การให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูงทางจมูกสำหรับช่วยการหายใจในผู้ป่วยหนักผู้ใหญ่

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูงทางจมูก (HFNC) เป็นทางเลือกในการรักษาที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ที่ต้องการการช่วยหายใจหรือไม่

ความเป็นมา

ผู้ที่อยู่ในห้องไอซียูอาจต้องการการช่วยเหลือในการหายใจและ HFNC เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการช่วยเหลือนี้ HFNC จะให้อากาศที่อุ่นและออกซิเจนผ่านท่อพลาสติกขนาดเล็กที่สวมอยู่ภายในรูจมูก การไหลเวียนของอากาศในอัตราที่สูงกว่าการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐานในแต่ละนาที (ซึ่งไม่ได้ให้ความอุ่นเสมอไปและอาจส่งผ่านทางหน้ากากพลาสติก (face mask) หรือ ท่อเล็กๆทางจมูก (nasal cannulae) ตัวเลือกการช่วยเหลือการช่วยหายใจอื่น ๆ ได้แก่ การช่วยหายใจแบบไม่รุกราน (NIV) (การช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจโดยใช้ mask เป็นตัวจ่ายลมให้กับผู้ปวย) หรือการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกแบบไม่รุกราน (NIPPV) วิธีการเหล่านี้ใช้แรงดันเพียงเล็กน้อยเพื่อดันอากาศเข้าไปในปอดโดยลมไหลผ่านหน้ากากที่กระชับใบหน้าหรือสวมหมวกลักษณะคล้ายหมวกกันน็อคคลุมทั้งศีรษะ เครื่องช่วยหายใจแบบที่ต้อง่ผ่านท่อหลอดลมเป็นการให้การช่วยเหลือในระดับสูงสุดโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ (เครื่องช่วยหายใจประดิษฐ์) ในการดันอากาศเข้าและออกจากปอดผ่านท่อพลาสติกที่สอดเข้าไปในหลอดลม

วันที่สืบค้น

หลักฐานที่มีอยู่เป็นปัจจุบันจนถึงเดือน เมษายน 2020

ลักษณะของการศึกษา

ผู้เข้าร่วมทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ (อายุ 16 ปีขึ้นไป) ที่ต้องการการช่วยหายใจในห้องไอซียู ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีภาวะหายใจล้มเหลว (ซึ่งปอดไม่สามารถรับออกซิเจนเพื่อเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงพอ) หรือเพิ่งถอดเครื่องช่วยหายใจออกและต้องการการช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การหายใจด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ

เราสืบค้นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม การทดลองแบบนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะอยู่ในกลุ่มทดลองและให้หลักฐานที่ดีที่สุด เรารวบรวมการทดลองที่เปรียบเทียบ HFNC กับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐานหรือ NIV หรือ NIPPV เรารวบรวมการศึกษาได้ 31 เรื่องกับผู้เข้าร่วมจำนวน 5136 คน กับการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ 51 เรื่อง และการศึกษา 19 เรื่องที่รอการจำแนก การศึกษา 14 เรื่อง ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทผลิตอุปกรณ์ช่วยหายใจ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

HFNC เปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน

เราพบว่าการใช้ HFNC อาจลดความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดอื่น (การรักษาล้มเหลว) เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างระหว่าง 2 การทดลองสำหรับ: การเสียชีวิตในโรงพยาบาล ระยะเวลาที่อยู่ใน ICU ปอดติดเชื้อ (การติดเชื้อในปอด) ผิวหนังถูกทำลายจากท่อช่วยหายใจหรือหน้ากากที่สัมผัสกับใบหน้า ความสุขสบายในขณะที่ผู้ป่วยได้รับเครื่องช่วยหายใจ หรือการรักษาแต่ละอย่างดีอย่างไรในการให้ออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด

HFNC เปรียบเทียบกับ NIV หรือ NIPPV

เราไม่พบความแตกต่างของความล้มเหลวในการรักษาระหว่างการใช้ HFNC และ NIV หรือ NIPPV นอกจากนี้เรายังไม่พบหลักฐานของความแตกต่างของการเสียชีวิตในโรงพยาบาล ระยะเวลาที่อยในู่ ICU ปอดติดเชื้อหรือ barotrauma (บาดเจ็บของร่างกายที่เกิดจากความแตกต่างของความดันภายในและภายนอกร่างกาย) NIV หรือ NIPPV อาจช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่เลือดได้ดีขึ้น เราไม่แน่ใจว่า HFNC จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายมากขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการใช้งานหรือไม่ ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานเกี่ยวกับผิวหนังถูกทำลาย

คุณภาพของหลักฐาน

เราใช้มาตรวัดระดับคะแนนเพื่อประเมินคุณภาพของหลักฐานในการทดลองเหล่านี้ เมื่อเราให้คะแนนหลักฐานว่ามีความน่าเชื่อถือต่ำมาก นั่นหมายความว่าเราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ ความน่าเชื่อถือสูงหมายความว่าเรามีความมั่นใจมากเกี่ยวกับผลลัพธ์การศึกษา

เราไม่มีหลักฐานจากการศึกษาที่มากเพียงพอเสมอไปที่ทำให้ให้เรามั่นใจในผลลัพธ์ที่สำคัญ บางครั้งการค้นพบของเราเปลี่ยนไป หากเรานำการศึกษาที่รายงานผลการศึกษาไม่ค่อยดีออกไป (เช่น วิธีการจัดสรรผู้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มได้รับการรักษาได้อย่างไร) นอกจากนี้เรายังพบความแตกต่างบางอย่างระหว่างผลการศึกษาสำหรับผลลัพธ์บางตัว เราค่อนข้างมั่นใจในการค้นพบของเราว่า HFNC ไม่มีอิทธิพลต่อการเสียชีวิตในโรงพยาบาลและโรคปอดติดเชื้อเมื่อเทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน แต่สำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ ทั้งหมดเราได้ตัดสินว่าหลักฐานนั้นมีความน่าเชื่อถือต่ำหรือต่ำมาก ซึ่งหมายความว่าความเชื่อมั่นของเราต่อผลลัพธ์เหล่านี้จำกัดหรือจำกัดมาก และผลกระทบที่แท้จริงอาจแตกต่างกันมาก

บทสรุป

HFNC อาจทำให้ความล้มเหลวในการรักษาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน แต่อาจทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยเมื่อเทียบกับ NIV หรือ NIPPV สำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ จากการทบทวน ส่วนใหญ่เราพบหลักฐานไม่น่าเชื่อถือว่าผลที่ได้นั้นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เราพบการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่อีก 51 เรื่องและเราวางแผนที่จะรวมการทดลองเหล่านี้ไว้ในการทบทวนวรรณกรรมในอนาคตเพื่อให้หลักฐานนั้นทันสมัย เมื่อรวมการทดลองเหล่านี้เข้าด้วยกัน เราอาจได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันเกี่ยวกับ HFNC ว่ามีประโยชน์สำหรับการช่วยหายใจในผู้ป่วยผู้ใหญ่ใน ICU หรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

HFNC อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการรักษาน้อยลงเมื่อเทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน แต่อาจทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยกับความล้มเหลวในการรักษาเมื่อเทียบกับ NIV หรือ NIPPV สำหรับผลการตรวจสอบผลลัพธ์ตัวอื่น ๆ ส่วนใหญ่เราไม่พบหลักฐานว่ามีผลแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หลักฐานมักมีความน่าเชื่อถือต่ำหรือต่ำมาก เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินการจำนวนมาก ซึ่งผลของการศึกษาเหล่านี้จะถูกนำมาทบทวนตรวจสอบในอนาคตและอาจเพิ่มความน่าเชื่อถือหรืออาจเปลี่ยนทิศทางของผลกระทบเหล่านี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลที่สูงทางจมูก (HFNC) เป็นการส่งผ่านการไหลเวียนของอากาศที่ผสมกับออกซิเจนที่มีความชื้นสูงผ่านทางท่อเล็กที่ให้ทางจมูกและอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือในระบบ ทางเดินหายใจสำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) นี่คือการทบทวนวรรณต่อจากการทบทวนก่อนหน้านี้เพื่อความทันสมัย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของ HFNC เปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน หรือการช่วยหายใจที่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ (NIV) หรือการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกที่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ (NIPPV) สำหรับช่วยหายใจในผู้ป่วยผู้ใหญ่ในห้องไอซียู

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, Web of Science และ Cochrane COVID-19 Register (17 เมษายน 2020) ทะเบียนการทดลองทางคลินิก (6 เมษายน 2020) และทำการค้นหาการอ้างอิงไปข้างหน้าและย้อนกลับ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการศึกษาที่เป็น randomized controlled studies (RCTs) with a parallel-group หรือ cross-over design โดยเปรียบเทียบการใช้ HFNC กับอุปกรณ์ช่วยหายใจแบบไม่สอดใส่ท่อทางเดินหายใจประเภทอื่น ๆ (การบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐานผ่านทางจมูกหรือหน้ากาก; หรือ NIV; หรือ NIPPV ซึ่งรวมถึงเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างต่อเนื่อง (CPAP) และเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดสองระดับ (BiPAP))ในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมได้การศึกษา 31 เรื่อง (แบบ parallel-group 22 เรื่อง และ cross-over designs 9 เรื่อง) โดยมีผู้เข้าร่วม 5136 คน การทบทวนเพื่อให้ทันสมัยนี้เพิ่มการศึกษาใหม่ 20 เรื่อง การศึกษา 21 เรื่องเปรียบเทียบ HFNC กับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน และการศึกษา 13 เรื่อง เปรียบเทียบ HFNC กับ NIV หรือ NIPPV; การศึกษา 3 เรื่องรวมการเปรียบเทียบทั้ง 2 แบบที่กล่าวมา เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินการ 51 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมประมาณ 12,807 คน) และการศึกษา 19 เรื่องที่รอการจำแนกประเภทซึ่งเรายังไม่สามารถยืนยันข้อมูลคุณสมบัติการเข้าร่วมการศึกษาได้อย่างแน่นอน

ในการศึกษา 18 เรื่อง การทดลองเริ่มต้นหลังจากการถอดท่อช่วยหายใจออก ในการศึกษาที่เหลือ ผู้เข้าร่วมไม่ได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจมาก่อน

HFNC เทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน

HFNC อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการรักษาน้อยลงตามที่ระบุโดยการเพิ่มขึ้นของการบำบัดด้วยออกซิเจนประเภทอื่น (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.62, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.45 ถึง 0.86; การศึกษา15 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 3044 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) HFNC อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยในการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับการบำบัดด้วยออกซิเจนมาตรฐาน (RR 0.96, 95% CI 0.82 ถึง 1.11; การศึกษา 11 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 2673 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) HFNC อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยในกรณีของปอดติดเชื้อ (RR 0.72, 95% CI 0.48 ถึง 1.09; การศึกษา 4 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 1057 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของการใช้ HFNC ต่อการบาดเจ็บที่เยื่อบุจมูกหรือการบาดเจ็บที่ผิวหนัง (RR 3.66, 95% CI 0.43 ถึง 31.48; การศึกษา 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 617 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำว่า HFNC อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับระยะเวลาในการอยู่ ICU ตามประเภทของเครื่องช่วยหายใจที่ใช้ (MD 0.12 วัน 95% CI -0.03 ถึง 0.27; การศึกษา 7 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 1014 คน) เราไม่แน่ใจว่า HFNC จะสร้างความแตกต่างใด ๆ กับอัตราส่วนของความดันของออกซิเจนในหลอดเลือดแดงต่อสัดส่วนของออกซิเจนในก๊าซที่หายใจเข้า (PaO2/ FiO2) ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการรักษา (MD 10.34 mmHg, 95% CI -17.31 ถึง 38; การศึกษา 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 600 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราไม่แน่ใจว่า HFNC จะสร้างความแตกต่างให้กับความสุขสบายในระยะสั้นหรือไม่ (MD 0.31, 95% CI -0.60 ถึง 1.22; การศึกษา 4 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 662 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือความสุขสบายในระยะยาว (MD 0.59, 95% CI -2.29 ถึง 3.47; การศึกษา 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 445 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

HFNC เทียบกับ NIV หรือ NIPPV

เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่มีความล้มเหลวในการรักษาเมื่อใช้ HFNC หลังการถอดท่อช่วยหายใจหรือกลุ่มที่ไม่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจมาก่อน (RR 0.98, 95% CI 0.78 ถึง 1.22; การศึกษา 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 1758 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หรือการเสียชีวิตในโรงพยาบาล (RR 0.92, 95% CI 0.64 ถึง 1.31; การศึกษา 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 1758 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เรามีความไม่มั่นใจมากเกี่ยวกับผลของการใช้ HFNC ต่ออุบัติการณ์ของการเกิดการติดเชื้อในปอด (RR 0.51, 95% CI 0.17 ถึง 1.52; การศึกษา 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 1750 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และ HFNC อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการเกิด barotrauma (RR 1.15, 95% CI 0.42 ถึง 3.14; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 830 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) HFNC อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับระยะเวลาในการอยู่ ICU (MD -0.72, 95% CI -2.85 ถึง 1.42; การศึกษา 2 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 246 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) อัตราส่วนของ PaO2/FiO2 อาจลดลงได้ถึง 24 ชั่วโมงเมื่อใช้ HFNC (MD -58.10 mmHg, 95% CI -71.68 ถึง -44.51; การศึกษา 3 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 1086 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่า HFNC จะทำให้ความรู้สึกความสุขสบายในระยะสั้นดีขึ้นหรือไม่เมื่อประเมินโดยใช้ค่าคะแนนความสุขสบาย (MD 1.33, 95% CI 0.74 ถึง 1.92; การศึกษา 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 258 คน) และการตอบแบบสอบถาม (RR 1.30, 95% CI 1.10 ถึง 1.53; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 168 คน); หลักฐานสำหรับความสุขสบายในระยะสั้นมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการศึกษาใดรายงานเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่เยื่อบุจมูกหรือการบาดเจ็บที่ผิวหนัง

บันทึกการแปล: 

วราลักษณ์ กิตติวัฒน์ไพศาล วันที่ 19 มีนาคม 2021

Tools
Information