ช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารสั้นหรือยาวสำหรับการให้อาหารรวดเดียวในทารกคลอดก่อนกำหนดมาก

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่สั้น (เช่น 2 ชั่วโมงหรือสั้นกว่า) สามารถทนได้ดีกว่าช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่ยาว (3 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น) สำหรับการให้อาหารปกติในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือไม่

ความเป็นมา

การให้อาหารทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ซึ่งอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์เมื่อแรกเกิด ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ พวกเขามีลำไส้ที่ยังไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง (แพ้อาหาร) ถึงปานกลาง (สำรอกนมจากกระเพาะอาหาร) ไปจนถึงรุนแรง (เช่น necrotising enterocolitis; NEC) NEC เป็นภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนซึ่งนำไปสู่การสูญเสียส่วนต่าง ๆ ของลำไส้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ช่วงเวลาระหว่างการให้อาหาร คือ ช่วงเวลาระหว่างการให้แต่ละครั้ง อาจมีความสำคัญ แต่การกำหนดช่วงเวลาระหว่างการให้ที่เหมาะสมถือเป็นความท้าทายหลัก ทั้ง 2 ช่วงเวลาสั้น ๆ โดยปกติน้อยกว่า 3 ชั่วโมงและช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า 3 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นมีความเสี่ยงในตัวเอง เมื่อช่วงเวลาสั้น สามารถให้นมในปริมาณที่น้อยลงได้บ่อยขึ้น ทารกอาจทนต่อปริมาณที่น้อยกว่าได้ดีกว่า แต่ลำไส้ของพวกเขาอาจไม่มีเวลาเพียงพอในการพักผ่อนระหว่างการให้อาหารแต่ละครั้ง

ลักษณะของการศึกษา

เราค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์ขึ้นถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2020 เราพบ 4 การศึกษา (เกี่ยวข้องกับทารก 417 คน) ทั้งหมดดำเนินการในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบช่วงเวลาระหว่างการให้อาหาร 2 ชั่วโมงกับ 3 ชั่วโมง การศึกษาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำมากซึ่งมีอายุครรภ์ (ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของสตรีคนนั้น) อยู่ในช่วง 29 สัปดาห์ถึง 35 สัปดาห์

ผลลัพธ์สำคัญ

เมื่อเรารวมผลการศึกษาเข้าด้วยกัน ชี้ให้เห็นความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างช่วงการให้อาหารทุก 2 และ 3 ชั่วโมง เราไม่แน่ใจว่าการให้อาหารทุก 2 ถึง 3 ชั่วโมงในแง่ของจำนวนวันที่ต้องการในการให้อาหารทางสายยางได้สมบูรณ์นั้นมีความแตกต่างกันหรือไม่ เนื่องจากผลลัพธ์ไม่แน่ชัดและมีอคติในการศึกษา วันที่ต้องการสำหรับได้น้ำหนักแรกเกิดกลับมาใหม่ หลังจากที่น้ำหนักเริ่มต้นตามปกติในวันแรกหลังคลอดอาจนานขึ้นเล็กน้อยในทารกที่ได้รับอาหาร 2 ชั่วโมง แต่เราไม่แน่ใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกว่ามีความแตกต่างในผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่การศึกษารายงานหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีทารกจำนวนน้อยที่มีเกิด NEC เราจึงไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือไม่ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลของช่วงระหว่างการให้นมต่อการตาย การเติบโตของทารกระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และผลการพัฒนาทางระบบประสาท (พัฒนาการของสมองในวัยเด็ก) และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารอื่นๆ เช่น ให้ทุก 1 ชั่วโมงหรือ 4 ชั่วโมง มี 1 การศึกษาที่รอการจำแนกประเภท เนื่องจากเราต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงอาจไม่มีความแตกต่างที่สำคัญทางคลินิกระหว่างช่วงการให้อาหารทุกสองถึง 3 ชั่วโมง

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำที่เราพบในการทบทวนวรรณกรรมนี้ชี้ให้เห็นว่าอาจไม่มีความแตกต่างที่สำคัญทางคลินิกระหว่างช่วงเวลาระหว่างการให้อาหาร 2 และ 3 ชั่วโมง มีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนในการให้อาหารที่อาจเกิดขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง NEC ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาผลของช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารอื่นๆ และไม่มีข้อมูลระยะยาวเกี่ยวกับพัฒนาการทางระบบประสาทหรือการเจริญเติบโต

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่เหมาะสมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด ช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่สั้นกว่า เช่น 2 ชั่วโมง มีข้อได้เปรียบทางทฤษฎีในการให้นมในปริมาณที่น้อยลง สิ่งนี้อาจมีศักยภาพในการลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของกรดไหลย้อน gastro-oesophageal ช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่นานขึ้นมีข้อได้เปรียบทางทฤษฎีในการทำให้อาหารมีเวลาไหลออกจากกระเพาะอาหารนานขึ้นระหว่างอาหาร 2 มื้อ สิ่งนี้อาจช่วยให้มีช่วงเวลาพักผ่อน (และทำให้ภาวะเลือดคั่งน้อยลง) สำหรับระบบทางเดินอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินความปลอดภัยของช่วงเวลาระหว่าการให้อาหารที่สั้นกว่า (2 ชั่วโมงหรือสั้นกว่า) เทียบกับช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่นานกว่า (3 ชั่วโมงขึ้นไป) และเพื่อเปรียบเทียบผลในแง่ของจำนวนวันที่ใช้เพื่อกลับมีน้ำหนักเท่าตอนแรกเกิดและเพื่อให้ได้รับอาหารได้เต็มที่

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้กลยุทธ์การค้นหามาตรฐานของ Cochrane Neonatal เพื่อเรียกใช้การค้นหาที่ครอบคลุมใน CENTRAL (2020 ฉบับที่ 6) และ Ovid MEDLINE และ Epub Ahead of Print, In-Process & Other Non-Indexed Citations, Daily and Versions และ CINAHL เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2020 เรายังสืบค้นฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิก และรายการอ้างอิงของบทความที่ได้มา สำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวม RCTs และ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่สั้น (เช่น 1 หรือ 2 ชั่วโมง) กับช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารที่ยาว (เช่น 3 หรือ 4 ชั่วโมง) ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักแรกเกิดใดๆ ซึ่งทั้งหมดหรือส่วนใหญ่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ ทารกอาจมีอายุหลังคลอดใดก็ได้ขณะที่เข้ารับการทดลอง แต่ทารกที่เข้าเกณฑ์ไม่ควรได้รับอาหารก่อนเข้าศึกษา ยกเว้นการให้อาหารทางลำไส้น้อยที่สุด เรารวมการศึกษาการให้อาหารแบบรวดเดียวทางจมูกหรือทางปาก น้ำนมแม่หรือสูตรผสม โดยให้ช่วงเวลาระหว่างการให้อาหารเป็นการรักษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ผลลัพธ์หลักของเราคือจำนวนวันที่ใช้เพื่อให้อาหารทางลำไส้ได้เต็มที่และจำนวนวันที่กลับมีน้ำหนักเท่าตอนแรกเกิด ผลลัพธ์อื่นๆ ของเราคือ ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล การเป็น necrotising enterocolitis (NEC) และการเจริญเติบโตระหว่างการเข้าพักในโรงพยาบาล (น้ำหนัก ความยาว และเส้นรอบวงศีรษะ)

ผลการวิจัย: 

เรารวม 4 RCTs ซึ่งเกี่ยวข้องกับทารก 417 คนในการทบทวนวรรณกรรมนี้ มี 1 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับทารก 350 คนกำลังรอการจัดหมวดหมู่ การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบช่วงเวลาระหว่างการให้อาหาร 2 ชั่วโมงกับ 3 ชั่วโมง ความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่รวบรวมมานั้นโดยทั่วไปต่ำ แต่การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติด้านประสิทธิภาพเนื่องจากขาดการปกปิดของวิธีการรักษา

มี 3 การศึกษารวมอยู่ใน meta-analysis สำหรับจำนวนวันที่ทำเพื่อให้ป้อนอาหารทางลำไส้ได้เต็มที่ (ผู้เข้าร่วม 351 คน) จำนวนวันเฉลี่ยในการ้ป้อนอาหารทางลำไส้ได้เต็มที่คือระหว่าง 8 ถึง 11 วัน มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในจำนวนวันที่ใช้เพื่อให้อาหารได้เต็มที่ระหว่างการให้อาหารทุก 2 ชั่วโมงและทุก 3 ชั่วโมง แต่การค้นพบนี้มีความเชื่อมั่นต่ำ (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) ‒0.62, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) ‒1.60 ถึง 0.36)

มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำว่าจำนวนวันที่จะกลับมีน้ำหนักเท่าตอนแรกเกิดอาจนานขึ้นเล็กน้อยในทารกที่ได้รับอาหารทุก 2 ชั่วโมงกว่าในเด็กที่ได้รับอาหารทุก 3 ชั่วโมง (MD 1.15, 95% CI 0.11 ถึง 2.20; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 350 คน)

เราไม่แน่ใจว่าช่วงเวลาระหว่างการให้นมที่สั้นลงจะมีผลต่อผลลัพธ์รองใดๆ ของเราหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (MD ‒3.36, 95% CI ‒9.18 ถึง 2.46; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 207 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และความเสี่ยง ของ NEC (typical risk ratio 1.07, 95% CI 0.54 ถึง 2.11; 4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 417 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ไม่มีการศึกษาใดรายงานการเติบโตระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศาสตราจารย์ ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 30 สิงหาคม 2021

Tools
Information