การรักษาใดดีที่สุดสำหรับอาการของผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ภาระอาการเมื่อใกล้เสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 และการรักษาที่เป็นประโยชน์

ผู้ป่วย COVID-19 อาจแสดงอาการ เช่น หายใจไม่ออก หรือ เพ้อ เมื่อเมื่อใกล้เสียชีวิต เป้าหมายของยาประคับประคองคือการบรรเทาอาการดังกล่าวด้วยการรักษาเฉพาะ การรักษาอาจเป็นการใช้ยา เช่น opiods หรือที่ไม่ใช่ยา เช่น เทคนิคการหายใจหรือการผ่อนคลาย

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมของเราคืออะไร

เพื่อสำรวจว่าวิธีการที่แตกต่างกัน (ยาและไม่ใช่ยา) ทำงานได้ดีเพียงใดในการรักษาประคับประคองอาการในผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เรารวมผู้ป่วยทุกวัยและทุกโรคร่วม (ภาวะทางการแพทย์เพิ่มเติม)

เราค้นหาการศึกษาประเภทใด

เราค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์และทะเบียนการทดลองใช้จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2021 เรารวมการศึกษาที่ศึกษาว่าการรักษาแบบประคับประคองต่างๆ ทำงานได้ดีเพียงใดในการบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับ COVID -19 ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เราต้องการเปรียบเทียบการศึกษาที่ศึกษาเกี่ยวกับยาหรือการรักษาที่แตกต่างกัน แต่เราพบเฉพาะการศึกษาที่ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ มีเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานยาเฉพาะที่ใช้สำหรับอาการของแต่ละบุคคล

ผลลัพธ์สำคัญ

เราพบ 4 การศึกษาที่ตีพิมพ์ในเอกสาร 5 ฉบับ เอกสารแต่ละฉบับมีผู้เข้าร่วมระหว่าง 61 ถึง 2105 คน และเอกสาร 2 ฉบับรายงานบางส่วนของผู้เข้าร่วมชุดเดียวกัน การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งหมดได้ศึกษาวิธีการรักษาด้วยยาต่างๆ สำหรับการจัดการทุเลาอาการในผู้ COVID -19

ยาคุมอาการช่วงสุดท้ายของชีวิต

การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งหมดรายงานเกี่ยวกับประสิทธิผลของการดูแลแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการ ในการศึกษาทั้งหมด แพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลประเมินการบรรเทาอาการแทนที่จะเป็นตัวผู้ป่วยเอง เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก เราจึงไม่ทราบผลที่แท้จริงของการรักษาด้วยยาต่อการบรรเทาอาการและมีความเชื่อมั่นต่ำมากในผลการศึกษา ไม่พบข้อมูลคุณภาพชีวิต ภาระอาการ ความพึงพอใจของผู้ป่วย ผู้ดูแล และญาติ หรือความปลอดภัยของยารักษา

การรักษาที่ไม่ใช่ยาเพื่อควบคุมอาการช่วงสุดท้ายของชีวิต

เราไม่พบข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการรักษาที่ไม่ใช่ยาเพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ข้อสรุป

จากผลการวิจัยของเรา เราไม่สามารถสรุปใดๆ เกี่ยวกับการควบคุมอาการแบบประคับประคองของผู้ป่วย COVID -19 ได้ การศึกษาในอนาคตจำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้ดีขึ้น เพื่อให้เราสามารถบอกได้ว่าการรักษาแบบใดที่ใช้ได้ผลในการควบคุมอาการในผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราพบหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากสำหรับประสิทธิภาพของการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วย COVID-19 เราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของวิธีการทางเภสัชวิทยาหรือประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวิธีการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาสำหรับการควบคุมอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วย COVID -19 หลักฐานที่นำเสนอนี้ไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจงสำหรับการควบคุมอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วยCOVID -19 เนื่องจากเราไม่สามารถสรุปผลใดๆ เกี่ยวกับประสิทธิผลหรือความปลอดภัยตามหลักฐานที่พบได้ จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางแก่แพทย์ เจ้าหน้าที่พยาบาล และผู้ดูแล เมื่อรักษาอาการของผู้ป่วย COVID -19 ในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาในอนาคตควรตรวจสอบการควบคุมอาการแบบประคับประคองในการศึกษาในอนาคตที่ลงทะเบียนไว้ โดยใช้การการควบคุมที่เข้มข้น ประเมินผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยรายงาน และกำหนดวิธีการอย่างชัดเจน

การเผยแพร่ผลการศึกษาที่กำลังดำเนินการจะทำให้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ ข้อสรุปของการทบทวนวรรณกรรมที่ปรับปรุงใหม่อาจแตกต่างจากการทบทวนวรรณกรรมปัจจุบัน และอาจช่วยให้มีการตัดสินใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิธีการทางเภสัชวิทยาและที่ไม่ใช่เภสัชวิทยาสำหรับการควบคุมอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วย COVID-19

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

คนที่กำลังจะเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ coronavirus disease 2019 (COVID-19) อาจมีอาการที่น่าเป็นทุกข์ เช่น หายใจไม่ออกหรือเพ้อ การจัดการอาการแบบประคับประคองสามารถบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ มีการพูดคุยถึงทางเลือกการรักษาต่างๆ เช่น opiods หรือเทคนิคการหายใจเพื่อใช้ในผู้ป่วย COVID -19 อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการอาการของผู้ป่วย COVID-19 ในการดูแลแบบประคับประคองมักได้มาจากประสบการณ์ทางคลินิกและแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ จำเป็นต้องมีความเข้าใจในประสิทธิผลของการรักษาแบบประคับประคองทางเภสัชวิทยาและไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาในการจัดการอาการเฉพาะของผู้ป่วย COVID-19

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวิธีการทางเภสัชวิทยาและไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาสำหรับ การควบคุมทุเลาอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วย COVID-19

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane COVID-19 Study Register (รวมถึง Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE (PubMed), Embase, ClinicalTrials.gov, World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (WHO ICTRP), medRxiv); Web of Science Core Collection (Science Citation Index Expanded, Emerging Sources); CINAHL; WHO COVID-19 Global literature on coronavirus disease; และ COAP Living Evidence เกี่ยวกับ COVID-19 เพื่อค้นหาการศึกษาที่เสร็จสิ้นและกำลังดำเนินการอยู่โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา จนถึง 23 มีนาคม 2021

เราคัดกรองรายการอ้างอิงของบทความทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและแนวทางการรักษาในปัจจุบันสำหรับเอกสารเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราปฏิบัติตามวิธี Cochrane มาตรฐานตามที่อธิบายไว้ใน Cochrane Handbook for Systematic Reviews of Interventions

เรารวมการศึกษาที่ประเมินการจัดการอาการแบบประคับประคองสำหรับบุคคลที่มีการวินิจฉัยยืนยันของ COVID-19 ที่ได้รับวิธีการเพื่อควบคุมอาการแบบประคับประคอง โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับโรคร่วม อายุ เพศ หรือเชื้อชาติ วิธีการประกอบด้วยการรักษาทางเภสัชวิทยาและที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา (เช่น การกดจุด กายภาพบำบัด การผ่อนคลาย หรือเทคนิคการหายใจ) เราค้นหาการศึกษาประเภทต่อไปนี้: การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT), quasi-RCTs, การทดลองทางคลินิกที่มีการควบคุม, การศึกษาก่อน-หลังที่มีการควบคุม, interrupted time series (และกลุ่มเปรียบเทียบ), prospective cohort studies, retrospective cohort studies, (nested) case-control studies, และ cross-sectional studies.

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบวิธีการทางเภสัชวิทยาและไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาสำหรับการควบคุมอาการแบบประคับประคองกับการดูแลมาตรฐาน

เราไม่รวมการศึกษาที่ประเมินวิธีการแบบประคับประคองสำหรับอาการที่เกิดจากความเจ็บป่วยระยะสุดท้ายอื่นๆ หากการศึกษารวบรวมประชากรที่มีหรือสัมผัสกับโรคหลายชนิด เราจะรวมข้อมูลเหล่านี้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนให้ข้อมูลกลุ่มย่อยสำหรับบุคคลที่ติดเชื้อ COVID-19 เราไม่รวมการศึกษาที่ตรวจสอบวิธีการเพื่อควบคุมอาการในบริบทของการรักษาให้หาย เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดเพื่อยืดอายุ เช่น การช่วยหายใจแบบ invasive ventilation

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ a modified version of Newcastle Ottawa Scale สำหรับการศึกษาแบบไม่สุ่มตัวอย่าง (NRSIs) เพื่อประเมินอคติในการศึกษาที่รวบรวมไว้ เรารวมผลลัพธ์ต่อไปนี้: การบรรเทาอาการ (ผลลัพธ์หลัก); คุณภาพชีวิต; ภาระของอาการ ความพึงพอใจของผู้ป่วย ผู้ดูแล และญาติ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับ 3 ถึง 4

เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE

เนื่องจาก meta-analysis เป็นไปไม่ได้ เราจึงใช้การจัดตารางเพื่อสังเคราะห์การศึกษาและฮิสโตแกรมเพื่อแสดงผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

โดยรวมแล้ว เราพบ 4 การศึกษาแบบ uncontrolled retrospective cohort studies ซึ่งตรวจสอบวิธีการทางเภสัชวิทยาเพื่อควบคุมอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้ป่วยในบ้านพักคนชรา ไม่มีการศึกษาใดที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ เราให้คะแนนความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการศึกษาทั้งหมด เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานว่าต่ำมากสำหรับผลลัพธ์หลักในการบรรเทาอาการ โดยการปรับลดระดับส่วนใหญ่สำหรับความเสี่ยงของการมีอคติสูงเนื่องจาก confounding และการไม่ปิดบังผู้ประเมิน

วิธีการทางเภสัชวิทยาเพื่อควบคุมอาการแบบประคับประคอง

โดยรวมแล้ว เราพบ 4 การศึกษาแบบ uncontrolled retrospective cohort studiest ซึ่งตรวจสอบวิธีการทางเภสัชวิทยาเพื่อควบคุมอาการแบบประคับประคอง เอกสารอ้างอิง 2 รายการใช้ทะเบียนเดียวกันเพื่อสร้างกลุ่มประชากร และผู้วิจัยยืนยันว่าผู้เข้าร่วมบางส่วนซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นเราจึงไม่ทราบจำนวนผู้เข้าร่วมที่แน่นอน แต่รายงานแต่ละรายการมีผู้เข้าร่วม 61 ถึง 2105 คน ผู้เข้าร่วมได้รับวิธีการทางเภสัชวิทยาหลายรูปแบบ ได้แก่ opioids, neuroleptics, anticholinergics และ benzodiazepines เพื่อบรรเทาอาการหายใจลำบาก (หายใจไม่ออก) เพ้อ วิตกกังวล ปวด ได้ยินสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจส่วนบน สารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ คลื่นไส้ ไอ และอาการที่ไม่ระบุรายละเอียด

ผลลัพธ์หลัก: บรรเทาอาการ

การศึกษาที่พบทั้งหมดรายงานผลลัพธ์นี้ สำหรับอาการทั้งหมด (หายใจลำบาก เพ้อ วิตกกังวล ปวด ได้ยินเสียงคัดหลั่งของทางเดินหายใจส่วนบน น้ำมูกไหล คลื่นไส้ ไอ และอาการที่ไม่ระบุรายละเอียด) วิธีการส่วนใหญ่ได้รับการประเมินว่ามีผลสมบูรณ์หรือบางส่วนโดยผู้ประเมินผล (แพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลที่รักษา) วิธีการที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ opioids, neuroleptics, anticholinergics และ benzodiazepines

เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของวิธีการทางเภสัชวิทยาต่อการบรรเทาอาการ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานเบื้องต้นอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเราพบเฉพาะ NRSI ที่ไม่มีการควบคุมเท่านั้น เหตุผลหลักของเราในการปรับลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานคือความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติอันเนื่องมาจาก confounding และการไม่ปิดบังผู้ประเมิน ดังนั้นเราจึงไม่พบหลักฐานสนับสนุนอย่างเชื่อมั่นที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่าการให้ยาอาจมีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการแบบประคับประคองในผู้ป่วย COVID-19 หรือไม่

ผลลัพธ์รอง

เราวางแผนที่จะรวมผลลัพธ์ต่อไปนี้: คุณภาพชีวิต; ภาระอาการ ความพึงพอใจของผู้ป่วย ผู้ดูแล และญาติ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับ 3 ถึง 4

เราไม่พบข้อมูลใด ๆ สำหรับผลลัพธ์เหล่านี้ หรือข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวิธีการที่ใช้

วิธีการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาสำหรับการควบคุมอาการแบบประคับประคอง

ไม่มีการศึกษาใดที่พบว่าใช้วิธีการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาเพื่อควบคุมอาการแบบประคับประคอง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 26 สิงหาคม 2021

Tools
Information