สารต้านอนุมูลอิสระสำหรับภาวะมีบุตรยากของผู้ชาย

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
สารต้านอนุมูลอิสระเสริมโดยการรับประทานเมื่อเทียบกับยาหลอก ไม่มีการรักษาหรือสารต้านอนุมูลอิสระอื่นช่วยเพิ่มผลการเจริญพันธุ์สำหรับผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากหรือไม่

ความเป็นมา
คู่สมรสอาจได้รับการพิจารณาว่ามีปัญหาการเจริญพันธุ์หากพวกเขาพยายามจะตั้งครรภ์มานานกว่าหนึ่งปีโดยไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากยังรับประทานอาหารเสริมด้วยความหวังที่จะปรับปรุงภาวะเจริญพันธุ์ การรักษาภาวะเจริญพันธุ์อาจเป็นช่วงเวลาที่เครียดมากสำหรับผู้ชายและคู่ของพวกเขา เป็นสิ่งสำคัญที่คู่ครองเหล่านี้จะต้องเข้าถึงหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจอย่างมีข้อมูลว่าจะรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเสริมหรือไม่ นี่เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากอาหารเสริมสารต้านอนุมูลอิสระส่วนใหญ่ไม่มีระเบียบข้อบังคับในการควบคุม การทบทวนวรรณกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินว่าการรับประทานอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระโดยผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยาก จะเพิ่มโอกาสที่คู่สมรสจะตั้งครรภ์ (ทางคลินิก) ที่ยืนยันโดยอัลตราซาวนด์และในที่สุดการคลอดบุตร (เกิดมีชีพ) การทบทวนนี้ไม่ได้ตรวจสอบการใช้สารต้านอนุมูลอิสระในผู้ชายที่มีอสุจิปกติ

ลักษณะการศึกษา

ผู้ประพันธ์ Cochrane ทำการทบทวนวรรณกรรมซึ่งรวม 90 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระ 18 ชนิดกับยาหลอก ไม่มีการรักษาหรือสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ในประชากรชายทั้งหมด 10,303 คนซึ่งมีภาวะมีบุตรยาก ช่วงอายุของผู้เข้าร่วมคือ 18 ถึง 65 ปี; พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของคู่ครองที่ได้รับการส่งต่อไปยังคลินิกการเจริญพันธุ์และบางคนกำลังรับการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ผลลัพธ์หลัก
สารต้านอนุมูลอิสระอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมีชีพและอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกที่เพิ่มขึ้น จากประชากรที่ศึกษาเกี่ยวกับการมีบุตรเกิดมีชีพ เราคาดว่าผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากจำนวน 100 คนที่ไม่รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระจะมี 16 คู่ที่จะมีบุตร ในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากที่รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ ระหว่าง 17 ถึง 27 คู่ต่อ 100 คู่จะมีบุตร หากการศึกษาที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติถูกตัดออกจากการวิเคราะห์ ไม่พบว่ามีการเกิดมีชีพเพิ่มขึ้นในประชากรที่ใช้สารต้านอนุมูลอิสระ ในผู้ที่ได้รับการศึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ทางคลินิก เราคาดว่าผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากแบบอ่อนจำนวน 100 คนที่ไม่ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ 15 คู่จะมีการตั้งครรภ์ทางคลินิก ในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างที่รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ ระหว่าง 20 ถึง 30 ต่อ 100 คู่จะมีการตั้งครรภ์ทางคลินิก เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้รับการรายงานไม่ดี มีเพียงหกการศึกษาที่รายงานการแท้งบุตร ในการศึกษาเหล่านี้ การแท้งบุตรไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในกลุ่มที่ใช้สารต้านอนุมูลอิสระเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับการใช้สารต้านอนุมูลอิสระและความเสี่ยงของการแท้งบุตร การใช้สารต้านอนุมูลอิสระอาจสัมพันธ์กับอาการไม่สบายท้องเล็กน้อย โดยมีความถี่ 2% ในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ และระหว่าง 2% ถึง 7% ในผู้ชายที่ใช้สารต้านอนุมูลอิสระ อาหารเสริมโดยการรับประทานอาจทำให้เกิดอาการไม่สบายเช่นคลื่นไส้หรือปวดท้อง

ข้อสรุปของผู้ประพันธ์และความเชื่อมั่นของหลักฐาน
การเสริมสารต้านอนุมูลอิสระโดยผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากของคู่สมรสที่เข้ารับการรักษาในคลินิกการเจริญพันธุ์อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมีชีพ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นโดยรวมของหลักฐานต่ำมากจากเพียง 12 การทดลองที่มีกลุ่มควบคุมแบบสุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกอาจเพิ่มขึ้น โดยรวมแล้ว ไม่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรเพิ่มขึ้น หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าสารต้านอนุมูลอิสระอาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหารมากขึ้น คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากควรทราบว่าโดยรวมแล้ว หลักฐานปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้เนื่องจากการรายงานวิธีการที่ไม่ดี ความล้มเหลวในการรายงานการเกิดมีชีพและอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก ความไม่แม่นยำเนื่องจากอัตราเหตุการณ์ต่ำ จำนวนผู้ที่ออกจากการศึกษากลางคันมีมาก และกลุ่มการศึกษามีขนาดเล็ก ยังคงจำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาอย่างดี ศึกษาวิจัยชายที่มีบุตรยาก และการรายงานเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเกิดมีชีพเพื่อชี้ชัดบทบาทที่แน่นอนของสารต้านอนุมูลอิสระ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ในการทบทวนวรรณกรรมนี้มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากจาก 12 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ที่ชี้ให้เห็นว่าการเสริมสารต้านอนุมูลอิสระในเพศชายที่มีภาวะมีบุตรยากอาจช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพสำหรับคู่ครองที่มาที่คลินิกการเจริญพันธุ์ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกอาจเพิ่มขึ้น ไม่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สารต้านอนุมูลอิสระอาจทำให้มีอาการทางระบบทางเดินอาหารเล็กน้อย โดยอ้างอิงจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากควรได้รับการแจ้งให้ทราบว่า โดยรวมแล้ว หลักฐานปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงของการเกิดอคติสูงเนื่องจากการรายงานวิธีการสุ่มตัวอย่างที่ไม่ดี ความล้มเหลวในการรายงานผลลัพธ์ทางคลินิก อัตราการเกิดมีชีพและการตั้งครรภ์ทางคลินิก มักจะไม่ชัดเจน และ ยังไม่แม่นยำเนื่องจากมักจะมีอัตราเหตุการณ์ต่ำและขนาดตัวอย่างโดยรวมมีขนาดเล็ก ยังคงจำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มขนาดใหญ่ที่มีการออกแบบอย่างดีศึกษาวิจัยชายที่มีบุตรยากและรายงานเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเกิดมีชีพ่เพิ่มเติมเพื่อให้ทราบผลที่แน่นอนของสารต้านอนุมูลอิสระ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การไม่สามารถมีบุตรได้ส่งผลกระทบต่อคู่ครองทั่วโลก 10% ถึง 15% คาดว่าภาวะมีบุตรยากเกิดจากปัจจัยของฝ่ายชายคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่ง โดยระหว่าง 25% ถึง 87% ของภาวะมีบุตรยากของผู้ชายถูกพิจารณาว่าเกิดจากผลของ oxidative stress การเสริมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระโดยการรับประทานอาจจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของตัวอสุจิโดยการลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน สารต้านอนุมูลอิสระหาได้ทั่วไปและราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับการรักษาภาวะเจริญพันธุ์แบบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สารต้านอนุมูลอิสระส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมได้โดยกฎข้อบังคับ และหลักฐานสำหรับประสิทธิผลของสารต้านอนุมูลอิสระนั้นยังไม่แน่นอน เราเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการเสริมสารต้านอนุมูลอิสระโดยการรับประทานในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยาก

วิธีการสืบค้น: 

ทะเบียนการทดลองของ Cochrane Gynecology and Fertility (CGF) Group, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO, AMED และ 2 ทะเบียนการทดลอง ได้รับการค้นหาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2021 พร้อมกับการตรวจสอบข้อมูลอ้างอิงและติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้เพื่อหาการทดลองเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่เปรียบเทียบชนิด ขนาดยา หรือการรวมกันของสารต้านอนุมูลอิสระโดยการรับประทานกับยาหลอก ไม่มีการรักษา หรือการรักษาด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ในกลุ่มชายที่มีบุตรยากของคู่ครองที่เข้ารับการรักษาในคลินิกการเจริญพันธุ์ เราไม่รวมการศึกษาที่เปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับยารักษาภาวะเจริญพันธุ์เพียงอย่างเดียว และการศึกษาที่รวมผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากไม่ทราบสาเหตุและคุณสมบัติของน้ำอสุจิปกติ หรือผู้ชายที่มีภาวะเจริญพันธุ์ปกติที่เข้ารับการรักษาในคลินิกการเจริญพันธุ์เนื่องจากฝ่ายหญิงมีบุตรยาก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่แนะนำโดย Cochrane ผลลัพท์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคือการเกิดมีชีพ การตั้งครรภ์ทางคลินิก เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และคุณสมบัติของอสุจิเป็นผลลัพธ์รอง

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม 90 การศึกษา มีประชากรผู้ชายซึ่งมีภาวะมีบุตรยากทั้งหมด 10,303 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคู่สามีภรรยาที่ได้รับการส่งต่อไปยังคลินิกการเจริญพันธุ์และบางคนกำลังได้รับการช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ (MAR) นักวิจัยเปรียบเทียบและรวมสารต้านอนุมูลอิสระโดยการรับประทาน 20 ชนิดเข้าด้วยกัน หลักฐานมีความเชื่อมั่น 'ต่ำ' ถึง 'ต่ำมาก' ข้อจำกัดหลักคือจาก 67 การศึกษาที่รวมใน meta-analysis มีเพียง 20 การศึกษาที่รายงาน การตั้งครรภ์ทางคลินิก และจากจำนวนนี้ 12 การศึกษารายงานการเกิดมีชีพ หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021

การเกิดมีชีพ: สารต้านอนุมูลอิสระอาจทำให้อัตราการเกิดมีชีพเพิ่มขึ้น (odds Ratio (OR) 1.43, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 1.07 ถึง 1.91, P = 0.02, 12 RCTs ชาย 1283 คน, I 2 = 44%, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการศึกษาที่นำไปสู่การวิเคราะห์อัตราการเกิดมีชีพแสดงว่า หากสันนิษฐานว่าโอกาสในการเกิดมีชีพหลังยาหลอกหรือไม่มีการรักษาใด ๆ คิดเป็น 16% โอกาสหลังการใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ที่ประมาณ 17% ถึง 27% อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์นี้อิงจากการเกิดมีชีพเพียง 246 คนจาก 1283 คู่ใน 12 การศึกษาขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เมื่อนำการศึกษาที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติออกจากการวิเคราะห์ ไม่พบหลักฐานการเกิดมีชีพเพิ่มขึ้น (Peto OR 1.22, 95% CI 0.85 ถึง 1.75, 827 คน, 8 RCTs, P = 0.27, I 2 = 32%)

อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก: สารต้านอนุมูลอิสระอาจทำให้อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก เพิ่มขึ้น (OR 1.89, 95% CI 1.45 ถึง 2.47, P <0.00001, 20 RCTs, 1706 คน, I 2 = 3%, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา . นี่แสดงให้เห็นว่าในการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์การตั้งครรภ์ทางคลินิก หากโอกาสของการตั้งครรภ์ทางคลินิกหลังยาหลอกหรือไม่มีการรักษาจะอยู่ที่ 15% โอกาสหลังจากการใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ที่ประมาณระหว่าง 20% ถึง 30 %. ผลลัพธ์นี้อิงจากการตั้งครรภ์ทางคลินิก 327 ครั้งจากคู่สามีภรรยา 1706 คู่ใน 20 การศึกษาขนาดเล็ก

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
การแท้งบุตร: มีเพียง 6 การศึกษา เท่านั้นที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้ และอัตราการเกิดเหตุการณ์ต่ำมาก ไม่พบหลักฐานความแตกต่างของอัตราการแท้งบุตรระหว่างสารต้านอนุมูลอิสระกับยาหลอก หรือกลุ่มไม่มีการรักษา (OR 1.46, 95% CI 0.75 ถึง 2.83, P = 0.27, 6 RCTs, 664 คน, I 2 = 35%, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าในประชากรของคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก โดยมีปัจจัยที่เป็นหมันในผู้ชาย และมีอัตราการแท้งที่คาดการณ์ไว้ที่ 5% ความเสี่ยงของการแท้งบุตรหลังการใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ระหว่าง 4% ถึง 13%

ระบบทางเดินอาหาร: สารต้านอนุมูลอิสระอาจทำให้รู้สึกไม่สบายของทางเดินอาหารเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา (OR 2.70, 95% CI 1.46 ถึง 4.99, P = 0.002, 16 RCTs ผู้ชาย 1355 คน, I 2 = 40%, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) นี่แสดงให้เห็นว่าหากมีโอกาสเกิดอาการไม่สบายของทางเดินอาหารหลังยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษาใด ๆ ที่ 2% โอกาสหลังจากการใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ที่ประมาณระหว่าง 2% ถึง 7% อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์นี้อิงจากอัตราการเกิดเหตุการณ์ต่ำที่ 46 คนจาก 1355 คนใน 16 การศึกษาขนาดเล็กหรือขนาดกลาง และความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการจัดอันดับต่ำและมีความแตกต่างกันสูง

เราไม่สามารถสรุปผลจากการเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระได้เนื่องจากมีการศึกษาไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบการรักษาแบบเดียวกัน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 15 พฤษภาคม 2022 edit โดย ผกากรอง 22 ตุลาคม 2022

Tools
Information