การตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถช่วยผู้ที่เป็นโรคหอบหืดได้หรือไม่

ความเป็นมา

โรคหอบหืดเป็นโรคระยะยาวที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และเด็ก ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมักจะหายใจมีเสียงหวีด ไอ และหายใจลำบาก การตัดสินใจร่วมกัน หมายถึง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับบุคคลที่เป็นโรคหอบหืดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลของพวกเขา โดยปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยและแพทย์หรือพยาบาลของเขาหรือเธอและคุณลักษณะหลัก รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดสามารถตัดสินใจได้ดีที่สุดสำหรับตนเอง การเข้าร่วมบุคคลที่เป็นโรคหอบหืดในกระบวนการตัดสินใจ โดยหวังว่าโรคหอบหืดจะควบคุมได้ดีขึ้นและจะทำให้เกิดปัญหาน้อยลง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราต้องการทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับการตัดสินใจร่วมกันสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด เปรียบเทียบกับการดูแลโรคหอบหืดแบบมาตรฐาน หรือวิธีตัดสินใจด้านการดูแลสุขภาพที่ต่างออกไป เราต้องการทราบว่าการตัดสินใจร่วมกันมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หอบหืดเฉียบพลัน ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการดูแล การควบคุมโรคหอบหืด การปฏิบัติตามแผนการใช้ยา และผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

เราทบทวนหลักฐานจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2016 เราพบการศึกษา 4 เรื่องที่พยายามตอบคำถามนี้ ซึ่งรวมผู้เข้าร่วมโครงการ 1342 คน ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดเป็นโรคหอบหืด ผู้เข้าร่วมการศึกษา 3 เรื่องเป็นเด็กและการศึกษาอีก 1 เรื่องเป็นผู้ใหญ่ มีการศึกษา 3 เรื่องดำเนินการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและอีก 1 เรื่องในเนเธอร์แลนด์ การศึกษาต่างๆ ใช้วิธีการต่างๆ ในการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการสนทนาแบบตัวต่อตัว การโทรศัพท์ และข้อความออนไลน์

ผลลัพธ์สำคัญ

เนื่องจากการศึกษาเหล่านี้ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เราจึงไม่สามารถรวมสิ่งที่ค้นพบได้ เราพบหลักฐานจากการศึกษาแต่ละเรื่องที่ระบุว่าการตัดสินใจร่วมกันอาจปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการควบคุมโรคหอบหืด และอาจลดการเข้ารับการตรวจสุขภาพสำหรับโรคหอบหืด การตัดสินใจร่วมกันอาจช่วยให้ผู้คนใช้ยาสูดพ่นโรคหอบหืดเป็นประจำมากขึ้น อันเนื่องมาจากความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าทำไมพวกเขาถึงต้องทำอย่างนั้น การทำตามขั้นตอนนี้อาจทำให้ผู้คนรู้สึกพึงพอใจกับการดูแลมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาอาจรู้สึกมีอำนาจในการตัดสินใจเลือก อย่างไรก็ตาม การค้นพบทั้งหมดได้รายงานโดยการศึกษาที่แตกต่างกัน และบางการศึกษาพบว่ามีประโยชน์ในการตัดสินใจร่วมกัน ในขณะที่บางการศึกษาไม่พบ สิ่งสำคัญที่ต้องกล่าวถึง คือ ไม่มีการศึกษาใดที่ศึกษาว่าการตัดสินใจร่วมกันทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ การศึกษาทั้ง 4 เรื่องวัดว่าวิธีการที่ใช้การตัดสินใจร่วมกันนั้นได้ให้หรือได้รับดีเพียงใด แต่ได้ดำเนินการศึกษาในวิธีต่างกัน

คุณภาพของหลักฐาน

เราไม่มั่นใจในคุณภาพของหลักฐานที่นำเสนอในการทบทวนนี้มากนัก เรากังวลเกี่ยวกับการศึกษาที่มีจำนวนน้อยและความแตกต่างในวิธีการออกแบบการศึกษาที่รวบรวมนำเข้า นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังทราบดีว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มใด (เช่น การตัดสินใจร่วมกันหรือการดูแลตามมาตรฐาน) และอาจส่งผลต่อวิธีที่พวกเขาตอบคำถามเกี่ยวกับโรคหอบหืดในระหว่างการทดลอง

ประเด็นที่น่าสนใจ

หลักฐานบางอย่างชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจร่วมกันอาจช่วยผู้ที่เป็นโรคหอบหืด แต่เราไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่ ในอนาคต การศึกษาขนาดใหญ่ที่รวมวัยรุ่นด้วย ศึกษาผลข้างเคียง อันตราย และประโยชน์ ควรจะพิสูจน์ประโยชน์ในการตอบคำถามนี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ทั้ง 4 เรื่องบ่งชี้ว่าเราไม่สามารถให้ข้อสรุปโดยรวมที่มีความหมายได้ ในแต่ละการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์บางประการของ SDM มากกว่ากลุ่มควบคุมในแง่ของคุณภาพชีวิต ความพึงพอใจของผู้ป่วยและผู้ปกครอง การปฏิบัติตามการใช้ยาที่กำหนด ลดการเข้ารับการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด และควบคุมโรคหอบหืดได้ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของเราในผลการศึกษาของการศึกษาแต่ละเรื่องเหล่านี้มีตั้งแต่ปานกลางถึงต่ำมาก และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบว่าการศึกษาไม่ได้วัดหรือรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การทดลองต่อไปควรมีอำนาจในการศึกษาที่เหมาะสมและมีระยะเวลาเพียงพอในการตรวจหาความแตกต่างในผลลัพธ์ที่สำคัญของผู้ป่วย เช่น อาการกำเริบและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การใช้ผลลัพธ์หลักของโรคหอบหืดและการวัดมาตรฐานเมื่อสามารถทำได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์เมตต้าในอนาคต การศึกษาที่ดำเนินการในการพื้นที่ที่มีรายได้น้อยและเพิ่มการประเมินทางเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ผู้วิจัยควรบันทึกเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบ แม้ว่าจะไม่ได้คาดการณ์ไว้ก็ตาม การศึกษาที่ระบไดุ้จนถึงปัจจุบันนั้นยังไม่รวบรวมนำเข้าถึงวัยรุ่น การพิจารณาการทดลองในอนาคตควรพิจารณารวมไว้ด้วย แนะนำให้วัดและรายงานความถูกต้องของวิธีการที่ใช้ (intervention) อย่างเหมาะสม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหอบหืดเป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจ และพบได้บ่อยในผู้ใหญ่และเด็ก มีอาการต่างๆ ได้แก่ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และไอ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอาจได้รับการช่วยเหลือในการจัดการโรคของพวกเขาผ่านการตัดสินใจร่วมกัน (shared decision-making (SDM)) SDM เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 2 คน (แพทย์และผู้ป่วย) และการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งรวมถึงค่านิยมและความชอบของผู้ป่วยเพื่อสร้างฉันทามติเกี่ยวกับการรักษาที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน การดูแลตนเองที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและ SDM อาจปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิกและคุณภาพชีวิตโดยการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและเพิ่มศักยภาพให้พวกเขามีส่วนร่วมในสุขภาพของตนเอง

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจร่วมกันสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคหอบหืด

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นใน Cochrane Airways Trials Register ซึ่งมีการศึกษาที่ระบุในหลายแหล่งข้อมูล รวมทั้ง CENTRAL, MEDLINE และ Embase เรายังค้นหาในทะเบียนการทดลองทางคลินิกและตรวจสอบจากรายการเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่นำเข้า เราดำเนินการสืบค้นล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2016

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมนำเข้าการศึกษารูปแบบ individual randomised controlled design หรือ cluster parallel randomised controlled design ที่ดำเนินการเพื่อเปรียบเทียบวิธีการ SDM สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคหอบหืด เทียบกับกลุ่มควบคุม เรารวบรวมนำเข้าการศึกษาทั้งที่ตีพิมพ์รายงานฉบับเต็ม, ที่ตีพิมพ์เป็นบทคัดย่อเท่านั้น และข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่ และเราไม่ได้กำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่, วันที่ หรือภาษาที่เผยแพร่ เรารวบรวมนำเข้าวิธีการ (interventions) ที่มุ่งเป้าหมายไปยังบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ป่วย ครอบครัวหรือผู้ดูแล หรือทั้งสองกลุ่ม เรารวบรวมนำเข้าการศึกษาที่เปรียบเทียบวิธีการที่ใช้ (interventions) กับการดูแลปกติหรือ minimal control intervention และการศึกษาที่เปรียบเทียบวิธีการแบบ SDM กับ active intervention อื่นๆ เราไม่นำเข้าการศึกษาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง (multiple components) นอกเหนือจากวิธีการแบบ SDM เว้นแต่ว่ากลุ่มควบคุมจะได้รับวิธีการเหล่านี้ด้วย

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวน 2 คน คัดกรองการศึกษาที่ได้จากการสืบค้น, ดึงข้อมูลจากการศึกษาที่นำเข้า และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด ความพึงพอใจของผู้ป่วย/ผู้ปกครอง และความสม่ำเสมอในการใช้ยา ผลลัพธ์รอง ได้แก่ อาการกำเริบของโรคหอบหืด การควบคุมโรคหอบหืด การยอมรับ/ความเป็นไปได้จากมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหมด เราให้คะแนนและนำเสนอหลักฐานในตาราง 'Summary of findings'

เราไม่สามารถรวมข้อมูลผลลัพธ์ที่ดึงออกมาได้เนื่องจากความแตกต่างทางคลินิกและระเบียบวิธีวิจัย แต่นำเสนอข้อค้นพบใน florest plot เมื่อเป็นไปได้ เราใช้วิธีการบรรยายสำหรับข้อมูลที่มีการกระจายแบบเบ้

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมนำเข้าการศึกษา 4 เรื่องที่เปรียบเทียบ SDM กับกลุ่มควบคุม และรวบรวมผู้เข้าร่วมโครงการร่วมทั้งหมด 1342 คน การศึกษา 3 เรื่องคัดเลือกเด็กที่เป็นโรคหอบหืดและผู้ดูแล และการศึกษา 1 เรื่องคัดเลือกผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด มีการศึกษา 3 เรื่องดำเนินการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และอีก 1 เรื่องในเนเธอร์แลนด์ ระยะเวลาทดลองใช้งานอยู่ระหว่าง 6 ถึง 24 เดือน มี 1 การทดลองใช้วิธีการ SDM กับผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ และมี 3 การทดลอง ได้ใช้วิธีการ SDM กับผู้เข้าร่วมโครงการโดยตรง การศึกษาในเด็ก 2 เรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้พอร์ทัลออนไลน์ (online portal) ตามด้วยการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีการ SDM หรือ ใช้วิธีการเกี่ยวกับการตัดสินใจทางคลินิกผ่านการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวร่วมกับการโทรศัพท์ การศึกษาเรื่องสุดท้ายสุ่มแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในเด็กเพื่อรับโปรแกรมสัมมนาที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักการ SDM การทดลองทั้งหมดเป็นแบบ open-label แม้ว่าการศึกษา 1 เรื่องซึ่งให้สิ่งทดลองไปยังแพทย์ ระบุว่าผู้เข้าร่วมโครงการไม่ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของแพทย์ในการทดลอง เรามีข้อกังวลเกี่ยวกับอคติการคัดเลือกตัวอย่างและอคติของความไม่สมบูรณ์ของผลลัพธ์และอคติในการเลือกรายงาน และเราตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษา 1 เรื่องมีผู้เข้าร่วมโครงการที่ไม่ได้รับการคัดเลือกอย่างมาก การศึกษาทั้ง 4 เรื่องที่รวบรวมนำเข้าได้ใช้แนวทางต่างๆ ในการวัดความเที่ยงตรง/ความสม่ำเสมอในการใช้ intervention และเพื่อรายงานผลการศึกษา

การศึกษา 1 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดีรายงานว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (QOL) สำหรับกลุ่มที่ได้รับ SDM เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตโรคหอบหืด (AQLQ) สำหรับการประเมิน (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 1.90, ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% 1.24 ถึง 2.91) แต่การทดลองอื่นๆ อีก 2 ฉบับไม่ได้ระบุถึงประโยชน์ ความพึงพอใจของผู้ป่วย/ผู้ปกครองต่อประสิทธิภาพของกุมารแพทย์มีมากกว่าในกลุ่ม SDM ใน 1 การทดลองที่เกี่ยวข้องกับเด็ก การศึกษา 2 เรื่องมีความสม่ำเสมอในการรับประทานยาดีขึ้นในกลุ่ม SDM ซึ่งการศึกษา 1 เรื่องศึกษาในผู้ใหญ่และอีก 1 เรื่อง ศึกษาในเด็ก (ความสม่ำเสมอในการรับประทานยาทั้งหมด: MD 0.21, 95% CI 0.11 ถึง 0.31; จำนวนเฉลี่ยของใบสั่งยาควบคุมในช่วง 26 สัปดาห์: 1.1 ในกลุ่ม SDM (n = 26) และ 0.7 ในกลุ่มควบคุม (n = 27)) ในการศึกษา 1 เรื่อง อัตราการเข้ารับการตรวจที่เกี่ยวกับโรคหอบหืดในกลุ่ม SDM ต่ำกว่าในกลุ่มการดูแลปกติ (1.0/y vs 1.4/y; P = 0.016) แต่อีกการศึกษา 2 เรื่องไม่ได้รายงานความแตกต่างในการกำเริบหรือในใบสั่งยาสำหรับการใช้สเตียรอยด์ในช่องปากระยะสั้น สุดท้ายนี้ 1 การศึกษาอธิบายโอกาสที่ดีกว่าในการรายงานว่าไม่มีปัญหาโรคหอบหืดในกลุ่ม SDM มากกว่าในกลุ่มดูแลปกติ (odds ratio (OR) 1.90, 95% CI 1.26 ถึง 2.87) แม้ว่าการศึกษาอื่นอีก 2 เรื่องที่รายงานการควบคุมโรคหอบหืดไม่ได้ระบุถึงประโยชน์ด้วย SDM เราไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการยอมรับการแทรกแซงของบุคลากรทางการแพทย์ และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยรวมแล้ว ความเชื่อมั่นของเราในผลการศึกษามีตั้งแต่ระดับต่ำมากไปจนถึงปานกลาง และเราลดระดับผลลัพธ์ลงเนื่องจากความเสี่ยงของการมีอคติ ความไม่แม่นยำ และความไม่คล้ายคลึงกันของหลักฐานทางตรงระหว่างคู่เปรียบเทียบ (indirectness)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อ 13 กันยายน 2021

Tools
Information