การใช้กรดไขมันโอเมก้า จากสัตว์ทะเลเพื่อบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

อะไรคือผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มาจากทะเลสำหรับโรคหลอดเลือดสมองหลังจากการติดตามผลระยะสั้น (ไม่เกิน 3 เดือน) และการติดตามที่นานกว่า (มากกว่า 3 เดือน)

ความเป็นมา

โรคหลอดเลือดสมองหมายถึงกลุ่มของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมอง โรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากการภาวะเลือดออกหรือการอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของเซลล์สมอง การขาดเลือดชั่วคราว (TIA) หรือที่เรียกว่า 'mini-stroke' เป็นการหยุดชะงักชั่วคราวของเลือดที่ไปยังสมอง โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ ซึ่งมักจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเป็นเวลานาน และในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพียงเล็กน้อย กรดไขมันโอเมก้า 3 (Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA)) มีอยู่ในปลาที่มีน้ำมัน มีหน้าที่สำคัญในสมอง ในการวิจัยในสัตว์ทดลอง ดูเหมือนว่าจะปกป้องเซลล์สมองหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตาม ผลของ EPA และ DHA ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในมนุษย์นั้นยังไม่ชัดเจน

ลักษณะการศึกษา

เราศึกษาจากงานวิจัย 30 ฉบับ ที่ผู้เข้าร่วมเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือ TIA และเราพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องการศึกษา 9 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 3339 คน) การศึกษา 3 ฉบับ เป็นการติดตามผลระยะสั้น (สูงสุด 3 เดือน) และอีก 6 ฉบับ ติดตามระยะยาว การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากทะเลกับการดูแลตามปกติและการศึกษาที่เหลือเปรียบเทียบกับยาหลอก ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่ประเมินผลการศึกษาทุกด้าน

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากทะเลต่อการฟื้นตัวของโรคหลอดเลือดสมองยังไม่ชัดเจน มีการศึกษาขนาดเล็กมากเพียง 2 ฉบับ ที่รายงานผลในแต่ละระยะเรื่องละระยะเดียวและไม่พบความแตกต่างที่มีความหมาย การศึกษา 1 ฉบับ ที่ติดตามผลระยะสั้น พบว่าผู้ที่ใช้กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากทะเลมีอารมณ์ดีขึ้นน้อยกว่า แต่หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากทะเลต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือด การกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และคุณภาพชีวิตภายหลังโรคหลอดเลือดสมองหรือ TIA ไม่ชัดเจน ทั้งในการติดตามระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากมีการศึกาาที่ประเมินผลนี้จำนวนน้อย

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ในการศึกษาติดตามผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมาก ไม่มีรายงานอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองชนิดอื่นและคุณภาพชีวิตในการศึกษาที่ติดตามระยะยาว

วันที่ของหลักฐาน

การตรวจสอบนี้ ปรับปรุงการทบทวนที่ดำเนินการครั้งแรกในปี 2019 และปรับปรุงเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของการบำบัดด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากสัตว์ทะเล (PUFAs) ต่อผลลัพธ์การทำงานและความสามารถช่วยเหลือตัวเองหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากหลักฐานความเชื่อมั่นสูงมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมี RCT ที่ออกแบบมาอย่างดีโดยเฉพาะในโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เพื่อบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการรักษา

การศึกษาที่ประเมินผลสมรรถภาพการทำงาน อาจพิจารณาเริ่ม intervention โดยเร็วที่สุดหลังเกิดเหตุการณ์ และใช้การวัดผลลัพธ์ที่มีมาตรฐานและมีความเกี่ยวข้องกับทางคลินิกสำหรับผลของสมรรถภาพการทำงาน เช่น มาตราส่วน Rankin ที่ปรับแล้ว ปริมาณที่เหมาะสมยังคงต้องมีการพิจารณา รวมทั้งรูปแบบยา (ชนิดของไขมันที่ใช้นำพาสารโอเมก้า) และวิธีการบริหารยา (การกินหรือการฉีด)

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสำรวจทางเลือกในการรักษาที่จะช่วยแก้ไขโรคแบบเฉียบพลัน มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ถึงผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากสัตว์ทะเล (PUFAs) ต่อโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งนำไปสู่ผลรักษาที่ดีขึ้น

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของ กรดไขมันโอเมก้า 3 จากสัตว์ทะเลต่อการทำงานและความสามารถดูแลตัวเองของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Stroke Trials Register (ค้นหาล่าสุด 31 พฤษภาคม 2021), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2021, Issue 5), MEDLINE Ovid (ตั้งแต่ 1948 ถึง 31 พฤษภาคม 2021), Embase Ovid (ตั้งแต่ 1980 ถึง 31 พฤษภาคม 2021), CINAHL EBSCO (ดัชนีสะสมเพื่อการพยาบาลและวรรณคดีสหเวช; ตั้งแต่ปี 1982 ถึง 31 พฤษภาคม 2021), Science Citation Index Expanded ‒ Web of Science (SCI-EXPANDED), Conference Proceedings Citation Index-Science – Web of Science (CPCI- S) และBIOSIS Citation Index เราได้สืบค้นจากการทดลองที่ยังไม่สิ้นสุดการศึกษา รายการอ้างอิง การทบทวนอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้อง และใช้การค้นหาอ้างอิงดัชนี การอ้างอิงวิทยาศาสตร์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบ randomised controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากสัตว์ทะเลน (PUFAs) กับยาหลอกหรือกลุ่มควบคุม (ไม่มียาหลอก) ในผู้ที่มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะขาดเลือดชั่วคราว (TIA) หรือทั้งสองอย่าง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรมอย่างน้อยสองคน เลือกการศึกษา คัดลอกข้อมูล, ประเมินความเสี่ยงของอคติ และใช้ GRADE ในการประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยเป็นอิสระต่อกัน เราติดต่อผู้นิพนธ์ของการศึกษาเพื่อความชัดเจนมากขึ้นและขอข้อมูลของผู้เข้าร่วมการศึกษาเพิ่มเติม เราทำการวิเคราะห์ random-effects meta-analysis หรือการสังเคราะห์ตามความเหมาะสม ผลการศึกษาหลักคือประสิทธิภาพ (ความสามารถทำงาน) ที่ประเมินโดยใช้มาตราส่วนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เช่น Glasgow Outcome Scale Extended (GOSE) ที่แบ่งออกเป็นผลทางคลินิกที่ไม่ดีหรือดี ดัชนี Barthel (คะแนนที่สูงกว่านั้นดีกว่า มาตราส่วนตั้งแต่ 0 ถึง 100) หรือดัชนี Rivermead Mobility (คะแนนที่สูงกว่าจะดีกว่า มาตราส่วนตั้งแต่ 0 ถึง 15) ผลการศึกษารอง ได้แก่ การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือด การกลับเป็นซ้ำ อุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองชนิดอื่น เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ คุณภาพชีวิต และอารมณ์

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCT 30 ฉบับ; 9 ฉบับ ให้ข้อมูลผลการศึกษา (ผู้เข้าร่วม 3339 คน) มีเพียงการศึกษาเดียวที่รวมผู้เข้าร่วมที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองฉับพลัน (เส้นเลือดแตก) ปริมาณของ โอเมก้า 3 ที่ได้จากสัตว์ทะเลน้ำลึก (PUFAs) มีตั้งแต่ 400 มก./วัน ถึง 3300 มก./วัน การศึกษาส่วนใหญ่โดยทั่วไปมีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำหรือไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติในการศึกษาขนาดเล็ก เราประเมินผลการศึกษาแยกกันสำหรับการศึกษาติดตามผลระยะสั้น (สูงสุด 3 เดือน) และระยะยาว(มากกว่า 3 เดือน)

การติดตามผลระยะสั้น (สูงสุด 3 เดือน)

มีการรายงานในการศึกษานำร่องเพียงเรื่องเดียวที่ประเมินผลทางคลินิกที่ไม่ดีด้วย GOSE (risk ratio (RR) 0.78 95% CI 0.36 ถึง 1.68, P = 0.52; ผู้เข้าร่วม 40 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) Mood (ประเมินด้วย GHQ-30 คะแนนต่ำคือดีกว่า) มีรายงาน 1 เรื่องและกลุ่มควบคุมให้ผลดีกว่า (mean difference (MD) 1.41, 95% CI 0.07 ถึง 2.75, P = 0.04; ผู้เข้าร่วม 102 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ)

เราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับผลการศึกษารอง : การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด (การศึกษา 2 ฉบับ ไม่รวมเข้าในการวิเคราะห์รวมเนื่องจากความแตกต่างของประชากร RR 0.33, 95% CI 0.01 ถึง 8.00, P = 0.50 และ RR 0.33, 95% CI 0.01 ถึง 7.72, P = 0.49; ผู้เข้าร่วม 142 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การกลับเป็นซ้ำ (RR 0.41, 95% CI 0.02 ถึง 8.84, P = 0.57; ผู้เข้าร่วม 18 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก); อุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองชนิดอื่น (การศึกษา 2 ฉบับ ไม่รวมผลการศึกษา เนื่องจากดัชนีโรคหลอดเลือดสมองต่างกัน RR 6.11, 95% CI 0.33 ถึง 111.71, P = 0.22 และ RR 0.63, 95% CI 0.25 ถึง 1.58, P = 0.32; ผู้เข้าร่วม 58 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก); และคุณภาพชีวิต (องค์ประกอบทางกายภาพ, MD −2.31, 95% CI −4.81 ถึง 0.19, P = 0.07 และองค์ประกอบทางจิตใจ, MD −2.16, 95% CI −5.91 ถึง 1.59, P = 0.26; การศึกษา 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 102 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

การศึกษา 2 ฉบับ รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ผู้เข้าร่วม 57 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษา 1 ฉบับ รายงานเลือดออกนอกกะโหลกศีรษะ (RR 0.25, 95% CI 0.04 ถึง 1.73, P = 0.16) และการศึกษาอีก 1 ฉบับ รายงานภาวะแทรกซ้อนของเลือดออก (RR 0.32, 95 % CI 0.01 ถึง 7.35, P = 0.47)

การติดตามระยะยาว (มากกว่า 3 เดือน)

การทดลองขนาดเล็ก 1 เรื่อง ประเมินการทำงานด้วยดัชนี Barthel สำหรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (MD 7.09, 95% CI −5.16 ถึง 19.34, P = 0.26) และดัชนี Rivermead Mobility สำหรับการเคลื่อนไหว (MD 1.30, 95% CI −1.31 ถึง 3.91, P = 0.33) (ผู้เข้าร่วม 52 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราทำ meta-analysis สำหรับการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด (RR 1.02, 95% CI 0.78 ถึง 1.35, P = 0.86; การศึกษา 5 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 2237 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และการเป็นซ้ำที่ทำให้เสียชีวิต (RR 0.69, 95% CI 0.31 ถึง 1.55, P = 0.37; การศึกษา 3 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 1819 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เราไม่พบหลักฐานของผลทางอารมณ์ (MD 1.00, 95% CI −2.07 ถึง 4.07, P = 0.61; การศึกษา 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 14 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีรายงานอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองชนิดอื่นและคุณภาพชีวิต

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (รวมทั้งหมด) มีรายงานจากการศึกษาเพียงเรื่องเดียว (RR 0.94, 95% CI 0.56 ถึง 1.58, P = 0.82; ผู้เข้าร่วม 1455 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดยนางสาวเพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 25 สิงหาคม 2022 Edit โดย ผกากรอง 17 พฤศจิกายน 2022

Tools
Information