ชนิดของวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากในผู้ป่วยเปลือกตาตกแต่กำเนิด

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้
การผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากทำโดยการเชื่อมต่อเปลือกตากับคิ้วที่ชั้นใต้ผิวหนังโดยใช้วัสดุได้หลายชนิด มักทำการผ่าตัดนี้ในผู้ป่วยเปลือกตาตกแต่กำเนิดซึ่งกล้ามเนื้อที่ใช้เปิดเปลือกตาพัฒนาไม่เต็มที่ จุดประสงค์ของ Cochrane review นี้คือการหาว่าวัสดุชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากในผู้ป่วยเปลือกตาตกแต่กำเนิดทำให้มีผลต่างกันหรือไม่ ที่สำคัญที่สุด เราต้องการหาวัสดุที่ทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด

ใจความสำคัญ
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัสดุชนิดใดทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด มีการรวบรวมการทดลองสามเรื่องซึ่งได้ทดสอบวัสดุสี่ชนิดที่แตกต่างกัน ไม่มีการทดลองใดที่ใช้วัสดุซ้ำกัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาผลแยกกัน การทดลองสามเรื่องมีประชากรจำนวนน้อย และเนื่องจากแต่ละการทดลองนั้นเปรียบเทียบวัสดุต่างชนิดกัน จึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าวัสดุที่ใช้ในการรักษาเปลือกตาตกแต่กำเนิดชนิดใดที่ได้ผลดีที่สุด

เราศึกษาอะไรในการทบทวนวรรณกรรมนี้
โรคเปลือกตาตกแต่กำเนิดทำให้เปลือกตาตกข้างเดียวหรือสองข้างตั้งแต่เกิด ซึ่งมักเกิดจากการที่กล้ามเนื้อซึ่งใช้ในการเปิดเปลือกตามีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ การผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากเป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพที่สุด มีการใช้วัสดุหลายชนิดในการผ่าตัดทั้งในอดีตและปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้คือการศึกษาอัตราของ “ผลการทำงาน” (หมายถึง ความกว้างในการเปิดเปลือกตา) ของวัสดุชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผาก

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้คืออะไร
เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมสามเรื่องซึ่งเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผาก ในการทดลองทั้งสามเรื่องนี้ มีการประเมินวัสดุสี่ชนิด คือ Gore-Tex, Ethibond suture, Mersilene mesh และกล้ามเนื้อ fascia lata ของผู้ป่วย มีการทดลองสองเรื่องที่รวบรวมข้อมูลของตาทั้งสองข้างจากผู้เข้าร่วมโครงการคนเดิม ในขณะที่การทดลองอีกหนึ่งเรื่องรวบรวมผู้ป่วยที่มีหนังตาตกข้างเดียวหรือสองข้าง ไม่สามารถนำข้อมูลจากการศึกษาอีกสามเรื่องมารวมได้เนื่องจากใช้วัสดุที่แตกต่างกัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากชนิดใดที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้เป็นอย่างไร
ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึง 20 มิถุนายน ปี 2018

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทดลองสามเรื่องในการทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ทำการประเมินวัสดุสี่ชนิดในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผาก การประเมินการศึกษาทั้งสามเรื่องนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าวัสดุชนิดได้ได้ผลดีที่สุด ในอนาคต ควรทำการทดลองแบบสุ่มที่มีรูปแบบการวิจัยที่รัดกุมเพื่อระบุการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคเปลือกตาตกแต่กำเนิดคือการที่มีเปลือกตาตกหนึ่งหรือสองข้างตั้งแต่เกิด ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อ levator palpebrae superioris พัฒนาไม่สมบูรณ์ เป็นผลให้ผู้ป่วยมีตาขี้เกียจ สายตาเอียงและคอเอียง และอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดในวัยเด็กถ้าหากมีพัฒนาการทางการมองเห็นช้า การทำงานของกล้ามเนื้อเปิดเปลือกตามีได้หลายระดับ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อในระดับปานกลางถึงดีอาจเลือกการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยเริ่มจากการผ่าตัดเพื่อขยับกล้ามเนื้อ levator หรือการผ่าตัดกล้ามเนื้อ Muller ซึ่งเรียกว่า Fasanella–Servat procedures ผู้ป่วยที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อในระดับแย่ การผ่าตัดดังกล่าวจะได้ผลไม่ดีนัก ดังนั้นจึงควรเลือกการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากแทน ซึ่งทำได้โดยการเย็บแผ่นเปลือกตากับกล้ามเนื้อหน้าผาก ทำให้เมื่อขยับคิ้วและหน้าผากจะมีการขยับของเปลือกตาด้วย ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัสดุชนิดใดเหมาะสมที่สุดในการผ่าตัด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัสดุชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผากในผู้ป่วยเปลือกตาตกแต่กำเนิด

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก CENTRAL (ประกอบด้วย Cochrane Eyes และ Vision Trials Register) (มิถุนายน ปี 2018), Ovid MEDLINE, Ovid MEDLINE E-pub Ahead of Print, Ovid MEDLINE In-Progress และ Non-Indexed Citation อื่นๆ, Ovid MEDLINE Daily (มกราคม ปี 1946 ถึง 20 มิถุนายน ปี 2018), Embase (มกราคม ปี 1947 ถึง 20 มิถุนายน ปี 2018), Pubmed (ปี 1948 ถึง 20 มิถุนายน ปี 2018), Latin American and Caribbean Health Sciences Literature Database (LILACS) (ปี 1982 ถึง 20 มิถุนายน ปี 2018), ClinicalTrials.gov (www.clinicaltrials.gov), และ the World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (www.who.int/ictrp/search/en) ผู้วิจัยไม่ได้จำกัดวันหรือภาษาในการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์ เราค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2018

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่ทำการเปรียบเทียบระหว่างวัสดุแต่ละชนิดในการรักษาโรคเปลือกตาตกแต่กำเนิด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสองคนได้คัดกรองงานวิจัยเพื่อเขาสู่การทดลอง กำหนดสาระสำคัญของข้อมูล ประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติ และลำดับชั้นหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เราพบการทดลองแบบสุ่มสามเรื่องที่เปรียบเทียบวัสดุสี่ชนิดที่ต่างกัน โดยการใช้วัสดุสองชนิดในแต่ละการทดลอง การศึกษามีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 160 คน ทำการผ่าตัดเพื่อเปรียบเทียบ Gore-Tex, Ethibond suture, Mersilene mesh และกล้ามเนื้อ fascia lata ของผู้ป่วย

เราประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติว่าอยู่ในระดับไม่แน่ชัดในทุกการศึกษาเพราะการรายงานวิธีการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยไม่สมบูรณ์

เราไม่สามารถรวมข้อมูลในการวิเคราะห์เมตต้าได้เนื่องจากการศึกษาสามเรื่องเปรียบเทียบวัสดุที่ต่างชนิดกัน การมีข้อมูลที่จำกัดทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าวัสดุชนิดใดที่ใช้ได้ผลดีที่สุดในการผ่าตัดเปลือกตาตกโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าผาก

การประเมินผลลัพธ์หลักซึ่งคือผลการทำงาน (คำนิยาม คือ ความกว้างในการเปิดเปลือกตา) ใช้การวัดแบบแบ่งระดับหรือการวัดเป็นมิลลิเมตร การศึกษาของ Bajaj ปี 2004 รายงานว่า 93% ของกลุ่ม Gore-Tex และ 83% ของกลุ่ม Ethibond มีผลการรักษาที่ดีหรือน่าพอใจ (ตามคำนิยามของผู้วิจัย) การศึกษาของ Elsamkary ปี 2016 รายงานว่า 78.1% ของกลุ่มกล้ามเนื้อ fascia lata และ 61.8% ของกลุ่ม Gore-Tex มีผลการรักษาที่ดีมากหรือดี การศึกษาของ Salour ปี 2008 ซึ่งไม่ได้ใช้การวัดแบบแบ่งระดับ รายงานว่าในกลุ่ม Mersilene มีระยะระหว่างเปลือกตาเพิ่มขึ้น 4.0 ± 1.46 มิลลิเมตร และในกลุ่มกล้ามเนื้อ fascia lata มีระยะระหว่างเปลือกตาเพิ่มขึ้น 3.13 ± 1.72 มิลลิเมตร

ส่วนเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์นั้น รายงานของ Bajaj 2004 ที่รวบรวมผู้ป่วย 15 คนต่อกลุ่ม พบว่าในกลุ่ม Gore-Tex ไม่มีการกลับเป็นซ้ำและในกลุ่ม Ethibond มีผู้ป่วย 1 คนที่กลับเป็นซ้ำ และยังพบว่าไม่จำเป็นต้องดึงไหมออกเลยในกลุ่ม Gore-Tex และต้องดึงไหมออก 1 คนในกลุ่ม Ethibond ทั้งยังไม่มีรายงายการติดเชื้อในกลุ่ม Gore-Tex แต่มีรายงาน 1 คนในกลุ่ม Ethibond การศึกษาของ Elsamkary 2016 ที่รวบรวมผู้ป่วย 55 คนต่อกลุ่ม พบว่าในกลุ่มกล้ามเนื้อ fascia lata มีผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำ 3 คน และในกลุ่ม Gore-Tex มี 6 คน ทั้งสองกลุ่มไม่มีคนที่ต้องดึงไหมออก และพบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่ม fascia 1 คน และในกลุ่ม Gore-Tex 2 คน การศึกษาของ Salour 2008 ที่รวบรวมผู้ป่วย 10 คนต่อกลุ่มพบว่าไม่มีการกลับเป็นซ้ำ ไม่ต้องดึงไหมออกและไม่มีการติดเชื้อทั้งในกลุ่ม Mersilene และ fascia

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล พญ.สุขุมาล ธนไพศาล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15 มีนาคม 2020

Tools
Information