การเปลี่ยนแปลงตารางเวลาของคนทำงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับและระยะเวลา และลดความง่วงนอน

ใจความสำคัญ

• มีหลักฐานจำกัดว่าการเปลี่ยนแปลงตารางกะทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น เพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ หรือลดอาการง่วงนอน
• จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตารางกะในเรื่องการนอนหลับและความง่วงนอน

อะไรที่สามารถทำได้เพื่อปรับปรุงการนอนหลับของคนงานกะ

การทำงานเป็นกะมักนำไปสู่การนอนหลับที่ไม่เพียงพอซึ่งอาจส่งผลต่อความตื่นตัวของพนักงาน โดยส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การเปลี่ยนตารางการทำงานเป็นกะเป็นวิธีหนึ่งที่อาจลดผลที่ไม่พึงประสงค์จากการทำงานเป็นกะ

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการปรับเปลี่ยนตารางกะใดที่ปรับปรุงการนอนหลับในวันพักผ่อนและลดความง่วงในที่ทำงาน

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ประเมินคุณลักษณะต่อไปนี้ของตารางกะ

• ตารางกะเปลี่ยนแปลง (หมุนเวียน) หรือคงเดิม
• การเปลี่ยนแปลงกะจะเป็นแบบสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอ
• ทิศทางการหมุนกะ (เช้าถึงบ่ายถึงกลางคืน หรือกลางคืนถึงบ่ายถึงเช้า)
• ความเร็วในการหมุน
• ระยะเวลาของกะ
• ระยะเวลาการเริ่มต้นกะ
• การกระจายตารางกะ (กะน้อยลงโดยมีจำนวนชั่วโมงมากขึ้น หรือกะมากขึ้นโดยมีจำนวนชั่วโมงน้อยลง)
• เวลาพักระหว่างกะ
• แยกกะ (ขัดจังหวะ)
• พนักงานมีกะ on-call หรือไม่
• พนักงานมีส่วนร่วมในการจัดตารางกะหรือไม่

เราพบอะไร

เรารวบรวมการศึกษา 11 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 2125 คน การศึกษา 1 ฉบับดำเนินการในห้องปฏิบัติการ เราไม่รวมผลลัพธ์ของการศึกษานี้เมื่อทำการสรุปผล การศึกษาส่วนใหญ่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในคุณลักษณะหนึ่งของตารางกะ ในขณะที่บางการศึกษาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงใน 2 คุณลักษณะ การศึกษา 4 ฉบับตรวจสอบผลของการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการหมุนกะ การศึกษา 3 ฉบับตรวจสอบความเร็วของการหมุนเวียน การศึกษา 5 ฉบับตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงระยะเวลากะ และการศึกษา 1 ฉบับตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในการกระจายวันหยุด

การหมุนไปข้างหน้าเมื่อเทียบกับการหมุนย้อนกลับอาจไม่ส่งผลต่อระยะเวลาการนอนหลับหรือคุณภาพการนอนหลับในวันพักผ่อน แต่อาจช่วยลดความง่วงในที่ทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ทั้งหมดนี้มีความไม่เชื่อมั่นอย่างมาก

การหมุนกะที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับการหมุนกะที่ช้ากว่าอาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับในวันหยุด การหมุนเร็วขึ้นอาจลดระยะเวลาการนอนหลับในวันพัก แต่ยังอาจลดความง่วงในที่ทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม หลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งสองนั้นไม่เชื่อมั่นมาก

การศึกษา 2 ฉบับศึกษาการทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมงในกลุ่มแพทย์ พบว่าตารางที่มีกะไม่เกิน 16 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับตารางที่มีระยะเวลากะไม่จำกัด (รวมถึงกะ 24 ถึง 28 ชั่วโมง) อาจเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับในวันพัก และอาจส่งผลให้ความง่วงในที่ทำงานลดลงเล็กน้อย

ระยะเวลากะที่สั้นกว่า (8 หรือ 10 ชั่วโมง) เมื่อเทียบกับระยะเวลากะที่ยาวกว่า (นานกว่า 2 ถึง 3 ชั่วโมง) อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับหรือระยะเวลาการนอนหลับในวันพักผ่อน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มีความไม่เชื่อมั่นมาก ผลของระยะเวลากะต่ออาการง่วงนอนแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงการกระจายตารางกะ (เช่น วันหยุดสองวันเทียบกับสี่วันติดต่อกัน) อาจไม่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับหรือระยะเวลาการนอนหลับในวันพัก แต่ผลลัพธ์มีความไม่แน่นอนอย่างมาก

เราไม่พบการศึกษาที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในตารางกะ

โดยรวมแล้ว จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่านี้เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงตารางกะที่มีต่อการนอนหลับและความง่วงนอน ขณะนี้เราไม่สามารถสรุปผลที่เป็นประโยชน์จากหลักฐานที่มีอยู่ได้

ข้อจำกัดหลักของหลักฐาน

การศึกษาที่รวบรวมไว้น้อยเกินไปที่จัดพนักงานให้เปลี่ยนกำหนดการโดยการสุ่ม นอกจากนี้ การศึกษาจำนวนมากยังรวมพนักงานจำนวนน้อยและขาดการวัดการนอนหลับและความง่วงที่เชื่อถือได้

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การหมุนไปข้างหน้าและเร็วขึ้นอาจช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างกะ และอาจไม่สร้างความแตกต่างให้กับคุณภาพการนอนหลับ แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมาก หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากบ่งชี้ว่าระยะเวลาการนอนหลับนอกกะลดลงเมื่อการหมุนเร็วขึ้น หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำบ่งชี้ว่าการทำงานประจำสัปดาห์โดยมีระยะเวลากะจำกัดที่ 16 ชั่วโมงจะเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ และมีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางสำหรับการลดความง่วงนอนน้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงระยะเวลากะและการบีบอัดสัปดาห์ทำงานไม่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือความง่วง แต่หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีหลักฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงตารางกะอื่นๆ มีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น (โดยเฉพาะ RCT) สำหรับวิธีการตามตารางกะทั้งหมดเพื่อสรุปผลเกี่ยวกับผลของการปรับตารางกะที่มีต่อการนอนและความง่วงนอนของคนทำงานเป็นกะ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การทำงานเป็นกะเกี่ยวข้องกับการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความตื่นตัวของพนักงาน และส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การปรับตารางการทำงานเป็นกะอาจลดผลลัพธ์ด้านอาชีพที่ไม่พึงประสงค์

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการปรับตารางกะต่อคุณภาพการนอนหลับ ระยะเวลาการนอนหลับ และความง่วงนอนของคนทำงานเป็นกะ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน CENTRAL, PubMed, Embase และอีก 8 ฐานข้อมูลอื่นในวันที่ 13 ธันวาคม 2020 และอีกครั้งในวันที่ 20 เมษายน 2022 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) และที่ไม่ใช่ RCT รวมถึง controlled before-after(CBA), interrupted time series และการทดลองแบบ cross-over การทดลองที่เข้าเกณฑ์จะประเมินองค์ประกอบตารางกะต่อไปนี้

• ความถาวรของกะ
• ความสม่ำเสมอของการเปลี่ยนแปลงกะ
• ทิศทางการหมุนกะ
• ความเร็วในการหมุน
• ระยะเวลาของกะ
• ระยะเวลาการเริ่มต้นกะ
• การกระจายตารางกะ
• เวลาพักระหว่างกะ
• การแยกกะ
• การนอนหลับที่ได้รับการป้องกัน
• การมีส่วนร่วมของคนงาน

เรารวมการศึกษาที่ประเมินคุณภาพการนอนหลับนอกกะ ระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ หรือการง่วงนอนระหว่างกะ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสองคนคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อของรายงานที่ได้จากการค้นหา อ่านบทความเต็มของการศึกษาที่อาจเข้าเกณฑ์ และคัดลอกข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราประเมินความเสี่ยงของอคติของการศึกษาที่รวบรวมไว้โดยใช้ Cochrane risk of bias tool โดยมีโดเมนเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับการศึกษาแบบ non-randomised studies และ cluster-randomised studies ในทุกขั้นตอน เราได้แก้ไขข้อขัดแย้งใดๆ โดยการปรึกษากับผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 เรานำเสนอผลลัพธ์แยกตามการออกแบบการศึกษาและรวมการศึกษาที่ clinically homogeneous ใน meta-analyses โดยใช้ random-effects models เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 11 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2125 คน การศึกษา 1 ฉบับดำเนินการในห้องปฏิบัติการและไม่ได้รับการพิจารณาเพื่อสรุปผลของวิธีการ การศึกษาที่นำเข้ามาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันและเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในตารางกะ และมีความแตกต่างกันในเรื่องการวัดผลลัพธ์

การหมุนไปข้างหน้าเทียบกับย้อนกลับ

การทดลอง CBA 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 561 คน) ตรวจสอบผลของการหมุนไปข้างหน้าเทียบกับการหมุนย้อนกลับ มีการทดลอง CBA เพียง 1 ฉบับ เท่านั้นที่ให้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนไปข้างหน้าเมื่อเทียบกับการหมุนถอยหลังไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนที่วัดด้วยแบบสอบถามการนอนหลับขั้นพื้นฐานของนอร์ดิก (BNSQ; ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) −0.20 คะแนน ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −2.28 ถึง 1.89; ผู้เข้าร่วม 62 คน) หรือระยะเวลาการนอนนอกกะ (MD −0.21 ชั่วโมง 95% CI −3.29 ถึง 2.88; ผู้เข้าร่วม 62 คน) อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนไปข้างหน้าช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างกะที่วัดด้วย BNSQ (MD −1.24 คะแนน, 95% CI −2.24 ถึง −0.24; ผู้เข้าร่วม 62 คน)

การหมุนเร็วขึ้นเทียบกับการหมุนที่ช้าลง

การทดลอง CBA 2 ฉบับ และการทดลองแบบ cross-over ที่ไม่สุ่ม 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 341 คน) ประเมินการหมุนเวียนกะที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับที่ช้ากว่า เราสามารถทำ meta-analysis ได้จากการศึกษา 2 ฉบับ มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำว่าไม่มีความแตกต่างในคุณภาพการนอนหลับนอกกะ (standardised mean difference (SMD) −0.01, 95% CI −0.26 ถึง 0.23) และหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนกะที่เร็วกว่าช่วยลดระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ ( SMD −0.26, 95% CI −0.51 ถึง −0.01; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 282 คน) ค่า SMD สำหรับระยะเวลาการนอนหลับแปลเป็นค่า MD นอนน้อยลง 0.38 ชั่วโมงต่อวัน (95% CI −0.74 ถึง −0.01) การศึกษา 1 ฉบับ ให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนเร็วขึ้นช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างกะที่วัดด้วย BNSQ (MD −1.24 คะแนน, 95% CI −2.24 ถึง −0.24; ผู้เข้าร่วม 62 คน)

ระยะเวลากะที่จำกัด (16 ชั่วโมง) เทียบกับระยะเวลากะไม่จำกัด

RCTs 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 760 คน) ประเมินการทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง โดยมีระยะเวลากะรายวันสูงสุด 16 ชั่วโมง เทียบกับสัปดาห์ทำงานโดยไม่มีขีดจำกัดระยะเวลากะรายวัน มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำว่าขีดจำกัด 16 ชั่วโมงเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ (SMD 0.50, 95% CI 0.21 ถึง 0.78 ซึ่งแปลเป็น MD ที่นอนหลับเพิ่มขึ้น 0.73 ชั่วโมงต่อวัน, 95% CI 0.30 ถึง 1.13; RCTs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 760 คน) และหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางที่ขีดจำกัด 16 ชั่วโมงลดความง่วงในระหว่างกะ โดยวัดด้วย Karolinska Sleepiness Scale (SMD −0.29, 95% CI −0.44 ถึง −0.14; ซึ่งแปลเป็น MD ที่น้อยลง 0.37 คะแนน 95% CI −0.55 ถึง −0.17; RCTs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 716 คน)

กะสั้นกว่าเทียบกับยาวกว่า

RCT 1 ฉบับ และการทดลองแบบ cross-over แบบไม่สุ่ม 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 692 คน) ประเมินระยะเวลากะที่สั้นกว่า (8 ถึง 10 ชั่วโมง) เทียบกับระยะเวลากะที่นานกว่า (นานกว่า 2 ถึง 3 ชั่วโมง) มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากว่าคุณภาพการนอนหลับไม่แตกต่างกัน (SMD −0.23, 95% CI −0.61 ถึง 0.15 ซึ่งแปลเป็น MD ที่ต่ำกว่า 0.13 คะแนน ในระดับ 1 ถึง 5; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 111 คน) หรือ ระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ (SMD 0.18, 95% CI −0.17 ถึง 0.54; ซึ่งแปลเป็น MD ที่นอนหลับน้อยลง 0.26 ชั่วโมงต่อวัน; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 121 คน) RCT และการศึกษา cross-over แบบไม่สุ่มพบว่ากะที่สั้นลงช่วยลดความง่วงนอนระหว่างกะ ในขณะที่การศึกษา CBA พบว่าไม่มีผลต่อความง่วงนอน

ตารางกะที่บีบอัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับตารางกะที่กระจายมากขึ้น

RCT 1 ฉบับ และ การทดลอง CBA 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 346 คน) ประเมินตารางกะที่บีบอัดมากกว่าเมื่อเทียบกับตารางกะที่กระจายมากขึ้น การทดลอง CBA ให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในด้านคุณภาพการนอนหลับนอกกะ (MD 0.31 คะแนน, 95% CI −0.53 ถึง 1.15) และระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ (MD 0.52 ชั่วโมง, 95% CI −0.52 ถึง 1.56)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 29 กันยายน 2023

Tools
Information