การจัดการความเจ็บปวดแบบทีละขั้นตอน (ตามอัลกอริทึม) สำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา

จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เรามีความสนใจในวิธีที่พยาบาลสามารถจัดการกับความเจ็บปวดในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราได้ดีที่สุด การจัดการความเจ็บปวดเกี่ยวข้องกับการวัดความเจ็บปวดและการรักษาความเจ็บปวดหากจำเป็น เรามีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาว่าวิธีการทีละขั้นตอน (อัลกอริธึม) สำหรับพยาบาลเกี่ยวกับวิธีจัดการกับความเจ็บปวดสามารถลดความเจ็บปวดหรือพฤติกรรมที่อาจบ่งชี้ว่ามีคนอยู่ในความทุกข์ (เช่น การตี การตะโกน หรือการเดินไม่มีจุดหมาย) ได้หรือไม่

การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับอะไร

ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในบ้านพักคนชรามักมีอาการปวด อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สามารถบอกผู้ดูแลได้เสมอว่าพวกเขาเจ็บปวดหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ และเรารู้ว่าผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราที่มีภาวะสมองเสื่อมได้รับยาแก้ปวดน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม ความเจ็บปวดที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพ และยังอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ท้าทาย เช่น ความก้าวร้าว การใช้คำแนะนำทีละขั้นตอนโดยละเอียดสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลในการทบทวนนี้เรียกว่าอัลกอริทึม ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงการจัดการความเจ็บปวด อัลกอริธึมเริ่มต้นด้วยการประเมินความเจ็บปวดอย่างมีโครงสร้าง จากนั้นจึงกำหนดขั้นตอนการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจไม่ใช่การใช้ยาหรือการรักษาด้วยยาเพื่อลดความเจ็บปวด หากตรวจพบความเจ็บปวด การรักษาที่อธิบายไว้ในขั้นตอนแรกจะถูกนำมาใช้ หากการรักษานี้ไม่ลดอาการปวด ให้ทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป เป็นต้น

การศึกษาที่ถูกเลือกมาทบทวนวรรณกรรมนี้

ในเดือนมิถุนายน 2021 เราค้นหาการทดลองที่ตรวจสอบการจัดการความเจ็บปวดด้วยการใช้อัลกอริทึม เราพบการศึกษา 3 ฉบับ รวมผู้เข้าร่วม 808 คน การศึกษา 2 ฉบับ เปรียบเทียบการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมกับการให้การศึกษาสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลเกี่ยวกับความเจ็บปวดและภาวะสมองเสื่อม และการศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมกับการดูแลตามปกติ

ระดับความเจ็บปวดและความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมของผู้เข้าร่วมการศึกษาแตกต่างกันในการศึกษาทั้ง 3 ฉบับ การศึกษา 1 ฉบับ ศึกษาในผู้อยู่อาศัยทั้งหมดในบ้านพักคนชรา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการปวดหรือแทบไม่มีอาการปวดเลย ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา (น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้ารับการอบรมมีอาการปวด) และการศึกษา 2 ฉบับ รวมเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดน้อยถึงความเจ็บปวดปานกลาง ในการศึกษา 1 ฉบับ ภาวะสมองเสื่อมของผู้เข้าร่วมมีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง และในการศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วมมีภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรง

ในการศึกษา 2 ฉบับ ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมซึ่งสามารถทำได้รายงานเกี่ยวกับความเจ็บปวดของตนเอง และเจ้าหน้าที่พยาบาลก็ตัดสินด้วยว่าผู้เข้าร่วมแสดงอาการเจ็บปวดหรือไม่ ในการศึกษาฉบับที่ 3 ประเมินความเจ็บปวดโดยสมาชิกของทีมวิจัย แต่ไม่ใช่โดยตัวผู้เข้าร่วมเอง พยาบาลและนักวิจัยใช้การสังเกตสิ่งต่างๆ เช่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง และการหายใจเพื่อตัดสินว่าคนๆนั้มีความเจ็บปวดหรือไม่

ผลการวิจัยหลักคืออะไร

เมื่อเราดูการศึกษาที่ผู้คนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยโดยไม่มีความเจ็บปวด หรือแทบไม่มีความเจ็บปวดเลย เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริทึมจะส่งผลต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดที่พวกเขาพบในระหว่างการศึกษาหรือไม่ นี่เป็นความจริงไม่ว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาจะรายงานความเจ็บปวดของตนเองหรือว่าพยาบาลเป็นผู้ตัดสินความรุนแรงของความเจ็บปวด นอกจากนี้เรายังไม่สามารถบอกได้จากการศึกษานี้ว่าการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมลดพฤติกรรมที่ท้าทายหรือไม่

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นด้วยอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เราพบว่าเมื่อเทียบกับการให้การศึกษาสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาล การจัดการความเจ็บปวดโดยใช้อัลกอริทึมอาจส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดที่รายงานโดยตัวผู้ป่วยเอง (อิงจากผลการศึกษา 1 ฉบับ) เมื่อผู้อื่นประเมินความเจ็บปวด ('พร็อกซี' ซึ่งเป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยวิจัย) เราพบว่าการจัดการความเจ็บปวดโดยใช้อัลกอริทึมอาจดีกว่าการดูแลตามปกติ แม้ว่าอาจไม่ได้ผลดีไปกว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับความเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะแน่ใจเกี่ยวกับความถูกต้องของการให้คะแนนความเจ็บปวดโดยผู้อื่น

ความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของเรามีจำกัดเนื่องจากมีการศึกษาจำนวนน้อย ความผันแปรของความรุนแรงของความเจ็บปวด และความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมของผู้เข้าร่วมการวิจัยในช่วงเริ่มต้นของการทดลอง และคุณภาพของการศึกษา

ไม่มีการศึกษาใดที่มองหาผลกระทบที่เป็นอันตราย และไม่มีการศึกษาใดที่อธิบายว่ามีผลกระทบที่เป็นอันตรายใดๆ เกิดขึ้น

บทสรุปคืออะไร

เราไม่พบหลักฐานที่ดีว่าการแนะนำอัลกอริธึมเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการความเจ็บปวดสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในบ้านพักคนชรานั้นดีกว่าการให้การศึกษาสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวดหรือพฤติกรรมที่ท้าทาย แต่อาจดีกว่าการดูแลปกติในการลดความเจ็บปวด (ซึ่งวัดโดยผู้สังเกตการณ์) หลักฐานมีน้อย และเราไม่แน่ใจในผลลัพธ์ การวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้จะเป็นประโยชน์

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับประโยชน์ของวิธีการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมเมื่อเปรียบเทียบกับการให้การศึกษาเรื่องความเจ็บปวดเพื่อลดความรุนแรงของความเจ็บปวดหรือพฤติกรรมที่ท้าทายในผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในบ้านพักคนชรา เราพบว่าวิธีการที่ใช้ (intervention) อาจลดความเจ็บปวดที่ประเมินโดยตัวแทนเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ อย่างไรก็ตาม หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ เนื่องจากการศึกษามีจำนวนน้อย ขนาดตัวอย่างน้อย ข้อจำกัดของระเบียบวิธีวิจัย และความหลากหลายทางคลินิกของประชากรที่ทำการศึกษา (เช่น ระดับความเจ็บปวดและสถานะทางปัญญา) ควรตีความผลลัพธ์ด้วยความระมัดระวัง การศึกษาในอนาคตควรเน้นที่การนำอัลกอริธึมไปใช้และผลกระทบต่อการปฏิบัติทางคลินิกด้วย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในบ้านพักคนชรามักมีอาการปวด แต่มักไม่ได้รับการบำบัดเรื่องความเจ็บปวดอย่างเพียงพอ ประสบการณ์ความเจ็บปวดมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม และเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพเชิงลบ ความเจ็บปวดที่ไม่ได้รับการรักษายังถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของพฤติกรรมที่ท้าทาย เช่น ความปั่นป่วนหรือความก้าวร้าวในประชากรกลุ่มนี้ แนวทางหนึ่งในการลดความเจ็บปวดในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในบ้านพักคนชราคือกลยุทธ์การจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึม กล่าวคือ การใช้โปรโตคอลที่มีโครงสร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมินความเจ็บปวดและชุดของขั้นตอนการรักษาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งประกอบด้วยการแทรกแซงการจัดการความเจ็บปวดที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาและทางเภสัชวิทยาต่างๆ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบของการแทรกแซงการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริทึมเพื่อลดความเจ็บปวดและพฤติกรรมที่ท้าทายในผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา

เพื่ออธิบายองค์ประกอบของการแทรกแซงและเนื้อหาของอัลกอริทึม

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา ALOIS, Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group's register, MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL (Cumulative Index to Nursing and Allied Health Literature), Web of Science Core Collection (ISI Web of Science), LILACS (Latin American and Caribbean Health ฐานข้อมูลข้อมูลวิทยาศาสตร์), ClinicalTrials.gov และ the World Health Organization's meta-register the International Clinical Trials Registry Porta ในวันที่ 30 มิถุนายน 2021

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมซึ่งตรวจสอบผลกระทบของการแทรกแซงการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริทึมสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา การแทรกแซงทั้งหมดต้องรวมถึงการประเมินความเจ็บปวดเบื้องต้น อัลกอริธึมการรักษา (แผนการรักษาที่ประกอบด้วยขั้นตอนการรักษาที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาหรือทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกันอย่างน้อยสองขั้นตอนเพื่อลดความเจ็บปวด) และเกณฑ์ในการประเมินความสำเร็จของแต่ละขั้นตอนการรักษา กลุ่มควบคุมอาจได้รับการดูแลตามปกติหรือการแทรกแซงการควบคุมเชิงรุก ผลลัพธ์หลักสำหรับการทบทวนนี้คือผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด เช่น จำนวนผู้เข้าร่วมที่มีอาการปวด (ประเมินตนเองหรือตัวแทน) พฤติกรรมที่ท้าทาย (เราใช้คำจำกัดความกว้างๆ ที่อาจรวมถึงการกระสับกระส่ายหรืออาการทางพฤติกรรมและจิตใจที่ประเมินด้วยเครื่องมือใดๆ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกบทความเพื่อรวบรวม ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของอคติของการศึกษาที่นำเข้าทั้งหมดอย่างอิสระต่อกัน เรารายงานผลลัพธ์แบบบรรยาย เนื่องจากมีการศึกษาน้อยเกินไปสำหรับการวิเคราะห์เมตต้า เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลองแบบ cluster-randomised controlled trials จำนวน 3 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 808 คน (อายุเฉลี่ย 82 ถึง 89 ปี) ในการศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วมมีความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างรุนแรง และในการศึกษา 1 ฉบับมีความบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง อัลกอริธึมที่ใช้ในการศึกษาแตกต่างกันไปตามจำนวนขั้นตอนการรักษา กลุ่มเปรียบเทียบได้แก่การให้การศึกษาเรื่องความเจ็บปวดสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลในการศึกษา 2 ฉบับ และการดูแลตามปกติในการศึกษา 1 ฉบับ

เราตัดสินว่าความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการศึกษา 1 ฉบับ ความเสี่ยงของอคติในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการและอคติในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการไม่ชัดเจนในการศึกษาทั้งหมด

มีการรายงานความเจ็บปวดที่ประเมินด้วยตนเอง (เช่น ความเจ็บปวดที่ผู้เข้าร่วมให้คะแนนเอง) ในการศึกษา 2 ฉบับ ในการศึกษา 1 ฉบับ ผู้อยู่ในบ้านพักคนชราทั้งหมดถูกรวมไว้ด้วย แต่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าครึ่งที่มีอาการปวดที่การตรวจวัดพื้นฐาน และค่าเฉลี่ยของความเจ็บปวดที่ประเมินด้วยตนเองและด้วยตัวแทนที่การตรวจวัดพื้นฐานและการติดตามในทั้งสองกลุ่มการศึกษาอยู่ด้านต่ำกว่าเกณฑ์ความเจ็บปวดที่อาจต้องรักษา เราถือว่าหลักฐานจากการศึกษานี้มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าวิธีการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมมีผลต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดแบบประเมินตนเองหรือไม่ เมื่อเทียบกับการให้การศึกษาเรื่องความเจ็บปวด (MD -0.27, 95% CI -0.49 ถึง - 0.05, ผู้เข้าร่วม 170 คน; Verbal Descriptor Scale ช่วง 0 ถึง 3) ในการศึกษาอีกเรื่อง ผู้เข้าร่วมทั้งหมดมีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่การตรวจวัดพื้นฐาน ซึ่งพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำว่าวิธีการจัดการความเจ็บปวดด้วยอัลกอริธึมอาจมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดที่ประเมินตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับการให้การศึกษาความเจ็บปวด (MD 0.4, 95% CI -0.58 ถึง 1.38, ผู้เข้าร่วม 246 คน; Iowa Pain Thermometer , ช่วง 0 ถึง 12)

ความเจ็บปวดได้รับการประเมินโดยตัวแทนในการศึกษาทั้ง 3 ฉบับ เราได้พิจารณาหลักฐานจากการศึกษาซึ่งคะแนนเฉลี่ยของความเจ็บปวดระบุว่าไม่มีความเจ็บปวด หรือแทบไม่มีความเจ็บปวดเลย ที่การตรวจวัดพื้นฐานว่ามีความเชื่อมั่นต่ำมาก และไม่แน่ใจว่าวิธีการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริทึมมีผลกระทบต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดที่ประเมินโดยตัวแทนหรือไม่ เมื่อเทียบกับการให้การศึกษาความเจ็บปวด สำหรับผู้เข้าร่วมที่มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่การตรวจวัดพื้นฐาน เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำว่าวิธีการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมอาจลดความรุนแรงของความเจ็บปวดที่รายงานโดนตัวแทนเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ (MD -1.49, 95% CI -2.11 ถึง -0.87, การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 128 คน การประเมินความเจ็บปวดในเวอร์ชันภาษาจีนของระดับภาวะสมองเสื่อมขั้นสูง ช่วง 0 ถึง 10) แต่อาจไม่ได้ผลดีไปกว่าการให้ความรู้เรื่องความเจ็บปวด (MD -0.2, 95% CI -0.79 ถึง 0.39, การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 383 คน; Iowa Pain Thermometer ช่วง 0 ถึง 12)

สำหรับพฤติกรรมที่ท้าทาย เราพบหลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำมากจากการศึกษา 1 ฉบับ ซึ่งคะแนนความเจ็บปวดเฉลี่ยระบุว่าไม่มีความเจ็บปวด หรือแทบไม่มีความเจ็บปวดเลย ที่การตรวจวัดพื้นฐาน เราไม่แน่ใจว่าวิธีการจัดการความเจ็บปวดตามอัลกอริธึมมีผลมากกว่าการศึกษาสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ท้าทายของผู้เข้าร่วมหรือไม่ (MD -0.21, 95% CI -1.88 ถึง 1.46, การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 170 คน; Cohen-Mansfield Agitation Inventory- เวอร์ชันภาษาจีน ช่วง 7 ถึง 203)

ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินผลกระทบอย่างเป็นระบบหรือผลกระทบที่ร้ายแรง และไม่มีการศึกษารายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดผลข้างเคียงใดๆ ไม่มีการศึกษาใดประเมินผลลัพธ์อื่นๆ ของการทบทวนนี้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 1 ธันวาคม 2022

Tools
Information