การฝังเข็มและการบำบัดที่เกี่ยวข้องช่วยผู้สูบบุหรี่ที่กำลังพยายามเลิกบุหรี่

เราได้ตรวจสอบหลักฐาน ว่าการฝังเข็ม การกดจุด การบำบัดด้วยเลเซอร์ หรือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าช่วยผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่

ความเป็นมา

การฝังเข็มเป็นการบำบัดแบบจีน โดยทั่วไปจะใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผิวหนังตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เข็มอาจกระตุ้นด้วยมือหรือใช้กระแสไฟฟ้า (electroacupuncture) การบำบัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะกระตุ้นจุดต่างๆโดยไม่ต้องใช้เข็ม ได้แก่ การกดจุด การบำบัดด้วยเลเซอร์ และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า อาจใช้เข็มและการกดจุดในระหว่างการรักษาเท่านั้น หรืออาจให้การกระตุ้นอย่างต่อเนื่องโดยใช้เข็มหรือลูกปัดหรือเมล็ดพืชที่ติดอยู่ที่จุดกด จุดมุ่งหมายของการบำบัดเหล่านี้คือ เพื่อลดอาการของการขาดบุหรี่ เมื่อพยายามเลิกสูบบุหรี่ การทบทวนวรรณกรรมนี้ดูการทดลองที่เปรียบเทียบการรักษากับการรักษาหลอก หรือการควบคุมอื่น ๆ รวมถึงการให้คำแนะนำเพียงอย่างเดียว หรือการรักษาที่มีประสิทธิผล เช่น การบำบัดทดแทนด้วยนิโคติน (NRT) หรือการให้คำปรึกษา การรักษาหลอก คือการสอดเข็มหรือใช้แรงกดไปยังจุดอื่น ๆ ของร่างกายที่ไม่เชื่อว่าจะมีผล หรือใช้เข็มหลอกที่ไม่ผ่านผิวหนัง หรือเลเซอร์ ชนิด inactive หรืออุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้า (electrical stimulation devices) การใช้การควบคุมประเภทนี้ หมายความว่าผู้ป่วยไม่รู้ว่าตนเองได้รับการรักษาหรือไม่

ในการประเมินว่ามีประโยชน์อย่างต่อเนื่องในการช่วยให้เลิกสูบบุหรี่หรือไม่ เราดูสัดส่วนของผู้ที่งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 6 เดือนหลังจากวันที่เลิกบุหรี่ นอกจากนี้เรายังดูผลระยะสั้นถึง 6 สัปดาห์หลังจากวันที่เลิกบุหรี หลักฐานการได้รับประโยชน์หลังจาก 6 เดือนถือว่ามีความจำเป็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าการรักษาสามารถช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร

ลักษณะของการศึกษา

เรารวม 38 การศึกษาแบบสุ่มที่ตีพิมพ์จนถึงเดือนตุลาคม 2013 การทดลองทดสอบวิธีการและการควบคุมที่หลากหลาย จุดเฉพาะที่ใช้ จำนวนครั้ง และมีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องแตกต่างกันไป การศึกษา 3 รายการ (393 คน) เปรียบเทียบการฝังเข็มกับ waiting list control การศึกษา 19 รายการ (1,588 คน) เปรียบเทียบการฝังเข็มแบบจริงกับการฝังเข็มหลอก แต่มีเพียง 11 รายการจากการศึกษาเหล่านี้ที่ติดตามผลระยะยาว 6 เดือนขึ้นไป การศึกษา 3 รายการ (253 คน) เปรียบเทียบการกดจุดกับการกดจุดหลอก แต่ไม่มีการติดตามผลในระยะยาว การทดลอง 2 รายการใช้การกระตุ้นด้วยเลเซอร์ และ 6 รายการ (634 คน) ใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า คุณภาพของหลักฐานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การศึกษา 3 รายการเปรียบเทียบการฝังเข็มกับ waiting list control และรายงานการงดในระยะยาว ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชัดเจน สำหรับการฝังเข็มเมื่อเทียบกับการฝังเข็มหลอก มีหลักฐานที่อ่อน เกี่ยวกับผลประโยชน์เล็กน้อยในระยะสั้น แต่ไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว การฝังเข็มมีประสิทธิผลน้อยกว่าการบำบัดทดแทนนิโคติน (NRT) และไม่ได้แสดงว่าดีไปกว่าการให้คำปรึกษา มีหลักฐานจำกัด ว่าการกดจุดดีกว่าการกดจุดหลอก ในระยะสั้น แต่ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับผลในระยะยาว ในการวิเคราะห์กลุ่มย่อยของการทดลองที่การรักษารวมถึงการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง การทดลองที่ใช้การกดจุดอย่างต่อเนื่องไปยังจุดที่หูมีผลระยะสั้นที่มากที่สุด หลักฐานจากการทดลอง 2 รายการ โดยใช้การกระตุ้นด้วยเลเซอร์ไม่สอดคล้องกัน การทดลองด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า 7 รายการไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์เมื่อเทียบกับการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าแบบหลอก

การทบทวนวรรณกรรมไม่พบหลักฐานที่สอดคล้องกันว่าการฝังเข็มหรือเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามเทคนิคบางอย่างอาจดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยก็ในระยะสั้น และไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะปฏิเสธความเป็นไปได้ที่อาจมีผลมากกว่าการทำหลอก มีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิผลน้อยกว่าวิธีการตามหลักฐานในปัจจุบัน ปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกต้อง

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้ว่าการประมาณการรวม จะชี้ให้เห็นถึงผลระยะสั้นที่เป็นไปได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่สอดคล้องกัน และปราศจากอคติ ว่าการฝังเข็ม การกดจุด หรือการบำบัดด้วยเลเซอร์ มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องในการเลิกสูบบุหรี่เป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามการขาดหลักฐาน และปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยหมายความว่า ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน Electrostimulation ไม่ได้ผลในการเลิกบุหรี่ ควรมีการวิจัยที่ได้รับการออกแบบอย่างดี เกี่ยวกับการฝังเข็ม การกดจุด และการกระตุ้นด้วยเลเซอร์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมและปลอดภัยเมื่อนำไปใช้อย่างถูกต้อง แม้ว่าวิธีการเหล่านี้เพียงอย่างเดียวจะมีประสิทธิผลน้อยกว่าวิธีการตามหลักฐาน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การฝังเข็มและเทคนิคที่เกี่ยวข้องได้รับการส่งเสริมให้เป็นการรักษาเพื่อการเลิกบุหรี่โดยเชื่อว่าอาจลดอาการถอนนิโคตินได้

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คือเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของการฝังเข็มและวิธีการที่เกี่ยวข้อง ของการกดจุด การบำบัดด้วยเลเซอร์ และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่โดยเปรียบเทียบกับไมมีการรักษา การรักษาหลอก หรือวิธีการอื่น ๆ

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น the Cochrane Tobacco Addiction Group Specialized Register (ซึ่งรวมถึงการทดลองวิธีการเพื่อเลิกบุหรี่ที่ไดุ้จาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, EMBASE และ PsycINFO) และ AMED ในเดือนตุลาคม 2013 เรายังสืบค้นฐานข้อมูลภาษาจีน 4 รายการในเดือนกันยายน 2013: Sino-Med, China National Knowledge Infrastructure, Wanfang Data และ VIP

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบรูปแบบของการฝังเข็ม การกดจุดการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า กับไม่มีการรักษา การรักษาหลอก หรือวิธีการอื่นๆ สำหรับการเลิกสูบบุหรี่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราคัดลอกข้อมูลแบบ duplicate ในประเภทของผู้สูบบุหรี่ที่ได้รับคัดเลือก ลักษณะของวิธีการรักษา และมาตรการการควบคุม ผลลัพธ์ วิธีการสุ่มตัวอย่าง และความสมบูรณ์ของการติดตามผล

เราประเมินการงดสูบบุหรี่ในช่วงเวลาที่เร็วที่สุด (ก่อน 6 สัปดาห์) และ ณ จุดวัดสุดท้ายระหว่าง 6 เดือนถึงหนึ่งปี เราใช้คำจำกัดความของการเลิกบุหรี่ที่เข้มงวดที่สุดของแต่ละการทดลอง และจากการตรวจสอบทางชีวเคมี (ถ้ามี) ผู้ที่ขาดการติดตามผล จะถูกนับว่าเป็นผู้สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่เหมาะสม เราทำการวิเคราะห์ meta-analysis โดยใช้ fixed-effect model

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 38 รายการ จากการศึกษา 3 รายการ พบว่าการฝังเข็มไม่ได้ผลดีกว่า waiting list control สำหรับการเลิกบุหรี่ในระยะยาว โดยมีช่วงความเชื่อมั่นที่กว้าง และมีหลักฐานแสดงความแตกต่าง (n = 393, อัตราส่วนความเสี่ยง [RR] 1.79, ช่วงความเชื่อมั่น 95% [CI ] 0.98 ถึง 3.28, I² = 57%) เมื่อเปรียบเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก RR สำหรับผลระยะสั้นของการฝังเข็มเท่ากับ 1.22 (95% CI 1.08 ถึง 1.38) และสำหรับผลระยะยาวคือ 1.10 (95% CI 0.86 ถึง 1.40) การศึกษาไม่ได้รับการตัดสินว่าปราศจากอคติ และมีหลักฐานของความไม่สมมาตรของ funnel plot โดยการศึกษาขนาดใหญ่แสดงผลทีเล็ก ความแตกต่างระหว่างการศึกษาไม่สามารถอธิบายโดยเทคนิคที่ใช้ การฝังเข็มมีประสิทธิผลน้อยกว่าการบำบัดทดแทนนิโคติน (NRT) ไม่มีหลักฐานว่าการฝังเข็มดีกว่าวิธีการทางจิตใจในระยะสั้นหรือระยะยาว มีหลักฐานจำกัด ว่าการกดจุดดีกว่าการกดจุดหลอกสำหรับผลระยะสั้น (3 การทดลอง, n = 325, RR 2.54, 95% CI 1.27 ถึง 5.08) แต่ไม่มีการทดลองที่รายงานผลระยะยาว วิธีการที่รวมถึงการกระตุ้นทางหูอย่างต่อเนื่องชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ระยะสั้นเมื่อเทียบกับการกระตุ้นหลอก (การทดลอง 14 รายการ n = 1155, RR 1.69, 95% CI 1.32 ถึง 2.16); การวิเคราะห์กลุ่มย่อยพบว่า มีผลของการกดจุดอย่างต่อเนื่อง (7 การศึกษา n = 496, RR 2.73, 95% CI 1.78 ถึง 4.18) แต่ไม่ใช่การฝังด้วยเข็ม (6 การศึกษา, n = 659, RR 1.24, 95% CI 0.91 ถึง 1.69) ในการติดตามผลอีกต่อไป CI ไม่ไดตัดการไม่มีผล (5 การทดลอง, n = 570, RR 1.47, 95% CI 0.79 ถึง 2.74) หลักฐานจากการทดลอง 2 รายการที่ใช้การกระตุ้นด้วยเลเซอร์ไม่สอดคล้องกัน หลักฐานรวมเกี่ยวกับการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าชี้ให้เห็นว่าไม่ดีไปกว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหลอก (การเลิกบุหรี่ระยะสั้น: 6 การทดลอง, n = 634, RR 1.13, 95% CI 0.87 ถึง 1.46; การเลิกบุหรี่ในระยะยาว: 2 การทดลอง, n = 405, RR 0.87, 95% CI 0.61 ถึง 1.23)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6 มีนาคม 2021

Tools
Information