การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนสำหรับอาการวัยหมดประจำเดือนในสตรีที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดสำหรับมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว

ประเด็นสำคัญ
มะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว (Epithelial ovarian cancer; EOC) พัฒนาจากเยื่อบุผิวของรังไข่ มะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวพบได้เป็นอันดับที่แปด และพบว่าเป็นสาเหตุของการตายอันดับที่จ็ด ของมะเร็งสตรีทั่วโลก การรักษาโดยการผ่าตัดในมะเร็งรังไข่เยื่อบุ คือ การตัดก้อนเนื้องอกในช่องท้องออกให้หมด ซึ่งหมายรวมถึง รังไข่ทั้งสองข้าง มดลูก แผ่นไขมันช่องท้อง และเยื่อบุช่องท้อง หรือ ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ สตรีที่อยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือนก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดและกลายเป็นวัยหมดประจำเดือนหลังได้รับการผ่าตัด นี่อาจเป็นผลเสียต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากมีอาการ เช่น ออกร้อน อารม์เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมทางเพศ ช่องคลอดแห้งแและมวลกระดูกลดลง ประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่ของสตรีกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสตรีที่อายุน้อย จะมาด้วยเป็นมะเร็งระยะต้นและจะได้รับผลกระทบของการเป็นวัยหมดประจำเดือนจากการผ่าตัด ในส่วนของสตรีที่เป็นโรคระยะลุกลาม คุณภาพชีวิตคือปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง เพราะโดยตัวโรคจะเป็นตัวกำหนดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่

การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจมีผลดีต่ออาการของวัยหมดประจำเดือน แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ความกังวลนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับมะเร็ง แต่เกี่ยวกับโรคหัวใจ และต้องประเมินเปรียบเทียบระหว่างข้อดีและข้อเสียของการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่เข้าสู่วันหมดประจำเดือนเร็ว ในช่วง สองสามปีที่ผ่านมา ความปลอดภัยของการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนยังมีข้อกังขาอยู่บ้างและแพทย์บางคนยังรู้สึกว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นข้อห้ามในสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจากการผ่าตัด

วัตถุประสงค์ของการทบทวน
เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุ

ผลการค้นพบหลักคืออะไรบ้าง
คณะผู้วิจัยสืบค้นหลักฐานเรื่องของประโยชน์และผลเสียของการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุ จนถึงเดือนมิถุนายน 2019 พบว่ามีการศึกษาสามเรื่อง รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 350 ราย ผู้วิจัยพบว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน อาจเพิ่มการอยู่รอดโดยรวมและอาจมีผลกระทบน้อยหรือไม่มีผลต่อการอยู่รอดโดยปราศจากโรค ผู้วิจัยไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิต, อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านม, สมองขาดเลือดชั่วคราว (หรือที่เรียกว่า 'mini stroke' ), โรคสมองและหลอดเลือด (โรคหลอดเลือดสมอง) และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (โรคหัวใจเฉียบพลัน), จากความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ต่ำมาก ไม่มีการรายงานอุบัติการณ์ของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

คุณภาพของหลักฐาน
ความน่าเชื่อถือของหลักฐานพบว่าต่ำและต่ำมากในผลลัพธ์ต่างๆ ซึ่งหลักๆ เป็นผลจากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่น้อยและการรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ที่น้อย ความเชื่อมั่นของหลักฐานลดลงเนื่องจากการศึกษาที่รวบรวมเข้ามามีความเสี่ยงของอคติที่สูง นั่นหมายความว่าผลการศึกษาอาจจะสูงเกินความเป็นจริงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงได้

อะไรคือข้อสรุป
การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจเพิ่มการอยู่รอดโดยรวมในสตรีที่มีประวัติการผ่าตัดรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวแล้วทำให้เกิดการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจมีผลกระทบเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อการอยู่รอดโดยที่อาการโรคไม่ได้แย่ลง โดยรวมแล้วพบว่าความเชื่อมั่นโดยรวมของผลการศึกษาเหล่านี้ต่ำถึงต่ำมาก นั่นเป็นเพราะข้อมูลที่มีไม่เพียงพอ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญในการวิจัยในอนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อสตรีจำนวนมาก

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน อาจเพิ่มการมีชีวิตชีวิตรอดโดยรวมได้เล็กน้อยในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว แต่ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน อาจทำให้เกิดความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่เกิดความแตกต่างในเรื่องคุณภาพชีวิต, อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม,สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA), โรคสมองและหลอดเลือด (CVA) และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (MI) ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมาก การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน อาจจะมีผลเล็กน้อย หรือ ไม่มีผลต่อการมีชีวิตรอดโดยปราศจากโรค หลักฐานในการทบทวนวรรณกรรมนี้ยังมีข้อจำกัดในความไม่แน่ชัดและความหละหลวมของการรายงานผลและด้วยเหตุนั้นจึงควรต้องแปลผลความด้วยความระมัดระวัง ในอนาคต RCTs ยังคงจำเป็นและมีความสำคัญในสตรีที่มีอาการของภาวะวัยหมดประจำเดือนตามมาหลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว โดนเฉพาะแพทย์ที่ลังเลที่จะทำการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ หลักฐานในการทบทวนวรรณกรรมนี้มีข้อจำกัดหลายอย่างที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนมีผลเสียอย่างมากในสตรีกลุ่มนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

สตรีที่ได้รับการผ่าตัดรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวอาจมีอาการของวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นผลจากการหยุดทำงานโดยทันทีของรังไข่จากการผ่าตัดและการได้รับยาเคมีบำบัด สตรีอาจมีอาการของกลุ่มอาการ vasomotor symptoms ปัญหาเรื่องการนอน หงุดหงิดง่าย การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาการทางช่องคลอดและกระดูพรุน แม้ว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผล เพื่อลดอาการต่างๆ แต่ความปลอดภัยของการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนยังมีข้อคำถามในสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุ

วิธีการสืบค้น: 

ผู้ทำวิจัยได้สืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2019, Issue 6), MEDLINE via Ovid (1946 ถึง 12 มิถุนายน 2019) และ Embase via Ovid (1980 ถึง 2019, week 23) ผู้ทำวิจัยยังมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานการประชุมและการทดลอง ไม่จำกัดเรื่องภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้ทำวิจัย randomized controlled trials (RCTs) และมีผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มอายุต่างๆ และอยู่ในภาวะหมดประจำเดือนที่ได้รับการผ่าตัดรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว และหลังจากวินิจฉัยและรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทนในรูปแบบและระยะความยาวนานที่แตกต่างกัน เปรียบเทียบกับการที่ไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาอื่นที่ไม่ใช้ฮอร์โมน ผู้ทำวิจัยยังได้รวบรวมการทดลองเปรียบเทียบความแตกต่างของการรักษาแต่ละแบบ และระยะเวลาในการรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนสองคนใช้เกณฑ์การคัดเลือก และดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผู้ทบทวนสองคนใช้ Covidence เพื่อดึงลักษณะการศึกษา ข้อมูลผลการศึกษาและเพื่อประเมินเกี่ยวกับคุณภาพระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาที่รวบรวมมา

ผลการวิจัย: 

ด้วยวิธีการสืบค้นดังกล่าวสามารถรวบรวมได้ทั้งหมด 2617 เรื่อง และถูกคัดออกไป 2614 เรื่อง การศึกษาสามเรื่อง รวมสตรีทั้งสิ้น 350 คน การศึกษาสองเรื่องที่รวบรวม ประกอบด้วยสตรีที่ยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและเข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน และอีกการศึกษาประกอบด้วยสตรที่เข้าสูวัยหมดประจำเดือนแล้ว อายุเฉลี่ยโดยรวมของสตรีอยู่ในช่วง 20 ถึง 89.6 ปี และมีค่ามัธยฐานขอการติดตามการรักษา อยู่ในช่วง 31.4 เดือน ถึง 19.1 ปี การกระจายทางภูมิศาสตร์ของผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ยุโรป อเมริกาใต้และจีน ทุกระยะและลักษณะทางพยาธิทุกแบบ รวมอยู่ในการศึกษาสองเรื่อง แต่ระยะที่สี่ ถูกตัดออกจากาารศึกษาที่สาม สามการศึกษาที่ถูกรวบรวม ใช้รูปแบบการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (conjugated oestrogen with or without medroxyprogesterone and with or without nylestriol) และการบริหารฮอร์โมนทดแทน (oral, patch and implant) ที่แตกต่างกัน ในทุกการศึกษาทำการเปรีบเทียบกับสตรีที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน

การศึกษาอยู่ในระดับต่ำหรือไม่มีความชัดเจนในเรื่องความเสี่ยงของการมีอคติในการเลือกและการรายงานผล และมีความเสี่ยงสูงของอคติจากความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับการดูแลระหว่างการทำวิจัย อคติจากการประเมินผล และอคติจากการขาดหายไปของกลุ่มตัวอย่าง มีหลักฐานบางอย่างที่ยังต่ำในเรื่องการรอดชีวิตโดยรวมและการมีชีวิตอยู่โดยปลอดโรค และมีหลักฐานต่ำมากสำหรับเรื่องการประเมินคุณภาพชีวิต อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม, สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA), โรคสมองและหลอดเลือด (CVA) และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (MI)

การวิเคราะห์อภิมานการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนสามารถทำให้การรอดชีวิตโดยรวมดีขึ้น (hazard ratio (HR) 0.71, 95% confidence interval (CI) 0.54 ถึง 0.93; ผู้เข้าร่วม 350 คน, การศึกษา 3 เรื่อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) การประเมินคุณภาพชีวิตใช้แบบสอบถามของ EORTC-C30 ซึ่งใช้ในการศึกษาหนึ่งเรื่อง ผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือลดลงเนื่องจากความน่าเชื่อถือของหลักฐานต่ำมาก (mean difference (MD) 13.67 points higher, 95% CI 9.26 higher ถึง 18.08 higher; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 75 คน; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) ในทำนองเดียวกัน การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน อาจทำให้เกิดความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่เกิดความแตกต่างในเรื่องการมีชีวิตโดยปราศจากโรค (HR 0.76, 95% CI 0.57 ถึง 1.01; ผู้เข้าร่วม 275 คน, การศึกษา 2 เรื่อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่า การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ของอุบัติการณ์มะเร็งเต้านม (risk ratio (RR) 2.00, 95% CI 0.19 ถึง 21.59; ผู้เข้าร่วม 225 คน , การศึกษา 2 เรื่อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); สมองขาดเลือดชั่วคราว (RR 5.00, 95% CI 0.24 ถึง 102.42; ผู้เข้า 150 คน, การศึกษา 1 เรื่อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); โรคสมองและหลอดเลือด (RR 0.67, 95% CI 0.11 ถึง 3.88; ผู้เข้าร่วม 150 คน , การศึกษา 1 เรื่อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (RR 0.20, 95% CI 0.01 ถึง 4.10; ผู้เข้าร่วม 150 คน, การศึกษา 1 เรื่อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) อุบัติการณ์นิ่วในถุงน้ำดียังไม่มีการรายงานในการศึกษาที่รวบรวมเข้ามา

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ. วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2020

Tools
Information