วิธีการที่ไม่ใช้ยาสำหรับปัญหาการง่วงนอนและการนอนหลับสำหรับคนทำงานกะที่ทำงานกลางคืน

ข้อความสรุป

คนที่ทำงานกะ โดยเฉพาะกะกลางคืน มักรายงานว่าง่วงนอนในที่ทำงานหรือมีปัญหาในการนอนหลับหลังเลิกงาน สิ่งนี้อาจมีผลไม่ดีต่อความเป็นอยู่ ความปลอดภัยและสุขภาพของพวกเขา จากการสืบค้นวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ เราประเมินว่าวิธีการที่กำหนดสำหรับบุคคล โดยไม่ใช้ยา จะสามารถทำให้พนักงานในกะง่วงนอนน้อยลงระหว่างกะได้หรือไม่ และช่วยให้พวกเขานอนหลับได้นานขึ้นและดีขึ้นหลังจากเลิกกะงาน

การศึกษาที่พบ

การทบทวนนี้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 17 รายการ มีผู้เข้าร่วม 556 คน เราประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้จากการศึกษาส่วนใหญ่ที่รวมนำเข้า อยู่ระหว่างต่ำถึงต่ำมาก การศึกษาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามชนิดของวิธีการ: (1) การสัมผัสกับแสงจ้า (2) โอกาสในการงีบระหว่างกะกลางคืน หรือ (3) อื่น ๆ เช่น การออกกำลังกายหรือการให้ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับ

ผลการศึกษาที่สำคัญ

แสงจ้า

การศึกษาเกี่ยวกับแสงจ้าเกือบทั้งหมดที่เราดู มีปัญหากับวิธีการออกแบบ ปัญหานี้ทำให้ยากที่จะทราบว่าความแตกต่างระหว่างความง่วงนอนและการนอนหลับระหว่างผู้ที่ได้รับแสงจ้าและผู้ที่ไม่ได้รับแสงสว่างนั้นเป็นเพราะการได้รับแสงจ้าจริง ๆ การศึกษายังแตกต่างกันมากเกินไปในประเภทของแสงจ้าที่ใช้และประเภทของแสงที่กลุ่มควบคุมได้รับ เพื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง

การงีบ

การศึกษาในกลุ่มการงีบไม่ได้รายงานข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าการงีบช่วยให้พนักงานในกะรู้สึกตื่นตัวมากขึ้นหรือไม่ การศึกษาสั้นมากโดยการศึกษาแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงคืนเดียว

วิธีการอื่น ๆ

การศึกษากลุ่มนี้ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกายและการให้ความรู้เรื่องการนอนหลับ ก็รายงานข้อมูลน้อยเกินไปสำหรับเราที่จะบอกว่าวิธีการเหล่านี้สามารถทำให้พนักงานในกะ ง่วงนอนน้อยลงหรือช่วยให้พวกเขานอนหลับได้นานขึ้นและดีขึ้นหลังจากเข้ากะ

บทสรุป

เราสรุปได้ว่ามีความไม่แน่นอนมากเกินไปที่จะตัดสินได้ว่าวิธีการที่ไม่ใช้ยา ที่กำหนดสำหรับบุคคล จะส่งผลกระทบต่อพนักงานที่ทำงานกะที่มีปัญหาง่วงนอนและนอนหลับได้จริงหรือไม่ เราต้องการการศึกษาที่ได้รับการออกแบบที่ดีขึ้น รายงานการออกแบบและผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมผู้เข้าร่วมมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นก่อนที่เราจะมั่นใจได้ การศึกษายังจำเป็นต้องค้นหาด้วยว่าผู้เข้าร่วมของพวกเขาเป็น 'ประเภทกะเช้า' หรือ 'ประเภทกะเย็น' เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานกะที่เหมาะสมได้รับวิธีการที่เหมาะสม

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

เราสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนสิงหาคม 2015

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ด้วยความหลากหลายของระเบียบวิธีของการศึกษาที่รวมอยู่ในแง่ของวิธีการ บริบท และเครื่องมือในการประเมิน การรายงานที่จำกัด และคุณภาพของหลักฐานที่มีอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก จึงไม่สามารถระบุได้ว่าอาการง่วงนอนของพนักงานในกะจะลดลงได้หรือไม่ หรือสามารถปรับปรุงระยะเวลาหรือคุณภาพการนอนหลับของพวกเขาได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

เราต้องการ RCT ที่ดีขึ้นและมีกำลังเพียงพอสำหรับประเมินผลกระทบของแสงจ้าและการงีบ ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือร่วมกันและวิธีการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การใช้ยา ซึ่งพิจารณาลำดับเหตุการณ์ของพนักงานกะเกี่ยวกับพารามิเตอร์การนอนหลับที่ตรวจสอบ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การทำงานเป็นกะมักเกี่ยวข้องกับความง่วงนอนและความผิดปกติของการนอนหลับ วิธีการที่มุ่งเน้นบุคคลโดยตรง ที่ไม่ใช้ยา อาจส่งผลในเชิงบวกต่อผลกระทบของการทำงานกะ ต่อการนอนหลับซึ่งจะช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงานให้ดีขึ้น

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของวิธีการที่มุ่งเน้นบุคคล ไม่ใช้ยา เพื่อลดความง่วงนอนในที่ทำงาน และปรับปรุงระยะเวลาและคุณภาพของการนอนหลับระหว่างกะสำหรับพนักงานแบบกะ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE Ovid, Embase, Web of Knowledge, ProQuest, PsycINFO, OpenGrey และ OSH-UPDATE ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเดือนสิงหาคม 2015 นอกจากนี้เรายังคัดกรองรายการอ้างอิงและ proceeding ของการประชุมและค้นหาทะเบียนการทดลองขององค์การอนามัยโลก (WHO) เราติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) (รวมถึงการออกแบบแบบ cross-over) ที่ตรวจสอบผลของวิธีการ ที่เน้นตัวบุคคล ไม่ใช้ยา ที่มีต่อความง่วงนอนในเวลาเข้ากะ หรือความยาวของการนอนหลับและคุณภาพการนอนหลับนอกกะของพนักงานกะที่ทำงานกลางคืนด้วย

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้เขียนอย่างน้อยสองคนคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อสำหรับการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของอคติ เราติดต่อเจ้าของงานวิจัย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เราทำ meta-analysis เมื่อสามารถรวมการศึกษาได้

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการทดลองที่เกี่ยวข้อง 17 รายการ (โดยมีผู้เข้าร่วมการตรวจสอบ 556 คน) ซึ่งเราแบ่งวิธีการออกเป็น 3 ประเภท (1) การได้รับแสงจ้าแบบต่างๆ (n = 10); (2) โอกาสต่างๆในการงีบ (n = 4); และ (3) วิธีการอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกายหรือการให้ความรู้เรื่องการนอนหลับ (n = 3) ในกรณีส่วนใหญ่ การศึกษามีความแตกต่างกันมากเกินไปที่จะรวมกัน การเปรียบเทียบส่วนใหญ่ให้หลักฐานคุณภาพต่ำถึงต่ำมาก มีการเปรียบเทียบเพียงครั้งเดียวที่ให้หลักฐานคุณภาพปานกลาง โดยรวมแล้วผลการศึกษาที่รวมไว้นั้นไม่สามารถสรุปได้ เรานำเสนอผลลัพธ์เกี่ยวกับความง่วงนอนดังนี้

แสงจ้า

การรวมการศึกษา 2 รายการที่เปรียบเทียบกันได้ (โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 184 คน) ที่ตรวจสอบผลของแสงจ้าในตอนกลางคืนต่อความง่วงนอนระหว่างกะ พบว่าคะแนนความง่วงนอนลดลงเฉลี่ย 0.83 คะแนน (วัดจาก Stanford Sleepiness Scale (SSS) (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -1.3 ถึง -0.36 หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การทดลองอีก 1 เรื่อง ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในความง่วงนอนโดยรวมในการวัดระดับความง่วงแบบอื่น (ผู้เข้าร่วม 16 คนหลักฐานคุณภาพต่ำ)

แสงจ้าในตอนกลางคืนร่วมกับแว่นกันแดดตอนรุ่งสาง ไม่มีผลต่อการง่วงนอนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับแสงปกติ (การศึกษา 1 รายการ ผู้เข้าร่วม 17 คน การประเมินตามเวลาตอบสนอง หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

แสงจ้าระหว่างกะกลางวันไม่ได้ลดความง่วงนอนในระหว่างวันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับแสงปกติ (การทดลอง 1 รายการผู้เข้าร่วม 61 คน การประเมินแบบ subjective หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือเทียบกับแสงปกติบวกแคปซูลยาหลอก (การทดลอง 1 รายการ ผู้เข้าร่วม 12 คน การประเมินผ่านเวลาตอบสนอง หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การงีบระหว่างกะกลางคืน

Meta-analysis เกี่ยวกับโอกาสในการงีบหลับเพียงครั้งเดียวและผลต่อเวลาตอบสนองโดยเฉลี่ยซึ่งใช้แทนความง่วงนอนทำให้ลดลง 11.87 มิลลิวินาที (95% CI 31.94 ถึง -8.2 หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การศึกษาอื่น ๆอีก 2 รายการยังรายงานว่าเวลาในการตอบสนองลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (การศึกษา 1 รายการ ผู้เข้าร่วม 7 คน; การศึกษา 1 รายการ ผู้เข้าร่วม 49 คน หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

โอกาสได้งีบ 2 ครั้งทำให้การง่วงนอนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (การประเมินแบบนามธรรม) ในการศึกษา 1 รายการ (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง (MD) 2.32, 95% CI -24.74 ถึง 29.38, การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 15 คน, หลักฐานคุณภาพต่ำ)

วิธีการอื่น ๆ

การออกกำลังกายและการให้ความรู้เรื่องการนอนหลับแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีผล แต่ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอที่จะสรุปผล

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 สิงหาคม 2020

Tools
Information