แอสไพรินและยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์สำหรับการป้องกันภาวะสมองเสื่อม

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบว่ายาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ช่วยในการป้องกันโรคสมองเสื่อมได้หรือไม่

ความเป็นมา

ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก ในปัจจุบัน ไม่มียาที่พิสูจน์แล้วว่าชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ ยังมีความรู้น้อยเกี่ยวกับชีววิทยาของสมองเสื่อม อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าการอักเสบอาจมีส่วนทำให้สมองเปลี่ยนแปลงซึ่งพบในภาวะสมองเสื่อม มียาหลายอย่างที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบรวมถึงยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDs ซึ่งมักจะขายเป็นยาแก้ปวด เราต้องการที่จะดูว่า ยาเหล่านี้มีผลต่อภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงรวมถึงหัวใจวายและเลือดออก ดังนั้นเราจึงประเมินอันตรายจากยา

ลักษณะของการศึกษา

เราค้นหาการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนมกราคม 2020 เราพบการทดลองตรงกับเกณฑ์คัดเข้าในการทบทวนนี้ 4 เรื่อง (23,187 คน) มีการทดลอง 1 เรื่อง ทำในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย อีก 3 เรื่องทำในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น การทดลองมีประชากรที่แตกต่างกัน การศึกษา 1 เรื่อง ใช้แอสไพรินกับคนสุขภาพดี ไม่มีประวัติของโรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจหรือความพิการทางร่างกาย อีก 3 เรื่อง ใช้ NSAIDs ในคนที่มีสุขภาพดีที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่ประเมินตัวเองว่ามีการสูญเสียความทรงจำและผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย (ความสามารถในการรับรู้ที่ลดลงเล็กน้อย และสามารถวัดได้รวมถึงทักษะความจำและทักษะการคิด) การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งหมดมีข้อจำกัด ยุติการศึกษาการใช้แอสไพรินก่อนกำหนด เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพ การศึกษาทั้ง 3 เรื่องที่ใช้ยากลุ่ม NSAID อื่น ๆ (celecoxib, naproxen และ rofecoxib) ได้หยุดก่อนกำหนด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย

ผลลัพธ์ที่สำคัญและคุณภาพของหลักฐาน

การศึกษาที่ใช้แอสไพริน พบว่าแอสไพรินขนาดต่ำ (100 มก. ต่อวัน) ไม่ได้ป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี แต่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นและมีเลือดออกที่สำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก เราเชื่อมั่นในผลลัพธ์นี้มาก การศึกษาที่ใช้ NSAID ไม่พบหลักฐานใด ๆ ว่ามีแตกต่างระหว่าง NSAIDs กับยาหลอก ในการลดจำนวนคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม ในความเป็นจริง การศึกษา 1 เรื่อง ในกลุ่ม NSAID มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากพัฒนาเป็นสมองเสื่อม การศึกษาที่ใช้ NSAIDs 1 เรื่อง ที่รวมอยู่นั้น รายงานว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหารมากขึ้น และอีกหนึ่งเรื่องรายงานถึงปัญหากระเพาะอาหารอื่น ๆ เช่น อาการปวด คลื่นไส้และโรคกระเพาะ ผลข้างเคียงอื่น ๆ มีความคล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่ม เรามีความมั่นใจในระดับปานกลางในผลลัพธ์ส่วนใหญ่ของ NSAIDs

บทสรุป

การตรวจสอบนี้ ไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการใช้ยาแอสไพรินหรือยากลุ่ม NSAID อื่น ๆ เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม และในความเป็นจริงมีข้อเสนอแนะบางประการว่าอาจก่อให้เกิดอันตราย การศึกษามีข้อจำกัด แต่จากความกังวลด้านความปลอดภัย จึงไม่ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมในการใช้แอสไพรินขนาดต่ำสำหรับการป้องกันภาวะสมองเสื่อม หากมีการวางแผนการศึกษา NSAIDs ในอนาคต เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่เกิดขึ้น จากการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้และจากการศึกษาอื่น ๆ ของยาชนิดเดียวกัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานสนับสนุนการใช้แอสไพรินขนาดต่ำหรือยากลุ่ม NSAID อื่น (celecoxib, rofecoxib หรือ naproxen) เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม แต่มีหลักฐานของอันตราย แม้ว่าหลักฐานที่มีอยู่จะมีข้อจำกัด แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ว่ามีความต้องการทดสอบแอสไพรินขนาดต่ำต่อไปสำหรับการป้องกันภาวะสมองเสื่อม หากมีการวางแผนการศึกษา NSAIDs ในอนาคตเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม จะต้องตระหนักถึงความกังวลด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากการศึกษาที่มีอยู่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก และมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในปัจจุบัน ไม่มียาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม การอักเสบเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคสมองเสื่อม ดังนั้น ยาที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบอาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อื่น ๆ สำหรับการป้องกันการป้องกันภาวะสมองเสื่อม

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาจาก ALOIS, the specialised register of the Cochrane Dementia and Cognitive Improvement ถึงวันที่ 9 มกราคม 2020 ALOIS รวบรวมการทดลองทางคลินิกของฐานข้อมูลสุขภาพที่สำคัญ การศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์และเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ เราทำการค้นหาเพิ่มเติมทั้ง MEDLINE (OvidSP), Embase (OvidSP) และฐานข้อมูลอื่น ๆ อีก 6 ฐานข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าได้ค้นหาครอบคลุมและทันสมัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ เรายังตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมอยู่ด้วย

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราค้นหาการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) และ controlled clinical trials (CCTs) เปรียบเทียบแอสไพรินหรือยากลุ่ม NSAID อื่น ๆ กับยาหลอกสำหรับป้องกันภาวะสมองเสื่อม เรารวมการทดลองกับผู้เข้าร่วมที่มีสุขภาพดี (การป้องกันขั้นต้น) หรือผู้เข้าร่วมที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย (MCI) หรือมีปัญหาด้านการรับรู้ (การป้องกันในระดับทุติยภูมิ)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีตามCochrane Handbook for Systematic Reviews of Interventions เราจัดอันดับความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์แต่ละรายการโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCT 4 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 23,187 คน จากความหลากหลายของการทดลองเราจึงไม่ได้รวมข้อมูลเพื่อทำการประเมินโดยสรุป แต่นำเสนอหลักฐานเชิงบรรยาย

การทดลอง 1 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 19,114 คน) เปรียบเทียบการใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำ (100 มก. วันละครั้ง) กับยาหลอก ผู้เข้าร่วมมีอายุตั้งแต่ 70 ปี ไม่มีประวัติิของโรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจหรือความพิการทางร่างกาย Interim analysis บ่งชี้ว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญและยุติการทดลองก่อนกำหนด มัธยฐานของระยะเวลาติดตาม 4.7 ปี ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างในอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมระหว่างกลุ่มที่ได้รับแอสไพรินและกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (risk ratio (RR) 0.98, 95% CI 0.83 ถึง 1.15; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับแอสไพรินมีอัตราการตกเลือดมากกว่า (RR 1.37, 95% CI 1.17-1.60, หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเล็กน้อย (RR 1.14, 95% CI 1.01 ถึง 1.28; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างด้านกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันระหว่างกลุ่ม (RR 0.84, 95% CI 0.70 ถึง 1.02; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง)

การทดลองสามเรื่อง เปรียบเทียบ NSAID ที่ไม่ใช่แอสไพรินกับยาหลอก การทดลองทั้งสามถูกยุติลงก่อนเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับ NSAID จากรายงานในการทดลองอื่น ๆ

การทดลอง 1 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 2528 คน) ศึกษา cyclo-oxygenase-2 (COX-2) inhibitor celecoxib (200 มก. สองครั้งต่อวัน) และ non-selective NSAID naproxen (220 มก. วันละสองครั้ง) เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมด้านการรับรู้ในผู้สูงอายุสุขภาพดี ที่มีประวัติ โรคอัลไซเมอร์ (AD) ในครอบครัว ค่ามัธยฐานของการติดตามคือ 734 วัน การรวมกลุ่มรักษาด้วย NSAID ทั้งสองกลุ่ม ไม่มีหลักฐานว่ามีความแตกต่างของการเกิด AD ระหว่างผู้เข้าร่วมที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับ NSAIDs และผู้เข้าร่วมที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับยาหลอก (RR 1.91, 95% CI 0.89 ถึง 4.10; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างในอัตราของกล้ามเนื้อหัวใจตาย (RR 1.21, 95% CI 0.61 ถึง 2.40), โรคหลอดเลือดสมอง (RR 1.82, 95% CI 0.76 ถึง 4.37) หรือการตาย (RR 1.37, 95% CI 0.78 ถึง 2.43) ระหว่างกลุ่มได้รับการรักษา (หลักฐานทั้งหมดมีความเชื่อมั่นปานกลาง)

การทดลอง 1 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 88 คน) ประเมินประสิทธิผลของ celecoxib (200 มก. หรือ 400 มก. ต่อวัน) ในการชะลอการลดลงของการรับรู้ ในผู้เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 40 ถึง 81 ปีที่มีการสูญเสีย age-related memory เล็กน้อย แต่มีคะแนน memory performance ปกติ ระยะเวลาเฉลี่ยของการติดตามคือ 17.6 เดือนในกลุ่ม celecoxib และ 18.1 เดือนในกลุ่มยาหลอก ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างของคะแนนการทดสอบระหว่างกลุ่มของการรับรู้ของทั้งหกโดเมน ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการจัดสรร celecoxib เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในทางเดินอาหารมากกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก (RR 2.66, 95% CI 1.05 ถึง 6.75; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

การทดลอง 1 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 1457 คน) ประเมินประสิทธิภาพของ COX-2 inhibitor rofecoxib (25 มก. วันละครั้ง) ในการชะลอหรือป้องกัน AD ในผู้เข้าร่วมที่มี MCI มัธยฐานของระยะเวลาการเข้าร่วมการศึกษาคือ 115 สัปดาห์ในกลุ่ม rofecoxib และ 130 สัปดาห์ในกลุ่มยาหลอก มีอุบัติการณ์ AD ในกลุ่มที่ได้รับ rofecoxib สูงกว่ากลุ่มยาหลอก (RR 1.32, 95% CI 1.01 ถึง 1.72; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างระหว่างกลุ่มในเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือด (RR 1.07, 95% CI 0.68-1.66; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) หรือการตาย (RR 1.62, 95% CI 0.85 ถึง 3.05; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับ rofecoxib มีอาการไม่พึงประสงค์ในทางเดินอาหารส่วนบนมากกว่า (RR 3.53, 95% CI 1.17 ถึง 10.68; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่พบความแตกต่างของคะแนนความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรายปี ระหว่างกลุ่มในกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน (ปีที่ 1: ไม่มีข้อมูล; ปีที่ 2: 0.0, 95% CI –0.1 ถึง 0.2; ปีที่ 3: 0.1, 95% CI –0.1 to 0.3; ปีที่ 4: 0.1, 95% CI –0.1 ถึง 0.4; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 28่ กรกฎาคม 2020

Tools
Information