โปรแกรมการลดความเครียดโดยใช้การเจริญสติสำหรับผู้ดูแลสมาชิกครอบครัวที่มีภาวะสมองเสื่อม

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การลดความเครียดจากการใช้การเจริญสติเป็นฐาน (MBSR) ในการลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีประสิทธิผลเพียงใด

ความเป็นมา

ภาวะสมองเสื่อมได้กลายเป็นภาระสาธารณสุขทั่วโลก การดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมส่งผลต่อการมีภาวะเครียดมาก ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลมากกว่าประชากรทั่วไป การลดความเครียดโดยอาศัยการเจริญสติเป็นฐานเป็นการบำบัดที่มีแนวโน้มว่าน่าจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมว่า MBSR สามารถช่วยเหลือผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

เราสืบค้นหาหลักฐานจนถึงเดือนกันยายน 2017 และพบการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 5 รายการ (การทดลองทางคลินิกที่สุ่มให้คนเข้าร่วมกลุ่มการรักษา 1 ใน 2 กลุ่มขึ้นไป) โดยเปรียบเทียบ MBSR กับกิจกรรมอื่นๆ ที่หลากหลาย เรารายงานผลลัพธ์ของโปรแกรม MBSR เมื่อเปรียบเทียบกับการควบคุมแบบ active (กลุ่มควบคุมที่ได้รับการทำกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับความสนใจในปริมาณที่ใกล้เคียงกับกลุ่ม MBSR เช่น การสนับสนุนทางสังคมหรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบก้าวหน้า) หรือการควบคุมแบบ inactive (กลุ่มควบคุมที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับความสนใจน้อยกว่า ที่อยู่ในกลุ่ม MBSR เช่น การศึกษาด้วยตนเอง)

ผลการศึกษาที่สำคัญ

เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 5 รายการ ซึ่งมีผู้ดูแลเข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งหมด 201 คน ผลการศึกษาจากการศึกษา 3 รายการ (ผู้ดูแลจำนวน 135 คน) แสดงให้เห็นว่าผู้ดูแลที่ได้รับ MBSR อาจมีอาการซึมเศร้าในระดับที่ลดลงเมื่อสิ้นสุดการรักษามากกว่าผู้ที่ได้รับการรักษาในกลุ่มควบคุมเชิงรุกแบบ active อย่างไรก็ตาม เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลต่อภาวะซึมเศร้า เมื่อเปรียบเทียบ MBSR กับการรักษากลุ่มควบคุมแบบ inactive การลดความเครียดโดยใช้การเจริญสติเป็นฐานอาจทำให้อาการวิตกกังวลของผู้ดูแลลดลงเมื่อสิ้นสุดการทดลอง การลดความเครียดโดยใช้การเจริญสติเป็นฐานอาจเพิ่มความรู้สึกเป็นภาระของผู้ดูแลเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ต่อความวิตกกังวลและความรู้สึกเป็นภาระมีความไม่แน่นอนมาก เราไม่สามารถสรุปผลเกี่ยวกับวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ดูแลและความเสี่ยงที่จะออกจากการทดลองก่อนกำหนดเนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก

ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลหรือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม หรืออัตราการที่ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องเข้ารับการรักษาในบ้านพักคนชราหรือโรงพยาบาล

มีเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยพบว่ามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เล็กน้อย (อาการตึงที่คอในผู้เข้าร่วมฝึกโยคะที่บ้าน 1 ราย)

คุณภาพของหลักฐาน

เราถือว่าคุณภาพของหลักฐานต่ำหรือต่ำมาก สาเหตุหลักมาจากการศึกษาที่มีขนาดเล็กและวิธีการออกแบบหรือดำเนินการวิจัยทำให้มีความเสี่ยงที่จะให้ผลลัพธ์ที่มีอคติ ดังนั้นเราจึงมีความมั่นใจในผลลัพธ์ที่จำกัด

บทสรุป

โดยสรุป การทบทวนนี้ให้หลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับผลของ MBSR ในการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพดีมากกว่านี้ก่อนที่เราจะสามารถยืนยันได้ว่า MBSR มีประโยชน์ต่อผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลังจากพิจารณาผลการศึกษาที่ไม่เฉพาะเจาะจงของกิจกรรมการทดลอง (เช่น เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมแบบ active) หลักฐานคุณภาพต่ำชี้ให้เห็นว่า MBSR อาจลดอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลของผู้ดูแลได้ อย่างน้อยก็ในการประเมินผลระยะสั้น

มีข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับหลักฐานเกี่ยวกับ MBSR ในประชากรกลุ่มนี้ คุณภาพของหลักฐานตามเกณฑ์ GRADE อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก เราปรับลดคุณภาพของหลักฐานหลักเนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในประเด็นด้านการดำเนินการวิจัยและความไม่แม่นยำ

โดยสรุป MBSR มีศักยภาพที่จะตอบสนองความต้องการที่สำคัญบางประการของผู้ดูแล แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงในเรื่องนี้เพื่อยืนยันประสิทธิภาพ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับว่าผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจมากขึ้น รูปแบบการดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีข้อจำกัดต่อการประสบความสำเร็จในการลดความเครียดในผู้ดูแลของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม การลดความเครียดโดยใช้การเจริญสติ (MBSR) ใช้แนวทางปฏิบัติที่หลากหลายและอาจเป็นวิธีที่มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของ MBSR ในการลดความเครียดของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา ALOIS - the Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group's Specialized Register, the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (ทุกปี ถึง Issue 9 of 12, 2017), MEDLINE (Ovid SP 1950 ถึง กันยายน 2017), Embase (Ovid SP 1974 ถึง กันยายน 2017), Web of Science (ISI Web of Science 1945 ถึงกันยายน 2017), PsycINFO (Ovid SP 1806 ถึงกันยายน 2017), CINAHL (่ที่มีอยู่ทั้งหมดจนถึงเดือน กันยายน 2017), LILACS (ที่มีอยู่ทั้งหมดจนถึงกันยายน 2017), World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP), ClinicalTrials.gov และ Dissertation Abstracts International (DAI) จนถึงวันที่ 6 กันยายน 2017 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ของ MBSR สำหรับผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดกรองเอกสาร ตามเกณฑ์การคัดเข้า ดึงข้อมูล ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยใช้เครื่องมือ GRADE อย่างเป็นอิสระ เราติดต่อผู้ทำการศึกษาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์เมตต้าหรือรายงานผลแบบบรรยายในกรณีที่ข้อมูลไม่เพียงพอ เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานตามที่ Cochrane กำหนด

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 5 รายการ ที่ประเมินประสิทธิผลของ MBSR มีผู้ดูแลเข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 201 คน กลุ่มควบคุมที่ใช้ในการศึกษาที่รวบรวมมานั้นแตกต่างกันไปตามโครงสร้างและเนื้อหา โปรแกรมลดความเครียดโดยใช้การเจริญสติถูกนำมาเปรียบเทียบกับ active control group (ที่มีการจับคู่ให้ใกล้เคียงกับ MBSR เช่น เวลา การให้ศึกษา การสนับสนุนทางสังคม หรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบก้าวหน้า) หรือ inactive control group (ซึ่งไม่มีการจับคู่ให้ใกล้เคียงกับ MBSR เช่น เวลา การศึกษาด้วยตนเอง หรือการดูแลระยะสุดท้าย) การทดลอง 1 รายการ ใช้การเปรียบเทียบทั้งแบบ active และ inactive กับ MBSR การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงที่จะมีอคติในแง่ของการปกปิดการประเมินผลลัพธ์ การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกรายงานผลการวิจัย ข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ หรือการปกปิดการจัดสรรเข้ากลุ่มการวิจัย

1. เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม active control group, MBSR อาจลดอาการซึมเศร้าของผู้ดูแลเมื่อสิ้นสุดการทดลอง (การทดลอง 3 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 135 คน; ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) -0.63, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.98 ถึง -0.28; P<0.001; หลักฐานคุณภาพต่ำ) เราไม่แน่ใจถึงผลกระทบใดๆ ต่ออาการซึมเศร้าที่มีนัยสำคัญทางคลินิก (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การลดความเครียดโดยใช้สติเป็นฐานเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมแบบ active อาจลดความวิตกกังวลของผู้ดูแลเมื่อสิ้นสุดการทดลอง (การทดลอง 1 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 78 คน; ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) -7.50, 95% CI -13.11 ถึง -1.89; P<0.001; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และอาจเพิ่มภาระผู้ดูแลเล็กน้อย (การทดลอง 3 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 135 คน; SMD 0.24, 95% CI -0.11 ถึง 0.58; P=0.18; หลักฐานคุณภาพต่ำ) แม้ว่าผลลัพธ์ทั้งสองจะไม่แม่นยำ และเราไม่สามารถระบุว่ามีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผล เนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก เราจึงไม่สามารถแน่ใจได้ว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อรูปแบบการเผชิญปัญหาของผู้ดูแล และเราไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ดูแลมีแนวโน้มที่จะออกจากการทดลองมากหรือน้อย

2. เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม inactive control grop, MBSR ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีผลต่ออาการซึมเศร้า (การทดลอง 2 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 50 คน; MD -1.97, 95% CI -6.89 ถึง 2.95; P=0.43; หลักฐานคุณภาพต่ำ) เราไม่แน่ใจถึงผลกระทบใดๆ ต่ออาการซึมเศร้าที่มีนัยสำคัญทางคลินิก (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

ในการเปรียบเทียบนี้ MBSR อาจช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ดูแลเมื่อประเมินหลังสิ้นสุดการทดลองทันที (การทดลอง 1 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 33 คน; MD -7.27, 95% CI -14.92 ถึง 0.38; P=0.06; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และเราไม่สามารถระบุว่ามีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผล เนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก เราจึงไม่สามารถแน่ใจได้ว่า MBSR มีผลกระทบใดๆ ต่อภาระผู้ดูแล การใช้วิธีการเผชิญปัญหาเชิงบวก หรืออัตราการออกจากการเข้าร่วมวิจัยกลางคัน

เราไม่พบการศึกษาที่ศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลหรือผู้รับการดูแล หรือต่อสถาบัน

มีเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยสังเกตเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพียงเหตุการณ์เดียวที่เกี่ยวข้องกับการฝึกโยคะที่บ้าน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะ พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information