การเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือไม่

เรื่องนี้มีประเด็นอย่างไร

การล้างไตทางช่องท้องเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดทดแทนไต ซึ่งใช้เยื่อบุช่องท้องเป็นตัวกรองสำหรับการฟอกไต น้ำยาล้างไตจะถูกใส่ผ่านทางท่อที่ใส่เข้าไปในช่องท้อง เรียกว่า สายสวนล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis catheter) โดยทั่วไป การล้างไตวิธีนี้จะทำเมื่อผ่านไปสองสัปดาห์หลังจากใส่สายสวน เพื่อให้บาดแผลสมานได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นรายงานว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องรีบล้างไตอย่างเร่งด่วนภายในสองสัปดาห์หลังใส่สายสวน (การเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วน) พบผลลัพธ์ที่เทียบเคียงได้กับผู้ที่เริ่มการล้างไตหลังจากสองสัปดาห์หลังใส่สายสวน (การเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบปกติ)

ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร

ผู้วิจัยได้ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เริ่มล้างไตทางช่องท้องอย่างเร่งด่วนภายในสองสัปดาห์หลังจากใส่สายสวน

ผู้วิจัยพบอะไร

ผู้วิจัยพบ 16 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 2953 คน) ที่ประเมินผลลัพธ์ของการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนเทียบกับการเริ่มต้นแบบปกติ พบว่า กลุ่มที่เริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนมีแนวโน้มที่จะมีการรั่วของน้ำยาล้างไตออกนอกช่องท้องเข้าสู่ผิวหนังใกล้ทางออกของสายสวนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบปกติ ความแตกต่างของการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง (peritonitis), การติดเชื้อที่ทางออกของสายสวนล้างไตทางช่องท้อง (exit-site infection), ภาวะแทรกซ้อนเชิงกลของการล้างไตทางช่องท้อง (การอุดตันของสายสวน, สายสวนอยู่ผิดตำแหน่ง และการเลื่อนของสายสวน), ผู้ป่วยที่ยังล้างไตทางช่องท้องอยู่ (technique survival), และอัตราเสียชีวิตระหว่างผู้ป่วยที่เริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนกับผู้ที่รอเป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากการใส่สายสวนยังไม่ชัดเจน

บทสรุป

ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการล้างไตอย่างเร่งด่วนโดยไม่ได้มีเส้นฟอกเลือดที่พร้อมใช้งาน การล้างไตทางช่องท้องอาจพบการรั่วของน้ำยาฟอกไตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงโดยรวมของการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ติดเชื้ออื่นๆ ระหว่างการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนและการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบปกติยังไม่ชัดเจน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ในผู้ป่วย CKD ที่จำเป็นต้องได้รับการล้างไตอย่างเร่งด่วนโดยที่ไม่มีเส้นฟอกเลือดที่พร้อมใช้งาน การเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการรั่วไหลของน้ำยาล้างไต และยังไม่ทราบผลที่แน่นอนต่อการอุดตันของสายสวน, สายสวนอยู่ผิดตำแหน่ง หรือสายสวนเลื่อน, การไหลของน้ำยาล้างไต, ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ, การมีเลือดออกรอบแผลที่ใส่สายสวน, จำนวนผู้ป่วยที่ยังล้างไตทางช่องท้องอยู่, และอัตราการรอดชีวิต เมื่อเทียบกับการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบปกติ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การเริ่มล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis, PD) แบบเร่งด่วน ที่หมายถึงการเริ่มต้น PD ภายในสองสัปดาห์ของการใส่สายสวน ได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกของการเริ่มต้นการล้างไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease, CKD) ที่จำเป็นต้องล้างไตอย่างเร่งด่วนโดยยังไม่มีเส้นฟอกเลือดแบบถาวร เมื่อเร็วๆ นี้ การศึกษาขนาดเล็กหลายชิ้นได้รายงานผลลัพธ์ของผู้ป่วยที่ไม่แตกต่างกันระหว่างการเริ่มต้น PD แบบเร่งด่วนและแบบปกติ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบประโยชน์และอันตรายของการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนเทียบกับการเริ่มต้นแบบทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรค CKD ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตในระยะยาว

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นใน Cochrane Kidney และ Transplant Register of Studies จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2020 ผ่านการติดต่อกับ Information Specialist โดยใช้คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการทบทวนนี้ โดยการศึกษาที่มีใน Register อยู่ในฐานข้อมูลดังนี้ CENTRAL, MEDLINE, EMBASE, conference proceedings, the International Clinical Trials Register (ICTRP) Search Portal, และ ClinicalTrials.gov.

และสืบค้นการทดลองแบบ non-randomised controlled trials จาก MEDLINE (OVID) (1946 ถึง 27 มิถุนายน 2019), EMBASE (OVID) (1980 ถึง 27 มิถุนายน 2019), Clinical Trials Register (ICTRP) Search Portal and ClinicalTrials.gov (จนถึง 27 มิถุนายน 2019)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs) และแบบ non-RCTs ทั้งหมดที่เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วน (ภายใน 2 สัปดาห์หลังใส่สายสวน) กับการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบปกติ ( 2 สัปดาห์หลังใส่สายสวน) ในเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็น CKD ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตในระยะยาว โดยการศึกษาที่ไม่มีกลุ่มควบคุมจะถูกคัดออก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสองคนทำการดึงข้อมูลและตรวจสอบคุณภาพของการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน และยังติดต่อผู้ทำการทดลองหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ประเมินผลสุทธิที่เกิดจากการรักษาโดยใช้ random-effects model, รายงานผลลัพธ์เป็น risk ratios (RR) ร่วมกับ 95% confidence intervals (CI) ตามความเหมาะสมของข้อมูล และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานในแต่ละผลลัพธ์โดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

การศึกษาทั้งหมด 16 รายการ (ผู้เข้าร่วม 2953 คน) ถูกรวมอยู่ในการทบทวนครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย multicentre RCT 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 122 คน) และ non-RCTs 15 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 2831 คน): cohort studies 13 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 2671 คน) และ case-control studies 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 160 คน) การทบทวนนี้รวมเอาข้อมูลแบบ unadjusted data มาอยู่ในการวิเคราะห์ เนื่องจากมีการศึกษาส่วนน้อยที่รายงานข้อมูลแบบ adjusted data

จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ การเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนอาจเพิ่มการรั่วของน้ำยาล้างไต (1 RCT, ผู้เข้าร่วม 122 คน: RR 3.90, 95% CI 1.56 ถึง 9.78) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เริ่มต้นแบบปกติ ซึ่งแปลงเป็นจำนวนการรั่วสัมบูรณ์ 210 ครั้งต่อ 1,000 ครั้ง (95% CI 40 ถึง 635)

จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก, ไม่ชัดเจนว่าการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนจะเพิ่มการอุดตันของสายสวน (4 cohort studies, ผู้เข้าร่วม 1214 คน: RR 1.33, 95% CI 0.40 ถึง 4.43; 2 case-control studies, ผู้เข้าร่วม 160 คน: RR 1.89, 95% CI 0.58 ถึง 6.13), สายสวนอยู่ผิดตำแหน่ง (6 cohort studies, ผู้เข้าร่วม 1353 คน: RR 1.63, 95% CI 0.80 ถึง 3.32; 1 case-control studies, ผู้เข้าร่วม 104 คน: RR 3.00, 95% CI 0.64 ถึง 13.96) และปัญหาการไหลของน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง (3 cohort studies, ผู้เข้าร่วม 937 คน: RR 1.44, 95% CI 0.34 ถึง 6.14) หรือไม่เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เริ่มต้นแบบปกติ

จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่ชัดเจนว่าการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนจะเพิ่มการติดเชื้อรอบสายสวน (2 cohort studies, ผู้เข้าร่วม 337 คน: RR 1.43, 95% CI 0.24 ถึง 8.61; 1 case-control study, ผู้เข้าร่วม 104 คน: RR 1.20, 95% CI 0.41 ถึง 3.50), เลือดออกรอบแผลที่ใส่สายสวน (1 RCT, ผู้เข้าร่วม 122 คน: RR 0.70, 95% CI 0.03 ถึง 16.81; 1 cohort study, ผู้เข้าร่วม 27 คน: RR 1.58, 95% CI 0.07 ถึง 35.32), เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (7 cohort studies, ผู้เข้าร่วม 1497 คน: RR 1.00, 95% CI 0.68 ถึง 1.46; 2 case-control studies, ผู้เข้าร่วม 160 คน: RR 1.09, 95% CI 0.12 ถึง 9.51), สายสวนเลื่อน (2 cohort studies, ผู้เข้าร่วม 739 คน: RR 1.27, 95% CI 0.40 ถึง 4.02) หรือลดจำนวนผู้ป่วยที่ยังล้างไตทางช่องท้องอยู่ (technique survival) (1 RCT, ผู้เข้าร่วม 122 คน: RR 1.09, 95% CI 1.00 ถึง 1.20; 8 cohort study, ผู้เข้าร่วม 1668 คน: RR 0.90, 95% CI 0.76 ถึง 1.07; 2 case-control studies, ผู้เข้าร่วม 160 คน: RR 0.92; 95% CI 0.79 ถึง 1.06) หรือไม่

จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก, ยังไม่ชัดเจนว่าการเริ่มล้างไตทางช่องท้องแบบเร่งด่วนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เริ่มต้นแบบปกติจะเพิ่มอัตราเสียชีวิต (จากสาเหตุใดๆ ) (1 RCT, ผู้เข้าร่วม 122 คน: RR 1.49, 95% CI 0.87 ถึง 2.53; 7 cohort study, ผู้เข้าร่วม 1509 คน: RR 1.89, 95% CI 1.07 ถึง 3.3; 1 case-control studies, ผู้เข้าร่วม 104 คน: RR 0.90, 95% CI 0.27 ถึง 3.02, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานเกี่ยวกับ tunnel tract infection

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 25 ธันวาคม 2020

Tools
Information