การให้นมทางจมูกถึงกระเพาะแบบต่อเนื่องกับการให้นมปริมาณมากเป็นช่วงๆ สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1500 กรัม

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การให้อาหารทางสายยางที่ใส่เข้าไปในกระเพาะอาหารทางจมูกหรือปากอย่างต่อเนื่องนั้นดีกว่าการให้อาหารทางสายยางทุก ๆ 2 ถึง 3 ชั่วโมงในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยมากหรือไม่

ความเป็นมา

ทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1500 กรัมไม่สามารถประสานการดูด การกลืนและการหายใจได้ การให้อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร (การให้อาหารเข้าทางเดินอาหาร) ช่วยในการพัฒนาและการเจริญเติบโตของระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นนอกเหนือจากการให้อาหารทางสายยางเข้าเส้นเลือด (ทางหลอดเลือด) ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจได้รับนมผ่านทางสายยางที่ใส่ทางจมูกและเข้าสู่กระเพาะอาหาร (การให้อาหารทางจมูก) หรือทางปากและเข้าสู่กระเพาะอาหาร (การให้อาหารทางปาก) โดยปกติ ปริมาณนมที่กำหนดจะได้รับใน 10 ถึง 20 นาทีทุก 2 ถึง 3 ชั่วโมง แพทย์บางคนชอบให้อาหารทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง วิธีการให้อาหารแต่ละวิธีมีผลดีที่อาจเกิดขึ้น แต่อาจมีผลเสียเช่นกัน

ลักษณะของการศึกษา

เรารวมการศึกษา 9 รายการที่เกี่ยวข้องกับทารก 919 คน การศึกษา 1 รายการกำลังรอการจัดหมวดหมู่ การทดลอง 7 ใน 9 รายการที่นำเข้าได้รายงานข้อมูลจากทารกที่มีน้ำหนักสูงสุดระหว่าง 1000 กรัม ถึง 1400 กรัม การทดลอง 2 ใน 9 ฉบับรวมถึงทารกที่มีน้ำหนักถึง 1500 กรัม การสืบค้นเป็นปัจจุบัน ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2020

ผลการศึกษาที่สำคัญ

แม้ว่าทารกที่ได้รับการให้อาหารอย่างต่อเนื่องอาจได้รับอาหารทางปากเต็มที่ช้ากว่าทารกที่ได้รับการให้อาหารเป็นระยะๆ เล็กน้อย แต่หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ การให้อาหารเข้าทางเดินอาหารเต็มรูปแบบหมายถึงทารกได้รับนมมนุษย์หรือนมผสมในปริมาณที่กำหนดตามเส้นทางที่กำหนด สิ่งนี้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาของระบบทางเดินอาหาร ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากสายสวนทางหลอดเลือดดำที่ใช้ในการให้สารอาหารทางหลอดเลือด และอาจลดระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

ไม่เชื่อมั่นว่ามีความแตกต่างระหว่างการให้อาหารต่อเนื่องกับการให้อาหารเป็นช่วงๆ หรือไม่ในแง่ของจำนวนวันที่จะได้น้ำหนักเท่ากับน้ำหนักแรกเกิด จำนวนวันของการหยุดการให้อาหาร และอัตราการเพิ่มของน้ำหนัก

การให้อาหารอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้อัตราการเพิ่มความยาวหรือเส้นรอบวงศีรษะแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการให้อาหารเป็นช่วงๆ

ไม่เชื่อมั่นว่าการให้อาหารอย่างต่อเนื่องมีผลต่อความเสี่ยงของการเกิด necrotising enterocolitis (โรคลำไส้ที่พบได้บ่อยและร้ายแรงในทารกที่คลอดก่อนกำหนด) หรือไม่ เมื่อเทียบกับการให้นมแบบเป็นช่วงๆ

ความชื่อมั่นของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมากเนื่องจากจำนวนทารกในการศึกษาน้อย และเนื่องจากการศึกษาดำเนินการในลักษณะที่อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในผลลัพธ์

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้ว่าทารกที่ได้รับการให้อาหารอย่างต่อเนื่องอาจมีการให้อาหารเข้าทางเดินอาหารได้เต็มที่ช้ากว่าทารกที่ได้รับการให้อาหารเป็นระยะๆ เล็กน้อย แต่หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางคลินิกและประโยชน์ของการให้นมผ่านท่อทางจมูกแบบต่อเนื่องและเป็นช่วงๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดจากการทดลองแบบสุ่มที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าวิธีการให้อาหารแบบใดแบบหนึ่งเหมาะสมกว่าสำหรับการเริ่มต้นให้อาหารหรือไม่ ควรใช้วิธีการที่เข้มงวด กำหนดระเบียบวิธีการให้อาหารและการไม่สามารถรับอาหาร อย่างสม่ำเสมอสำหรับทารกทุกคน ทารกควรได้รับการแบ่งชั้นตามน้ำหนักแรกเกิด และอายุครรภ์ และอาจเป็นไปตามความเจ็บป่วย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การให้น้ำนมสามารถทำได้โดยทางสายยางทางจมูกถึงกระเพาะทั้งแบบเป็นช่วงๆ โดยปกติจะใช้เวลามากกว่า 10 ถึง 20 นาทีทุกๆ 2 หรือ 3 ชั่วโมง หรืออย่างต่อเนื่องโดยใช้ปั๊มฉีด แม้ว่าจะมีการแสดงถึงประโยชน์และความเสี่ยงตามทฤษฎีของแต่ละวิธีแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่สำคัญทางคลินิกยังคงไม่แน่นอน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของการให้นมทางสายยางแบบต่อเนื่องและแบบเป็นช่วงๆ ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1500 กรัม

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้วิธีการสืบค้นมาตรฐานของ Cochrane Neonatal เพื่อดำเนินการสืบค้นที่ครอบคลุมใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL 2020 ฉบับที่ 7) ใน Cochrane Library Ovid MEDLINE และ Epub Ahead of Print, In-Process & Other Non-Indexed Citations, Daily and Versions; and CINAHL (Cumulative Index to Nursing and Allied Health Literature) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2020 เรายังสืบค้นฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิก และรายการอ้างอิงของบทความที่ได้มา สำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs.

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวม RCTs และ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบการให้นมทางจมูกแบบต่อเนื่องกับให้ปริมาณมากเป็นช่วงๆ ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1500 กรัม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินการทดลองทั้งหมดในเรื่องความเกี่ยวข้องและความเสี่ยงของการมีอคติอย่างอิสระต่อกัน เราใช้วิธีการมาตรฐานของ Cochrane Neonatal เพื่อดึงข้อมูล เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ผลลัพธ์หลักคือ อายุที่ให้อาหารเข้าทางเดินอาหารได้เต็มที่; การไม่รับอาหาร; จำนวนวันที่จะน้ำหนักเพิ่มเท่าน้ำหนักแรกเกิด; อัตราการเพิ่มของน้ำหนัก; ความยาว และเส้นรอบวงศีรษะ และความเสี่ยงต่อ necrotising enterocolitis (NEC)

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่ม 9 รายการ (ทารก 919 คน) ในการทบทวนวรรณกรรม Cochrane ฉบับปรับปรุงนี้ การศึกษา 1 รายการกำลังรอการจัดหมวดหมู่ การทดลอง 7 ใน 9 รายการที่นำเข้าได้รายงานข้อมูลจากทารกที่มีน้ำหนักสูงสุดระหว่าง 1000 กรัม ถึง 1400 กรัม การทดลอง 2 ใน 9 ฉบับรวมถึงทารกที่มีน้ำหนักถึง 1500 กรัม

ประเภทของนมแตกต่างกันไป รวมทั้งนมแม่ (นมแม่เองหรือนมแม่ผู้บริจาคและพาสเจอร์ไรส์) นมผสมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด หรือสูตรการให้อาหารผสม ในบางกรณี นมผสมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดถูกเจือจางในขั้นต้น การศึกษาระยะแรกยังใช้น้ำเพื่อเริ่มให้อาหาร

เราตัดสินการทดลอง 6 รายการว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนหรือมีความเสี่ยงสูง ในประเด็นเรื่องการสร้างลาดับเลขสุ่มของผู้เข้าร่วมการศึกษา (random sequence generation) เราตัดสินการทดลอง 4 รายการว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนในประเด็นเรื่อง การจัดผู้เข้าร่วมการศึกษาเข้ากลุ่มโดยสุ่มอย่างปกปิด (allocation concealment) เราตัดสินการทดลองทั้งหมดว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในประเด็นเรื่องการปกปิดผู้ให้การดูแล และ 7 การทดลอง มีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนหรือมีความเสี่ยงสูงในประเด็นเรื่องการปิดบังผู้ประเมิน เราลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับความไม่แม่นยำ เนื่องจากผู้เข้าร่วมในการทดลองมีจำนวนน้อย และ/หรือช่วงความเชื่อมั่นที่กว้าง 95% และ/หรือสำหรับความเสี่ยงของอคติ

การให้นมต่อเนื่องเปรียบเทียบกับการให้ปริมาณมากเป็นช่วงๆ (ท่อทางจมูกและปากเข้ากระเพาะอาหาร)

ทารกที่ได้รับการให้อาหารอย่างต่อเนื่องอาจมีการให้อาหารเข้าทางเดินอาหารได้เต็มที่ช้ากว่าทารกที่ได้รับการให้อาหารเป็นช่วงๆ เกือบ 1 วัน (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 0.84 วัน, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.13 ถึง 1.81; การศึกษา 7 รายการ, ทารก 628 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ไม่เชื่อมั่นว่ามีความแตกต่างระหว่างการให้อาหารอย่างต่อเนื่องกับการให้อาหารเป็นช่วงๆ ในแง่ของจำนวนวันที่สามารถหยุดให้อาหารหรือไม่ (MD -3.00 วัน, 95% CI -9.50 ถึง 3.50; 1 การศึกษา, ทารก 171 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

ไม่เชื่อมั่นว่าการให้อาหารอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อจำนวนวันที่จะเพิ่มน้ำหนักถึงเท่าตอนแรกเกิดหรือไม่ (MD -0.38 วัน, 95% CI -1.16 ถึง 0.41; 6 การศึกษา, ทารก 610 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำ และช่วงความเชื่อมั่น 95% สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่เป็นไปได้และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ไม่เชื่อมั่นว่าการให้อาหารอย่างต่อเนื่องมีผลต่ออัตราการเพิ่มของน้ำหนักหรือไม่เมื่อเทียบกับการให้เป็นช่วงๆ (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.09, 95% CI -0.27 ถึง 0.46; 5 การศึกษา, ทารก 433 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การให้อาหารอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้อัตราการเพิ่มความยาวแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการให้อาหารเป็นช่วงๆ (MD 0.02 ซม./สัปดาห์, 95% CI -0.04 ถึง 0.08; 5 การศึกษา, ทารก 433 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

การให้อาหารอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้อัตราการเพิ่มเส้นรอบศีรษะแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการให้อาหารเป็นช่วงๆ (MD 0.01 ซม./สัปดาห์,95% CI -0.03 ถึง 0.05; 5 การศึกษา, ทารก 433 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ไม่แน่ใจว่าการให้อาหารอย่างต่อเนื่องมีผลต่อความเสี่ยงของ NEC หรือไม่เมื่อเทียบกับการให้อาหารเป็นช่วงๆ (RR 1.19, 95% CI 0.67 ถึง 2.11; 4 การศึกษา, ทารก 372 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ และช่วงความเชื่อมั่น 95% สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่เป็นไปได้และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 27 มิถุนายน 2021

Tools
Information