การใช้ยาเสริมระหว่างผ่าตัดต้อกระจกเพื่อคงความสำเร็จของการผ่าตัดระบายน้ำในลูกตาสู่เยื่อบุตาที่มีอยู่เดิม

เหตุใดคำถามนี้จึงสำคัญ
ต้อหินและต้อกระจกเป็นปัญหาระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคล การสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินเป็นอย่างถาวร เนื่องจากความดันลูกตาที่เพิ่มขึ้นในโรคต้อหินจะทำลายเส้นประสาทตาที่ส่งสัญญาณจากตาไปยังสมอง เป้าหมายหลักของการรักษาโรคต้อหินคือการลดความดันดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อลดการดำเนินโรคให้ช้าลง

แม้ว่าการรักษาด้วยยาและเลเซอร์จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคต้อหิน แต่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดที่เรียกว่า trabeculectomy เมื่อการรักษาข้างต้นไม่สามารถหยุดการดำเนินโรคซึ่งจะมีผลต่อการมองเห็นได้ โดยจะทำรูเล็ก ๆ ที่ตาขาวเพื่อระบายน้ำส่วนเกินในลูกตา เมื่อผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัด trabeculectomy ต้องเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก แพทย์มักจะใช้ยาเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดการสร้างพังผืดที่มากเกินไป เนื่องจากพังผืดจะปิดกั้นรูระบายน้ำและส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมความดันลูกตาได้

ในการทบทวนนี้ เราหาผู้ป่วยที่ผ่าตัด trabeculectomy ที่ทำงานได้ดีและกำลังเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกและได้รับยาเพิ่มเติม (5-fluorouracil, mitomycin C หรือ anti-vascular endothelial growth factor) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับยาเพิ่มเติม

เราสืบค้นและประเมินหลักฐานอย่างไร
เราค้นหาการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (การศึกษาทางคลินิกซึ่งผู้คนถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่มการรักษาหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไป) เนื่องจากการศึกษาเหล่านี้ให้หลักฐานเกี่ยวกับผลของการรักษาได้ชัดเจนที่สุด เราวางแผนที่จะรวมผลการศึกษาที่รวบรวมได้เพื่อตอบคำถามวิจัยของเรา

เราพบอะไร
เราไม่พบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา

หมายความว่าอย่างไร
เราบอกไม่ได้ว่าการรักษาเพิ่มเติมระหว่างการผ่าตัดต้อกระจกช่วยเพิ่มโอกาสที่รูระบายน้ำจะยังคงเปิดอยู่หรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานในขณะนี้ หากในอนาคตมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมจะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

การทบทวนวรรณกรรมนี้ทันสมัยแค่ไหน
หลักฐานของการทบทวนวรรณกรรม Cochrane นี้เป็นปัจจุบันถึงเดือนเมษายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จำเป็นต้องมี RCT เพื่อตรวจสอบผลของการรักษาเสริมต่อการหายของแผลในขณะที่ทำการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อส่งเสริมการอยู่รอดของ trabeculectomy ที่ทำงานได้ดีอยู่เดิม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดรักษาโรคต้อหินเพื่อลดความดันในลูกตาซึ่งมีอัตราความสำเร็จสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักมีต้อกระจกที่มากขึ้นหลังการผ่าตัด ต้อกระจกอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เห็นแสงจ้าในที่สว่าง เห็นภาพมัว และขับรถลำบากในเวลากลางคืน การผ่าตัดต้อกระจกนั้นทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้มาก แต่ก็ต้องแลกมากับความล้มเหลวของการผ่าตัด trabeculectomy โดยรายงานความเสี่ยงของความล้มเหลวอยู่ที่ 30% ถึง 40% การทำหัตถการเสริมหลังการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อส่งเสริมการอยู่รอดของ trabeculectomy จึงเป็นสิ่งจำเป็น การทบทวนนี้ครอบคลุมการรักษาเสริมทั้งหมดที่ใช้ในขณะผ่าตัดต้อกระจกเพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดของ trabeculectomy

วัตถุประสงค์: 

เพื่อค้นหาผลของการรักษาเสริมต่อการหายของแผลระหว่างการผ่าตัดต้อกระจกต่อการอยู่รอดของ trabeculectomy ที่ทำงานได้ดีอยู่เดิม

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL ประกอบด้วย Cochrane Eyes and Vision Trials Register ปี 2021 ฉบับที่ 4), Ovid MEDLINE, Ovid Embase, การลงทะเบียน ISRCTN, ClinicalTrials.gov และ WHO ICTRP เราไม่ได้จำกัดวันที่หรือภาษาในการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์ เราสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ครั้งล่าสุดเมื่อ 14 เมษายน 2021

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราวางแผนที่จะรวบรวม randomized controlled trials (RCTs) ทั้งหมดของอาสาสมัครที่ได้รับการผ่าตัด trabeculectomy ที่ทำงานได้ดีและกำลังจะได้รับการผ่าตัดต้อกระจก โดยเปรียบเทียบการรักษาเสริมที่ให้เพื่อปรับการหายของแผล (เช่น การรักษาด้วย 5-fluorouracil, mitomycin C หรือ anti-vascular endothelial growth factor (VEGF)) เทียบกับไม่มีการรักษาเสริม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือความล้มเหลวของ trabeculectomy ที่ 6 เดือนและ 12 เดือนหลังการผ่าตัดต้อกระจก ผลลัพธ์รองคือค่าเฉลี่ยความแตกต่างของความดันลูกตาจากการตรวจวัดพื้นฐานก่อนการผ่าตัดต้อกระจกและที่ 6 ถึง 18 เดือนหลังการผ่าตัดต้อกระจก จำนวนยาที่จำเป็นในการควบคุมความดันลูกตาเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการผ่าตัดต้อกระจก ลักษณะของ bleb ที่วัดโดยใช้คะแนนรวมของ Moorfields bleb grading system หรือระบบการให้เกรดเชิงตัวเลขอื่นที่เทียบเท่ากัน การดำเนินโรคจากลานสายตาโดยวัดความแตกต่างของค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ยจากการตรวจวัดพื้นฐาน และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

ผลการวิจัย: 

เราไม่พบ RCT ที่ศึกษาเรื่องการรักษาเสริมต่อการหายของแผลระหว่างการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อส่งเสริมการอยู่รอดของ trabeculectomy เดิม

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.สุขุมาล ธนไพศาล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 9 เมษายน 2021 Edit โดย ผกากรอง 2 ธันวาคม 2022

Tools
Information