ชัดเจน ความน่าเชื่อถือของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์และการเปรียบเทียบทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำมาก ยกเว้นข้อเดียว คือ อัตราการเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลภายใน 30 วันหลังจากกลับบ้านของกลุ่มแมกนีเซียมซัลเฟตเทียบกับยาหลอก โดยไม่มีการศึกษาใดที่รายงานระยะเวลาในการฟื้นตัว, ระยะเวลาที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ, ระยะเวลาที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หรือผลการทดสอบสมรรถภาพปอด

ไม่มีรายงานการเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงของแมกนีเซียมซัลเฟตเมื่อเทียบกับยาหลอก (1 RCT, เด็ก 160 คน), ประสิทธิผลของแมกนีเซียมซัลเฟตต่อความรุนแรงทางคลินิกไม่แน่นอน (ที่ 0 ถึง 24 ชั่วโมง: mean difference (MD) ของ Wang score 0.13, 95% confidence interval (CI) -0.28 ถึง 0.54; และที่ 25 ถึง 48 ชั่วโมง: MD ของ Wang score -0.42, 95% CI -0.84 ถึง -0.00), แมกนีเซียมซัลเฟตอาจเพิ่มอัตราการเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลภายใน 30 วันหลังจากกลับบ้าน (risk ratio (RR) 3.16, 95% CI 1.20 ถึง 8.27; เด็ก 158 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

ไม่มีการรายงานผลลัพธ์หลักใดๆ ในการศึกษาที่เปรียบเทียบแมกนีเซียมซัลเฟตกับ hypertonic saline (1 RCT, เด็ก 220 คน) ประสิทธิผลไม่ชัดเจนในเรื่องระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล (MD 0.00 วัน, 95% CI -0.28 ถึง 0.28) และต่อคะแนนความรุนแรงทางคลินิก Respiratory Distress Assessment Instrument (RDAI) ที่ 25 ถึง 48 ชั่วโมง (MD 0.10, 95% CI -0.39 ถึง 0.59)

ไม่มีรายงานการเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงของแมกนีเซียมซัลเฟตเมื่อให้หรือไม่ให้ร่วมกับ salbutamol เทียบกับการให้ salbutamol (1 RCT, เด็ก 57 คน), ประสิทธิผลต่อระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลไม่ชัดเจน (แมกนีเซียมซัลเฟต: 24 ชั่วโมง (95% CI 25.8 ถึง 47.4), แมกนีเซียมซัลเฟต + salbutamol: 20 ชั่วโมง (95% CI 15.3 ถึง 39.0), และ salbutamol: 24 ชั่วโมง (95% CI 23.4 ถึง 76.9))

ไม่มีการรายงานผลลัพธ์หลักใดๆ ในการศึกษาที่เปรียบเทียบแมกนีเซียมซัลเฟต + epinephrine กับการไม่ได้รับยาใดๆ หรือ normal saline + epinephrine (1 RCT, เด็ก 120 คน) ประสิทธิผลชัดเจนสำหรับระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล (MD -0.40 ชั่วโมง, 95% CI -3.94 ถึง 3.14) และสำหรับคะแนน RDAI (0 ถึง 24 ชั่วโมง: MD -0.20, 95% CI -1.06 ถึง 0.66; และ 25 ถึง 48 ชั่วโมง: MD -0.90, 95% CI -1.75 ถึง -0.05)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 23 ธันวาคม 2020

Tools
Information