การเติมน้ำเกลือเข้าไปในถุงน้ำคร่ำเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อภายในถุงน้ำคร่ำ

ประเด็นคืออะไร?

การติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำคือ การติดเชื้อของน้ำคร่ำและถุงที่หุ้มทารกที่อยู่ในมดลูก ซึ่งมักได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและตามด้วยการให้ทารกคลอด วิธีการรักษาอื่นเพิ่มเติมคือ การใส่น้ำเกลือเข้าไปในมดลูกซึ่งทำได้ทั้งผ่านเข็มทางหน้าท้องมารดาหรือผ่านทางสายสวนเข้าทางช่องคลอด ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้อาจมีประโยชน์ในการลดหรือเจือจางภาวะการติดเชื้อ

ทำไมจึงมีความสำคัญ

การติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงเช่น การติดเชื้อของทารกหรือมารดา วิธีการรักษาเพิ่มเติมอื่นๆที่มีประสิทธิภาพอาจเป็นประโยชน์

เราพบข้อมูลเชิงประจักษ์อะไรบ้าง

เราได้ค้นหาหลักฐานจนถึง 6 กรกฎาคม 2559 และพบการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) เพียงหนึ่งฉบับ (ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากสตรีทั้งหมด 34 คน) โดยที่สตรี 17 คนได้รับการเติมน้ำคร่ำผ่านทางช่องคลอด ส่วนที่เหลืออีก 17 คนที่ไม่ได้รับการเติมน้ำคร่ำ สตรีทุกคนจะได้รับยาพาราเซตามอลและยาปฏิชีวนะ ร่วมกับได้รับการใส่สายสวนชนิดพิเศษผ่านเข้าไปทางปากมดลูกเพื่อใช้วัดข้อมูลเกี่ยวกับการหดรัดตัวของมดลูก (เช่น ความถี่ในการหดรัดตัว เกิดขึ้นนานแค่ไหน และความแรงของการหดรัดตัว)

งานวิจัยนี้ได้รับการพิจารณาพบว่ามีความเสี่ยงสูงของการมีอคติเนื่องจากมีจำนวนสตรีที่เข้าร่วมวิจัยน้อย การรายงานผลไม่สอดคล้องกันและไม่มีข้อมูลของการปกปิด เนื่องจากมีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก อำนาจในการทดสอบความแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มจึงมีขนาดเล็กและไม่แตกต่างกัน ซึ่งแสดงไว้ที่ผลการศึกษาหลักของงานวิจัย: การติดเชื้อในมดลูกของมารดาหลังคลอด ( หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำ ); การติดเชื้อของทารก (หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำ); การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง (หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำ); ระยะเวลาของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ; และ ระยะเวลาของการนอนรักษาในโรงพยาบาล . อุณหภูมิของมารดาขณะคลอด ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นผลการศึกษาไว้ล่วงหน้าสำหรับงานวิจัยนี้ พบว่าในสตรีที่ได้รับการเติมน้ำคร่ำจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 0.38 ° C ( ช่วงอุณหภูมิระหว่างต่ำกว่า 0.74 ถึง ต่ำกว่า 0.02 ) ผลการศึกษา กรณีที่ทารกเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยอย่างรุนแรง รวมถึงจำนวนของทารกที่มีคะแนนแอพการ์ต่ำ (คะแนนแอพการ์ต่ำอาจบ่งชี้ว่าเด็กอยู่ในภาวะที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์) จะไม่ถูกรายงานในงานวิจัยนี้ ในทำนองเดียวกันผลการศึกษาอื่นๆ ที่ระบุไว้ในวิจัยแบบการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกรายงานในงานวิจัยที่นำเข้ามาศึกษา

ผู้วิจัยไม่ได้ระบุงานวิจัยที่ศึกษาถึงข้อสรุปของความแตกต่างระหว่างการเติมน้ำคร่ำผ่านทางหน้าท้องมารดา

ความหมายของผลการศึกษานี้

ในทางปฏิบัติยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการนำเอาวิธีการเติมน้ำคร่ำในถุงการตั้งครรภ์เพื่อรักษาภาวะการติดเชื้อในถุงการตั้งครรภ์มาใช้ทางด้านคลินิก ผู้วิจัยเสนอว่าอุณหภูมิที่ลดลงซึ่งเป็นผลโดยตรงของของเหลวที่เย็น อาจเป็นประเด็นในการทำวิจัยต่อไปเพื่อประเมินถึงประโยชน์ของอุณหภูมิที่ลดลงต่อทารกในครรภ์

การศึกษาต่อไปในอนาคตควรเป็นการทดลองแบบสุ่ม เปรียบเทียบระหว่างการเติมน้ำคร่ำโดยผ่านทางหน้าท้อง หรือ ผ่านทางช่องคลอดเปรียบเทียบกับการไม่เติมน้ำคร่ำในสตรีที่มีการติดเชื้อในถุงการตั้งครรภ์ โดยรายงานผลการศึกษาที่สำคัญที่ระบุไว้ในงานวิจัยนี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะประเมินประสิทธิผลของการใช้การเติมน้ำคร่ำผ่านทางปากมดลูกสำหรับภาวะการติดเชื้อในถุงการตั้งครรภ์ และประเมินความปลอดภัยของหัตถการนี้หรือความพึงพอใจของมารดา ผู้วิจัยไม่พบการศึกษาใดๆเกี่ยวกับการเติมน้ำคร่ำผ่านทางหน้าท้อง หลักฐานจากการวิจัยนี้ไม่สามารถสนับสนุนหรือลบล้างการใช้การเติมน้ำคร่ำผ่านทางปากมดลูก ผู้วิจัยรวมหนึ่งการศึกษาขนาดเล็กที่รายงานผลการศึกษาที่สนใจในจำนวนที่จำกัด จำนวนของการศึกษาที่ถูกรวบรวมมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับการประเมินผลโดยเฉพาะผลลัพธ์ที่สำคัญ สำหรับผลลัพธ์ที่ถูกประเมินโดยใช้ GRADE (มดลูกอักเสบหลังคลอด ติดเชื้อในทารกแรกเกิดและการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง) ผู้วิจัยปรับลดคุณภาพของการศึกษาเป็นคุณภาพต่ำ เนื่องจากมีขนาดของผู้ร่วมวิจัยจำนวนน้อยและขาดข้อมูลเกี่ยวกับการปกปิด การศึกษาที่รวบรวมนี้ไม่ได้รายงานผลลัพธ์หลักของงานวิจัยนี้ (การตายปริกำเนิดหรือภาวะทุพพลภาพที่รุนแรงในทารก)

การลดลงของการเป็นไข้ ซึ่งไม่ได้เป็นผลการศึกษาที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าของงานวิจัยนี้ อาจจะมีความสัมพันธ์กันในแง่ของผลประโยชน์ต่อทารกในครรภ์ในการลดการสัมผัสความร้อน ผู้วิจัยมีสมมติฐานว่าการลดอุณหภูมิที่พบอาจจะเป็นผลโดยตรงของการระบายความร้อนด้วยน้ำที่ถูกเติมในถุงน้ำคร่ำที่อุณหภูมิห้องมากกว่าการลดลงของการติดเชื้อ จึงมีความจำเป็นในการทำการทดลองขนาดใหญ่เพื่อยืนยันและขยายผลของการวิจัยนี้ การศึกษาควรจะเป็นแบบทดลองควบคุมแบบสุ่ม; ผู้เข้าร่วมวิจัยมีภาวะการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ; หัตถการคือ การเติมน้ำคร่ำ; เปรียบเทียบการไม่เติมน้ำคร่ำ; ผลลัพธ์ศึกษาทั้งมารดาและทารกรวมถึงการวัดการพัฒนาการของระบบประสาท

การศึกษาในอนาคตเพื่อประเมินประโยชน์หรือความเสี่ยงของการเติมน้ำคร่ำสำหรับภาวะการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ และเพื่อประเมินประโยชน์ในการลดอุณภูมิสำหรับทารกในครรภ์อันจะเป็นอันตรายต่อระบบประสาท การศึกษาควรจะรวมถึงการทดลองแบบสุ่มเพื่อเปรียบเทียบการเติมน้ำคร่ำผ่านทางปากมดลูกหรือทางหน้าท้องกับการไม่เติมน้ำคร่ำในภาวะติด้ชื้อในถุงน้ำคร่ำ โดยวัดผลการศึกษาตามงานวิจัยนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะการติดเชื้อในถุงการตั้งครรภ์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดทุพพลภาพในทารกและการตายปริกำเนิด การเติมน้ำคร่ำมีจุดมุ่งหมายในการลดผลของการติดเชื้อในถุงการตั้งครรภ์จากการเจือจางของเชื้อโรคหรือโดยฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของของเหลวที่เติมเข้าไป

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์ของวิจัยนี้เพื่อศึกษาผลของการเติมน้ำคร่ำต่อภาวะการติดเชื้อในถุงการตั้งครรภ์ทั้งที่แสดงอาการชัดเจนหรือไม่มีอาการชัดเจน สุขภาพของทารก ลักษณะการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ภาวะทุพพลภาพและอัตราเสียชีวิตของทั้งมารดาและทารก

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นในฐานข้อมูล Pregnancy and Childbirth Group'sTrials Register (6 กรกฎาคม 2559), Pubmed Clinical Trials.gov, Pubmed Clinical Trials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (6 กรกฎาคม 2559) และสืบค้นเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่สืบค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (RCTs) เปรียบเทียบการเติมน้ำคร่ำ (กลุ่มการรักษา) กับการไม่เติมน้ำคร่ำในสตรีที่มีภาวะการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ

ผู้วิจัยพิจารณาการทดลองที่เปรียบเทียบการเติมน้ำคร่ำกับการเติมน้ำคร่ำแบบควบคุม ชนิดของน้ำที่ใช้เติมที่ต่างกันหรือปริมาณของน้ำที่ใช้เติมแต่ไม่พบผลการศึกษาในการทดลองใดๆ

ผู้วิจัยได้พิจารณาการทดลองแบบสุ่มแบบแบ่งกลุ่มและกึ่งทดลอง แต่ไม่พบผลลัพธ์ดังกล่าว ผู้วิจัยไม่ได้รวมหนึ่งการศึกษาที่ตีพิมพ์ในรูปแบบบทคัดย่อ แต่ไม่ได้แสดงข้อมูลตัวเลขใด ๆ ผู้วิจัยไม่รวมการศึกษาที่มีการออกแบบที่ข้ามกลุ่ม เนื่องจากไม่เหมาะสมสำหรับงานวิจัยนี้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คนประเมินการศึกษาเพื่อนำเข้ามาทบทวนและประเมินคุณภาพอย่างอิสระต่อกัน ผู้วิจัย 2 คนคัดลอกและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากการศึกษาที่รวบรวมเข้ามาอย่างอิสระต่อกัน

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยนำเข้าจำนวนหนึ่งการศึกษาขนาดเล็ก (จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัย 34 คน) เปรียบเทียบระหว่างการเติมน้ำคร่ำผ่านทางปากมดลูกและการไม่เติมน้ำคร่ำ การศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงสูงของการมีอคติเนื่องจากมีจำนวนสตรีที่เข้าร่วมวิจัยน้อย การรายงานผลไม่สอดคล้องกันและไม่มีข้อมูลของการปกปิด การวิเคราะห์อภิมานจึงทำไม่ได้ การเติมน้ำคร่ำผ่านทางปากมดลูกด้วยน้ำเกลืออุณหภูมิห้อง ขนาด 10 มิลลิลิตรต่อนาทีเป็นเวลา 60 นาที ต่อด้วยขนาด 3 มิลลิลิตรต่อนาทีจนถึงคลอดเปรียบเทียบกับการไม่เติมน้ำคร่ำ สตรีทุกคนได้รับการใส่สายสวนเข้าไปในมดลูกเพื่อวัดความดันของมดลูก ได้รับยาพาราเซตามอลและยาปฏิชีวนะ (แอมพิซิลิน หรือได้รับยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลินและเจนต้ามัยซินเพื่อป้องกันการติดเชื้อกลุ่ม B beta streptococcal ผู้วิจัยไม่พบการศึกษาใดๆเกี่ยวกับการเติมน้ำคร่ำผ่านทางหน้าท้อง

เมื่อเทียบกับการไม่เติมน้ำคร่ำผ่านทางปากมดลูกพบว่า การเติมน้ำคร่ำไม่มีผลชัดเจนต่ออุบัติการณ์ของ ภาวะมดลูกอักเสบหลังคลอด (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.50 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.29-7.87; absolute risk 176/1000 (95% CI 34-96) เมื่อเทียบกับ 118/1000; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ ) ผลไม่ชัดเจนในการเกิดอุบัติการณ์ของ การติดเชื้อของทารกแรกเกิด (RR 3.00, 95% CI 0.13-68.84; absolute risk 0/1000 (95% CI 0-0) เทียบกับ 0/1000; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ ) ผลของการ ตายปริกำเนิดหรือการเกิดทุพพลภาพ (เช่น กลุ่มอาการทางสมอง มีเลือดออกในสมอง การเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก ไม่ได้รายงานในการศึกษานี้

ผลการศึกษารองพบว่าอุบัติการณ์ของ การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เท่ากันทั้งสองกลุ่ม (อัตราเสี่ยง RR 3.00, 95% CI 0.13-68.84; absolute risk 0/1000 (95% CI 0-0) เทียบกับ 0/1000; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ ) ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนของ ระยะเวลาของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในมารดา ระหว่างกลุ่มได้รับการเติมน้ำคร่ำและไม่เติมน้ำคร่ำ (ค่าเฉลี่ยแตกต่าง (MD) 16 ชั่วโมง 95% CI -1.75 ไป 33.75); หรือใน ระยะเวลาของการรักษาในโรงพยาบาล (ค่าเฉลี่ยแตกต่าง MD 3.00 ชั่วโมง, 95% CI -15.49 ถึง 21.49) การศึกษานี้ไม่ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนของทารกที่มี คะแนนแอพการ์ต่ำที่ห้านาทีหลังคลอด .

สตรีในกลุ่มได้รับการเติมน้ำคร่ำมีอุณหภูมิกายขณะคลอดต่ำกว่าในกลุ่มควบคุม (ค่าเฉลี่ยแตกต่าง MD -0.38 ° C, 95% CI -0.74 ถึง-0.02 ) แต่ผลการศึกษานี้ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าในโครงร่างการวิจัยนี้

ผลการศึกษารองส่วนใหญ่ของวิจัยนี้ไม่ได้ถูกรายงานในการศึกษาที่รวบรวมเข้ามา

บันทึกการแปล: 

บทคัดย่อและบทสรุปในภาษาธรรมดาเรื่องนี้แปลโดย พญ. อุษณีย์ สังคมกำแหง กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น

Tools
Information