โปรแกรมลดน้ำหนักสำหรับผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน: ประโยชน์และโทษคืออะไร และช่วยให้ผู้รอดชีวิตมีอายุยืนยาวขึ้นหรือไม่

น้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพคืออะไร

ดัชนีมวลกาย (BMI) ประเมินว่าผู้คนมีน้ำหนักที่เหมาะสมกับส่วนสูงหรือไม่ ค่าดัชนีมวลกาย 18-25 แสดงถึงน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ ค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 25 บ่งชี้ว่ามีน้ำหนักเกิน และค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 บ่งชี้ว่าเป็นโรคอ้วน

มะเร็งเต้านมกับน้ำหนัก

ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 มีแนวโน้มที่จะเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ โรคอ้วนยังสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน (ความเป็นอยู่ที่ดี) และอาจนำไปสู่ภาวะที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมถึงโรคเบาหวานประเภท 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง หลังจากรักษามะเร็งเต้านมได้สำเร็จ ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ปีควรลดน้ำหนัก

การลดน้ำหนัก

วิธีลดน้ำหนักที่พบบ่อยที่สุดคือการลดจำนวนแคลอรีที่รับประทานเข้าไปและเพิ่มการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีแคลอรีต่ำและดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำอาจนำมารวมกับการสนับสนุนด้านจิตสังคม โปรแกรมลดน้ำหนักบางโปรแกรมมีทั้ง 3 องค์ประกอบ

ทำไมเราจึงทำ Cochrane Review นี้

เราต้องการทราบว่าโปรแกรมลดน้ำหนักใดดีที่สุดเพื่อช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนลดน้ำหนักได้ และโปรแกรมมีข้อดีหรือผลกระทบที่ไม่ต้องการหรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ประเมินโปรแกรมการลดน้ำหนักในผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นที่มีดัชนีมวลกายเกิน 25 และไม่มีหลักฐานว่ามะเร็งกลับมาแล้ว เราสืบค้นการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการรักษาได้รับการคัดเลือกเข้ากลุ่มแบบสุ่ม การศึกษาประเภทนี้มักจะให้หลักฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบของโปรแกรม

เราต้องการทราบว่าโปรแกรมลดน้ำหนักส่งผลกระทบอย่างไร:
- ผู้คนมีชีวิตอยู่นานแค่ไหน
-มะเร็งเต้านมกลับมาเป็นอีกหรือไม่
-ระยะเวลาก่อนที่มะเร็งจะกลับมา;
- เสียชีวิตกี่คน
-น้ำหนักตัว;
- การวัดขนาดเอว
- คุณภาพชีวิต(ความเป็นอยู่ที่ดี); หรือ
- ผลกระทบที่ไม่ต้องการ

วันที่ค้นหา: เรารวมหลักฐานที่เผยแพร่จนถึงเดือนมิถุนายน 2019

สิ่งที่เราพบ

เราพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 20 ฉบับ มีจำนวนสตรี 2028 คน การศึกษาเปรียบเทียบการเข้าร่วมโปรแกรมลดน้ำหนักกับการไม่เข้าร่วมโปรแกรมแต่ได้รับการดูแลตามปกติ การรักษาด้วยตัวหลอก (หลอก) โปรแกรมลดน้ำหนักประเภทอื่น การให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ กลุ่มคนที่รอคิวอยู่ โปรแกรมทั้งหมดได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอาหาร บางโปรแกรมได้รวมวิธีการลดน้ำหนักเหล่านี้เข้ากับการออกกำลังกายหรือการสนับสนุนทางจิตสังคมหรือทั้งสองอย่าง

การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา โปรแกรมลดน้ำหนักกินเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 ปี ผู้คนที่เข้าร่วมได้รับการติดตามเป็นเวลา 3 เดือนถึง 36 เดือนหลังจากเริ่มโปรแกรม

ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลลัพธ์สำหรับ: ระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่; หรือระยะเวลาก่อนที่มะเร็งจะกลับมา หรือจำนวนผู้เสียชีวิต มีการศึกษาเพียงไม่กี่ชิ้นที่รายงานเกี่ยวกับผลของโปรแกรมลดน้ำหนักต่อการกลับมาของมะเร็งเต้านม

ผลการตรวจสอบของเราเป็นอย่างไร

เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมลดน้ำหนัก ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ปีที่เข้าร่วมในกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมลดน้ำหนักอาจ:
- ลดน้ำหนักตัวได้มากขึ้น
-มีขนาดเอวและ BMI ลดลงมากขึ้น และ
ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น

การเข้าร่วมโปรแกรมลดน้ำหนักไม่ได้ทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น

โปรแกรมที่ผสมผสานการรับประทานอาหารกับการออกกำลังกายหรือการสนับสนุนทางจิตสังคม หรือทั้งสองอย่าง ดูเหมือนจะลดน้ำหนักตัวและขนาดรอบเอวได้มากกว่าโปรแกรมที่อิงจากการเปลี่ยนแปลงอาหารเพียงอย่างเดียว

ความมั่นใจของเราในผลลัพธ์เหล่านี้

ความเชื่อมั่นของเราในผลลัพธ์เหล่านี้โดยทั่วไปต่ำ เราพบข้อจำกัดในการออกแบบและดำเนินการการศึกษาบางเรื่อง ผู้ที่มีส่วนร่วมและผู้ที่ประเมินรู้ว่าใครได้รับการรักษาแบบใด ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของการศึกษา

ข้อสรุป

โปรแกรมลดน้ำหนักอาจช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนลดน้ำหนัก ลด BMI และขนาดรอบเอว และอาจปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา โดยไม่เพิ่มผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ เราไม่พบหลักฐานว่าพวกเขาสามารถช่วยให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นหรือชะลอการกลับมาของมะเร็งเต้านมได้หรือไม่

เราต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่าโปรแกรมลดน้ำหนักใดที่ได้ผลดีที่สุดเพื่อช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมลดน้ำหนักได้ และสิ่งนี้ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นหรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

วิธีการที่ใช้ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการแบบหลายรูปแบบ (ผสมผสานอาหาร การออกกำลังกาย และการสนับสนุนทางจิตสังคม) ในผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ดูเหมือนจะส่งผลให้น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย และรอบเอวลดลง และคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น ยังขาดข้อมูลในการพิจารณาผลกระทบของวิธีการลดน้ำหนักต่อการอยู่รอดหรือการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม การทบทวนนี้อิงจากการศึกษาที่มีความแตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ในการลดน้ำหนัก เนื่องจากวิธีการที่ใช้ในการศึกษาที่รวบรวมเข้ามา มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติเกี่ยวกับการปิดบังผู้เข้าร่วมและผู้ประเมิน

จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบวิธีการลดน้ำหนักที่เหมาะสมและประเมินผลกระทบของการลดน้ำหนักต่อผลลัพธ์การอยู่รอด จำเป็นต้องมีการติดตามผลระยะยาวในการศึกษาวิธีการลดน้ำหนักเพื่อพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักจะคงอยู่ต่อไปหลังจากช่วงเวลาที่ได้ใช้วิธีการลดน้ำหนักหรือไม่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำของมะเร็งมากขึ้นและมีอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่สูงขึ้น โรคอ้วนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต (QOL) ของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม และเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยในระยะยาว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด แนวทางการรักษาโรคมะเร็งหลายฉบับแนะนำให้ผู้รอดชีวิตรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอดี แต่ไม่มีหลักฐานว่าควรแนะนำวิธีลดน้ำหนักแบบใด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของแนวทางการลดน้ำหนักแบบต่างๆ ในผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (ดัชนีมวลกาย (BMI) ≥ 25 กก./ม. 2)

วิธีการสืบค้น: 

เราดำเนินการค้นหาใน Cochrane Breast Cancer Group's (CBCG's) Specialised Register, the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL, Issue 6), MEDLINE (2012 ถึง มิถุนายน 2019), Embase (2015 ถึง มิถุนายน 2019), the World Health Organisation International Clinical Trials Registry Platform (WHO ICTRP) และ Clinicaltrials.gov ในวันที่ 17 มิถุนายน 2019 นอกจากนี้เรายังค้นหาฐานข้อมูลวรรณกรรมทางวิชาการของจีนแผ่นดินใหญ่ (CNKI), VIP, Wan Fang Data และ SinoMed เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2019 เราคัดกรองการอ้างอิงในต้นฉบับ (manuscripts) ที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบ randomised controlled trials (RCTs), quasi-RCTs และ randomised cross-over trials ที่ประเมินการจัดการน้ำหนักตัวสำหรับผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน (BMI ≥ 25 กก./ม. 2) เป้าหมายของการแทรกแซงคือการลดน้ำหนัก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนทำการดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติสำหรับการศึกษาที่รวบรวมมา และประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE ผลลัพธ์แบบ 2 ทางเลือก ใช้การวิเคราะห์สัดส่วนโดยใช้อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) เป็นตัววัดผลกระทบ ผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลต่อเนื่องได้รับการวิเคราะห์โดยใช้การวัดผลที่แสดงเป็นความแตกต่างเฉลี่ย (MDs) ระหว่างกลุ่มการรักษาในการเปลี่ยนแปลงจากค่าพื้นฐาน พร้อมนำเสนอช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) เมื่อการศึกษาทั้งหมดรายงานผลลัพธ์ที่เหมือนกันทุกประการในระดับเดียวกัน หากมีการรายงานผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันโดยใช้สเกลต่างกัน ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) จะถูกใช้เป็นตัววัดผล และดึงข้อมูลคุณภาพชีวิตและไบโอมาร์คเกอร์ที่เกี่ยวข้อง

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษาทั้งหมด 20 ฉบับ (ประกอบด้วการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 23 รายการ ) และวิเคราะห์ข้อมูลสตรีที่ได้รับการสุ่ม 2028 คน ผู้เข้าร่วมในกลุ่มทดลองได้รับการช่วยเหลือในการลดน้ำหนักโดยใช้องค์ประกอบหลักของการเปลี่ยนแปลงอาหาร ไม่ว่าจะแยกหรือรวมกับองค์ประกอบหลักอื่นๆ เช่น 'อาหารและการออกกำลังกาย' 'การควบคุมอาหารและจิตสังคม' หรือ 'การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการสนับสนุนทางจิตสังคม' ผู้เข้าร่วมในกลุ่มควบคุมอาจได้รับการดูแลตามปกติ เอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือตัวหลอก (placebo) หรือ กลุ่ม wait-list controls ระยะเวลาของการได้รับวิธีการเพื่อควบคุมน้ำหนักอยู่ระหว่าง 0.5 เดือน ถึง 24 เดือน ระยะเวลาติดตามผลมีตั้งแต่ 3 เดือนถึง 36 เดือน

ไม่มีข้อมูลเวลาถึงเหตุการณ์สำหรับการอยู่รอดโดยรวม การกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม และการรอดชีวิตที่ปราศจากโรค มีข้อมูลจำนวนค่อนข้างน้อยสำหรับการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม (ผู้เข้าร่วม 281 คนจาก 4 การเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ มี 14 คน ที่กลับมาเป็นซ้ำ; RR 1.95, 95% CI 0.68 ถึง 5.60; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และการวิเคราะห์มีแนวโน้มว่ามี power ต่ำ

โดยรวม เราพบหลักฐานคุณภาพต่ำที่แสดงว่าการลดน้ำหนักสำหรับผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง (MD: -2.25 กก., 95% CI: -3.19 ถึง -1.3 กก.; จากการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 21 รายการ; สตรี 1751 คน), ดัชนีมวลกาย (BMI) (MD: -1.08 กก./ม. 2, 95% CI: -1.61 ถึง -0.56 กก./ม. 2; จากการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 17 รายการ; สตรี 1353 คน) และรอบเอว (MD:-1.73 ซม. 95% CI: -3.17 ถึง -0.29 ซม. จากการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 13 รายการ; สตรี 1193 คน) และคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น (SMD: 0.74; 95% CI: 0.20 ถึง 1.29; การเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 10 รายการ; สตรี 867 คน) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สำหรับสตรีในกลุ่มทดลองที่ได้รับวิธีการที่ใช้ลดน้ำหนัก ไม่พบการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (RR 0.94, 95% CI: 0.76 ถึง 1.17; การเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 4 รายการ; สตรี 394 คน; หลักฐานคุณภาพสูง) การวิเคราะห์กลุ่มย่อยพบว่าน้ำหนักตัว BMI และรอบเอวลดลงในสตรีโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและสถานะวัยหมดประจำเดือน

วิธีการที่ใช้ลดน้ำหนักต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ซึ่งหมายถึง 'อาหาร การออกกำลังกาย และการสนับสนุนทางจิตสังคม') ดูเหมือนจะส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงมากขึ้น (MD: -2.88 กก., 95% CI: -3.98 ถึง -1.77 กก.; การเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 13 รายการ; 1526 ผู้เข้าร่วม), BMI (MD: -1.44 กก./ม. 2, 95% CI: -2.16 ถึง -0.72 กก./ม. 2 ; การศึกษา 11 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 1187 คน) และรอบเอว (MD:-1.66 ซม., 95% CI: -3.49 ถึง -0.16 ซม.; การเปรียบเทียบระหว่างวิธีการที่ใช้ 8 รายการ; ผู้เข้าร่วม 1021 คน) เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงอาหารเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หลักฐานมีคุณภาพต่ำ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 14 ธันวาคม 2022

Tools
Information