ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบกินทางปากและอมใต้ลิ้น (ให้สิ่งที่แพ้แก่คนจำนวนเล็กน้อยทางปากหรือใต้ลิ้น) สำหรับการแพ้ผลไม้

ความเป็นมาและคำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลของการให้ภูมิคุ้มกันในช่องปากและใต้ลิ้นในผู้ที่แพ้ผลไม้ การแพ้อาหารเป็นการตอบสนองต่ออาหารอย่างผิดปกติ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารนั้น วิธีหลักในการรักษาอาการแพ้อาหารคือการหลีกเลี่ยงอาหาร แต่ในผู้ที่แพ้อาหาร การกินอาหารนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงได้

การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันเป็นการรักษาระยะยาวที่เป็นไปได้สำหรับการแพ้อาหาร รวมถึงการแพ้ผลไม้ การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันเป็นกระบวนการที่เพิ่มปริมาณของสิ่งที่บางคนแพ้ (สารก่อภูมิแพ้) ให้ได้รับในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อช่วยให้บุคคลนั้นมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นน้อยลง ในการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันในช่องปาก จะมีการให้สารก่อภูมิแพ้จำนวนเล็กน้อยแก่ผู้นั้น ในการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันแบบอมใต้ลิ้น สารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้จะให้ใต้ลิ้น

ลักษณะการศึกษา

เราพบการศึกษา 2 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 89 คน การศึกษา 1 ฉบับ ศึกษาการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันที่กินทางปากในผู้ที่แพ้แอปเปิ้ล เปรียบเทียบกับไม่ได้รับการรักษา และอีกหนึ่งการศึกษาดูการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันแบบอมใต้ลิ้นในผู้ที่แพ้ลูกพีช เปรียบเทียบกับตัวหลอก การศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ศึกษาในผู้ใหญ่ หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงเดือนกรกฎาคม 2015

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การศึกษาภูมิคุ้มกันบำบัดให้ทางปากสำหรับอาการแพ้แอปเปิ้ลพบว่าผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษามีความไวต่อแอปเปิ้ลน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับโดยวัดผลที่ 8 เดือน การศึกษาภูมิคุ้มกันอมใต้ลิ้นสำหรับอาการแพ้ลูกพีชไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มในแง่ของความไวที่ 6 เดือน ในการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ มีผลข้างเคียงมากขึ้นในผู้ที่ได้รับการรักษา แต่ก็ไม่ร้ายแรง โดยรวมแล้ว คุณภาพของหลักฐานต่ำมาก เนื่องจากการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ มีขนาดเล็ก ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันระหว่างการศึกษา และมีปัญหาในการออกแบบการศึกษา จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่เราจะสามารถบอกได้ว่าการบำบัดที่กินทางปากและอมใต้ลิ้นใช้ได้กับการแพ้ผลไม้หรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการใช้ OIT หรือ SLIT ในการรักษาอาการแพ้ผลไม้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับลูกพีชและแอปเปิ้ล มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อยหรือปานกลางบ่อยครั้งในผู้ที่ได้รับ OIT หรือ SLIT อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยยา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การแพ้อาหารเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติหลังจากได้รับอาหาร (โดยปกติคือการกลืนกิน) การกำจัดสารก่อภูมิแพ้เป็นการรักษาหลักสำหรับอาการแพ้อาหาร รวมถึงการแพ้ผลไม้ การรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้โดยบังเอิญอาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงได้ การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ (SIT) เป็นการรักษาเฉพาะ เมื่อการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้เป็นปัญหา เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบำบัดประเภทต่างๆ สำหรับการรักษาอาการแพ้อาหาร ซึ่งรวมถึงภูมิคุ้มกันบำบัดทางช่องปาก (OIT) และภูมิคุ้มกันบำบัดใต้ลิ้น (SLIT)

วัตถุประสงค์: 

เพื่อหาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของภูมิคุ้มกันบำบัดทางช่องปากและใต้ลิ้นในเด็กและผู้ใหญ่ที่แพ้อาหารที่เป็นผลไม้ เปรียบเทียบกับยาหลอกหรือกลยุทธ์การกำจัด

วิธีการสืบค้น: 

Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, EMBASE, CINAHL และ AMED ได้รับการค้นหาผลลัพธ์ที่ตีพิมพ์พร้อมกับการลงทะเบียนการทดลองและ Journal of Negative Results in BioMedicine สำหรับวรรณกรรมสีเทา วันที่ของการค้นหาล่าสุดคือกรกฎาคม 2015

เกณฑ์การคัดเลือก: 

มีการรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่เปรียบเทียบ OIT หรือ SLIT กับยาหลอกหรือการควบคุมอาหารเพื่อกำจัด ผู้เข้าร่วมเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้อาหารซึ่งแสดงปฏิกิริยาต่อผลไม้ทันที

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่คาดหวังโดย Cochrane Collaboration เราประเมินผลการรักษาผ่านอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) สำหรับผลลัพธ์แบบคู่

ผลการวิจัย: 

เราพบ RCT 2 ฉบับ (N=89) ที่มีสิทธิ์รวมในการทบทวน RCTs เหล่านี้กล่าวถึงการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันในช่องปากหรือใต้ลิ้น ทั้งในผู้ใหญ่ที่แพ้แอปเปิ้ลหรือลูกพีชตามลำดับ การศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ได้ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยและใช้วิธีการที่แตกต่างกันเพื่อให้การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันประเภทต่างๆ เหล่านี้ การศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ได้รับการพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยรวมแล้ว คุณภาพของหลักฐานได้รับการตัดสินว่าต่ำมาก เนื่องจากมีการศึกษาและผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย และความลำเอียงที่เป็นไปได้ การศึกษามีความแตกต่างทางคลินิก ดังนั้นเราจึงไม่ได้รวมผลลัพธ์ การศึกษาที่เปรียบเทียบ SLIT กับตัวหลอกสำหรับการแพ้ลูกพีช ไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างจำนวนผู้ที่ได้รับการทำการลดความไวต่อการกระตุ้นที่ 6 เดือนหลังให้จากการให้อาหารที่แพ้เข้าไปโดยวิธีปกปิดสองทางและมีการควบคุมด้วยด้วหลอก (RR 1.16, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.49 ถึง 2.74) การศึกษาเรื่องที่ 2 ซึ่งเปรียบเทียบ OIT กับการไม่มีการรักษาอาการแพ้แอปเปิล พบว่ามีผลต่อการลดความไวต่อการกระตุ้นด้วยการรักษาโดยใช้การทดสอบแบบให้สารที่แพ้ทางปากที่ 8 เดือน แต่ผลลัพธ์ไม่แน่ชัด (RR 17.50, 95% CI 1.13 ถึง 270.19) ไม่มีการศึกษาใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานความทนทานต่อภูมิคุ้มกัน ในการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สูงกว่าเล็กน้อยและปานกลางในกลุ่มรักษาเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการศึกษาที่เปรียบเทียบ SLIT กับตัวหลอก ผู้ป่วยในกลุ่มรักษามีอาการข้างเคียงเฉพาะที่มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (RR 3.21, 95% CI 1.51 ถึง 6.82) แม้ว่าจำนวนผู้เข้าร่วมที่มีอาการไม่พึงประสงค์แบบทั่วร่างกายไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (RR 0.81, 95% CI 0.22 ถึง 3.02) ในการศึกษา OIT ผู้เข้าร่วม 2 ใน 25 คนในกลุ่มรักษารายงานผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ไม่มีผู้เข้าร่วมในกลุ่มควบคุมรายงานผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 14 พฤศจิกายน 2022

Tools
Information