ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันทีหลังจากนำทารกคลอดก่อนกำหนดออกจากเครื่องช่วยหายใจ การปล่อยอากาศแรงดันอย่างต่อเนื่องผ่านทางจมูกของทารกเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้ทารกมีประโยชน์หรือไม่

ใจความสำคัญ

• การให้แรงดันอากาศบวกต่อเนื่องทางจมูก (ส่งอากาศคงที่เข้าสู่ปอดผ่านทางจมูก) อาจช่วยลดปัญหาด้านการหายใจที่เกิดขึ้นหลังจากนำทารกคลอดก่อนกำหนดออกจากเครื่องช่วยหายใจ
• เราไม่ทราบว่าแรงดันอากาศทางจมูกอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดความเสี่ยงในการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอีกครั้ง หรือช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของปอดที่เครื่องช่วยหายใจอาจทำให้เกิดได้หรือไม่
• เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติม

การให้แรงดันอากาศบวกต่อเนื่องทางจมูกคืออะไร

แรงดันอากาศบวกต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure ; CPAP) เป็นรูปแบบหนึ่งของการช่วยการหายใจ มักเรียกกันว่าเครื่องช่วยหายใจแบบไม่รุกรานชนิดหนึ่ง ทารกที่ใช้ CPAP จะสามารถหายใจได้ด้วยตนเอง แต่กระแสลมที่มีแรงดันคงที่จะช่วยให้ทางเดินหายใจและปอดของทารกเปิดและทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น โดยทั่วไปแล้ว CPAP จะส่งผ่านเครื่องช่วยหายใจทางจมูก (CPAP ทางจมูก) โดยทั่วไปออกซิเจนจะถูกส่งพร้อมกับแรงดันบวกตามความต้องการของทารก

เครื่อง CPAP ทางจมูกช่วยทารกคลอดก่อนกำหนดได้อย่างไร

ทารกที่มีโรคปอดอาจต้องได้รับความช่วยเหลือในการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ แพทย์จะสอดท่อเข้าไปในหลอดลม และเครื่องช่วยหายใจจะขยายปอดเป็นระยะ ๆ ทำให้รับภาระส่วนใหญ่ของการหายใจของทารก อย่างไรก็ตามแม้เครื่องช่วยหายใจอาจช่วยชีวิตได้ แต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อปอดของทารกได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องถอดท่อและนำทารกออกจากเครื่องช่วยหายใจ (ถอดท่อช่วยหายใจ) โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปอดและกลไกควบคุมการหายใจของทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์ จึงมักมีปัญหาในการหายใจด้วยตนเอง พวกเขาจึงต้องใส่ท่อกลับเข้าไปในปอดและใส่เครื่องช่วยหายใจอีกครั้ง การใช้ CPAP ทางจมูกทันทีหลังถอดท่อช่วยหายใจอาจช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการเปรียบเทียบ CPAP ทางจมูกกับการไม่ใช้ CPAP ในอดีตการให้ออกซิเจนจะถูกใช้ผ่านกล่องครอบหัวทารก ซึ่งเป็นพลาสติกใสที่คลุมรอบศีรษะของทารกและให้ก๊าซออกซิเจนที่อุ่นและมีความชื้น นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นในการส่งออกซิเจนแรงดันต่ำ เช่น การใส่ท่อเล็ก ๆ เข้าไปในจมูกของทารก เราอยากทราบว่าทารกที่ถอดท่อช่วยหายใจและใช้ CPAP ทางจมูกจะมีอาการหายใจลำบากน้อยลงหลังการถอดท่อช่วยหายใจหรือไม่ และมีความเสี่ยงที่จะต้องใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ (reintubation) น้อยลงหรือไม่ นอกจากนี้ เรายังอยากทราบว่า CPAP ทางจมูกช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายต่อปอด และช่วยให้สมองของทารกพัฒนาได้ตามปกติภายในระยะเวลา 2 ปีหรือมากกว่านั้นหรือไม่

เราทำอะไรไปบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับทารกคลอดก่อนกำหนดซึ่งถือว่าพร้อมที่จะถอดท่อช่วยหายใจและได้รับ CPAP ทางจมูกหรือไม่ได้รับ CPAP เราได้สังเคราะห์ผลการศึกษาและประเมินความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐานโดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้

เราค้นพบอะไร

เราพบการศึกษา 9 ฉบับที่มีเด็กทารกรวม 726 คน การศึกษา 8 ฉบับมาจากประเทศที่มีรายได้สูง (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร กรีซ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย) และการศึกษา 1 ฉบับมาจากชิลี (จัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเมื่อทำการศึกษา) มีการศึกษา 7 ฉบับที่ดำเนินการก่อนปี 2000 การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบ CPAP ทางจมูกกับออกซิเจนแบบกล่องครอบหัว

ผลลัพธ์หลัก

ทารกที่ได้รับการใส่เครื่อง CPAP ทางจมูกหลังจากถอดท่อช่วยหายใจอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะมีปัญหาในการหายใจและจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้งเมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับออกซิเจนแบบกล่องหัว อย่างไรก็ตาม ผลของการใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้งนั้นยังไม่เชื่อมั่นมาก เราไม่ทราบว่า CPAP แบบจมูกช่วยลดความเสียหายของปอดที่เกิดจากเครื่องช่วยหายใจหรือไม่ และไม่มีการศึกษาใดที่บอกถึงพัฒนาการของสมองตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของเราในหลักฐานมีจำกัด ประการแรก บางการศึกษาใช้วิธีการที่อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในผลลัพธ์ ผู้ที่ทำการศึกษาทราบดีว่าทารกได้รับ NCPAP หรือไม่ และอาจส่งผลต่อวิธีการดูแลทารกของพวกเขา ประการที่สอง ผลลัพธ์จากการศึกษาแต่ละเรื่องไม่ค่อยสอดคล้องกัน สุดท้ายเนื่องจากผลลัพธ์ไม่แม่นยำ เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าผลประโยชน์นั้นมากหรือน้อย

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการอัพเดตการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า (2003) หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนกันยายน 2023

บทนำ

ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ถอดท่อช่วยหายใจหลังจากใช้เครื่องช่วยหายใจแบบสอดท่อช่วยหายใจเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวซึ่งอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ อาจเกิดจากภาวะหยุดหายใจ ภาวะกรดเกินที่เกี่ยวกับการหายใจ หรือภาวะขาดออกซิเจน ในอดีต ทารกคลอดก่อนกำหนดจะถอดท่อช่วยหายใจแล้วใช้ออกซิเจนแบบกล่องครอบศรีษะหรือสายยางทางจมูกแบบให้ออกซิเจนไหลต่ำ การช่วยด้วยแรงดันที่ไม่รุกรานอาจช่วยปรับปรุงอัตราการถอดท่อช่วยหายใจสำเร็จในทารกคลอดก่อนกำหนดได้ โดยการทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนคงที่ ปรับปรุงการทำงานของปอด และลดภาวะหยุดหายใจ นี่คือการอัปเดตการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1997 และอัปเดตครั้งล่าสุดในปี 2003

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบว่าการใช้แรงดันอากาศบวกต่อเนื่องทางจมูก (nasal continuous positive airway pressure; NCPAP) ทันทีหลังการถอดท่อช่วยหายใจของทารกคลอดก่อนกำหนด จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการถอดท่อช่วยหายใจล้มเหลวและความจำเป็นในการช่วยหายใจเพิ่มเติม โดยไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญทางคลินิกหรือไม่

วิธีการสืบค้น

เราได้ค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase และทะเบียนการทดลองเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2023 โดยใช้กลยุทธ์การค้นหาที่ปรับใหม่ เราค้นหาบทคัดย่อจากการประชุมและรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมอยู่และ การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองที่เข้าเกณฑ์ใช้การจัดทารกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องถอดท่อช่วยหายใจแบบ random หรือ quasi-random การเปรียบเทียบที่เข้าเกณฑ์ได้แก่ NCPAP (ให้โดยอุปกรณ์และอินเทอร์เฟซใด ๆ) เทียบกับออกซิเจนแบบกล่องครอบหัว การถอดท่อช่วยหายใจออกสู่บรรยากาศห้อง หรือออกซิเจนเสริมแรงดันต่ำรูปแบบอื่น ๆ เราจัดกลุ่มตัวเปรียบเทียบภายใต้คำว่าไม่มีแรงดันทางเดินหายใจบวกต่อเนื่อง (ไม่มี CPAP)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและคัดลอกข้อมูลจากการศึกษาที่รวมอยู่โดยอิสระต่อกัน ในกรณีที่การศึกษามีความคล้ายคลึงกันเพียงพอ เราดำเนินการทำ meta-analysis โดยคำนวณ risk ratios (RR) ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% (confidence intervals; CI) สำหรับข้อมูลแบบไดโคทอมัส สำหรับผลลัพธ์หลักที่มีผล เราคำนวณจำนวนที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมหนึ่งรายการ (number needed to treat for an additional beneficial outcome; NNTB) เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานของผลลัพธ์ที่สำคัญทางคลินิก

ผลการวิจัย

เราได้รวมการทดลอง 9 ฉบับ (มีทารก 726 คน) ไว้ในการสังเคราะห์เชิงปริมาณของการทบทวนวรรณกรรมที่อัปเดตนี้ การศึกษา 8 ฉบับมีการดำเนินในประเทศที่มีรายได้สูงระหว่างปี 1982 ถึง 2005 การศึกษา 1 ฉบับดำเนินการในประเทศชิลี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูง (upper-middle income) ในช่วงเวลาที่ศึกษา การศึกษาทั้งหมดใช้ออกซิเจนแบบกล่องครอบหัวในกลุ่มควบคุม ความเสี่ยงของการมีอคติโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะโดยธรรมชาติของวิธีการ จึงไม่มีการศึกษาใดที่มีการปกปิดกลุ่มการรักษา ดังนั้น เจ้าหน้าที่แผนกผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดจึงทราบถึงกลุ่มที่ได้รับมอบหมายสำหรับทารกแต่ละคน และเราตัดสินว่าการศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด performance bias อย่างไรก็ตาม เราประเมินการปกปิดข้อมูลของผู้ประเมินผลลัพธ์ (detection bias) ว่ามีความเสี่ยงต่ำสำหรับการศึกษา 7 ฉบับ เนื่องจากใช้เกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อกำหนดทั้ง 2 ผลลัพธ์หลัก

การใช้ NCPAP เปรียบเทียบกับการไม่ใช้ CPAP อาจช่วยลดความเสี่ยงของการถอดท่อช่วยหายใจล้มเหลว (RR 0.62, 95% CI 0.51 ถึง 0.76; risk difference (RD) −0.17, 95% −0.23 ถึง −0.10; NNTB 6, 95% CI 4 ถึง 10; I 2 = 55%; การศึกษา 9 ฉบับ, ทารก 726 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ (RR 0.79, 95% 0.64 ถึง 0.98; RD −0.07, 95% CI −0.14 ถึง −0.01; NNTB 15, 95% CI 8 ถึง 100; I 2 = 65%; การศึกษา 9 ฉบับ, ทารก 726 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) แม้ว่าหลักฐานสำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำนั้นไม่เชื่อมั่นอย่างมาก การใช้ NCPAP เปรียบเทียบกับการไม่ใช้ CPAP อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยต่อภาวะ bronchopulmonary dysplasia แต่หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นอย่างมาก (RR 0.89, 95% CI 0.47 ถึง 1.68; RD −0.03, 95% CI −0.22 ถึง 0.15; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 92 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลลัพธ์ด้านการพัฒนาทางระบบประสาท

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การใช้ NCPAP อาจมีประสิทธิผลมากกว่าการไม่ใช้ CPAP ในการป้องกันความล้มเหลวในการถอดท่อช่วยหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนด หากใช้ทันทีหลังจากการถอดท่อช่วยหายใจจากเครื่องช่วยหายใจแบบรุกราน เราไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถลดความเสี่ยงในการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำหรือ bronchopulmonary dysplasia ได้หรือไม่ เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านการพัฒนาทางระบบประสาทในระยะยาว แม้ว่าจะมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำสำหรับประสิทธิผลของให้ NCPAP ทันทีหลังถอดท่อช่วยหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนด แต่เราถือว่าไม่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วิธีการนี้ ซึ่งได้กลายมาเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานแล้ว

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 25 ตุลาคม 2024 Edit โดย ศ พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 28 มกราคม 2025

Citation
Ho JJ, Kidman AM, Chua B, Chang G, Fiander M, Davis PG. Nasal continuous positive airway pressure immediately after extubation for preventing morbidity in preterm infants. Cochrane Database of Systematic Reviews 2024, Issue 10. Art. No.: CD000143. DOI: 10.1002/14651858.CD000143.pub2.