การติดต่อทางวิดีโอเพื่อลดการแยกตัวจากสังคมและความรู้สึกเหงาในผู้สูงอายุ

ความเป็นมา

Coronavirus (COVID-19) เป็นไวรัสตัวใหม่ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ประเทศต่าง ๆ ได้แนะนำการจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คนเพื่อป้องกันพวกเขาจากการติดเชื้อ COVID-19 แต่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์คือผู้สูงอายุอาจรู้สึกเหงาและแยกตัวซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกาย

การติดต่อทางวิดีโอคือการโทรศัพท์ที่ใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การติดต่อทางวิดีโอช่วยให้ผู้โทรมองเห็นและได้ยินซึ่งกันและกันได้ เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุติดต่อกับครอบครัวและเพื่อน ๆ อย่างปลอดภัยและอาจลดความรู้สึกเหงาและการแยกตัวจากสังคม

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการค้นหาว่าผู้สูงอายุที่ใช้การติดต่อทางวิดีโอจะรู้สึกเหงาน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ใช้หรือไม่ นอกจากนี้เรายังดูว่าการติดต่อทางวิดีโอมีผลต่ออาการซึมเศร้าหรือคุณภาพชีวิตหรือไม่

วิธีการของเรา

เราค้นหาการศึกษาที่สุ่มให้ผู้สูงอายุเข้ากลุ่มต่าง ๆ เพื่อใช้การติดต่อทางวิดีโอ วิธีการติดต่อรูปแบบอื่นๆ หรือไม่มีวิธีพิเศษ (การดูแลตามปกติ) โดยมีจุดประสงค์ในการตรวจสอบผลลัพธ์ต่อความรู้สึกเหงาหรือการแยกตัวทางสังคม สำหรับการทบทวนวรรณกรรมของเรา เรานิยามว่าผู้สูงอายุคือคนที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า เรานิยามการติดต่อทางวิดีโอว่าเป็นการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน

COVID-19 กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องตอบคำถามนี้ให้เร็วที่สุด หมายความว่าเราได้ลดขั้นตอนบางอย่างของกระบวนการทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane ตามขั้นตอนปกติ ผู้ทบทวนบทความ 2 คนทำการตรวจสอบ 25% ของผลการสืบค้นวรรณกรรมที่นำมาใช้ในการทบทวน และผู้ทบทวน 1 คนทำการตรวจสอบส่วนที่เหลืออีก 75% ของผลลัพธ์ ซึ่งตามปกติการทบทวนวรรณกรรมจะใช้ผู้ทบทวนจำนวน 2 คนตรวจสอบผลการสืบค้นทั้งหมด ในทำนองเดียวกัน ผู้ทบทวนงานวิจัยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รวบรวมข้อมูล และประเมินคุณภาพการศึกษา และผูู้ทบทวนคนที่ 2 ทำการตรวจสอบผลการทำงานของผู้ทบทวนคนแรก

ผลการศึกษา

เรารวบรวมการศึกษา 3 เรื่อง ที่มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 201 คน ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาทั้ง 3 เรื่อง เกิดขึ้นในบ้านพักคนชราในไต้หวันระหว่างปี 2010 และ 2020 และเปรียบเทียบการโทรผ่านวิดีโอกับการดูแลตามปกติ

หลักฐานจากการศึกษาทั้ง 3 เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการติดต่อทางวิดีโอมีผลต่อความเหงาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีหลังจากติดตามประเมินผลที่ 3, 6 หรือ 12 เดือน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอาการของภาวะซึมเศร้าหลังจากติดตามประเมินผลที่ 3 หรือ 6 เดือน แม้ว่าหลังจาก 1 ปี ผู้สูงอายุที่ใช้การติดต่อทางวิดีโออาจมีอาการซึมเศร้าลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับการดูแลตามปกติ ในทำนองเดียวกันการติดต่อทางวิดีโออาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ความเชื่อมั่น (ความมั่นใจ) ในหลักฐานที่นำมาทบทวนมี จำกัด เนื่องจากเราพบว่ามีงานวิจัยจำนวนน้อย ที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนน้อย และใช้ระเบียบวิธีการวิจัยที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ หรือไม่ได้อธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดอยู่ในบ้านพักคนชรา ดังนั้นการค้นพบของเราอาจไม่สามารถนำไปใช้กับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานที่อื่น ๆ เช่นบ้านของพวกเขาเอง นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมวิจัยบางคนอาจไม่รู้สึกเหงาหรือแยกตัวจากสังคม

บทสรุป

จากหลักฐานปัจจุบัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าการติดต่อทางวิดีโอจะช่วยลดความรู้สึกเหงาในผู้สูงอายุได้หรือไม่ เราต้องการการศึกษาเพิ่มเติมที่ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยที่เข้มงวดเพื่อตรวจสอบคำถามนี้และมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่รู้สึกเหงาหรือแยกตัวทางสังคม

เวลาที่สืบค้น

การทบทวนนี้รวมถึงหลักฐานที่เผยแพร่จนถึง 7 เมษายน 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากการทบทวนครั้งนี้หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับประสิทธิผลของวิธีการติดต่อทางวิดีโอเพื่อลดความรู้สึกเหงาในผู้สูงอายุ การทบทวนวรรณกรรมนี้ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานหลักฐานของประสิทธิผลของการติดต่อทางวิดีโอเพื่อแก้ไขปัญหาการแยกตัวทางสังคมในผู้สูงอายุ หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของการติดต่อทางวิดีโอสำหรับผลลัพธ์ของอาการซึมเศร้ามีความไม่แน่นอนอย่างมาก

การวิจัยในอนาคตในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ระเบียบวิธีการวิจัยที่เข้มงวดมากขึ้นและมีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีความหลากหลายเพื่อให้มีความสามารถเป็นตัวแทนของประชากรได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาในอนาคตควรกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้สูงอายุที่มีความรู้สึกเหงาหรือแยกตัวทางสังคมหรือทั้งสองอย่างในบริบทต่างๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะว่าการติดต่อทางวิดีโอนั้นมีประสิทธิผลในประชากรที่มีความต้องการแก้ไขปัญหาในผลลัพธ์เหล่านี้หรือไม่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในปัจจุบันได้รับการระบุว่าเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้ความรู้สึกเหงาและการแยกตัวทางสังคมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุุเนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางที่หลายประเทศได้กำหนดไว้ ความรู้สึกเหงาและการแยกตัวทางสังคมถูกระบุอย่างสอดคล้องกันว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาทางกายในผู้สูงอายุ การติดต่อทางวิดีโออาจช่วยให้ผู้สูงอายุคงการติดต่อสื่อสารในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยการขยายวงทางสังคมของผู้เข้าร่วมวิจัยหรือโดยการเพิ่มความถี่ในการติดต่อกับคนรู้จักที่มีอยู่

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลักของการทบทวนวรรณกรรมอย่างรวดเร็วนี้คือการประเมินประสิทธิผลของการติดต่อทางวิดีโอเพื่อลดการแยกตัวทางสังคมและความรู้สึกเหงาในผู้สูงอายุ การทบทวนวรรณกรรมนี้ยังพยายามที่จะประเมินประสิทธิผลของการติดต่อทางวิดีโอในการลดอาการซึมเศร้าและเพิ่มคุณภาพชีวิต

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจากฐานข้อมูล CENTRAL, MEDLINE, PsycINFO และ CINAHL ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2004 ถึง 7 เมษายน 2020 เรายังสืบค้นเอกสารอ้างอิงของการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) และงานวิจัยแบบ Quasi-RCTs (รวมถึง รูปแบบการทดลองแบบ cluster) เราคัดการศึกษารูปแบบอื่นออกทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาต้องมีอายุเฉลี่ยอย่างน้อย 65 ปี เรารวมการศึกษาที่รวมผู้เข้าร่วมวิจัยไม่ว่าในการวัดก่อนการทดลองผู้สูงอายุกำลังมีประสบการณ์มีความรู้สึกเหงาหรือการแยกตัวทางสังคมหรือไม่ เกณฑ์การคัดเข้าในการศึกษาคือ งานวิจัยทุกเรื่องที่มีองค์ประกอบหลักในการทดลองเกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกในการโทรผ่านวิดีโอหรือการประชุมทางวิดีโอผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตด้วยวัตถุประสงค์ที่จะลดความรู้สึกเหงาหรือการแยกตัวทางสังคมหรือทั้งสองอย่างในผู้สูงอายุ ในการทบทวนวรรณกรรมนี้เรารวมการศึกษา ที่มีรายงานการรายงานด้วยตนเองถึงความรู้สึกเหงา การแยกตัวทางสังคม อาการซึมเศร้าหรือคุณภาพชีวิต

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดกรอง 25% ของบทคัดย่อทั้งหมด หากมีข้อขัดแย้งจะใช้ผู้ทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 ตัดสิน มีผู้ทบทวนวรรณกรรมคนเดียวคัดกรองบทคัดย่อที่เหลือ ผู้ทบทวนวรรณกรรมคนที่ 2 คัดกรองบทคัดย่อที่คัดออกทั้งหมดและตัดสินข้อขัดแย้งด้วยฉันทามติหรือโดยผู้ทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 เราทำตามกระบวนการเดียวกันสำหรับบทความฉบับเต็ม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 1 คนคัดลอกข้อมูล โดยมีผู้ทบทวนอีกคนทำหน้าที่ตรวจสอบ ผลลัพธ์หลักคือความรู้สึกเหงาและการแยกตัวทางสังคม และผลลัพธ์รอง ได้แก่ อาการซึมเศร้าและคุณภาพชีวิต ผู้ทบทวนวรรณกรรม 1 คนประเมินระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลัก ตามแนวทาง GRADE และผู้ทบทวนวรรณรรมอีกคนทำการตรวจสอบผลการประเมินดังกล่าว เราดำเนินการวิเคราะห์ fixed-effect meta-analysis สำหรับผลลัพธ์หลักคือความรู้สึกเหงา และผลลัพธ์รองคืออาการของภาวะซึมเศร้า

ผลการวิจัย: 

เราพบ cluster quasi-randomised trials จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 201 คน เกณฑ์การคัดเข้าคือการวิจัยที่เปรียบเทียบวิธีการติดต่อทางวิดีโอกับการดูแลตามปกติในบ้านพักคนชรา การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินการวิจัยในช่วงการระบาดของ COVID-19

การศึกษาแต่ละเรื่องประเมินความรู้สึกเหงาโดยใช้ เครื่องมือประเมินความรู้สึกเหงา UCLA คะแนนรวมอยู่ในช่วงตั้งแต่ 20 (รู้สึกเหงาน้อยที่สุด) ถึง 80 (รู้สึกเหงามากที่สุด) หลักฐานมีความเชื่อถือได้อยู่ในระดับน้อยมาก และแสดงให้เห็นว่าการติดต่อทางวิดีโออาจมีผลต่อความแตกต่างในคะแนนความรู้สึกเหงา UCLA น้อยมากหรือไม่มีความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลปกติเมื่อประเมินผลลัพธ์ที่ 3 เดือน (mean difference (MD) −0.44, ช่วงเชื่อมั่น 95% (CI) -3.28 2.41; จากการศึกษา 3 เรื่อง, มีผู้เข้าร่วมวิจัย 201 คน, การประเมินผลที่ 6 เดือน (MD −0.34, 95% CI −3.41 ถึง 2.72; การศึกษา 2 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 152 คน) และการประเมินผลที่ 12 เดือน (MD −2.40, 95% CI −7.20 ถึง 2.40; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 90 คน) เราปรับลดความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ลง เนื่องจากงานวิจัยมีข้อจำกัด การวัดผลไม่มีความแม่นยำ และ indirectness

ไม่มีงานวิจัยใดที่นำมาทบทวนในการทบทวนวรรณกรรมฉบับนี้รายงานผลลัพธ์ด้านการแยกตัวทางสังคม

การศึกษาแต่ละเรื่องวัดอาการของภาวะซึมเศร้าโดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้าสำหรับผู้สูงอายุ (Geriatric Depression Scale) คะแนนรวมของภาวะซึมเศร้าอยู่ในช่วงตั้งแต่ 0 (ดีมาก) ถึง 30 (แย่ที่สุด) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่าการติดต่อทางวิดีโออาจมีผลต่อความแตกต่างในคะแนนความรู้สึกเหงา UCLA น้อยมากหรือไม่มีความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลปกติในการประเมินผล ที่ 3 เดือน (MD −0.41, 95% CI) -0.90- 1.72; การศึกษา 3 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 201 คน) การประเมินผลที่ 6 เดือน (MD −0.83, 95% CI −2.43 ถึง 0.76; การศึกษา 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 152 คน) หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการติดต่อทางวิดีโออาจมีผลเพียงเล็กน้อยต่ออาการของภาวะซึมเศร้า ในการติดตามประเมินผลที่ 1 ปี แม้ว่าการค้นพบนี้จะไม่แม่นยำ (MD-2.04, 95% CI −3.98 ถึง −0.10; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 90 คน) เราปรับลดความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ลง เนื่องจากงานวิจัยมีข้อจำกัด การวัดผลไม่มีความแม่นยำ และ indirectness

มีการศึกษา 1 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัย 62 คน ที่รายงานคุณภาพชีวิต การศึกษาวัดคุณภาพชีวิตโดยใช้เครื่องมือที่ปรับปรุงมาจากแบบสำรวจคุณภาพชีวิต 36 คำถามแบบสั้น (SF-36) ของไต้หวันซึ่งประกอบด้วย 8 subscales ที่วัดคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน: การทำงานทางร่างกาย; บทบาทที่จำกัดอันเนื่องจากการเจ็บป่วยทางกาย; บทบาทที่จำกัดอันเนื่องจากปัญหาทางอารมณ์; การทำหน้าที่ทางสังคม; ความเจ็บปวด: ความมีชีวิตชีวา; สุขภาพจิต; และสุขภาพกาย คะแนนย่อยแต่ละด้าน เริ่มจาก 0 (สุขภาพไม่ดี) ถึง 100 (สุขภาพดี) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่าอาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่าง ระหว่างกลุ่มควบคุมผู้ที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับการดูแลตามปกติและกลุ่มทดลองผู้ที่ได้รับการติดต่อทางวิดีโอใน การประเมินผลหลังการทดลอง ที่ 3 เดือน ในผลลัพธ์ด้าน การทำงานของร่างกาย (MD 2.88, 95% CI −5.01 ถึง 10.77), บทบาทที่จำกัดจากการสภาพทางกาย (MD −7.66, 95% CI −24.08 ถึง 8.76), บทบาทที่จำกัดจากปัญหาทางอารมณ์ (MD −7.18, 95% CI −16.23 ถึง 1.87), หน้าที่ทางสังคม (MD 2.77, 95% CI −8.87 ถึง 14.41), คะแนนความเจ็บปวด (MD −3.25, 95% CI −15.11 ถึง 8.61), คะแนนความมีชีวิตชีวา (MD −3.60, 95% CI −9.01 ถึง 1.81), สุขภาพจิต (MD 9.19, 95% CI 0.36 ถึง 18.02) และสุขภาพทางกาย (MD 5.16, 95% CI −2.48 ถึง 12.80) เราปรับลดความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ลง เนื่องจากงานวิจัยมีข้อจำกัด การวัดผลไม่มีความแม่นยำ และ indirectness

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13 เมษายน 2021

Tools
Information