การใช้น้ำยาบ้วนปากต้านจุลชีพหรือสเปรย์พ่นจมูกโดยผู้ที่ไม่ได้สงสัยว่าเป็น COVID-19 หรือโดยบุคลากรสุขภาพจะป้องกันบุคลากรสุขภาพเมื่อทำ 'ขั้นตอนการสร้างละอองลอย' หรือไม่

ทำไมคำถามนี้จึงมีความสำคัญ

COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส SARS-CoV-2 คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ (การติดเชื้อที่ไม่มีอาการ) บางคนมีอาการรุนแรงและต้องการการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญและการดูแลอย่างวิกฤติ

COVID -19 แพร่กระจายจากคนสู่คนโดยส่วนใหญ่เป็นละอองที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพูดคุย คนเรายังสามารถติดเชื้อได้โดยการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีละอองไวรัส จากนั้นสัมผัสปากหรือจมูกของตนเอง

ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 บางรายไม่มีอาการใด ๆ จึงอาจไม่ทราบว่าเป็นหรือสงสัยว่าติดเชื้อ อย่างไรก็ตามพวกเขาอาจยังสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ซึ่งหมายความว่าบุคลากรสุขภาพที่กำลังให้การรักษาอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความเสี่ยงของการติดเชื้ออาจสูงเป็นพิเศษเมื่อผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพทำ 'ขั้นตอนการสร้างละอองลอย' ซึ่งเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดละอองน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ หรือผู้ที่เป็นโรคปอดที่ทำให้หายใจลำบาก (เช่นปอดบวม) อาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ (เครื่องช่วยหายใจเทียม) เพื่อช่วยในการหายใจ สิ่งนี้ต้องใช้บุคลากรสุขภาพในการสอดท่อผ่านปากของผู้ป่วยเข้าไปในทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเกิดละอองน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก ละอองที่คล้ายกันสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างขั้นตอนทางทันตกรรมตามปกติเช่นการเจาะหรือขูดหินปูน

ผู้ป่วยหรือบุคลากรสุขภาพใช้น้ำยาบ้วนปากต้านจุลชีพด้วยตนเอง (เพื่อบ้วนปาก) หรือสเปรย์ฉีดจมูก (ฉีดเข้าทางจมูก) อาจช่วยให้บุคลากรสุขภาพสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ COID-19 ได้ น้ำยาบ้วนปากต้านจุลชีพและสเปรย์ฉีดจมูกเป็นของเหลวที่ฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นไวรัสหรือแบคทีเรีย

เช่นเดียวกับการรักษาทางการแพทย์ต่างๆ น้ำยาบ้วนปากและสเปรย์ฉีดจมูกที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพมีทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ เป็นไปได้ว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสเปรย์ฉีดจมูกอาจทำให้เกิดผลเสีย (ไม่พึงประสงค์) หลายอย่าง รวมถึงการระคายเคือง อาการแพ้ หรือการสูญเสียการได้กลิ่น นอกจากนี้ยังอาจกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กออกจากปากหรือจมูกซึ่งมีประโยชน์ในการปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ

เรามุ่งมั่นที่จะประเมินผลประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้น้ำยาบ้วนปากและสเปรย์ฉีดจมูกด้วยยาต้านจุลชีพด้วยตนเองโดยผู้ป่วยที่ไม่ทราบหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อ COVID-19 หรือบุคลากรสุขภาพที่รักษาพวกเขาด้วยขั้นตอนการสร้างละอองลอยโดยการทบทวนหลักฐานการวิจัย

เราค้นหาหลักฐานอย่างไร

ทีมนักวิจัยของเราสืบค้นวรรณกรรมทางการแพทย์สำหรับการศึกษาที่เปรียบเทียบผลของน้ำยาบ้วนปากต้านจุลชีพหรือสเปรย์ฉีดจมูกที่ผู้ป่วยหรือบุคลากรสุขภาพใช้ด้วยตัวเอง กับการไม่ใช้ ใช้น้ำหรือสารละลายเกลือ

เราพบอะไร

เราไม่พบการศึกษาที่สมบูรณ์ที่จะรวมไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้

สิ่งนี้หมายความว่าอะไร

ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสเปรย์ฉีดพ่นยาต้านจุลชีพของบุคลากรสุขภาพหรือผู้ป่วย เพื่อปกป้องบุคลากรสุขภาพที่ทำขั้นตอนการสร้างละอองลอยในผู้ป่วยที่ไม่ทราบหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อ COVID-19

เราจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อให้สามารถตอบคำถามทางคลินิกที่สำคัญนี้ได้

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้

เราสืบค้นหลักฐานถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2020 การทบทวนวรรณกรรมนี้ครอบคลุมงานวิจัยที่มีอยู่จนถึงวันดังกล่าว แต่ไม่ได้พิจารณาหลักฐานใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่พบการศึกษาเพื่อรวมไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ สิ่งนี้ไม่น่าแปลกใจเนื่องจากการติดเชื้อ COVID-19 ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตามเรารู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถตอบคำถามทางคลินิกที่สำคัญนี้โดยการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การติดเชื้อ COVID-19 ก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อผู้ป่วยและ - เนื่องจากลักษณะการติดต่อ - ไปสู่บุคลากรสุขภาพ (HCWs) ที่ให้การรักษา ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจะมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยอยู่ระหว่างขั้นตอนการสร้างละอองลอย (AGP) ไม่ใช่ทุกรายที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการ หรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยที่ไม่ทราบว่ามีหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อ COVID-19 จะต้องได้รับ AGP ก็มีเหตุผลที่จะลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดสำหรับ HCW ที่รักษาผู้ป่วยเหล่านี้

ถ้าช่องปากและจมูกของผู้ที่จะได้รับการทำ AGP ได้รับการชำระล้างด้วยน้ำยาต้านจุลชีพ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่แพร่กระจายจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไปยัง HCW โดยการส่งผ่านละอองหรือการสัมผัสโดยตรง อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้สารละลายต้านจุลชีพโดย HCW อาจลดโอกาสในการติดเชื้อ COVID-19 อย่างไรก็ตามการใช้สารละลายต้านจุลชีพดังกล่าวอาจมีอันตรายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพิษของสารละลายเองหรือการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ตามธรรมชาติในปากหรือจมูก

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของน้ำยาบ้วนปากต้านจุลชีพ (กลั้วคอ) และสเปรย์ฉีดจมูกที่ให้ HCWs และ/หรือผู้ป่วยที่จะทำ AGP ในผู้ป่วยที่ไม่สงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19

วิธีการสืบค้น: 

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลจาก Cochrane ENT และ Cochrane Oral Health สืบค้น Central Register of Controlled Trials (CENTRAL 2020, Issue 6); Ovid MEDLINE; Ovid Embase และแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมของการทดลองที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่ วันที่ค้นหาคือ 1 มิถุนายน 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

นี่เป็นคำถามที่ต้องใช้หลักฐานอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเราไม่คาดว่าจะพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เสร็จสมบูรณ์จำนวนมาก ดังนั้นเราจึงวางแผนที่จะรวบรวมชนิดของการศึกษาดังต่อไปนี้: การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs); quasi RCTs; การทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้สุ่ม prospective cohort studies, retrospective cohort study การศึกษาภาคตัดขวาง การศึกษาแบบควบคุมก่อนและหลัง เราไม่กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสำหรับการศึกษา

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบน้ำยาบ้วนปากและ / หรือสเปรย์พ่นจมูกที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ (อย่างเดียวหรือใช้ร่วมกัน) ที่ความเข้มข้นใด ๆ ที่ใช้ในผู้ป่วยหรือ HCWs ก่อน และ/หรือหลังการทำ AGP

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักคือ 1) อุบัติการณ์ของการติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการ หรือผลการทดสอบบวกใน HCWs หรือผู้ป่วย; 2) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ: anosmia (หรือการรบกวนในการรับกลิ่น) ผลลัพธ์รองคือ 3) ปริมาณของไวรัส COVID-19 ในละอองฝอย (ถ้ามี); 4) การเปลี่ยนแปลงปริมาณของไวรัส COVID-19 ในตำแหน่งที่มีการชำระล้าง; 5) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ : การเปลี่ยนแปลงของ microbiome ในช่องปากโพรงจมูก oro- หรือ nasopharynx; 6) อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ : การแพ้การระคายเคือง / การไหม้ของเยื่อบุจมูกช่องปากหรือช่องปาก (เช่นการกัดเซาะ แผล เลือดออก) การเปื้อนสีของเยื่อบุ หรือฟันในระยะยาว การกลืนกินโดยไม่ได้ตั้งใจ เราวางแผนที่จะใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เราไม่พบการศึกษาที่สมบูรณ์ที่จะรวมไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 ตุลาคม 2020

Tools
Information