การรักษาทางดนตรีและเสียงสามารถเป็นประโยชน์ต่อทารกคลอดก่อนกำหนดและผู้ปกครองได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

• การใช้ดนตรีและเสียงอาจลดอัตราการเต้นของหัวใจในทารกคลอดก่อนกำหนด เมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐานในระหว่างการรักษา ผลประโยชน์นี้มีความสำคัญและเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นหลังการรักษา ซึ่งบ่งบอกถึงผลการผ่อนคลายและความมั่นคงในระยะยาว

• เราไม่พบผลที่เป็นอันตรายจากดนตรีและเสียง อย่างไรก็ตาม การศึกษาจำนวนมากไม่ได้สำรวจความเป็นไปได้ของผลที่ไม่พึงประสงค์อย่างชัดเจน

• เราไม่พบหลักฐานของผลประโยชน์หรือผลเสียที่ชัดเจนอื่น ๆ ของการรักษาที่มีต่อทารก พ่อแม่ และความผูกพันระหว่างพ่อแม่และทารก จำเป็นต้องมีหลักฐานที่มีคุณภาพดีมากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทารกคลอดก่อนกำหนดคืออะไร

ทารกคลอดก่อนกำหนดคือทารกแรกเกิดที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ และมักจะต้องได้รับการรักษาเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดของหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดเพื่อความอยู่รอด

เหตุใดจึงต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่เป็นไปได้ของดนตรีและเสียงสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดและผู้ปกครอง

ทารกคลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ การคลอดก่อนกำหนดถือเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจสำหรับผู้ปกครองเช่นกัน ดังนั้นแนวทางเสริม เช่น ดนตรีและเสียงจึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในการดูแลทารกแรกเกิด เพื่อปรับปรุงสุขภาพกายและสุขภาพจิตในทารกคลอดก่อนกำหนดและผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม การศึกษาและการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่คลุมเครือในประสิทธิภาพของการรักษาโดยใช้ดนตรีและเสียงที่หลากหลาย จำเป็นต้องมีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมและเข้มงวดมากขึ้นเพื่อจัดการกับข้อมูลและการทบทวนวรรณกรรมที่ขัดแย้งกัน

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าดนตรีและเสียงมีประโยชน์หรือไม่:

• สุขภาพและพัฒนาการของทารกคลอดก่อนกำหนด

• สุขภาพจิตของผู้ปกครองและความผูกพันกับทารก

เราต้องการทราบว่าประเภท การนำเสนอ ระยะเวลา และความถี่ของดนตรีและเสียงใดที่จะช่วยเหลือทารกและผู้ปกครองได้ดีที่สุด เรามุ่งที่จะค้นหาว่าการรักษาสามารถก่อให้เกิดผลเสียใดๆ หรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบ:

• การใช้ดนตรีและเสียงสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด (และผู้ปกครอง) เปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐานตามปกติในทารกแรกเกิดที่ไม่รวมดนตรีและเสียง

เราเปรียบเทียบและสรุปผลลัพธ์และให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 25 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับทารกคลอดก่อนกำหนด 1532 คน และผู้ปกครอง 691 คน การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดทำในทารกคลอดก่อนกำหนด 272 รายและการศึกษาที่เล็กที่สุดคือ 17 ราย ภายในการศึกษาจากทั่วโลก ผลกระทบทันทีของดนตรีและเสียงส่วนใหญ่ได้รับการตรวจสอบในช่วงเวลาของการรักษาและนาทีหลังการรักษา ในขณะที่การศึกษา 2 ฉบับต้องการทราบว่าจะมีผลดีต่อการพัฒนาระยะยาวใน 2 ปีหรือไม่ การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย/แผนกสุขภาพ/กองทุนวิจัยของโรงพยาบาล และมูลนิธิทางการแพทย์/สุขภาพในท้องถิ่น การรักษาทางดนตรีและเสียงที่รายงานนั้นแตกต่างกันอย่างมากทั้งในด้านประเภท การนำเสนอ ความถี่ และระยะเวลา ลักษณะเด่นหลักคือรูปแบบดนตรีที่สงบ นุ่มนวล ในรูปแบบเพลงกล่อมเด็ก มักผสมผสานเสียงของแม่ในการแสดงสดหรือบันทึกเสียง ซึ่งนิยามไว้ว่าเป็นดนตรีบำบัดเมื่อจัดให้โดยนักบำบัดทางดนตรีภายในความสัมพันธ์ในการรักษาหรือเวชศาสตร์ดนตรีเมื่อส่งมอบเป็น "ยา" โดยทางการแพทย์และ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

ผลลัพธ์หลัก

ในทารกคลอดก่อนกำหนด (และผู้ปกครอง) เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐานโดยไม่มีดนตรีและเสียง:

• ดนตรีและเสียงไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับความอิ่มตัวของออกซิเจนในระหว่างการรักษา (การศึกษา 10 ฉบับ มีทารก 958 คน) และอาจไม่สร้างความแตกต่างหลังการรักษา (การศึกษา 7 ฉบับ มีทารก 800 คน)

• ดนตรีและเสียงอาจไม่สร้างความแตกต่างในอัตราการหายใจในระหว่างการรักษา (การศึกษา 7 ฉบับ มีทารก 750 คน) และหลังการรักษา (การศึกษา 5 ฉบับ มีทารก 636 คน)

• ดนตรีและเสียงอาจนำไปสู่การลดอัตราการเต้นของหัวใจของทารกที่ได้ประโยชน์ (การศึกษา 11 ฉบับ มีทารก 1014 คน) ผลประโยชน์นี้มีความสำคัญและมั่นใจมากยิ่งขึ้นหลังการรักษา ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราการเต้นของหัวใจที่เป็นประโยชน์ปานกลางถึงมาก (การศึกษา 5 ฉบับ มีทารก 636 คน)

• เราไม่เชื่อมั่นว่าการรักษาอาจส่งผลต่อพัฒนาการระยะยาวของทารกเมื่ออายุ 2 ปีหรือไม่ (การศึกษา 2 ฉบับ มีทารก 69 คน)

• เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับผลที่เป็นไปได้ของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวลต่อสภาวะของผู้ปกครอง (การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 97 คน) และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (การศึกษา 2 ฉบับ มีทารก 67 คน)

• เราไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลที่เป็นไปได้ต่อความวิตกกังวลของผู้ปกครอง (การศึกษา 3 ฉบับ ผู้ปกครอง 87 คน)

• เราไม่พบการศึกษาที่รายงานผลที่เป็นอันตรายของดนตรีหรือเสียง

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เราเชื่อมั่นว่าดนตรีและเสียงไม่ลดความอิ่มตัวของออกซิเจนในระหว่างการรักษา เมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐาน เราเชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่ออัตราการเต้นของหัวใจในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหลังการรักษา ไม่มีการศึกษาที่เข้มงวดเพียงพอ (การศึกษาขนาดเล็กจำนวนมากที่มีมาตรฐานการบันทึกไม่ดี) ที่จะมั่นใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของผลลัพธ์อื่นๆ ทั้งหมดที่เราประเมินในทารกและผู้ปกครอง ยังมีความไม่เชื่อมั่นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเสนอเพลง และระยะเวลาและความถี่ของเพลงที่ทำงานได้ดีที่สุด

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การรักษาทางดนตรี/เสียงไม่เพิ่มความอิ่มตัวของออกซิเจนในระหว่างและอาจจะไม่เพิ่มหลังการรักษา เมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐาน หลักฐานแสดงให้เห็นว่าดนตรีและเสียงไม่ได้เพิ่มพัฒนาการของทารก (BSID) หรือลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้ปกครอง การรักษาอาจไม่ลดอัตราการหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม การรักษาทางดนตรี/เสียงอาจลดอัตราการเต้นของหัวใจในทารกที่คลอดก่อนกำหนดในระหว่างการรักษา และผลนี้จะยิ่งมากขึ้นหลังการรักษา แสดงให้เห็นว่าการรักษาทางดนตรี/เสียงช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหลังการรักษา เราไม่พบรายงานผลข้างเคียงจากดนตรีและเสียง เนื่องจากหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำสำหรับผลลัพธ์อื่นๆ ทั้งหมด เราจึงไม่สามารถสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพโดยรวมหรือผลที่เป็นไปได้ของประเภทการรักษา ความถี่ หรือระยะเวลาที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมที่มีขนาดตัวอย่างมากขึ้น ความเสี่ยงต่ออคติน้อยลง และผลลัพธ์ที่มีความละเอียดอ่อนและมีความเกี่ยวข้องทางคลินิกมากขึ้น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การคลอดก่อนกำหนดรบกวนการเจริญเติบโตของสมอง และเหตุการณ์ทางคลินิกและการรักษาที่ตามมาอาจมีผลเสียเพิ่มเติม ดนตรีเพื่อการบำบัดมีให้บริการมากขึ้นในหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ปกครอง การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบสำหรับคุณภาพระเบียบวิธีวิจัยที่หลากหลายได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่คลุมเครือสำหรับประสิทธิภาพของการกระตุ้นการได้ยินประเภทต่างๆ ของทารกคลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องมีการทบทวนอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมและเข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดจากการศึกษาและการทบทวนวรรณกรรมที่เห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกัน

วัตถุประสงค์: 

เราประเมินประสิทธิภาพโดยรวมของดนตรีและเสียงสำหรับผลลัพธ์ทางสรีรวิทยาและพัฒนาการทางระบบประสาทในทารกคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์ < 37 สัปดาห์) เปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐาน นอกจากนี้เรายังมุ่งหวังที่จะพิจารณาผลเฉพาะของวิธีการต่างๆ สำหรับผลลัพธ์ทางสรีรวิทยา ร่างกาย สังคม อารมณ์ พัฒนาการทางระบบประสาทในระยะสั้นและระยะยาวในทารก ความเป็นอยู่ของผู้ปกครอง และความผูกพัน

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO, Web of Science, RILM Abstracts และ ERIC ในเดือนพฤศจิกายน 2021; และ Proquest Dissertations ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เราค้นหารายการอ้างอิงของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้อง และของการศึกษาที่เลือกสำหรับการนำเข้าและการลงทะเบียนการทดลองทางคลินิก

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุมแบบคู่ขนานและแบบคลัสเตอร์ที่มีทารกคลอดก่อนกำหนด < 37 สัปดาห์ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล และผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมในการรักษา การรักษาได้แก่การกระตุ้นด้วยดนตรีหรือเสียงที่จัดให้สดหรือผ่านการบันทึกเสียงโดยนักดนตรีบำบัด ผู้ปกครอง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐาน ระยะเวลาของการรักษามากกว่า 5 นาทีและจำเป็นต้องเกิดขึ้นมากกว่าสามครั้ง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 3 คนคัดลอกข้อมูลโดยอิสระต่อกัน เราวิเคราะห์ผลการรักษาของการทดลองแต่ละรายการโดยใช้ RevMan Web โดยใช้ fixed-effects model เพื่อรวมข้อมูล หากเป็นไปได้ เรานำเสนอผลลัพธ์ใน meta-analyses โดยใช้ mean differences กับ 95% CI เราทำการทดสอบ heterogeneity เมื่อสถิติ I 2 สูงกว่า 50% เราจะประเมินแหล่งที่มาของ heterogeneity โดย sensitivity และ subgroup analyses เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลอง 25 ฉบับที่คัดเลือกทารก 1532 คน และผู้ปกครอง 691 คน (parallel-group RCTs 21 ฉบับ การศึกษาแบบ cross-over RCTs 4 ฉบับ) อายุครรภ์ของทารกตั้งแต่แรกเกิดแตกต่างกันไปตั้งแต่ 23 ถึง 36 สัปดาห์ โดยเกิดขึ้นใน NICU (ระดับ 1 ถึง 3) ทั่วโลก ภายในการทดลอง การรักษาจะแตกต่างกันไปตามประเภท การนำเสนอ ความถี่และระยะเวลา ดนตรีและเสียงส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะ ตามความสงบ นุ่มนวล รูปแบบดนตรีในรูปแบบเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งมักจะผสมผสานเสียงของแม่ที่ร้องสดหรือบันทึกเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งหมายถึง ดนตรีบำบัด หรือเวชศาสตร์ดนตรี ความเสี่ยงทั่วไปของการเกิดอคติในการศึกษาที่รวบรวมมานั้นแตกต่างกันไปตั้งแต่ความเสี่ยงของการเกิดอคติต่ำถึงสูง

การรักษาด้วยดนตรีและเสียงถูกเปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐาน

การรักษาด้วยดนตรีและเสียงไม่เพิ่มความอิ่มตัวของออกซิเจนในทารกในระหว่างการรักษา (mean difference (MD) 0.13, 95% CI -0.33 ถึง 0.59; P = 0.59; ทารก 958 คน, การศึกษา 10 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ดนตรีและเสียงอาจจะไม่เพิ่มความอิ่มตัวของออกซิเจนหลังการรักษาเช่นกัน (MD 0.63, 95% CI -0.01 ถึง 1.26; P = 0.05; ทารก 800 คน, การศึกษา 7 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การรักษาอาจไม่เพิ่มพัฒนาการของทารก (Bayley Scales of Infant and Toddler Development (BSID)) ด้วยคะแนนองค์ประกอบการรับรู้ (MD 0.35, 95% CI -4.85 ถึง 5.55; P = 0.90; ทารก 69 คน, การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ); คะแนนองค์ประกอบของมอเตอร์ (MD -0.17, 95% CI -5.45 ถึง 5.11; P = 0.95; ทารก 69 คน, การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั้นต่ำ); และคะแนนองค์ประกอบภาษา (MD 0.38, 95% CI -5.45 ถึง 6.21; P = 0.90; ทารก 69 คน, การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ดนตรีบำบัดอาจไม่ลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ปกครอง (MD -1.12, 95% CI -3.20 ถึง 0.96; P = 0.29; ผู้ปกครอง 97 คน, การศึกษา 4 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

การรักษาอาจไม่ลดอัตราการหายใจในระหว่างการรักษา (MD 0.42, 95% CI -1.05 ถึง 1.90; P = 0.57; ทารก 750 คน, การศึกษา 7 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และหลังการรักษา (MD 0.51, 95% CI - 1.57 ถึง 2.58; P = 0.63; ทารก 636 คน, การศึกษา 5 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม การใช้ดนตรี/เสียงอาจลดอัตราการเต้นของหัวใจในทารกคลอดก่อนกำหนดในระหว่างการรักษา (MD -1.38, 95% CI -2.63 ถึง -0.12; P = 0.03; ทารก 1014 คน, การศึกษา 11 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ผลประโยชน์นี้ยิ่งมากขึ้นหลังจากการรักษา การรักษาโดยดนตรี/เสียง ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจหลังการรักษษ (MD -3.80, 95% CI -5.05 ถึง -2.55; P < 0.00001; ทารก 903 ราย, การศึกษา 9 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) โดยมี CIs กว้างตั้งแต่ผลปานกลางถึงมาก ดนตรีบำบัดอาจไม่ลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (MD 0.50, 95% CI -1.80 ถึง 2.81; P = 0.67; ผู้เข้าร่วม 67 คน, การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวลของผู้ปกครอง (MD -0.15, 95% CI -2.72 ถึง 2.41; P = 0.91; ผู้ปกครอง 87 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับผลเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับผลลัพธ์รองระยะสั้นและระยะยาวอื่นๆ ทั้งหมดที่มีต่อทารก ความเป็นอยู่ของผู้ปกครอง และความใกล้ชิดสนิทสนม/ความผูกพันทางอารมณ์ การศึกษา 2 ฉบับประเมินผลข้างเคียงว่าเป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจอย่างชัดเจน และรายงานว่าไม่มีผลข้างเคียงจากดนตรีและเสียง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 กันยายน 2023

Tools
Information