การรักษาปัญหาทางทันตกรรมและทันตกรรมการจัดฟันในโรคธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมียคืออะไร

เซลล์เม็ดเลือดแดงสร้างเม็ดสีที่เรียกว่าฮีโมโกลบินซึ่งนำพาออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ในคนที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ฮีโมโกลบินจะไม่ปกติ เนื่องจากความบกพร่อง (การกลายพันธุ์) ในยีน 2 ประเภทที่เฉพาะเจาะจง สิ่งนี้นำไปสู่สภาพที่ถูกจำแนกเป็นธาลัสซีเมียแบบอัลฟ่าหรือเบต้า ประมาณ 5% ของประชากรโลกมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้ยีนอัลฟาโกลบินทำงานเพียงบางส่วนหรือไม่ทำงานเลย อัตราพาหะของยีนเบต้าโกลบินอยู่ที่ประมาณ 1.5% โรคธาลัสซีเมียทั้งสองรูปแบบส่วนใหญ่พบในแถบประเทศต่างๆ ตั้งแต่อนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง ไปจนถึงเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความผิดปกติเหล่านี้พบมากขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก เนื่องจากผู้คนย้ายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

ธาลัสซีเมียทำให้เกิดปัญหาฟันและทันตกรรมการจัดฟันได้อย่างไร

เมื่อผู้คนได้รับยีนกลายพันธุ์ 2 ชุด ฮีโมโกลบินที่บกพร่องในเซลล์เม็ดเลือดแดงจะไม่ปล่อยออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายตามปกติ เซลล์ที่บกพร่องจะก่อตัวขึ้นในอวัยวะของร่างกายและเซลล์ไขกระดูก ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายและเซลล์ตาย ซึ่งทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง (โลหิตจาง) การขาดออกซิเจนเนื่องจากภาวะโลหิตจางสามารถหยุดการทำงานตามปกติของอวัยวะต่างๆ และทำให้มักต้องการการถ่ายเลือดเพื่อแก้ไขการลดลงของเม็ดเลือดแดง ร่างกายพยายามชดเชยภาวะโลหิตจางตามธรรมชาติโดยการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงมากขึ้น ซึ่งทำให้ไขกระดูกขยายตัว ในกะโหลกศีรษะ โหนกแก้ม และกระดูกขากรรไกร ไขกระดูกที่ขยายตัวนี้ทำให้เกิดการบวมของกระดูกที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ขากรรไกรผิดรูปและฟันไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง (เรียกว่าการสบฟันที่ผิดปกติ) การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของใบหน้าและกรามทำให้มีปัญหาในการพูด การกิน และรูปร่างหน้าตา ลักษณะที่มองเห็นได้เหล่านี้อาจสร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา

เพื่อความอยู่รอด ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียต้องให้ความสำคัญกับการรับมือกับผลกระทบร้ายแรงของโรคโลหิตจางต่อสุขภาพโดยทั่วไป และการจัดการกับภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะนี้ในระยะยาว ดังนั้น พวกเขาอาจละเลยปัญหาทางทันตกรรม เช่น ฟันผุ โรคเหงือกและการติดเชื้อ และปัญหาทางทันตกรรมทั่วไปอาจรุนแรงขึ้นและจำเป็นต้องได้รับการรักษาขั้นสูง ก่อนที่ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมจะเริ่มการรักษาทางทันตกรรมประเภทใดก็ตามในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย พวกเขาจำเป็นต้องพิจารณาทั้งสภาวะพื้นฐานและผลกระทบของภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นหรือการรักษา การรักษาทางทันตกรรมอาจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียที่ตัดม้ามออกไปแล้ว เนื่องจากอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ไม่มีแนวทางที่อธิบายถึงแผนการรักษาที่ดีที่สุด เนื่องจากไม่มีข้อมูลในเอกสารทางวิทยาศาสตร์

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการแทรกแซงใดดีกว่าการอื่นเพื่อ:

1. ปรับปรุงการเรียงตัวของฟัน

2. ลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมอื่น ๆ

3. ลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษา

4. ลดอาการปวด;

5. ลดการติดเชื้อหลังการรักษาทางทันตกรรมโดยใช้ยาปฏิชีวนะป้องกัน

6. ปรับปรุงคุณภาพชีวิต หรือ

7. ลดผลกระทบต่อหน้าที่ทางวิชาชีพและวิชาการ (เช่น การสูญเสียหรือการเปลี่ยนงาน จำนวนวันหยุดงานหรือโรงเรียน)

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ประเมินการรักษาปัญหาทางทันตกรรมหรือการจัดฟันในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เราสรุปผลและประเมินความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด

เราพบอะไร

เราพบเพียงหนึ่งการศึกษาที่เหมาะสมในการรวมเข้าในการทบทวนของเรา การทดลองนี้ดำเนินการในสถานพยาบาลในซาอุดีอาระเบียและคัดเลือกผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจำนวน 29 คน ผู้เข้าร่วมกลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์กระตุ้นแสงในบริเวณเหงือกที่ติดเชื้อนอกเหนือจากการทำความสะอาดช่องปากแบบมืออาชีพ และอีกกลุ่มได้รับการทำความสะอาดช่องปากแบบมืออาชีพเพียงอย่างเดียว

ผลลัพธ์หลัก

การทำความสะอาดทั้งปากร่วมกับการกระตุ้นด้วยแสงอาจลดการอักเสบของเหงือกบางส่วนได้มากกว่าการทำความสะอาดทั้งปากเพียงอย่างเดียว การศึกษาที่คัดเข้ามาไม่ได้รายงานเกี่ยวกับผลอื่น ๆ ที่เราสนใจ

ข้อจำกัด ของหลักฐานคืออะไร

การศึกษาไม่ได้ตรวจสอบผลของการรักษาเกิน 12 สัปดาห์; และไม่ได้ตรวจสอบผลที่ไม่พึงประสงค์ของการรักษา ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เราจึงมีความเชื่อมั่นจำกัดในหลักฐาน เราไม่สามารถให้คำแนะนำทางคลินิกที่ชัดเจนจากการศึกษานี้

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงมกราคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้ว่าการศึกษาที่รวมไว้จะแสดงให้เห็นการลดลงของเหงือกอักเสบในกลุ่มที่รับการรักษาด้วยการขูดหินปูนด้วยอัลตราโซนิกทั้งปากและการรักษาด้วยโฟโตไดนามิก แต่หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก การศึกษามีความเสี่ยงของอคติที่ไม่ชัดเจน ระยะเวลาติดตามผลสั้น และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือผลเสีย เราไม่สามารถให้คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติทางคลินิกโดยพิจารณาจากหลักฐานที่จำกัดของการทดลองเพียงครั้งเดียว การศึกษาในอนาคตมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อข้อสรุปของการทบทวนนี้

การทบทวนวรรณกรรมนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของ RCTs ที่มีคุณภาพสูงเพื่อศึกษาประสิทธิผลของวิธีการรักษาต่างๆ สำหรับภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและการจัดฟันในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย สิ่งสำคัญคือการทดลองในอนาคตต้องประเมินผลเสียของวิธีแทรกแซง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ธาลัสซีเมียเป็นความผิดปกติเชิงปริมาณของฮีโมโกลบินที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการผลิตอัลฟ่าหรือเบต้าโกลบิน สายโกลบินที่ไม่ได้จับคู่อย่างผิดปกติทำให้เยื่อหุ้มเซลล์เสียหายและเซลล์ภายในระบบอวัยวะตาย และทำลายสารตั้งต้นของอีรีทรอยด์ในไขกระดูก ซึ่งนำไปสู่ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก การจัดการผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของธาลัสซีเมียตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก และความล้มเหลวในการจัดการกับภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและทันตกรรมจัดฟันทำให้ภาระด้านสุขภาพ การเงิน และส่วนบุคคลแย่ลงไปอีก ยังขาดแนวทางตามหลักฐานที่จะช่วยให้ผู้ดูแลและผู้ให้บริการจัดการภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและทันตกรรมจัดฟันดังกล่าว การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับวิธีการรักษาภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและทันตกรรมการจัดฟันในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียเพื่อเป็นแนวทางในอนาคต นี่คือการปรับปรุงของ Cochrane Review ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2019

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินวิธีการต่างๆ ในการรักษาภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและทันตกรรมการจัดฟันในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น Cochrane Cystic Fibrosis and Genetic Disorders Group's Haemoglobinopathies Trials Register ในเดือนกันยายน 2022 และเราค้นหาฐานข้อมูลออนไลน์ 9 ฐานข้อมูลและการลงทะเบียนการทดลองในเดือนมกราคม 2022 เราค้นหารายการอ้างอิงของบทความและบทวิจารณ์ที่เกี่ยวข้อง และติดต่อแพทย์โลหิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในสาขาทันตกรรม องค์กร บริษัทยา และนักวิจัยที่ทำงานในสาขานี้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่เผยแพร่หรือไม่เผยแพร่ ซึ่งประเมินการรักษาภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและการจัดฟันในบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคธาลัสซีเมีย โดยไม่คำนึงถึงฟีโนไทป์ ความรุนแรง อายุ เพศ และชาติพันธุ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดกรองชื่อเรื่อง 37,242 เรื่องที่ค้นหาโดยเป็นอิสระต่อกัน หลังจากการขจัดความซ้ำซ้อน เราพบ RCT ที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ในการประเมินคุณสมบัติเทียบกับเกณฑ์การคัดเข้าและคัดออก เราคัดออก 1 ฉบับและนำเข้าการทบทวน 1 ฉบับ

ผลการวิจัย: 

เรานำเข้า parallel-design RCT 1 ฉบับ ที่ดำเนินการในซาอุดีอาระเบียและมีผู้เข้าร่วม 29 คน (ชาย 19 คน หญิง 10 คน) ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก (Photodynamic)ในฐานะส่วนเสริมของการขูดหินปูนด้วยอัลตราโซนิกแบบเต็มปากแบบดั้งเดิมสำหรับการรักษาโรคเหงือกอักเสบ อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ที่ประมาณ 23 ปี

มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากจากการทดลองนี้ว่าการขูดหินปูนด้วยอัลตราโซนิกทั้งปากร่วมกับการบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก เมื่อเทียบกับการขูดหินปูนด้วยอัลตราโซนิกทั้งปากเพียงอย่างเดียวอาจปรับปรุงคะแนนดัชนีเหงือกและเลือดออกในการตรวจหลังจาก 12 สัปดาห์ในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

เราไม่พบการศึกษาที่ประเมินวิธีการอื่นสำหรับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทางทันตกรรมหรือทางทันตกรรมจัดฟันของธาลัสซีเมีย

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 3 เมษายน 2023

Tools
Information