อาการและการตรวจร่างกายสามารถวินิจฉัยโรค COVID-19 ได้อย่างถูกต้องหรือไม่

ข้อความสำคัญ

- ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าไม่สามารถวินิจฉัย COVID-19 ได้อย่างถูกต้องโดยใช้อาการที่กล่าวถึงในการทบทวนนี้เพียงอย่างเดียว

- การสูญเสียการรับรสหรือกลิ่นอาจเป็น 'red flag' ของ COVID-19 อาการไอหรือมีไข้อาจเป็นประโยชน์ในการระบุผู้ที่อาจมี COVID-19 ถ้าพบว่ามีอาการเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในการทำการตรวจเพิ่มเติม

- เราต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบอาการและอาการแสดงร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น ประวัติการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือการเดินทางล่าสุด หรือสถานะการฉีดวัคซีน และในเด็ก และผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

อาการหรืออาการแสดงของ COVID-19 คืออะไร

ผู้ป่วยจะมีอาการ ของ COVID-19 อาจมีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ อ่อนเพลียและการไม่ได้กลิ่นและรสชาติ

อาการแสดงจะตรวจวัดโดยบุคลากรทางการแพทย์ ระหว่างการตรวจทางคลินิก โดยการฟังเสียงปอด วัดความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ

อาการและอาการแสดงของ COVID-19 อาจมีความสำคัญในการช่วยให้ผู้คนรู้ว่าพวกเขาและผู้ที่พวกเขาสัมผัสควรแยกตัวอยู่ที่บ้าน เข้ารับการตรวจ rapid lateral flow test หรือ PCR (ในห้องปฏิบัติการ) หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

เราต้องการทราบอะไร

อาการและอาการแสดง COVID-19 มีความแตกต่างกันและอาจพบได้ในโรคอื่นๆ ไม่ใช่แค่ COVID-19 เราอยากทราบว่าการวินิจฉัย COVID-19 นั้นถูกต้องแม่นยำเพียงใด จากข้อมูลอาการและอาการแสดงจากการตรวจทางการแพทย์ เราสนใจผู้สงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ที่ไปพบแพทย์ ผู้ไปศูนย์ตรวจผู้ป่วยนอก หรือโรงพยาบาล

เราทำอะไร

เราสืบค้นหาการศึกษาที่ประเมินความแม่นยำของอาการและอาการแสดงเพื่อวินิจฉัย COVID-19 การศึกษาต้องทำในเวชปฏิบัติทั่วไป ศูนย์ตรวจผู้ป่วยนอก หรือแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลเท่านั้น เรารวมการศึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเฉพาะในกรณีเก็บข้อมูลจากบันทึกอาการและอาการแสดง ขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น ผ่านแผนกฉุกเฉิน

เราพบอะไร

เรามุ่งไปที่การศึกษา 42 ฉบับ ผู้เข้าร่วมศึกษา 52,608 คนในการทบทวนนี้ การศึกษาประเมินอาการและอาการแสดง 96 รายการ โดยแยกจากกันหรือรวมกัน มีการศึกษา 35 ฉบับ ในแผนกฉุกเฉินหรือศูนย์ตรวจผู้ป่วยนอก COVID-19 (ผู้เข้าร่วม 46,878 คน) การศึกษาในเวชปฏิบัติทั่วไป 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1230 คน) การศึกษา 2 ฉบับในโรงพยาบาลเด็ก (493 คน ที่แผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก) และการศึกษา 2 ฉบับ ในบ้านพักคนชรา (ผู้เข้าร่วม 4007) การศึกษาได้ดำเนินการใน 18 ประเทศทั่วโลก การศึกษา 23 ฉบับ ดำเนินการในยุโรป 8 ฉบับ ในอเมริกาเหนือ 5 ฉบับ ในเอเชีย 3 เรื่องในอเมริกาใต้และ 3 เรื่องในออสเตรเลีย เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่ดำเนินการในแอฟริกา 3 ฉบับ เน้นศึกษาในเด็กโดยเฉพาะ และมีเพียง 1 ฉบับ เท่านั้นที่เน้นศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป

การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้แยกความแตกต่างของความรุนแรงอย่างชัดเจนระหว่าง COVID-19 ที่ไม่รุนแรงและรุนแรง ดังนั้นเราจึงนำเสนอผลลัพธ์สำหรับโรคที่ไม่รุนแรง ปานกลาง และรุนแรงร่วมกัน

มีรายงานการใช้อาการแสดงในการตรวจวินิจฉัยไม่กี่รายงาน ดังนั้นการทบทวนนี้จึงรายงานการวินิจฉัยด้วยอาการเป็นส่วนใหญ่ อาการที่รายงานบ่อยที่สุดคือ ไอ มีไข้ หายใจลำบาก และเจ็บคอ

จากการศึกษาในการทบทวนนี้พบว่า ใน 1000 คนที่สงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 โดย 270 คน (27%) ที่ติดเชื้อ COVID-19 จริง จะมีผู้มีอาการไอ 567 คน โดยจาก 567 คนนี้ 168 คนพบว่าเป็น COVID-19 ผู้ไม่มีอาการไอ 433 คน 102 คน พบว่าเป็น COVID-19 ใน 1000 คนเดิมนี้ มีประมาณ 283 คน มีไข้ ซึ่งใน 283 คนนี้พบว่า 102 คนเป็น COVID-19 จากคนที่ไม่มีไข้ 717 คน มี 168 คนเป็น COVID-19

คนที่ไม่ได้กลิ่นหรือไม่รู้รสจะมีโอกาสมี COVID-19. มากกว่าคนที่ไม่มีอาการนี้ถึง 5 เท่า

อาการอื่นๆ เช่น เจ็บคอหรือน้ำมูกไหล มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคติดเชื้ออื่นที่ไม่ใช่ COVID-19 ใน 1000 คนเดิม ประมาณ 362 คน มีอาการเจ็บคอ พบว่าเพียง 84 คน เป็น COVID-19 จากผู้ป่วย 638 คนที่ไม่มีอาการเจ็บคอมี 186 คนเป็น COVID-19 เราพบตัวเลขที่คล้ายกันสำหรับการมีอาการน้ำมูกไหล

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ผลลัพธ์ของการปรับปรุงนี้มีความน่าเชื่อถือมากกว่าในเวอร์ชันก่อนๆ เนื่องจากเรารวมการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความถูกต้องของอาการแต่ละอย่างแตกต่างกันไปตามการศึกษาวิจัยต่างๆ และประโยชน์ของการวินิจฉัยโดยใช้อาการ เช่น มีไข้ ไอ หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อาจยังคงถูกประเมินสูงเกินไป เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่จงใจรวมผู้เข้าร่วมเนื่องจากมีอาการเหล่านี้

ผลลัพธ์นี้ไม่ได้แยกความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีตวามรุนแรงเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง มีงานวิจัยเพียงไม่กี่เรื่องที่ตรวจสอบการวินิจฉัยโดยใช้อาการของ COVID-19 ในเด็กหรือผู้ใหญ่

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันเพียงใด

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้าของเรา หลักฐานมีข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนมิถุนายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

อาการเพียงอย่างเดียวส่วนใหญ่ที่รวมอยู่ในการศึกษานี้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยที่ไม่ดี การไม่มีหรือมีอาการยังไม่่สามารถใช้บอกว่าเป็นโรคหรือไม่เป็นโรคได้อย่างถูกต้อง การไม่ได้กลิ่นหรือการเสียการรู้รส อาจมีประโยชน์ในการเป็นสัญญาณเตือนสำหรับ COVID-19 อาการไอยังเป็นอาการที่ช่วยบอกว่าควรได้รับการทดสอบว่าเป็นหรือไม่ต่อ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าควรตรวจ PCR ให้กับบุคคลใดๆ ที่มีอาการทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น เช่น เจ็บคอ หวัด หรือน้ำมูกไหล

การมีอาการร่วมกับประวัติอย่างอื่น เช่น ประวัติการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือการเดินทาง หรืออัตราการตรวจพบผู้ป่วย อาจเป็นประโยชน์มากกว่า และควรศึกษาเพิ่มเติมในประชากรที่ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ที่มารับบริการในสถานพยาบาลปฐมภูมิหรือผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล

ความแม่นยำในการวินิจฉัยของอาการสำหรับวินิจฉัย COVID-19 อยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ และกลยุทธ์ในการใช้อาการเพื่อวินิจฉัยจะส่งผลให้มีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการสงสัยว่าเป็นโรคจำนวนมากและมีผู้ต้องเข้ารับการทดสอบจำนวนมาก การกำหนดเป้าหมายของกลยุทธ์การตรวจ COVID-19 คือการควบคุมการแพร่ระบาด โดยแยกทุกกรณีที่เป็นไปได้เมื่อเทียบกับการระบุผู้ที่มีอาการ เพื่อสามารถตรวจสอบหรือรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์โรคได้ แบบแรกกลยุทธ์ในการตรวจใช้อาการน้อยมากเป็นเกณฑ์ในการตรวจ แบบหลังอาจเน้นไปที่อาการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ไข้และการไม่ได้กลิ่น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ป่วย COVID-19 มีอาการแตกต่างกันตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงปอดอักเสบ และมีภาวะคุกคามถึงชีวิต อาการเริ่มต้นที่ช่วยบอกว่าเป็นโรคนี้ เช่น มีไข้ ไอ หรือไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้เพื่อแยกว่าไม่เป็น COVID-19 หรือเพื่อระบุบุคคลที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัย COVID-19 นี่เป็นการปรับปรุงครั้งที่สองของการทบมวนที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2020

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินความถูกต้องของการวินิจฉัย จากอาการและอาการแสดง เพื่อตรวจสอบว่าผู้ที่มาสถานบริการปฐมภูมิ ของโรงพยาบาล เช่น แผนกฉุกเฉิน คลินิกเฉพาะ COVID-19 ว่าเป็น COVID-19 หรือไม่

วิธีการสืบค้น: 

เราดำเนินการค้นหาทางอิเล็กทรอนิกส์จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2021 ในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยเบิร์น นอกจากนี้เรายังตรวจสอบจากสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับ COVID-19 เราใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์จัดประเภทเอกสารเบื้องต้น ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาที่เข้าเกณฑ์รับเลือกถ้ารวมผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็น COVID-19 หรือยืนยันว่าเป็น COVID-19 และมีกล่มควบคุมที่ไม่มี COVID-19 จาก a single-gate cohort การศึกษาเข้าเกณฑ์คัดเลือกเมื่อมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล การศึกษาไม่รวมถึงผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ขณะที่รับการรักษาในโรงพยาบาล ขนาดตัวอย่างขั้นต่ำที่เข้าเกณฑ์ศึกษาคือมีผู้เข้าร่วม 10 คน อาการและอาการแสดงทั้งหมดได้รับการทบทวน รวมถึงอาการและอาการแสดงแต่ละอย่างหรือร่วมกัน เรายอมรับมาตรฐานอ้างอิงหลายประเภท

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์จับคู่คัดเลือกการศึกษาอย่างอิสระ จากชื่อเรื่อง บทคัดย่อ และบทความฉบับเต็ม กรณีมีความเห็นไม่ตรงกัน ได้มีการอภิปรายกับผู้ประพันธ์คนที่ 3 ผู้ประพันธ์ 2 คนดึงข้อมูลอย่างอิสระและประเมินความเสี่ยงของอคติโดยใช้ QUADAS-2 checklist และแก้ไขความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันโดยการอภิปรายกับผู้ประพันธ์คนที่ 3 การวิเคราะห์จำกัดเฉพาะการศึกษาแบบ prospective เท่านั้น เรานำเสนอความไวและความจำเพาะด้วย paired forest plot รูปแบบของ receiver operating characteristic (ROC) space และ dumbbell plots เราประเมินผลสรุปของปัจจัยโดยใช้ bivariate random-effects meta-analysis เมื่อมีการศึกษาแบบ primary prospective 5 เรี่องขึ้นไป และเมื่อความแตกต่างระหว่างการศึกษาสามารถยอมรับได้

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 90 ฉบับ ในการปรับปรุงนี้ เราเน้นที่ผลลัพธ์ของการศึกษาแบบ prospective 42 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 52,608 คน ความชุกของโรค COVID-19 แตกต่างกันตั้งแต่ 3.7% ถึง 60.6% โดยมีค่ามัธยฐาน 27.4% มีการศึกษา 35 ฉบับ ศึกษาในแผนกฉุกเฉินหรือศูนย์ตรวจผู้ป่วยนอก (ผู้เข้าร่วม 46,878 คน) 3 ฉบับ ศึกษาในสถานบริการปฐมภูมิ (ผู้เข้าร่วม 1230 คน) 2 เรื่องศึกษาทั้งในแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ในโรงพยาบาลเด็ก (ผู้เข้าร่วม 493 คน) และ 2 ฉบับ มีการศึกษาที่ทับซ้อนกันในบ้านพักคนชรา (ผู้เข้าร่วม 4007) การศึกษาไม่ได้แยกความรุนแรงอย่างชัดเจนจาก COVID-19 ในระดับเล็กน้อยกับ COVID-19 pneumonia ดังนั้นเราจึงนำเสนอผลลัพธ์ของทั้งสองร่วมกัน

การศึกษา 12 ฉบับ มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติในการคัดเลือกผู้เข้าร่วม เนื่องจากใช้เกณฑ์คัดเลือกล่วงหน้าในระดับสูง เพื่อตัดสินใจว่าจำเป็นต้องมีตรวจ reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) หรือไม่ หรือมีการคัดตัวอย่างที่ไม่ต่อเนื่องกัน หรือมีการคัดบางคนออกทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการศีกษา เราให้คะแนนการศึกษา 36 จาก 42 ฉบับ ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติในการทดสอบ เนื่องจากมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เกี่ยวกับวิธีการวัดอาการ โดยใคร และเมื่อใด สำหรับการศึกษาส่วนใหญ่ การเข้าเกณฑ์เพื่อทำการทดสอบขึ้นกับเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงานนั้นๆ และเกณฑ์การตรวจในช่วงที่ทำการศึกษา ซึ่งหมายความว่าคนส่วนใหญ่ที่รวมอยู่ในการศึกษาได้รับการส่งต่อมายังสถานบริการด้านสุขภาพโดยพิจารณาจากอาการ ที่เราจะทำการประเมินในการทบทวนนี้

การนำไปใช้ประโยชน์ของการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการทบทวนวรรณกรรมเดิม เวอร์ชันนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมในแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นสถาณการณ์ส่วนใหญ่ที่มีการประเมิน COVID-19 มีการศึกษาเพียง 3 ฉบับ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเด็กแยกต่างหาก และมีเพียงการศึกษาเดียวที่เน้นเฉพาะในผู้สูงอายุ

เราพบข้อมูล 96 อาการหรืออาการและการแสดงร่วมกัน แทบไม่มีรายงานหลักฐานเกี่ยวกับอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งในการตรวจวินิจฉัย ดังนั้นการทบทวนนี้จึงรายงานการวินิจฉัยโดยอาการเป็นส่วนใหญ่ ผลลัพธ์มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการศึกษา ส่วนใหญ่มีความไวต่ำมากและมีความจำเพาะสูง RT-PCR เป็นมาตรฐานอ้างอิงที่ใช้บ่อยที่สุด (การศึกษา 40/42 ฉบับ)

มีอาการไออย่างเดียว (การศึกษา 11 ฉบับ) ที่มีความไวสูงกว่า 50% (62.4%, 95% CI 50.6% ถึง 72.9%)); ความจำเพาะต่ำ (45.4%, 95% CI 33.5% ถึง 57.9%)) มีไข้ ความไว 37.6% (95% CI 23.4% ถึง 54.3%) และความจำเพาะ 75.2% (95% CI 56.3% ถึง 87.8%) อาการไอ มีความน่าจะเป็นถ้าผลเป็นบวก 1.14 (95% CI 1.04 ถึง 1.25) และมีไข้ 1.52 (95% CI 1.10 ถึง 2.10) อาการเจ็บคอ มีความน่าจะเป็นที่ผลเป็นบวก 0.814 (95% CI 0.714 ถึง 0.929) ซึ่งหมายความว่าถ้ามีอาการเจ็บคอมีโอกาสในการเป็นโรคติดเชื้ออื่นแทนที่จะเป็น COVID-19

อาการหายใจลำบาก (การศึกษา 12 ฉบับ) และเหนื่อยล้า (การศึกษา 8 ฉบับ) มีความไว 23.3% (95% CI 16.4% ถึง 31.9%) และ 40.2% (95% CI 19.4% ถึง 65.1%) ตามลำดับ ความจำเพาะ 75.7% (95% CI 65.2% ถึง 83.9%) และ 73.6% (95% CI 48.4% ถึง 89.3%) อาการหายใจลำบาก มีความน่าจะเป็นที่ผลเป็นบวก 0.96 (95% CI 0.83 ถึง 1.11) และความเหนื่อยล้า 1.52 (95% CI 1.21 ถึง 1.91) ซึ่งหมายความว่าการพบความเหนื่อยล้าเพิ่มความน่าจะเป็น COVID-19 มากขึ้นเล็กน้อย

การไม่ได้กลิ่น (Anosmia) เพียงอย่างเดียว ( การศึกษา 7 ฉบับ) การเสียการรู้รส (ageusia) เพียงอย่างเดียว (การศึกษา 5 ฉบับ) และ อาการทั้งสองร่วมกัน (การศึกษา 6 ฉบับ) มีความไวต่ำกว่า 50% แต่มีความจำเพาะมากกว่า 90% การไม่ได้กลิ่น มีความไว 26.4% (95% CI 13.8% ถึง 44.6%) และความจำเพาะ 94.2% (95% CI 90.6% ถึง 96.5%) การเสียการรู้รส มีความไว 23.2% (95% CI 10.6% ถึง 43.3%) และความจำเพาะ 92.6% (95% CI 83.1% ถึง 97.0%) การไม่ได้กลิ่นหรือการเสียการรู้รส มีความไว 39.2% (95% CI 26.5% ถึง 53.6%) และความจำเพาะ 92.1% (95% CI 84.5% ถึง 96.2%) ผลรวมของความน่าจะเป็นที่ผลเป็นบวกของการไม่ได้กลิ่นเพียงอย่างเดียวและ การไม่ได้กลิ่นหรือการเสียการรู้รสเท่ากับ 4.55 (95% CI 3.46 ถึง 5.97) และ 4.99 (95% CI 3.22 ถึง 7.75) ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าคำจำกัดความเบื้องต้นของ 'red flag' นั่นคือมีความน่าจะเป็นที่ผลเป็นบวกอย่างน้อย 5 การเสียการรู้รสเพียงอย่างเดียวคือ 3.14 (95% CI 1.79 ถึง 5.51)

มีการศึกษา 24 ฉบับ ประเมินอาการและอาการแสดงร่วมกัน โดยส่วนใหญ่ศึกษาร่วมกับอาการด้านการได้กลิ่น การรวมอาการเข้ากับข้อมูลอื่นๆ เช่น ประวัติการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือการเดินทาง อายุ เพศ และอัตราการตรวจพบผู้ป่วยในถิ่นที่อาศัย ปัจจัยหลายตัวแปรบางตัวมีความไวสูงถึง 90%

บันทึกการแปล: 

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 1 กรกฎาคม 2022 Edit โดย ผกากรอง 25 พฤศจิกายน 2022

Tools
Information