การดูแลผิวในทารกเพื่อป้องกันโรคผื่นผิวหนังอักเสบและการแพ้อาหาร

การแปลนี้ไม่ทันสมัย โปรด คลิกที่นี่ เพื่อดูฉบับภาษาอังกฤษล่าสุดของการทบทวนนี้

การให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวของทารกสามารถป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบหรือการแพ้อาหารได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

การดูแลผิวในทารก เช่น การทาครีมให้ความชุ่มชื่น (moisturisers) ในช่วงขวบปีแรก อาจไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบและอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ด้วย

ผู้วิจัยไม่มั่นใจว่าการดูแลผิวจะส่งผลต่อความเสี่ยงของการแพ้อาหารหรือไม่ จึงต้องการหลักฐานจากการศึกษาที่น่าเชื่อถือ เพื่อตรวจสอบผลของการใช้ครีมทาผิวต่อการแพ้อาหารในทารก

โรคภูมิแพ้คืออะไร

การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเป็นกลไกที่ร่างกายใช้ป้องกันตัวเองจากสารที่เป็นอันตราย ซึ่งอาการแพ้ (allergy) คือปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต่ออาหารหรือสารชนิดหนึ่ง (สารก่อภูมิแพ้) ซึ่งโดยปกติจะไม่เป็นอันตราย อาการแพ้มีหลายแบบและมีอาการในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ซึ่งมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก

การแพ้อาหารและผื่นผิวหนังอักเสบ

ผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อยซึ่งทำให้ผิวแห้ง คันและแตกลาย ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กโดยเฉพาะในขวบปีแรก ในบางครั้งอาจมีอาการเรื้อรัง แต่อาจจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อโตขึ้น

การแพ้อาหารทำให้มีอาการคันที่ปาก มีผื่นแดงคัน มีอาการบวมที่ใบหน้า อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร หรือหายใจลำบาก ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร

ผู้ที่แพ้อาหารมักมีอาการแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหอบหืด, ไข้ละอองฟาง (hay fever) และผื่นผิวหนังอักเสบ

ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมนี้

ผู้วิจัยต้องการทราบว่าการดูแลผิวมีผลต่อความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดผื่นผิวหนังอักเสบหรือการแพ้อาหารหรือไม่ ซึ่งการดูแลผิวประกอบด้วย:

• การทาครีมให้ความชุ่มชื้นลงบนผิวของทารก

• การอาบน้ำทารกด้วยน้ำที่ผสมครีมหรือน้ำมันที่ให้ความชุ่มชื้น

• แนะนำให้พ่อแม่ใช้สบู่ปริมาณเล็กน้อย หรืออาบน้ำให้ลูกน้อยลง และ

• การใช้น้ำที่ผ่านการกรอง (water softerner)

ผู้วิจัยต้องการทราบอีกว่าการดูแลผิวแต่ละวิธีมีผลข้างเคียงใดๆ หรือไม่

ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร

ผู้วิจัยสืบค้นหาการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผิววิธีต่างๆ ในทารกที่มีสุขภาพดี (อายุไม่เกิน 1 ปี) ที่ไม่มีอาการแพ้อาหาร ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือโรคผิวหนังอื่นๆ มาก่อน

วันที่ค้นข้อมูล: หลักฐานที่เผยแพร่ถึง กรกฎาคม 2020

ผู้วิจัยสนใจการศึกษาที่รายงานว่า:

• จำนวนเด็กที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบหรือแพ้อาหารในช่วงอายุ 1 ถึง 3 ปี

• ความรุนแรงของผื่นผิวหนังอักเสบ (ประเมินโดยนักวิจัยและผู้ปกครอง)

• ระยะเวลาก่อนที่จะเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ

• รายงานของผู้ปกครองเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน (ไม่เกิน 2 ชั่วโมง) ต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร

• จำนวนเด็กที่เกิดความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร และ

• ผลข้างเคียงต่างๆ

ผู้วิจัยประเมินข้อดีและข้อด้อยของแต่ละการศึกษาเพื่อพิจารณาว่าผลลัพธ์น่าเชื่อถือเพียงใด จากนั้นจึงรวมเอาผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกันและดูผลลัพธ์ในภาพรวม

สิ่งที่พบ

ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษา 33 ฉบับซึ่งมีเด็กรวม 25,827 คน การศึกษาเหล่านี้อยู่ในยุโรป, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่ศึกษาในโรงพยาบาลเด็ก การดูแลผิวถูกเปรียบเทียบกับการไม่มีการดูแลผิว หรือการดูแลตามปกติ (การดูแลมาตรฐาน) และระยะเวลาในการรักษาและติดตามผลมีตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 2 ปี การศึกษาจำนวนมาก (13 ฉบับ) ทดสอบการใช้ครีมให้ความชุ่มชื้น ส่วนการศึกษาอื่นๆ ทดสอบการใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและทำความสะอาดเป็นหลัก รวมไปถึงความถี่ในการใช้

ผู้วิจัยรวบรวมผลการศึกษา 11 ฉบับ ซึ่งมี 8 ฉบับที่รวมเอาเด็กที่คิดว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผื่นผิวหนังอักเสบหรือการแพ้อาหาร

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เมื่อเทียบกับการไม่มีการดูแลผิวหรือการดูแลแบบมาตรฐาน พบว่าครีมให้ความชุ่มชื้น:

• อาจไม่ลดความเสี่ยงของการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบในช่วงอายุ 1 ถึง 2 ปี (การศึกษา 7 ฉบับ; ทารก 3075 คน) รวมทั้งระยะเวลาก่อนที่จะเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ (การศึกษา 9 ฉบับ; ทารก 3349 คน);

• อาจเพิ่มการเกิดปฏิกิริยาเฉียบพลันต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่พบบ่อย ในช่วงอายุสองปีตามรายงานของพ่อแม่ (การศึกษา 1 ฉบับ; ทารก 1171 คน);

• อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังมากขึ้น (การศึกษา 6 ฉบับ; ทารก 2728 คน);

• อาจเพิ่มผลข้างเคียง เช่น ความรู้สึกแสบร้อน หรืออาการแพ้ครีมให้ความชุ่มชื้น (การศึกษา 4 ฉบับ; ทารก 343 คน); และ

• อาจเพิ่มโอกาสที่ทารกจะลื่นล้ม (การศึกษา 4 ฉบับ; ทารก 2538 คน)

ผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าการดูแลผิวจะส่งผลต่อโอกาสในการเกิดอาการแพ้อาหารตามที่นักวิจัยประเมินไว้ (การศึกษา 1 ฉบับ; ทารก 996 คน) หรือความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร (การศึกษา 2 ฉบับ; ทารก 1055 คน) ที่อายุ 1 ถึง 2 ปีหรือไม่

ความเชื่อมั่นในผลลัพธ์

ผู้วิจัยค่อนข้างมั่นใจในผลลัพธ์เกี่ยวกับโอกาสเกิดผื่นผิวหนังอักเสบและระยะเวลาก่อนที่จะเกิดผื่น แต่ข้อสรุปนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีหลักฐานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยไม่ค่อยมีความมั่นใจในผลลัพธ์เกี่ยวกับการแพ้อาหาร หรือความไวต่อการแพ้อาหาร ซึ่งมาจากการศึกษาจำนวนน้อยที่มีผลลัพธ์ที่หลากหลาย ผลลัพธ์เหล่านี้น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหากมีหลักฐานเพิ่มเติม ผู้วิจัยมั่นใจระดับปานกลางเกี่ยวกับการติดเชื้อที่ผิวหนัง แต่ความมั่นใจต่ำเกี่ยวกับอาการแสบ หรือแพ้ และการลื่นล้ม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การดูแลผิว เช่น การทาครีมให้ความชุ่มชื้นในขวบปีแรกของทารกที่มีสุขภาพดี อาจไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง แต่ผลของการดูแลผิวต่อความเสี่ยงของการแพ้อาหารนั้นยังไม่แน่นอน

จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีการอื่นๆ ในการดูแลผิวของทารกที่อาจส่งเสริมหรือป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ และเพื่อประเมินผลกระทบต่อการแพ้อาหารโดยใช้การประเมินผลที่ค่อนข้างรัดกุม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) และการแพ้อาหารเป็นโรคทั่วไปที่มักเกิดในเด็กปฐมวัย และมักพบร่วมกันในคนคนเดียวกัน ซึ่งอาจสัมพันธ์กับเกราะป้องกันผิวที่บอบบางในวัยทารก ทว่า ยังไม่ชัดเจนว่าการพยายามป้องกันหรือรักษาเกราะป้องกันผิวตั้งแต่ช่วงหลังคลอดจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบหรือการแพ้อาหารหรือไม่

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลัก

เพื่อประเมินผลของการดูแลผิววิธีต่างๆ เช่น การใช้ครีมให้ความชุ่มชื้น สำหรับการป้องกันแบบปฐมภูมิต่อการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบและการแพ้อาหารในทารก

วัตถุประสงค์รอง

เพื่อระบุลักษณะของประชากร เช่น อายุ, ความเสี่ยงทางกรรมพันธ์ และความสม่ำเสมอต่อการรักษาที่จะสัมพันธ์กับ
ประโยชน์หรือผลข้างเคียงที่สำคัญในการรักษาทั้งผื่นผิวหนังอักเสบและอาการแพ้อาหาร

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นในฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2020: Cochrane Skin Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE และ Embase นอกจากนี้ผู้วิจัยยังสืบค้นจาก 2 ฐานข้อมูลลงทะเบียนงานวิจัย (trials registers) และตรวจสอบรายการเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่เข้าเกณฑ์และการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาการทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs) ที่เกี่ยวข้อง และยังได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้เพื่อค้นหาการทดลองที่วางแผนไว้และเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองที่ยังไม่ได้เผยแพร่หรือที่กำลังดำเนินการอยู่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

RCTs ของการดูแลผิวที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเกราะป้องกันผิว ลดความแห้งกร้าน หรือลดการอักเสบที่ไม่แสดงอาการในทารก (อายุ 0 ถึง 12 เดือน) ที่คลอดครบกำหนด (คลอดอายุครรภ์ > 37 สัปดาห์) และมีสุขภาพดี โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ, การแพ้อาหารหรือโรคผิวหนังอื่นๆ มาก่อน ตัวเปรียบเทียบคือการดูแลตามมาตรฐานในแต่ละแห่งหรือไม่ได้ให้การดูแลผิว ประเภทของการดูแลผิว ได้แก่ การทาครีมให้ความชุ่มชื้น (moisturisers/emollients); การใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ; คำแนะนำเกี่ยวกับการลดการใช้สบู่และความถี่ในการอาบน้ำ; และการใช้น้ำกรอง (water softerner) โดยไม่มีขั้นต่ำของจำนวนครั้งที่นัดติดตามผล

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

การทบทวนวรรณกรรมนี้คือการวิเคราะห์แบบ prospective individual participant data (IPD) meta-analysis โดยใช้วิธีการมาตรฐานของ Cochrane และการวิเคราะห์หลักใช้ชุดข้อมูลของ IPD ผลลัพธ์หลักคือ อุบัติการณ์สะสมของการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ และอุบัติการณ์สะสมของการแพ้อาหารที่เกิดจาก immunoglobulin (Ig) E-mediated ภายในอายุ 1 ถึง 3 ปี ซึ่งทั้งสองผลลัพธ์ประเมินที่ระยะเวลาที่ใกล้เคียงอายุ 2 ปีมากที่สุด ผลลัพธ์รองรวมถึง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในช่วงที่ได้รับการรักษา; ความรุนแรงของผื่นผิวหนังอักเสบ (ประเมินโดยแพทย์); รายงานจากผู้ปกครองเกี่ยวกับความรุนแรงของผื่นผิวหนังอักเสบ; เวลาเริ่มเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ; รายงานจากผู้ปกครองเกี่ยวกับการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน; และความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารหรือที่สูดดม

ผลการวิจัย: 

การทบทวนนี้มาจากการศึกษาแบบ RCT 33 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วม 25,827 คน มีการศึกษา 17 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 5823 คน) รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์อย่างน้อย 1 รายการที่ระบุไว้ในการทบทวนนี้ และมีการศึกษา 11 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 5217 คน) (ที่ซึ่งการศึกษา 10 ฉบับให้ข้อมูลแบบ IPD) ที่อยู่ในการวิเคราะห์เมตต้าอย่างน้อย 1 รายการ (มีตั้งแต่ 2 ถึง 9 การศึกษาต่อการวิเคราะห์ individual meta-analysis)

การศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาในโรงพยาบาลเด็ก และการรักษาทั้งหมดถูกเปรียบเทียบกับการไม่มีการดูแลผิว หรือการดูแลตามมาตรฐานในแต่ละพื้นที่ จากการศึกษา 17 ฉบับที่รายงานผลลัพธ์ของที่ผู้วิจัยสนใจ มีอยู่ 13 ฉบับที่ศึกษาการใช้ครีมให้ความชุ่มชื้น, การศึกษา 25 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการศึกษาที่ถูกนำข้อมูลไปวิเคราะห์เมตต้า ศึกษาในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 สัปดาห์ ซึ่งถูกสุ่มให้ได้รับการดูแลผิวหรือการดูแลผิวทารกตามมาตรฐาน, การศึกษา 8 ใน 11 ฉบับที่อยู่ในการวิเคราะห์เมตต้า รวมเอาทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นผื่นผิวหนังอักเสบหรือการแพ้อาหาร แม้ว่าคำจำกัดความของความเสี่ยงสูงจะแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา, ระยะเวลาของการรักษาและการติดตามผลอยู่ระหว่าง 24 ชั่วโมงถึง 2 ปี

ผู้วิจัยประเมินว่าหลักฐานส่วนใหญ่ของการทบทวนนี้มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ ส่วนใหญ่มักเกิดจาก การขาดการอำพรางของผู้ประเมินผลลัพธ์ หรือมีข้อมูลที่ขาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการวัดผล แต่ได้รับการตัดสินว่าไม่น่าจะส่งผลในข้อสรุปของงานวิจัยนั้น หลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักเกี่ยวกับการแพ้อาหารได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอคติ เนื่องจากมาจากการศึกษาเพียง 1 ฉบับซึ่งมีข้อสรุปที่หลากหลายเมื่อมีการตั้งสมมติฐานที่แตกต่างกันเกี่ยวกับข้อมูลที่ขาดหายไป

การดูแลผิวในช่วงวัยทารกอาจไม่ลดความเสี่ยงต่อผื่นผิวหนังอักเสบเมื่ออายุ 1 ถึง 2 ปี (risk ratio (RR) 1.03, 95% confidence interval (CI) 0.81 ถึง 1.31; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง; ผู้เข้าร่วม 3075 คน, การศึกษา 7 ฉบับ) และไม่ลดระยะเวลาในการเริ่มเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ (hazard ratio 0.86, 95% CI 0.65 ถึง 1.14; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง; ผู้เข้าร่วม 3349 คน, การศึกษา 9 ฉบับ) และยังไม่ชัดเจนว่าการดูแลผิวในช่วงวัยทารกจะลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารแบบ IgE-mediated หรือไม่ในช่วงอายุ 1 ถึง 2 ปี (RR 2.53, 95% CI 0.99 ถึง 6.47; ผู้เข้าร่วม 996 คน, การศึกษา 1 ฉบับ) หรือความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่อายุ 1 ถึง 2 ปี (RR 0.86, 95% CI 0.28 ถึง 2.69; ผู้เข้าร่วม 1055 คน, การศึกษา 2 ฉบับ) เนื่องจากมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้, การดูแลผิวในช่วงวัยทารกอาจเพิ่มความเสี่ยงของการรายงานของผู้ปกครองเกี่ยวกับการอาการแพ้เฉียบพลันต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารในช่วงอายุ 2 ปี (RR 1.27, 95% CI 1.00 ถึง 1.61; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ; ผู้เข้าร่วม 1171 คน, การศึกษา 1 ฉบับ) อย่างไรก็ตาม มีรายงานเฉพาะการแพ้นมวัวเท่านั้น ซึ่งอาจไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากมักมีรายงานการแพ้นมวัวในทารกที่มากเกินจริง, การดูแลผิวในช่วงวัยทารกอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังในช่วงที่ได้รับการดูแล (RR 1.34, 95% CI 1.02 ถึง 1.77; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง, ผู้เข้าร่วม 2728 คน, การศึกษา 6 ฉบับ) และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นล้มของทารกในช่วงที่ได้รับการดูแลผิว (RR 1.42, 95% CI 0.67 ถึง 2.99; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ; ผู้เข้าร่วม 2538 คน, การศึกษา 4 ฉบับ) หรือการเกิดอาการแสบหรือแพ้ครีมให้ความชุ่มชื้น (RR 2.24, 95% 0.67 ถึง 7.43; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ; ผู้เข้าร่วม 343 คน, การศึกษา 4 ฉบับ) แม้ว่า confidence intervals สำหรับการลื่นล้มและอาการแสบหรือแพ้นั้นกว้าง และรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่มีผลหรือลดความเสี่ยงก็ตาม

การวิเคราะห์กลุ่มย่อยที่วางแผนไว้ล่วงหน้าแสดงให้เห็นว่าผลของการดูแลผิวไม่ได้รับอิทธิพลจากอายุ, ระยะเวลาของการให้การดูแลผิว, ความเสี่ยงทางพันธุกรรม, การกลายพันธุ์ของยีน FLG, หรือการจำแนกประเภทของการดูแลผิวที่เสี่ยงต่อการเกิดผื่น ผู้วิจัยไม่สามารถประเมินผลกระทบเหล่านี้ต่อความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าความสม่ำเสมอของการให้การดูแลผิวมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างการดูแลผิวและความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบหรือการแพ้อาหาร

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021