กายภาพบำบัดทรวงอกสำหรับโรคปอดบวมในผู้ใหญ่

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

กายภาพบำบัดทรวงอกมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการรักษาแบบประคับประคองสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอดบวมหรือไม่

ความเป็นมา

โรคปอดบวมเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยที่สุดปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มอายุทั่วโลก ยาปฏิชีวนะเป็นการรักษาหลักของโรคปอดบวม ในขณะที่การรักษาแบบประคับประคองอื่นๆ เช่น การให้ออกซิเจนเสริม อาจเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วยด้วย การทำกายภาพบำบัดทรวงอกซึ่งเป็นเทคนิคการทำให้ทางเดินหายใจโล่ง มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการรักษาโรคปอดบวมในผู้ใหญ่โดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

ช่วงเวลาที่ค้นหา

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงพฤษภาคม 2020

ลักษณะการศึกษา

เรารวมการศึกษา 8 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม 974 คน และรวมการศึกษาใหม่ 2 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 540 รายในการปรับปรุงนี้ การศึกษาทั้งหมดทำในผู้ป่วยในโรงพยาบาล การศึกษาได้ศึกษาการทำกายภาพบำบัดทรวงอก 5 ประเภท ได้แก่ การทำกายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา (เทคนิคการใช้มือเพื่อช่วยให้เสมหะถุกขับออกมา) เทคนิคการหายใจแบบเคลื่อนไหว (ชุดของการออกกำลังกายการหายใจเพื่อช่วยให้ขับเสมหะออกได้) การรักษาแบบ osteopathic manipulative treatment (OMT) (การใช้แรงโดยนักกายภาพบำบัดเพื่อปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินหายใจและช่วยการขับเสมหะ) การหายใจออกแรงดันบวก (การใช้อุปกรณ์ที่เพิ่มความต้านทานการไหลของอากาศเพื่อปรับปรุงการขับเสมหะ) และการสั่นของผนังหน้าอกความถี่สูง (การสั่นสะเทือนของผนังหน้าอกด้วยอุปกรณ์พิเศษ เพื่อช่วยการขับเสมหะ)

ผลการศึกษาที่สำคัญ

1. การเสียชีวิต

การทำกายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา OMT และการสั่นของผนังหน้าอกความถี่สูง (เทียบกับการไม่ทำกายภาพบำบัดหรือการรักษาแบบหลอก) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการลดการเสียชีวิต แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

2. อัตราการรักษาหาย

OMT (เทียบกับการรักษาหลอก) อาจปรับปรุงอัตราการรักษาหายตามที่ผู้ทำการศึกษากำหนด แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก การทำกายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา (เทียบกับที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด) และเทคนิคการหายใจแบบแอคทีฟ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลในการปรับปรุงอัตราการรักษาหาย แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

3. ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

การหายใจความดันเป็นบวก (เทียบกับที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจลดระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 1.4 วัน แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก การทำOMT, กายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา และเทคนิคการหายใจแบบแอคทีฟ (เทียบกับที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลใระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

4. ระยะเวลาของไข้

การหายใจความดันเป็นบวก (เทียบกับที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจลดระยะเวลาการเป็นไข้ได้ 0.7 วัน แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก กายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา (เทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด) หรือ OMT (เทียบกับการรักษาหลอก) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อระยะเวลาของไข้ แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

5. ระยะเวลาการใช้ยาปฏิชีวนะ

OMT (เทียบกับการรักษาหลอก) และการหายใจแบบแอคทีฟ (เทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อระยะเวลาของการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

6. ระยะเวลาอยู่หอผู้ป่วยหนัก (ICU)

การสั่นของผนังทรวงอกความถี่สูง (เมื่อเทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด) อาจลดระยะเวลาพักใน ICU ลง 3.8 วันในผู้ที่เป็นโรคปอดบวมรุนแรงที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ (การใช้เครื่องช่วยหายใจ) แต่หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก

7. ระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจ

การสั่นของผนังทรวงอกความถี่สูง (เมื่อเทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด) อาจลดระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจได้ 3 วันในผู้ที่เป็นโรคปอดบวมรุนแรงที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

8. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย)

การศึกษา 1 ฉบับ รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง 3 เหตุการณ์ (ไม่ได้ระบุ) ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมต้องถอนตัวออกจากการศึกษาก่อนกำหนดหลังจาก OMT การศึกษา 1 ฉบับ รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เนื่องจากความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อในระยะสั้นหลังการรักษาในผู้เข้าร่วม 2 คน การศึกษาอื่นรายงานว่าไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

โดยสรุป ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมากเนื่องจากข้อจำกัดของการวิจัย ผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย และ/หรือผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำ (ผลโดยประมาณของการรักษาไม่ชัดเจนมาก) หลักฐานความเชื่อมั่นที่ต่ำมากแสดงให้เห็นว่าการทำกายภาพบำบัดบางอย่างอาจทำให้การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลงเล็กน้อย ระยะเวลาเป็นไข้ ระยะเวลาการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และการพักรักษาตัวในห้องไอซียู รวมถึงการใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ผลเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การรวมการทดลองใหม่สองรายการในการอัปเดตนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อสรุปหลักของการทบทวนเดิม หลักฐานปัจจุบันมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการทำกายภาพบำบัดทรวงอกในการปรับปรุงอัตราการตายและอัตราการรักษาหายในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอดบวม กายภาพบำบัดบางอย่างอาจทำให้การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลงเล็กน้อย รวมทั้งระยะเวลาเป็นไข้ และการพักรักษาตัวใน ICU รวมถึงการใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่างไรก็ตาม การค้นพบทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากและจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

แม้จะมีหลักฐานที่ขัดแย้งกัน แต่การทำกายภาพบำบัดทรวงอกก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางเป็นการรักษาเสริมสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอดบวม นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2010 และปรับปรุงในปี 2013

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำกายภาพบำบัดทรวงอกสำหรับโรคปอดบวมในผู้ใหญ่

วิธีการสืบค้น: 

เราอัปเดตการค้นหาในฐานข้อมูลต่อไปนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022: Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) ผ่าน OvidSP, MEDLINE ผ่าน OvidSP (จากปี 1966), Embase via embase.com (จาก 1974), Physiotherapy Evidence Database (PEDro) ( ตั้งแต่ 1929, CINAHL ผ่าน EBSCO (ตั้งแต่ปี 2009) และChinese Biomedical Literature Database (CBM) (ตั้งแต่ปี 1978)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

Randomized controlled trials (RCTs) และ quasi-RCTs ที่ประเมินประสิทธิภาพของการทำกายภาพบำบัดทรวงอกในการรักษาโรคปอดบวมในผู้ใหญ่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลองใหม่ 2 ฉบับ ในการอัปเดตนี้ (ผู้เข้าร่วม 540 คน) มี RCTs ทั้งหมด 8 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 974 คน) RCTs 4 ฉบับดำเนินการในสหรัฐอเมริกา 2 ฉบับในสวีเดน 1 ฉบับในประเทศจีน และอีก 1 ฉบับในสหราชอาณาจักร การศึกษาได้ศึกษาการทำกายภาพบำบัดทรวงอก 5 ประเภท ได้แก่ กายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา การรักษาแบบ osteopathic manipulative (OMT ซึ่งรวมถึงการยับยั้ง paraspinal การยกซี่โครงและการคลาย myofascial); วัฏจักรของเทคนิคการหายใจแบบแอคทีฟ (ซึ่งรวมถึงการควบคุมการหายใจแบบแอคทีฟ การฝึกหัดการขยายทรวงอก และเทคนิคการหายใจออกแบบแรง) การหายใจออกความดันบวก และการสั่นของผนังหน้าอกที่มีความถี่สูง

เราประเมินการศึกษา 4 ฉบับที่มีความเสี่ยงของอคติไม่ชัดเจน และการศึกษา 4 ฉบับ มีความเสี่ยงที่จะมีอคติสูง

การทำกายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา (เทียบกับไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการทำให้อัตราการตายดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.03, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.15 ถึง 7.13; 2 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 225 คน ; I² = 0%) OMT (เทียบกับการรักษาหลอก) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลในการดีขึ้นของอัตราการตาย แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.43, 95% CI 0.12 ถึง 1.50; 3 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 327 คน; I² = 0%) ในทำนองเดียวกัน การสั่นของผนังหน้าอกด้วยความถี่สูง (เมื่อเทียบกับไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการปรับปรุงอัตราการตาย แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.75, 95% CI 0.17 ถึง 3.29; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 286 คน)

การทำกายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา (เทียบกับไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการปรับปรุงอัตราการรักษาหาย แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.93, 95% CI 0.56 ถึง 1.55; 2 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 225 คน; I² = 85%) วงจรการหายใจแบบแอคทีฟ (เทียบกับที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลในการปรับปรุงอัตราการรักษาหาย แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.60, 95% CI 0.29 ถึง 1.23; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 32 คน) OMT (เทียบกับการรักาาหลอก) อาจปรับปรุงอัตราการรักษาหาย แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก (RR 1.59, 95% CI 1.01 ถึง 2.51; 2 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 79 คน; I² = 0%)

OMT (เทียบกับการรักษาหลอก) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อระยะเวลาเฉลี่ยของการนอนโรงพยาบาล แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) −1.08 วัน, 95% CI −2.39 to 0.23; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 333 คน; I² = 50%) การทำกายภาพบำบัดทรวงอกแบบธรรมดา (เทียบกับไม่มีการทำกายภาพบำบัด MD 0.7 วัน 95% CI −1.39 ถึง 2.79; การทดลอง 1 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 54 คน) และวงจรการหายใจแบบแอคทีฟ (เทียบกับการไม่ทำกายภาพบำบัด MD 1.4 วัน 95% CI −0.69 ถึง 3.49; 1 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 32 คน) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก ความดันหายใจออกในเชิงบวก (เทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด) อาจลดระยะเวลาเฉลี่ยของการอยู่ในโรงพยาบาลได้ 1.4 วัน แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก (MD −1.4 วัน, 95% CI −2.77 ถึง −0.03; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 98 คน)

ความดันหายใจออกในเชิงบวก (เทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด) อาจลดระยะเวลาของไข้ 0.7 วัน แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (MD −0.7 วัน, 95% CI −1.36 ถึง −0.04; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 98 คน) การทำกายภาพบำบัดหน้าอกแบบธรรมดา (เทียบกับไม่มีกายภาพบำบัด MD 0.4 วัน 95% CI −1.01 ถึง 1.81; 1 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 54 คน) และ OMT (เทียบกับการรักษาหลอก MD 0.6 วัน 95% CI -1.60 ถึง 2.80; 1 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 21 คน) อาจมีผลต่อระยะเวลาของไข้เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก

OMT (เทียบกับการรักษาหลอก) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลในระยะเวลาเฉลี่ยที่ให้ยาต้านจุลชีพ แต่ความแน่นอนของหลักฐานต่ำมาก (ระยะเวลาเฉลี่ย −1.07 วัน, 95% CI −2.37 to 0.23; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; I² = 61%) วงจรการหายใจแบบแอคทีฟ (เทียบกับที่ไม่มีการทำกายภาพบำบัด) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลกับระยะเวลาของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทั้งหมด แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (ระยะเวลาเฉลี่ย 0.2 วัน, 95% CI −4.39 ถึง 4.69; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 32 คน)

การสั่นความถี่สูงของผนังหน้าอกร่วมกับการล้างถุงลมปอดด้วยไฟโบรบรอนโคสโคป (เทียบกับการล้างถุงลมโปอดเพียงอย่างเดียว) อาจลดระยะเวลาเฉลี่ย (MD) ของการอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ได้ 3.8 วัน (MD −3.8 วัน, 95% CI −5.00 ถึง −2.60; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 286 คน) และ MD ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ 3 วัน (MD −3 วัน, 95% CI −3.68 ถึง −2.32; การทดลอง 1 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 286 คน) แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

การทดลองหนึ่งเรื่องรายงานอาการปวดกล้ามเนื้อชั่วคราวที่เกิดขึ้นหลังจาก OMT ในผู้เข้าร่วม 2 คน ในการทดลองอีกเรื่องรายงาน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงสามเหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่การถอนตัวก่อนกำหนดหลังจาก OMT การทดลองหนึ่งรายงานว่าไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใด ๆ หลังจากได้รับการบำบัดด้วยการหายใจออกแบบแรงดันบวก

ข้อจำกัดของการทบทวนนี้คือกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กและไม่ชัดเจนหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติของการทดลองที่รวบรวมมา

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 28 พฤศจิกายน 2022

Tools
Information