เปรียบเทียบการจัดการกับฟันคุดที่ไม่มีอาการโดยการผ่าถอนฟันคุดกับการเก็บฟันคุดไว้

คำถามของการทบทวน

เราได้ทำการทบทวนเรื่องนี้ผ่าน Cochrane Oral Health เพื่อดูว่าควรถอนฟันคุดในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ออกหรือไม่หากไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ หรือควรปล่อยไว้และตรวจตามระยะเวลาปกติ ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2012 และปรับปรุงให้ทันสมัยครั้งแรกในปี 2016

ความเป็นมา

ฟันคุด (หรือที่เรียกว่าฟันกรามซี่ที่สาม) โดยทั่วไปจะงอกช่วงอายุ 17 ถึง 26 ปี เป็นฟันซี่สุดท้ายที่จะงอกและโดยปกติจะงอกในตำแหน่งที่ชิดหลังฟันซี่สุดท้าย (ฟันกรามซี่ที่สอง) ช่องว่างสำหรับฟันคุดอาจมีจำกัด ดังนั้นฟันคุดจึงมักจะไม่งอกหรืองอกบางส่วนเนื่องจากฟันคุดเบียดกับฟันที่อยู่ด้านหน้าโดยตรง ในกรณีส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อฟันกรามซี่ที่สองขวางทางการงอกของฟันกรามซี่ที่สาม และทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันทางกายภาพเพื่อกันการงอกอย่างสมบูรณ์ ฟันคุดที่ได้รับผลกระทบเรียกว่า 'ไม่มีอาการ' และ 'ปลอดโรค' หากไม่มีสัญญาณหรืออาการของโรคที่ส่งผลต่อฟันคุดหรือโครงสร้างใกล้เคียง

ฟันคุดที่ได้รับผลกระทบ อาจทำให้เหงือกบวมและเป็นแผลที่เหงือกรอบ ๆ ฟันคุด ทำลายรากของฟันกรามซี่ที่สอง ทำให้ฟันกรามน้อยซี่ที่สองผุ มีโรคเหงือกและกระดูกรอบ ๆ ฟันกรามที่สองและอาจเกิดซีสต์หรือเนื้องอก มีความเห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่า การถอนฟันคุดเป็นวิธีที่เหมาะสมหากมีสัญญาณหรืออาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับฟันคุด แต่มีข้อคิดเห็นน้อยเกี่ยวกับวิธีจัดการฟันคุดที่ไม่มีอาการ

ลักษณะของการศึกษา

Cochrane Oral Health Information Specialist สืบค้นเอกสารทางการแพทย์จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2019 เราพบการศึกษา 2 เรื่อง โดย 1 เรื่อง ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มเลือกให้ถอนฟันคุดหรือไม่ถอน (randomised controlled trial หรือ RCT) และการศึกษาอีก 1 เรื่อง ผู้วิจัยตรวจสอบผู้เข้าร่วมที่จะรักษาหรือถอนฟันคุด (การศึกษาแบบ prospective cohort) การศึกษามีผู้เข้าร่วม 493 คน RCT ดำเนินการที่โรงพยาบาลทันตกรรมในสหราชอาณาจักรและมีผู้เข้าร่วมเป็นวัยรุ่นชายและหญิง 77 คนที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องมือจัดฟัน การศึกษาแบบ cohort ได้ดำเนินการที่คลินิกทันตกรรมเอกชนในสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ชาย 416 คนอายุ 24 ถึง 84 ปี

ผลการศึกษาที่สำคัญ

หลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าควรถอนฟันคุดที่ไม่มีอาการออกหรือไม่

การศึกษาที่รวมไว้ไม่ได้วัดคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ค่าใช้จ่ายหรือผลข้างเคียงจากการถอนฟัน

การศึกษา 1 เรื่อง (การศึกษาแบบ cohort) มีความเสี่ยงต่อการมีอคติสูงมาก พบว่าการรักษาฟันคุดที่ไม่แสดงอาการไว้ อาจเพิ่มความเสี่ยงของหงือกติดเชื้อ (ปริทันต์อักเสบ) ที่มีผลต่อฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ติดกันในระยะยาว แต่ หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก ในการศึกษาเดียวกัน หลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปผลความเสี่ยงของโรคฟันผุในฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ติดกัน

การศึกษาอื่น ๆ (RCT) ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ ความหนาแน่นของฟันในปาก อาจไม่เป็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเก็บหรือถอนฟันคุดออก

คุณภาพของหลักฐาน

เราประเมินหลักฐานจากการศึกษาทั้งสองว่ามีความแน่นอนต่ำถึงต่ำมาก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเชื่อการค้นพบนี้ได้ การวิจัยที่มีคุณภาพสูงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติทางคลินิกในเรื่องนี้

บทสรุป

ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมและผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในการรักษาฟันคุดที่ไม่มีอาการ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะได้รับคำแนะนำจากความเชี่ยวชาญทางคลินิก และในท้องถิ่นหรือระดับชาติ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย ในกรณีที่ไม่ถอนฟันคุดที่ไม่มีอาการ การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเป็นระยะจะช่วยระบุและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าควรถอนฟันคุดที่ไม่มีอาการออกหรือไม่ หลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าการมีอยู่ของฟันคุดที่ไม่มีอาการ อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคปริทันต์อักเสบของฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ติดกันในระยะยาว RCT ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีซึ่งตรวจสอบผลกระทบในระยะยาวและหายาก ของการคงไว้และการถอนฟันคุดที่ปราศจากโรคโดยไม่มีอาการในกลุ่มตัวแทนของแต่ละบุคคลไม่น่าจะเป็นไปได้ การศึกษาที่มีคุณภาพสูง มีการติดตามระยะยาวอาจให้หลักฐานที่มีค่าในอนาคต ในปัจจุบันหลักฐานที่ยังขาดคือ ควรพิจารณาค่านิยมของผู้ป่วยและความเชี่ยวชาญทางคลินิก เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ที่มีฟันคุดที่ไม่มีอาการ หากมีการตัดสินใจที่จะรักษาฟันนี้ ควรมีการประเมินทางคลินิกเป็นระยะเพื่อป้องกันผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การกำจัดฟันคุดที่ไม่แสดงอาการคือการผ่าตัดฟันคุดในกรณีที่ไม่มีอาการและไม่มีหลักฐานของโรค ฟันคุดที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา เช่น เหงืออักเสบ รากฟันสลายตัว โรคเหงือกและโรคกระดูก (ปริทันต์อักเสบ) ฟันผุและมีซีสต์และเนื้องอก เมื่อทำการผ่าตัดเอาฟันคุดออกในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายจะเพิ่มขึ้น เหตุผลอื่น ๆ ในการพิจารณาถอนฟันกรามซี่ที่สามที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งรวมถึงการป้องกันไม่ให้ฟันกรามซี่ท้าย ๆ ที่เบียดกันมากเกินไป ป้องกันความเสียหายของโครงสร้างที่อยู่ติดกัน เช่น ฟันกรามซี่ที่สอง หรือ inferior alveolar nerve ในการเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดจัดกระดูก เพื่อเตรียมการฉายแสงหรือระหว่างขั้นตอนในการรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในบริเวณนี้ การถอนฟันคุดที่ไม่แสดงอาการเป็นขั้นตอนทั่วไป นักวิจัยต้องพิจารณาว่ามีหลักฐานสนับสนุนการปฏิบัตินี้หรือไม่ การศึกษานี้ เป็นการปรับปรุงการทบทวนอย่างเป็นระบบของ Cochrane หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2005 และมีการปรับปรุงอีกครั้งในปี 2012 และ 2016

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการถอนเปรียบเทียบกับการคงไว้ (conservative management) ของฟันคุดที่ไม่มีอาการของโรคในวัยรุ่นและผู้ใหญ่

วิธีการสืบค้น: 

สืบค้นจากฐานข้อมูล Cochrane Oral Health’s Information Specialist: Cochrane Oral Health’s Trials Register (ถึง 10 พฤษภาคม 2019), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (Cochrane Library, 2019, ฉบับที่ 4), MEDLINE Ovid (1946 ถึง 10 พฤษภาคม 2019), และุ Embase Ovid (1980 ถึง 10 พฤษภาคม 2019) US National Institutes of Health Trials Registry (ClinicalTrials.gov) และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry ได้รับการสืบค้นเพื่อค้นหาการทดลองที่กำลังดำเนินการ การสืบค้นข้อมูลไม่จำกัดภาษาและวันที่ตีพิมพ์ จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวม randomised controlled trials (RCTs) โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาในการติดตามเปรียบเทียบการถอน (หรือการไม่มีอยู่) กับการคงไว้ (หรือยังมีอยู่) ของฟันคุดที่ไม่มีอาการในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ นอกจากนี้เรายังพิจารณา quasi-RCTs และการศึกษาแบบ prospective cohort รวมไว้ด้วย หากผู้วิจัยวัดผลลัพธ์ด้วยการติดตามผลเป็นเวลาห้าปีหรือนานกว่านั้น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้เขียน 8 คน ทำการคัดกรองและประเมินการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้า โดยผู้วิจัยประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาอย่างอิสระต่อกัน หากข้อมูลไม่ชัดเจน เราทำการติดต่อนักวิจัย เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ผลการวิจัย: 

การปรับปรุงการทบทวนนี้ รวมการศึกษาสองเรื่องที่เหมือนกันซึ่งอยู่ในการทบทวนก่อนหน้านี้: มี RCT with a parallel-group design 1 เรื่อง ซึ่งดำเนินการในสถานพยาบาลทันตกรรมในสหราชอาณาจักร และการศึกษาอีก 1 เรื่อง เป็นการศึกษาแบบ prospective cohort ดำเนินการในภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกา

ผลลัพธ์หลัก

ไม่มีการศึกษาในการทบทวนนี้ ที่รายงานผลของคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจากการการถอนเมื่อเทียบกับการคงไว้ของฟันคุดที่ไม่มีอาการ

ผลลัพธ์รอง

เราพบเพียงหลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำถึงต่ำมาก สำหรับผลลัพธ์รองเกี่ยวกับผลของการถอนเมื่อเทียบกับการคงฟันคุดที่ไม่มีอาการไว้ เนื่องจากมีข้อจำกัดของขนาดตัวอย่าง

การศึกษาแบบ prospective cohort 1 เรื่อง มีรายงานข้อมูลกลุ่มย่อยของผู้เข้าร่วมชายที่มีสุขภาพดี 416 คน อายุระหว่าง 24 ถึง 84 ปีเปรียบเทียบผลของการถอน (การถอนออกก่อนหน้า หรือไม่มี) กับการมีอยู่ฟันคุดที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งส่งผลค่อโรคปริทันต์อักเสบและโรคฟันผุ จากฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ติดกันในช่วงระยะเวลาติดตามผลตั้งแต 3 ถึงมากกว่า 25 ปี หลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าการมีอยู่ของฟันคุดที่ไม่มีอาการ อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคปริทันต์อักเสบของฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ติดกันในระยะยาว ในการศึกษาเดียวกัน ซึ่งมีความเสี่ยงของการมีอคติอย่างร้ายแรง มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของความเสี่ยงโรคฟันผุที่เกี่ยวข้องกับการมีหรือไม่มีฟันคุด

RCT 1 เรื่อง ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นวัยรุ่น 164 คน ผู้เข้าร่วมการวิเคราะห์ 77 คน เปรียบเทียบผลของการถอนฟันกับการคงฟันคุดที่ไม่มีอาการไว้ ต่อการเปลี่ยนแปลงมิติของฟันกรามหลังจาก 5 ปี ผู้เข้าร่วม (เพศหญิง 55%) เคยได้รับการจัดฟันและมีฟันคุดที่ 'แออัด' ไม่พบหลักฐานจากการศึกษานี้ที่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง ที่ชี้ให้เห็นว่าการถอนฟันคุดที่ไม่แสดงอาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแนวฟันอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก

การศึกษาที่รวมไว้ไม่ได้วัดผลลัพธ์รองอื่น ๆ: ค่าใช้จ่าย, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาฟันคุดที่ไม่มีอาการ (เหงือกอักเสบ, รากฟันสลาย, มีถุงน้ำ, มีเนื้องอก, การอักเสบ / การติดเชื้อ) และผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการถอนฟัน (alveolar osteitis /การติดเชื้อหลังผ่าตัด, เส้นประสาทบาดเจ็บ, ความเสียหายต่อฟันข้างเคียงระหว่างการผ่าตัด, เลือดออก, โรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับยา/การอักเสบจากการฉายแสง/ การติดเชื้อ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6 สิงหาคม 2020

Tools
Information