การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาโรคคาวาซากิ

ข้อความที่สำคัญ

คอร์ติโคสเตียรอยด์ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาหัวใจหลังจากเป็นโรคคาวาซากิได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญใดๆ นอกจากนี้ยังลดระยะเวลาของอาการ (ไข้และผื่น) ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และค่าตัวบ่งชี้ในเลือดที่เกี่ยวข้องกับการป่วย

โรคคาวาซากิคืออะไรและรักษาอย่างไร

โรคคาวาซากิคือการอักเสบของหลอดเลือด ยามาตรฐานที่ใช้รักษาโรคคาวาซากิ ได้แก่ อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (IVIG) และแอสไพริน การรักษานี้มักจะได้ผล แต่ไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน ขณะนี้เรามีความเข้าใจที่จำกัดเกี่ยวกับโรคคาวาซากิและวิธีการจัดการที่ดีที่สุด นี่เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากหนึ่งในผลกระทบระยะยาวจากการเป็นโรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับหัวใจ ทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ชีวิตสั้นลง

เราได้ทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมซึ่งรักษาเด็กที่เป็นโรคคาวาซากิโดยใช้ยาที่เรียกว่าคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อดูว่าลดโอกาสของปัญหาหัวใจในอนาคตหรือไม่ นอกจากนี้เรายังตรวจสอบผลกระทบต่อระยะเวลาของไข้ สัญญาณของการติดเชื้อในเลือด และจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล ในการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม การรักษาหรือการทดสอบที่คนได้รับมาจากการสุ่ม และมักจะให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดเกี่ยวกับผลการรักษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 8 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 1877 คน ซึ่งเปรียบเทียบการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์กับไม่ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในเด็กที่เป็นโรคคาวาซากิ เมื่อรวมผลลัพธ์จากการศึกษาเหล่านี้ พบว่าปัญหาเกี่ยวกับหัวใจลดลงหลังการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ ไม่มีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงหรือการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือกลุ่มที่ไม่มีการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ ตัวบ่งชี้ในเลือดที่บ่งบอกถึงความเจ็บป่วยลดลงและเด็ก ๆ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลงเมื่อรับการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาการของโรคคาวาซากิ (มีไข้และผื่นขึ้น) เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นลงหลังการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานเกี่ยวกับปัญหาหัวใจในระยะยาว (มากกว่าหนึ่งปีหลังจากเริ่มมีอาการ) (โรคหลอดเลือดหัวใจ) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคคาวาซากิ

เรามั่นใจแค่ไหนในหลักฐาน

หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางสำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรงและการเสียชีวิต ความเสี่ยงของปัญหาหัวใจในอนาคต ตัวบ่งชี้ในเลือด และระยะเวลาที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งหมายความว่าเรามีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางว่าผลกระทบที่แท้จริงนั้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการทบทวนนี้ หลักฐานถือว่ามีความเชื่อมั่นต่ำเรื่องช่วงระยะเวลาของอาการทางคลินิก (ไข้และผื่น) ซึ่งหมายความว่าความเชื่อมั่นของเราในการประมาณการผลกระทบนี้มีจำกัด และเป็นเพราะวิธีการวัดและรายงานอาการเหล่านี้

หลักฐานนี้ทันสมัยแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้ปรับปรุงหลักฐานก่อนหน้าของเรา หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางแสดงให้เห็นว่าการใช้สเตียรอยด์ในระยะเฉียบพลันของ KD สัมพันธ์กับความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจที่ลดลง ตัวบ่งชี้การอักเสบที่ลดลง และระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลงเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงหรือการเสียชีวิตในคนที่ที่มีหรือไม่มีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์สามารถลดระยะเวลาของอาการทางคลินิก (ไข้และผื่น) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว (มากกว่า 1 ปีหลังจากเริ่มมีอาการ) หลักฐานที่นำเสนอในการทบทวนอย่างเป็นระบบนี้ไปในทิศทางเดียวกับแนวทางทางคลินิกในปัจจุบันเกี่ยวกับการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาเป็นทางเลือกแรกใน KD

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคคาวาซากิ (KD) หรือโรคเยื่อบุและผิวหนังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจในวัยเด็กในประเทศที่มีรายได้สูง มีการโต้เถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดในเด็กที่เป็นโรค KD และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการรักษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำมาตรฐาน (IVIG) และแอสไพริน เช่น การเพิ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ นี่คือการปรับปรุงการทบทวนที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2017

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบของการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ต่ออุบัติการณ์ของความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจใน KD โดยเป็นการรักษาทางเลือกแรกหรือทางเลือกที่สอง

วิธีการสืบค้น: 

Cochrane Vascular Information Specialist ค้นหา Cochrane Vascular Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL และทะเบียนการทดลอง 2 แหล่งจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021 เราค้นหารายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราเลือกการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับเด็กที่มีระดับความรุนแรงของโรค KD ทุกระดับ ที่ได้รับการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ รวมถึงคอร์ติโคสเตียรอยด์ประเภทต่างๆ ระยะเวลาการรักษาที่แตกต่างกัน และในกรณีที่ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษา KD อื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับ เรารวมการทดลองโดยใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับการรักษาทางเลือกแรกและทางเลือกที่สอง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกการศึกษาโดยอิสระ ประเมินคุณภาพการศึกษาและดึงข้อมูลโดยใช้วิธีการมาตรฐานของ Cochrane เราคํานวณ odds ratios (ORs) หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) ร่วมกับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) โดยใช้ fixed-effect model meta-analyses เราใช้ random-effects model เมื่อมีความแตกต่างกันระหว่างการศึกษา เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE ผลลัพธ์ที่สนใจ ได้แก่ อุบัติการณ์ของความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง การตาย ระยะเวลาของอาการเฉียบพลัน (เช่น ไข้) เวลาที่พารามิเตอร์ทางห้องปฏิบัติการเป็นปกติ ระยะเวลานอนโรงพยาบาล และโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว

ผลการวิจัย: 

การปรับปรุงนี้พบการศึกษาใหม่ 1 ฉบับ ดังนั้นการวิเคราะห์จึงรวมการทดลอง 8 ฉบับซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วม 1877 คน การทดลอง 7 ฉบับ ตรวจสอบการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาทางเลือกแรก และการศึกษาอีก 1 ฉบับตรวจสอบการรักษาเป็นทางเลือกที่สอง การทดลองทั้งหมดมีคุณภาพระเบียบวิธีวิจัยที่ดี

จากการวิเคราะห์แบบรวม การรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ช่วยลดการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจตามมา (OR 0.32, 95% CI 0.14 ถึง 0.75; การศึกษา 8 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 986 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) โดยไม่มีผลไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (0 เหตุการณ์; การศึกษา 6 ฉบับ,ผู้เข้าร่วม 737 คน ความเชื่อมั่นปานกลาง) และการเสียชีวิต (0 เหตุการณ์; การศึกษา 8 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1075 คน หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) นอกจากนี้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ยังช่วยลดระยะเวลาของอาการไข้ (MD −1.34 วัน, 95% CI −2.24 ถึง -0.45; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 290 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ), เวลาสำหรับพารามิเตอร์ทางห้องปฏิบัติการ (อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) และ C- reactive protein (CRP)) เพื่อทำให้เป็นปกติ (MD −2.80 วัน, 95% CI −4.38 ถึง −1.22; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 178 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และระยะเวลาของการอยู่โรงพยาบาล (MD −1.01 วัน, 95% CI − 1.72 ถึง −0.30 การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 119 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว (มากกว่าหนึ่งปีหลังจากเริ่มมีอาการ)

บันทึกการแปล: 

บันทึกการแปล CD011188.pub3 Edit โดย ผกากรอง 27 กรกฏาคม 2023

Tools
Information