รอยเย็บที่อยู่ใต้ผิวหนังเพื่อปิดแผลหลังการผ่าตัด

วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้คืออะไร

จุดมุ่งหมายของการการทบทวนวรรณกรรมนี้คือเพื่อดูว่าการเย็บแผลแบบชั้นใต้ผิวหนัง (เย็บแผลใต้ผิวหนัง) มีประสิทธิภาพในการปิดแผลหลังการผ่าตัดหรือไม่ เราสนใจการผ่าตัดทุกประเภท ยกเว้นการผ่าตัดคลอดบุตร (การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตร เช่น การผ่าตัดคลอดบุตร) นักวิจัยจาก Cochrane รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และพบว่ามี 66 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบที่เกี่ยวข้อง การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ เป็นการศึกษาทางการแพทย์ที่ประชากรถูกเลือกแบบสุ่มต่อการได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน ประเภทของการทดลองนี้ให้หลักฐานทางสุขภาพที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

ใจความสำคัญ

การติดเชื้อของแผลหลังการผ่าตัดไม่มีความแตกต่างกันที่ชัดเจนระหว่างการเย็บแผลใต้ผิวหนังและวิธีการอื่น ๆ เพื่อปิดแผลผ่าตัด เช่น การเย็บแผลแบบมาตรฐานที่ผ่านผิวหนัง การใช้เทปปิดแผลผ่าตัด การใช้สแต๊ปเปิ้ล หรือใช้กาว การเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังอาจจะลดภาวะแทรกซ้อนของบาดแผลเมื่อเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ลและเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับรอยเย็บแผลทีผ่านผิวหนังหรือการใช้สแต๊ปเปิ้ล อย่างไรก็ตาม การใช้กาวอาจเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยและการเย็บแผลที่ผ่านผิวหนังและการใช้สแต๊ปเปิ้ลอาจจะเร็วกว่าสําหรับศัลยแพทย์

การศึกษานี้ทบทวนเรื่องอะไร

ศัลยแพทย์มีตัวเลือกมากมายสําหรับการปิดแผลผ่าตัดเมื่อสิ้นสุดการผ่าตัด การปิดแผลสามารถดําเนินการโดยการเย็บแผล (ใช้ไหม) ที่อยู่ใต้ผิวหนัง, การเย็บแผลที่ผ่านไปบนผิวหนัง, การใช้สแต๊ปเปิ้ล (คลิป), การใช้กาวติดเนื้อเยื่อ (กาว), เทปหรืออุปกรณ์อื่นๆ การเย็บสามารถใช้อุปกรณ์ที่ละลายได้ (ไหมละลายเข้าไปในร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบําบัดและไม่จําเป็นต้องเอาออก) หรือแบบไม่ละลาย (ไหมซึ่งต้องเอาออกเมื่อแผลหาย)

การติดเชื้อของแผลผ่าตัดเป็นปัญหาที่พบบ่อยหลังการผ่าตัดและอาจทําให้เกิดปัญหามากมายสําหรับผู้ป่วย แผลผ่าตัดยังสามารถทําให้เกิดแผลเป็นถ้าหากกระบวนการซ่อมแซมแผลไม่ปกติ เราต้องการสืบค้นว่าวิธีเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ๆ ของการปิดแผลผ่าตัดในแง่ของการติดเชื้อ, การเกิดแผลเป็น, ความพึงพอใจของผู้ป่วย, ค่าใช้จ่าย, ความเจ็บปวด, ระยะเวลาของการนอนโรงพยาบาลและคุณภาพชีวิต

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

ในเดือนมีนาคม 2019 เราได้ค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์และพบการศึกษา 66 เรื่องที่เปรียบเทียบการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังกับการเย็บแผลด้วยวิธีการอื่น เช่นการเย็บด้วยวิธีมาตรฐาน, การเย็บโดยใช้สแต๊ปเปิ้ล, การใช้กาวติดเนื้อเยื่อ, เทป หรือซิปผ่าตัด การศึกษา 64 เรื่องจากการศึกษาเหล่านี้ (ผู้เข้าร่วม 7487 คน) ถูกนํามาวิเคราะห์ในงานของเรา โดยเฉลี่ยแต่ละการศึกษามีผู้เข้าร่วม 115 คน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ (อายุระหว่าง 20 ถึง 75 ปี) ที่ได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาล การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงแหล่งทุนสนับสนุน

การศึกษาส่วนใหญ่เปรียบเทียบการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังกับการเย็บแผลแบบมาตรฐาน, การเย็บแผลโดยใช้สแต๊ปเปิ้ล หรือใช้กาวติดเนื้อเยื่อ

ผลการศึกษาหลักคือดูว่าแผลผ่าตัดติดเชื้อหรือไม่ ข้อมูลพบว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังและวิธีการปิดแผลอื่นๆ ต่อจำนวนคนที่มีแผลผ่าตัดติดเชื้อ

เมื่อเทียบกับการเย็บแผลที่ผ่านบนผิวหนังแล้วนั้น การเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังอาจจะเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วย นี่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังอาจจะป้องกันภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดและเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ล การเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังอาจป้องกันไม่ให้แผลแยก (ผิวหนังแยก) เมื่อเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ลหรือกาวติดเนื้อเยื่อ, แต่การใช้กาวติดเนื้อเยื่ออาจเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม, วิธีการทางเลือกอื่นอาจจะรวดเร็วสําหรับศัลยแพทย์มากกว่าการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนัง ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังและวิธีการปิดแผลอื่น ในเรื่องของความเจ็บปวด, ระยะเวลาของการนอนโรงพยาบาลและคุณภาพชีวิต

การศึกษาที่เราวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีผู้เข้าร่วมจํานวนน้อยและในหลายกรณีไม่ได้มีการรายงานที่ทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าการศึกษาเหล่านั้นได้ดําเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราไม่สามารถให้ข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังและวิธีการปิดแผลอื่นๆทั้งหมด ยกเว้นเมื่อเทียบกับการเย็บด้วยสแต๊ปเปิ้ล การวิจัยที่มีคุณภาพดีกว่านี้เป็นสิ่งจําเป็นเพื่อหาข้อสรุป

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้

เราค้นหาการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2019

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในอุบัติการณ์ของการเกิดแผลผ่าตัดติดเชื้อสําหรับการเย็บแผลใต้ผิวหนังเปรียบเทียบกับวิธีการปิดแผลผ่าตัดด้วยวิธีอื่น ๆ การเย็บแผลที่อยู่ใต้ผิวหนังอาจจะลดภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดเมื่อเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ลและอาจเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการเย็บแผลทีผ่านผิวหนังหรือการใช้สแต๊ปเปิ้ล อย่างไรก็ตามการใช้กาวติดเนื้อเยื่ออาจเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการเย็บแผลใต้ผิวหนังและเย็บแผลผ่านผิวหนัง และการใช้สแต๊ปเปิ้ลอาจจะเร็วกว่าการเย็บแผลใต้ผิวหนัง คุณภาพของหลักฐานมีตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงต่ำมาก; หลักฐานสําหรับการเปรียบเทียบเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้ข้อจํากัดบางอย่าง ดูเหมือนว่าจะไม่จําเป็นต้องอาศัยการทดลองใหม่เพิ่มเติมเพื่อหาข้อมูลการเปรียบเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ลเนื่องจากมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงที่มีขนาดตัวอย่างขนาดใหญ่และมีการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่บางส่วน อย่างไรก็ตาม, มีความจําเป็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมสําหรับเพื่อดูการเปรียบเทียบกับการเย็บแผลผ่านผิวหนัง, การใช้กาวติดเนื้อเยื่อ, เทปและซิป, ที่การศึกษาต้องมีคุณภาพสูงและมีขนาดตัวอย่างขนาดใหญ่, รวมทั้งมีการประเมินในระยะยาว

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

หลังจากการผ่าตัดแล้ว แผลผ่าตัดสามารถปิดได้หลากหลายวิธีทั้งการเย็บแผล(ใต้ผิวหนังหรือผ่านผิวหนัง), การใช้สแต๊ปเปิ้ลและการใช้กาวติดเนื้อเยื่อ การเย็บใต้ผิวหนังเป็นการเย็บแผลในชั้นใต้ผิวหนัง(เย็บใต้ชั้นอิพิเดอมีส) การพัฒนาที่เพิ่มขึ้นของเส้นใยที่สามารถละลายเองได้ (ไหมเย็บแผลซึ่งถูกดูดซึมโดยร่างกายและไม่จําเป็นต้องเอาออก) ได้นําไปสู่การเย็บแผลใต้ผิวหนังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการผ่าตัดที่ไม่ใช่การผ่าตัดทางสูติกรรมยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าการเย็บแผลใต้ผิวหนังเพิ่มอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนของบาดแผลหรือไม่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและการยอมรับได้ของการเย็บแผลใต้ผิวหนังสําหรับการปิดผิวหนังในการผ่าตัดที่ไม่ใช่การผ่าตัดทางสูติกรรม

วิธีการสืบค้น: 

ในเดือนมีนาคม ปี 2019 เราสืบค้นหลักฐานใน the Cochrane Wounds Specialised Register; the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL); Ovid MEDLINE (including In-Process & Other Non-Indexed Citations); Ovid Embase และ EBSCO CINAHL Plus นอกจากนี้เรายังได้สืบค้นการศึกษาทางคลินิกที่ลงทะเบียนและกำลังดำเนินการอยู่ และการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และรายการเอกสารอ้างอิงจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องที่ถูกรวบรวมเข้ามาทำการทบทวนวรรณกรรม การวิเคราะห์อภิมาน และรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับภาษา วันที่เผยแพร่ หรือสถานที่ที่ทำการศึกษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบทั้งหมดซึ่งเปรียบเทียบการเย็บแผลใต้ผิวหนังและกาารปิดแผลด้วยวิธีการอื่นๆในการผ่าตัดที่ไม่ใช่การผ่าตัดทางสูติกรรมถูกรวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนประเมินผลของการศึกษาแล้วทำการดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE โดยอิสระต่อกัน

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม 66 การศึกษา ( ผู้เข้าร่วม 7487 คน); มี 11 การศึกษาที่มีการทดลองมากกว่าสองกลุ่ม การทดลองส่วนใหญ่มีระเบียบวิธีการศึกษาที่ไม่ดี ซึ่งหมายความว่าอาจมีความเสี่ยงสูงของอคติ การทดลองส่วนใหญ่เปรียบเทียบการเย็บแผลผ่าตัดใต้ผิวหนังและ การเย็บแผลผ่านผิวหนัง, การใช้สแต๊ปเปิ้ล หรือกาวติดเนื้อเยื่อ ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ที่กําหนดไว้ล่วงหน้าในข้อกำหนดของการทบทวนวรรณกรรมมีการรายงาน ความน่าเชื่อถือของหลักฐานมีความแตกต่างกันจากระดับสูงไปจนถึงต่ำมากในการเปรียบเทียบการเย็บแผลใต้ผิวหนังกับการเย็บแผลผ่านผิวหนังหรือการใช้สแต๊ปเปิ้ลและกาวติดเนื้อเยื่อ; ความน่าเชื่อถือของหลักฐานสําหรับการเปรียบเทียบการใช้เทปผ่าตัดและซิปผ่าตัดอยูในระดับต่ำไปจนถึงต่ำมาก หลักฐานส่วนใหญ่ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือเนื่องจาก ความไม่เที่ยงของข้อมูล หรือความเสี่ยงของอคติ

แม้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่ ผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาถูกจัดว่าแผลผ่าตัดจัดอยู่ในกลุ่ม 1 ตาม CDC (แผล clean), สองในสามของผู้เข้าร่วมการศึกษามีแผลผ่าตัดจัดอยู่ในกลุ่ม 2 ถึง 4 ตาม CDC, เช่น การผ่าตัดใส้ติ่ง และการผ่าตัดระบบทางเดินอาหาร ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

เปรียบเทียบการเย็บแผลใต้ผิวหนังกับการเย็บแผลผ่านผิวหนัง

อาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในอุบัติการณ์ของแผลผ่าตัดติดเชื้อ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.10; 95% confidence interval (CI) 0.80 ถึง 1.52; 3107 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)

มีผลที่ไม่แน่ใจว่าการเย็บแผลใต้ผิวหนังลดภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัด (RR 0.83; 95% CI 0.40 ถึง 1.71; 1489 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) การเย็บแผลใต้ผิวหนังอาจเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วย (คะแนนจาก 1 ถึง 10) (ที่วันที่ 30 ; MD 1.60, 95% CI 1.32 ถึง1.88; ผู้เข้าร่วม 290 คน หลักฐานความน่าเชื่อถือระดับปานกลาง) ระยะเวลาในการปิดแผลอาจจะยาวขึ้นเมื่อเย็บแผลใต้ผิวหนัง (MD 5.81 นาที; 95% CI 5.13 ถึง 6.49 นาที; ผู้เข้าร่วม 585 คน หลักฐานความน่าเชื่อถือระดับปานกลาง)

เปรียบเทียบการเย็บแผลใต้ผิวหนังกับการใช้สแต๊ปเปิ้ล

มีหลักฐานความน่าเชื่อถือระดับปานกลางว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ลแล้วนั้น การเย็บใต้ผิวหนังอาจมีผลเพียงเล็กน้อยต่อ การติดเชื้อของแผลผ่าตัด (RR 0.81, 95% CI 0.64 ถึง 1.01; ผู้เข้าร่วม 4163 คน); แต่อาจจะลดอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดลงได้ (RR 0.79, 95% CI 0.64 ถึง 0.98; ผู้ เข้าร่วม 2973 คน) การเย็บแผลใต้ผิวหนังมีความเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยของผู้ป่วย (คะแนนจาก 1 ถึง 5) (MD 0.20, 95% CI 0.10 ถึง 0.30; 1232 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือสูง) เวลาที่ใช้ในการปิดแผลอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้สแต๊ปเปิ้ล (MD 0.30 to 5.50 นาที; 1384 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)

เปรียบเทียบการเย็บแผลใต้ผิวหนังกับการใช้กาวติดเนื้อเยื่อ, เทปผ่าตัดและซิปผ่าตัด

มีหลักฐานความน่าเชื่อถือระดับปานกลางแสดงความไม่แตกต่างที่ชัดเจนในอุบัติการณ์ของการเกิดแผลผ่าตัดติดเชื้อ ระหว่างผู้เข้าร่วมที่ได้รับการเย็บแผลใต้ผิวหนังและผู้ทีได้รับการรักษาด้วยกาวติดเนื้อเยื่อ (RR 0.77, 95% CI 0.41 ถึง 1.45; 869 เข้าร่วม) นอกจากนี้ยังไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่่าตัด (RR 0.62, 95% CI 0.35 ถึง 1.11; 1058 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) การเย็บแผลใต้ผิวหนังอาจจะทำให้ความพึงพอใจของผู้ป่วยลดลง (คะแนนจาก 1 ถึง 10) (MD -2.05, 95% CI -3.05 to -1.05; 131 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) ในแง่ของการเกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด หลักฐานที่มีอยู่ไม่แน่นอน ระหว่างการเย็บแผลใต้ผิวหนังเปรียบเทียบกับเทปผ่าตัด (RR 1.31, 95% CI 0.40 ถึง 4.27; 354 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) หรือซิปผ่าตัด (RR 0.80, 95% CI 0.08 ถึง 8.48; 424 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยในอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดระหว่างผู้เข้าร่วมที่ได้รับการเย็บแผลใต้ผิวหนังและผู้ที่รับการรักษาด้วยเทปผ่าตัด (RR 0.90, 95% CI 0.61 ถึง 1.34; 492 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) ยังมีผลที่ไม่แน่ใจว่าการเย็บแผลใต้ผิวหนังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ซิปผ่าตัด (RR 0.55, 95% CI 0.15 to 2.04; 424 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) นอกจากนี้ยังไม่แน่ใจว่าการปิดแผลด้วยการเย็บแผลใต้ผิวหนังจะใช้เวลานานกว่าเมื่อเทียบกับการใช้กาวติดเนื้อเยื่อ (MD -0.34 ถึง 10.39 นาที; 895 ผู้เข้าร่วม), การใช้เทปผ่าตัด (MD 0.74 to 6.36 นาที; 169 ผู้เข้าร่วม) หรือกาารใช้ซิปผ่าตัด (MD 4.38 to 8.25 นาที; 424 ผู้เข้าร่วม) (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลความพึงพอใจของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการใช้เทปผ่าตัดหรือซิปผ่าตัด

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information