การบำบัดโดยการปรับความคิดและพฤติกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะวิตกกังวล

ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงสำคัญ

มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะวิตกกังวล เด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรควิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในเรื่องมิตรภาพ ชีวิตครอบครัว และโรงเรียนและมีปัญหาสุขภาพจิตในภายหลังมากกว่าเด็กและวัยรุ่นที่ไม่ได้เป็นโรควิตกกังวล การบำบัดเช่นการบำบัดปรับความคิดและพฤติกรรม (CBT) สามารถช่วยเด็กและวัยรุ่นให้มีวิธีการจัดการความวิตกกังวลได้โดยมีมุมมองใหม่ ๆ และเผชิญหน้ากับความกลัวของพวกเขา

ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้

พ่อแม่เด็กและวัยรุ่น คนที่ทำงานด้านการศึกษาและบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น และผู้ปฏิบัติงานทั่วไป

การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร

ได้ปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ให้เป็นปัจจุบันและแทนที่ Cochrane Reviews ฉบับก่อนหน้า ตั้งแต่ปี 2005 และ 2015 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า CBT เป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรควิตกกังวล

Cochrane Review นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้

• CBT มีประสิทธิผลมากกว่ากลุ่มที่มีรายชื่อรอการบำบัดหรือไม่ได้รับการบำบัดหรือไม่

• CBT มีประสิทธิผลมากกว่าการรักษารูปแบบอื่นๆ และยา หรือไม่

• CBT ช่วยลดภาวะวิตกกังวลสำหรับเด็กและวัยรุ่นในระยะยาวหรือไม่

• CBT แต่ละประเภทมีประสิทธิผลมากกว่ากันหรือไม่ (เช่นการบำบัดแบบรายบุคคลหรือแบบกลุ่ม)

• CBT มีประสิทธิผลกับกลุ่มเฉพาะหรือไม่ (เช่นเด็กออทิสติก)

การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม

เราค้นหาฐานข้อมูลเพื่อค้นหาการศึกษา CBT สำหรับโรควิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่นทั้งหมดที่เผยแพร่จนถึงเดือนตุลาคม 2019 การศึกษาที่นำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ต้องเป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (เป็นประเภทของการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมกลุ่มบำบัดหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไปโดยใช้วิธีการสุ่ม) และต้องรวมเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาได้ 87 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 5964 คน

หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมนี้บอกอะไรเราบ้าง

ผู้ทบทวนให้คะแนนคุณภาพของหลักฐานว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีหลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลในการลดอาการวิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัดหรือไม่มีการรักษาใด ๆ อย่างไรก็ตามผลการวิจัยจะแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า CBT มีประสิทธิผลมากกว่าการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ มีการศึกษาจำนวนเล็กน้อยที่ติดตามผลลัพธ์ 6 เดือนหลังจากได้รับ CBT และแสดงให้เห็นว่าอาการวิตกกังวลยังคงลดลงต่อเนื่อง เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการให้ CBT ในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิผลแตกต่างกัน (เช่นในรูปแบบกลุ่ม การรักษาระยะยาว การบำบัดร่วมกับพ่อแม่) หรือ CBT มีประสิทธิผลมากหรือน้อยต่อเฉพาะเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (เช่นเด็กที่เป็นออทิสติกในประเภทต่างๆ)

อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป

การวิจัยในอนาคตควรเปรียบเทียบ CBT กับการรักษาทางเลือกและยา ระบุว่าใครได้รับและไม่ได้รับประโยชน์จาก CBT และสิ่งที่ผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์ต้องการ กำหนดวิธีทำให้ CBT สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับประชากรที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งรวมถึงเด็กและวัยรุ่นจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

CBT น่าจะมีประสิทธิผลในระยะสั้นมากกว่ากลุ่มที่รอการบำบัด / ไม่มีการรักษา และอาจมีประสิทธิผลมากกว่าการควบคุมสมาธิ เราพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในผลลัพธ์ของการศึกษาทั้งหมดที่แสดงว่า CBT ดีกว่าการดูแลตามปกติหรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ แต่ความเชื่อมั่นของเราต่อข้อค้นพบนี้มีจำกัด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของหลักฐานที่มีอยู่ และเรายังไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีไหนมีประสิทธิผลต่อผลลัพธ์ในการรักษามากที่สุด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane ก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าการบำบัดปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีประสิทธิผลในการรักษาเด็กที่เป็นโรควิตกกังวล อย่างไรก็ตามยังคงมีคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้: หลักฐานล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิผลและการยอมรับของ CBT เมื่อทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัด / ไม่ได้รับการรักษาและการรักษาตามปกติการควบคุมสมาธิ และการรักษาทางเลือกอื่นๆ ประโยชน์จากผลลัพธ์ที่หลากหลาย ประสิทธิผลระยะยาว ผลลัพธ์จากรูปแบบการบำบัดที่แตกต่างกัน และความแตกต่างในกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติออทิสติกในระดับที่ต่างกัน (ASD) และเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของ CBT สำหรับเด็กที่เป็นโรควิตกกังวลเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัด / ไม่มีการรักษา และการรักษาตามปกติ (TAU) การควบคุมสมาธิ การรักษาทางเลือกและการใช้ยา

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นในฐานข้อมูล the Cochrane Common Mental Disorders Controlled Trials Register (ทุกปีจึนถึงปี 2016), the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, และ PsycINFO (สืบค้นแต่ละฐานข้อมูลจนถึงเดือนตุลาคม 2019), international trial registries และเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เกี่ยวกับ CBT ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพบกับเด็กโดยตรง กับผู้ปกครอง หรือ พบทั้งเด็กและผู้ปกครอง และรวมการศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำ CBT (รายชื่อผู้รอการบำบัด / ไม่มีการรักษา, การรักษาตามปกติ, การควบคุมสมาธิ, การรักษาทางเลือก, ยา) ผู้เข้าร่วมวิจัยอายุน้อยกว่า 19 ปีและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับการวินิจฉัยโรควิตกกังวล ผลลัพธ์หลักคือการทุเลาหลังจากการรักษาโรควิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลักและการยอมรับการรักษา (จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่มาเข้ารับการประเมินหลังสิ้นสุดการบำบัด) และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การทุเลาจากการเป็นโรควิตกกังวลทุกประเภท อาการวิตกกังวลลดลง อาการซึมเศร้าลดลง ความสามารถในการทำหน้าที่ทั่วไปดีขึ้น ผลจากอาการข้างเคียง และประสิทธิผลในระยะยาว

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการที่เป็นขั้นตอนมาตรฐานตามคำแนะนำของ Cochrane โดยประเมินคุณภาพของหลักฐานด้วย GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 87 การศึกษาและผู้เข้าร่วม 5964 คนในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ

เมื่อเทียบกับรายชื่อผู้รอการบำบัด / ไม่มีการรักษา พบว่าหลังการบำบัดด้วย CBT อาจเพิ่มการทุเลาของอาการโรควิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลัก (CBT: 49.4% รายชื่อผู้รอการบำบัด / ไม่ได้รับการรักษา: 17.8%; OR 5.45, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 3.90 ถึง 7.60; n = 2697, 39 การศึกษา, คุณภาพหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง); NNTB 3 (95% CI 2.25 ถึง 3.57) และจากการวินิจฉัยความวิตกกังวลทั้งหมด (OR 4.43, 95% CI 2.89 ถึง 6.78; n = 2075, 28 การศึกษา, คุณภาพหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง)

หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าหลังการรักษามีความแตกต่างระหว่าง CBT และ การรักษาตามปกติ (TAU) ในการทุเลาจากโรควิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลัก (OR 3.19, 95% CI 0.90 ถึง 11.29; n = 487, 8 การศึกษา) แต่มีข้อเสนอแนะว่า CBT อาจเพิ่มการทุเลาจากความผิดปกติในความวิตกกังวลทุกชนิด เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาตามปกติ (TAU) (OR 2.74, 95% CI 1.16 ถึง 6.46; n = 203, 5 การศึกษา)

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มการควบคุมสมาธิ หลังการบำบัดพบว่า กลุ่ม CBT อาจเพิ่มการทุเลาของอาการวิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลัก (OR 2.28, 95% CI 1.33 ถึง 3.89; n = 822, 10 การศึกษา, หลักฐานคุณภาพต่ำ) และโรควิตกกังวลทั้งหมด (OR 2.75, 95% CI 1.22 ถึง 6.17; n = 378, 5 การศึกษา, หลักฐานคุณภาพต่ำ)

มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเปรียบเทียบว่าหลังการบำบัด กลุ่ม CBT กับกลุ่มการรักษาทางเลือก ต่อการบรรเทาของอาการวิตกกังวลที่ได้รับการวินิฉัยโรควิตกกังวลเป็นโรคหลัก และหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำนี้แสดงให้เห็นว่า หลังการรักษาอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ในการบรรเทาอาการวิตกกังวลทั้งหมด (OR 0.89, 95% CI 0.35 ถึง 2.23; n = 401, 4 การศึกษา)

หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของความสามารถในการยอมรับระหว่างกลุ่ม CBT และกลุ่มที่มีรายชื่อผู้รอรับการบำบัด / ไม่มีการรักษา (OR 1.09, 95% CI 0.85 ถึง 1.41; n = 3158, 45 การศึกษา) การรักษาตามปกติ (OR 1.37, 95% CI 0.73 ถึง 2.56 ; n = 441, 8 การศึกษา), การควบคุมสมาธิ (OR 1.00, 95% CI 0.68 ถึง 1.49; n = 797, 12 การศึกษา) และการรักษาทางเลือก (OR 1.58, 95% CI 0.61 ถึง 4.13; n = 515, 7 การศึกษา) .

ไม่มีรายงานผลข้างเคียงในทุกการศึกษา อย่างไรก็ตามมีการศึกษาจำนวนน้อยที่มีการอ้างอิงถึงผลข้างเคียง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าอาการเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นระบบหรือไม่

ผลการศึกษาจากผลลัพธ์ของอาการวิตกกังวล ได้ผลลัพธ์ที่กว้าง ข้อมูลผลลัพธ์ในระยะยาวและการวิเคราะห์กลุ่มย่อยถูกนำเสนอในเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้

เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างที่สอดคล้องกันของผลลัพธ์ตามรูปแบบวิธีการให้การบำบัด (เช่นรายบุคคลกับกลุ่ม ระยะเวลาการติดต่อของนักบำบัด) หรือในกลุ่มตัวอย่างที่มีและไม่มี ASD และไม่มีการศึกษาใดที่ศึกษาในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

บันทึกการแปล: 

แปลโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564

Tools
Information