การออกกำลังกายเพื่อการรักษาสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

บทบรรณาธิการ: 

หมายเหตุบรรณาธิการ (19 ธันวาคม 2024; แก้ไข 31 มกราคม 2025):
Larun L, Brurberg KG, Odgaard-Jensen J, Price JR. การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง Cochrane Database of Systematic Reviews 2019, ฉบับที่ 10 Art. No .: CD003200. DOI: 10.1002/14651858.CD003200.pub8. เข้าถึงเมื่อ 18 ธันวาคม 2024

หมายเหตุบรรณาธิการนี้มีไว้สำหรับบทความข้างต้น ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2019 บน Cochrane Library (https://www.cochranelibrary.com/) และเผยแพร่โดยผู้จัดพิมพ์ John Wiley & Sons Ltd ในข้อตกลงกับ Cochrane Collaboration หมายเหตุบรรณาธิการตกลงที่จะแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่า Cochrane กำลังยุติการผลิตการอัปเดตฉบับเต็มของการทบทวนวรรณกรรม Cochrane นี้ โครงการนำร่องเพื่อดึงดูดผู้ถือผลประโยชน์เข้ามาร่วมในการพัฒนา Cochrane Review นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2019 (ดูหมายเหตุบรรณาธิการด้านล่าง) และปัจจุบันได้ถูกยุบไปแล้ว Cochrane ยังคงตัดสินใจที่จะเผยแพร่ Cochrane Review นี้ในปี 2019 ซึ่งรวมถึงการศึกษาจากการสืบค้นจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2014

หมายเหตุบรรณาธิการ (2 ตุลาคม 2019):
คำชี้แจงจากบรรณาธิการบริหารเกี่ยวกับบททบทวนนี้และการอัปเดตที่วางแผนไว้สามารถดูได้ที่ https://www.cochrane.org/news/cfs

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดข้อ ปวดศีรษะ มีปัญหาในการนอนหลับ สมาธิและความจำระยะสั้นไม่ดี อาการเหล่านี้ทำให้เกิดความพิการและความทุกข์ทรมานอย่างมาก เราต้องการค้นหาว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกายสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (โรคกล้ามเนื้อและไขสันหลังอักเสบ) ได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

ผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วยการออกกำลังกายน่าจะมีอาการอ่อนเพลียในช่วงท้ายของการบำบัดน้อยกว่าผู้ที่ได้รับการบำบัดแบบ passive เราไม่เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงนี้จะคงอยู่ในระยะยาวหรือไม่ เรายังไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความเสี่ยงของผลข้างเคียงร้ายแรงจากการบำบัดด้วยการออกกำลังกาย

อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทวนวรรณกรรมนี้

เราศึกษาว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกายสามารถลดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้หรือไม่ เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบผลของการบำบัดด้วยการออกกำลังกายกับการรักษาตามปกติหรือการบำบัดอื่น ๆ

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร

เราพบการศึกษา 8 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 1518 ราย การศึกษาได้เปรียบเทียบผู้เข้าร่วมที่ได้รับการบำบัดด้วยการออกกำลังกายกับผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษาตามปกติหรือการรักษาที่ active มากขึ้น เช่น การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา

ผู้เข้าร่วมได้รับการบำบัดด้วยการออกกำลังกายเป็นเวลา 12 สัปดาห์ถึง 26 สัปดาห์ การศึกษาได้วัดผลของการบำบัดเมื่อสิ้นสุดการรักษาและในระยะยาวหลังจาก 50 หรือ 72 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมได้ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันโดยใช้การออกกำลังกายแบบแอโรบิกรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยาน

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเทียบกับการรักษาตามปกติหรือการผ่อนคลาย

ผู้เข้าร่วมที่เข้ารับการบำบัดด้วยการออกกำลังกายน่าจะมีอาการอ่อนเพลียลดลงในช่วงท้ายของการรักษา และอาจมีการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้นเล็กน้อย เราไม่เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงเหล่านี้จะคงอยู่ในระยะยาวหรือไม่เนื่องจากเราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักฐานอย่างมาก

ผู้เข้าร่วมที่เข้ารับการบำบัดการออกกำลังกายอาจมีการนอนหลับที่ดีขึ้นเล็กน้อยทั้งในช่วงสิ้นสุดการรักษาและในระยะยาว

เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่ร้ายแรงและผลของการบำบัดด้วยการออกกำลังกายต่อความเจ็บปวด คุณภาพชีวิต และภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้เพราะเราขาดหลักฐาน หรือเพราะเราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักฐานอย่างมาก

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเทียบกับการบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการอ่อนเพลียของผู้เข้าร่วมในช่วงสิ้นสุดการรักษาหรือในระยะยาว การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการทำงานทางกายของผู้เข้าร่วมเมื่อสิ้นสุดการรักษา แต่ผลกระทบในระยะยาวต่อการทำงานทางกายนั้นยังไม่เชื่อมั่น

ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาถึงผลของการบำบัดด้วยการออกกำลังกายต่อภาวะซึมเศร้าเมื่อสิ้นสุดการรักษา แต่มีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบในระยะยาวเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความเสี่ยงของผลข้างเคียง เรายังไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับผลต่อความเจ็บปวด คุณภาพชีวิต หรือการนอนหลับ ทั้งนี้เพราะเราขาดหลักฐาน หรือเพราะเราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักฐานอย่างมาก

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเทียบกับการปรับจังหวะชีวิต (ใช้ชีวิตอยู่ในขีดจำกัด)

ผู้เข้าร่วมที่เข้ารับการบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจมีอาการอ่อนเพลียและอาการซึมเศร้าลดลงเล็กน้อย และมีการทำงานของร่างกายและการนอนหลับที่ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อสิ้นสุดการรักษาและในระยะยาวเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมที่ใช้วิธีการบำบัดแบบปรับจังหวะชีวิต

เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับผลต่อคุณภาพชีวิตหรือความเจ็บปวด เนื่องจากเราขาดหลักฐานหรือเราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักฐานอย่างมาก

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเทียบกับยาต้านอาการซึมเศร้า

เราไม่เชื่อมั่นว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกายจะดีกว่าการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าในการลดอาการอ่อนเพลียหรือไม่ เรายังไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับผลต่อภาวะซึมเศร้า ผลข้างเคียง ความเจ็บปวด การทำงานของร่างกาย คุณภาพชีวิต หรือการนอนหลับ เนื่องจากเราขาดหลักฐานหรือเราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักฐานอย่างมาก

เหตุใดการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงมีความสำคัญ

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายได้รับการแนะนำโดยแนวทางการรักษาและมักใช้เป็นการรักษาผู้ที่มีอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังควรมีโอกาสในการตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับการดูแลและการรักษาของตนเองโดยอาศัยหลักฐานการวิจัยที่มั่นคง และการออกกำลังกายมีประสิทธิผลหรือไม่ โดยอาจเป็นการรักษาแบบเดี่ยว ๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาก็ได้

สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าหลักฐานในการทบทวนนี้มาจากบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ปี 1994 ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหรือเกณฑ์ของอ็อกซ์ฟอร์ด ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโดยใช้เกณฑ์อื่นอาจได้ผลที่แตกต่างออกไป

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจมีผลดีต่ออาการอ่อนเพลียในผู้ใหญ่ที่เป็นโรค CFS เมื่อเทียบกับการดูแลปกติหรือการบำบัดแบบ passive หลักฐานเกี่ยวกับผลข้างเคียงยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากมีหลักฐานจำกัด จึงยากที่จะสรุปผลเกี่ยวกับประสิทธิผลเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง CBT การกำหนดจังหวะแบบปรับตัว หรือการรักษาอื่น ๆ การศึกษาทั้งหมดดำเนินการกับผู้ป่วยนอกที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ปี 1994 ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหรือเกณฑ์ของอ็อกซ์ฟอร์ดหรือทั้งสองเกณฑ์ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโดยใช้เกณฑ์อื่นอาจได้ผลที่แตกต่างกัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome; CFS) หรือโรคกล้ามเนื้อและไขสันหลังอักเสบ (myalgic encephalomyelitis; ME) เป็นโรคร้ายแรงที่มีลักษณะอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่องหลังออกกำลังกาย และมีอาการที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางสติปัญญา ภูมิคุ้มกัน และระบบประสาทอัตโนมัติอย่างมาก ไม่มีการทดสอบการวินิจฉัยที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นจึงใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเพื่อวินิจฉัย CFS ความชุกของ CFS แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวินิจฉัยที่ใช้ กลยุทธ์การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการและปรับปรุงการทำงานเป็นหลัก ทางเลือกการรักษาอย่างหนึ่งคือการบำบัดด้วยการออกกำลังกาย

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คือเพื่อพิจารณาผลของการบำบัดด้วยการออกกำลังกายสำหรับผู้ใหญ่ที่มี CFS เมื่อเปรียบเทียบกับ วิธีการ หรือการควบคุมอื่น ๆ ต่ออาการอ่อนเพลีย ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ความเจ็บปวด การทำงานของร่างกาย คุณภาพชีวิต ความผิดปกติทางอารมณ์ การนอนหลับ การเปลี่ยนแปลงที่รับรู้ด้วยตนเองในสุขภาพโดยรวม การใช้ทรัพยากรบริการสุขภาพ และการออกจากระบบ

วิธีการสืบค้น: 

เราได้ค้นหา Cochrane Common Mental Disorders Group controlled trials register, CENTRAL และ SPORTDiscus จนถึงเดือนพฤษภาคม 2014 โดยใช้รายการคำศัพท์ข้อความอิสระที่ครอบคลุมสำหรับ CFS และการออกกำลังกาย เราค้นหาการศึกษาที่ยังไม่ได้เผยแพร่และกำลังดำเนินการผ่าน International Clinical Trials Registry Platform ขององค์การอนามัยโลกจนถึงเดือนพฤษภาคม 2014 เราคัดกรองรายการอ้างอิงของบทความที่รวบรวมมาและติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomised controlled trials; RCT) เกี่ยวกับผู้ใหญ่ที่มีการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็น CFS จากเกณฑ์การวินิจฉัยทั้งหมด ซึ่งสามารถเข้าร่วมการบำบัดด้วยการออกกำลังกายได้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดเลือกการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของการอคติ และคัดลอกข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เรารวมการวัดผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องโดยใช้ค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (mean differences; MD) หรือค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (standardised mean differences; SMD) เพื่ออำนวยความสะดวกในการตีความ SMD เราได้แสดงค่าประมาณ SMD อีกครั้งเป็น MD บนมาตราการวัดทั่วไป เราได้รวมผลลัพธ์แบบ dichotomous โดยใช้ risk ratios (RR) เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยวิธีการของ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 8 ฉบับ โดยมีข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 1518 ราย

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายกินเวลาตั้งแต่ 12 สัปดาห์ถึง 26 สัปดาห์ การศึกษาได้วัดผลเมื่อสิ้นสุดการรักษาและติดตามผลในระยะยาว หลังจาก 50 สัปดาห์หรือ 72 สัปดาห์

การศึกษา 7 ฉบับใช้การบำบัดด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน หรือการเต้นรำ โดยมีระดับความเข้มข้นของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกผสมผสานกันตั้งแต่ระดับต่ำมากไปจนถึงระดับเข้มข้นมาก และการศึกษา 1 ฉบับใช้การออกกำลังกายแบบ anaerobic กลุ่มควบคุมประกอบด้วยการควบคุมแบบ passive ซึ่งได้แก่ การรักษาตามปกติ การผ่อนคลายหรือความยืดหยุ่น (การศึกษา 8 ฉบับ); การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (CBT) (การศึกษา 2 ฉบับ); การบำบัดทางปัญญา (การศึกษา 1 ฉบับ); การฟังเพื่อช่วยเหลือ (การศึกษา 1 ฉบับ); การเดินเร็ว (การศึกษา 1 ฉบับ); การรักษาด้วยยา (การศึกษา 1 ฉบับ) และการรักษาแบบผสมผสาน (การศึกษา 1 ฉบับ)

การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในด้านการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (selection bias) ทุกการศึกษามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงด้านการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ (performance bias) และ ด้านการประเมินผล (detection bias)

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเปรียบเทียบกับการควบคุมแบบ 'passive'

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายน่าจะช่วยลดความอ่อนเพลียในตอนท้ายของการรักษา (SMD -0.66, 95% CI -1.01 ถึง -0.31; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 840 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง; re-expressed MD -3.4, 95% CI -5.3 ถึง -1.6; มาตราส่วน 0 ถึง 33) เราไม่เชื่อมั่นว่าอาการอ่อนเพลียจะลดลงในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (SMD −0.62, 95% CI −1.32 ถึง 0.07; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 670 ราย; re-expressed MD −3.2, 95% CI −6.9 ถึง 0.4; ระดับ 0 ถึง 33)

เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงเนื่องจาก ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.99, 95% CI 0.14 ถึง 6.97; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 319 ราย)

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของร่างกายได้ในระดับปานกลางในช่วงสิ้นสุดการรักษา แต่ผลในระยะยาวยังคงไม่เชื่อมั่น เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงสิ้นสุดการรักษาและในระยะยาว ผลของการบำบัดด้วยการออกกำลังกายต่อความเจ็บปวด คุณภาพชีวิต และภาวะซึมเศร้ายังไม่แน่นอน เนื่องจากหลักฐานยังไม่เชื่อมั่นหรือมีความเชื่อมั่นต่ำมาก

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเปรียบเทียบกับ CBT

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออาการอ่อนเพลียเมื่อสิ้นสุดการรักษา (MD 0.20, 95% CI -1.49 ถึง 1.89; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 298 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรือในช่วงการติดตามผลในระยะยาว (SMD 0.07, 95% CI −0.13 ถึง 0.28; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 351 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงเนื่องจาก ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.67, 95% CI 0.11 ถึง 3.96; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 321 ราย)

หลักฐานที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการบำบัดด้วยการออกกำลังกายและ CBT ในการทำงานทางร่างกายหรือการนอนหลับ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในผลต่อภาวะซึมเศร้า (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) เราไม่แน่ใจว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกายเมื่อเทียบกับ CBT จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือลดความเจ็บปวดได้หรือไม่ เนื่องจากหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเปรียบเทียบกับการปรับจังหวะ

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้เล็กน้อยเมื่อสิ้นสุดการรักษา (MD −2.00, 95% CI −3.57 ถึง −0.43; มาตราส่วน 0 ถึง 33; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 305 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และในการติดตามผลในระยะยาว (MD −2.50, 95% CI −4.16 ถึง −0.84; มาตราส่วน 0 ถึง 33; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 307 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เราไม่แนใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (RR 0.99, 95% CI 0.14 ถึง 6.97; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 319 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

หลักฐานที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกายอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของร่างกาย ภาวะซึมเศร้า และการนอนหลับได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการกำหนดจังหวะตามการเปลี่ยนแปลง (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดรายงานคุณภาพชีวิตหรือความเจ็บปวด

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายเทียบกับยาต้านอาการซึมเศร้า

เราไม่เชื่อมั่นว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นแบบเดี่ยวหรือร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้า จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียและอาการซึมเศร้าได้มากกว่าการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เนื่องจาก ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก การศึกษา 1 ฉบับที่รวมอยู่ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ ความเจ็บปวด การทำงานของร่างกาย คุณภาพชีวิต การนอนหลับ หรือผลลัพธ์ในระยะยาว

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7 มกราคม 2025 Edit โดย ศ พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 5 กุมพาพันธ์ 2025

Tools
Information