การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เราทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อดูว่าการให้การดูแลระยะสุดท้ายที่บ้านช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตในโรงพยาบาลหรือไม่ และสิ่งนี้มีผลกระทบต่อความพึงพอใจและค่าใช้จ่ายในการบริการด้านสุขภาพของผู้ป่วยและผู้ดูแลหรือไม่ เมื่อเทียบกับการอยู่รักษาในโรงพยาบาลหรือในสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย นี่เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 5 ของการทบทวนวรรณกรรมจากของเดิม

ข้อความสำคัญ

ผู้ที่ได้รับการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้านมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตที่บ้าน มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลกระทบของการให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแลที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป

การทบทวนวรรณกรรมนี้ศึกษาอะไร

หลายประเทศได้ลงทุนในบริการด้านสุขภาพเพื่อให้การดูแลที่บ้านสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยระยะสุดท้ายที่ปรารถนาจะเสียชีวิตที่บ้าน ความชอบของประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีอาการป่วยระยะสุดท้ายดูเหมือนจะสนับสนุนสิ่งนี้เนื่องจากคนส่วนใหญ่ระบุว่าเขาอยากได้รับการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้าน

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เรารวบรวมได้การทดลอง 4 เรื่องในการทบทวนวรรณกรรม เราพบว่าผู้ที่ได้รับการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้านมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตที่บ้าน การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในขณะที่ได้รับการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้านมีความต่างกันไปในแต่ละการทดลอง ผู้ที่ได้รับการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้านอาจมีความพึงพอใจมากขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังจากเวลาผ่านไป 1 เดือน ผลกระทบของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านต่อผู้ดูแล เจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพ และค่าใช้จ่ายบริการด้านสุขภาพนั้นไม่แน่นอน ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าร่วมและครอบครัวของพวกเขา

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

เราสืบค้นการศึกษาถึงวันที่ 18 มีนาคม 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานที่รวบรวมอยู่ในการทบทวนนี้สนับสนุนการใช้โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่จะเสียชีวิตที่บ้าน การวิจัยที่ประเมินผลกระทบของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านต่อผู้ดูแล และการรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลจะเป็นประโยชนที่เพิ่มเข้ามาสู่ฐานข้อมูลหลักฐาน และอาจแจ้งให้ทราบว่ามีการให้บริการแบบนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

นโยบายของหลายประเทศคือ ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถเลือกที่จะเสียชีวิตที่บ้านได้ สิ่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากการสำรวจที่ระบุว่าประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายต้องการได้รับการดูแลระยะสุดท้ายที่บ้าน นี่เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 5 ของการทบทวนวรรณกรรมจากของเดิม

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าการให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตในโรงพยาบาลหรือไม่ และมีผลกระทบต่ออาการของผู้ป่วย คุณภาพชีวิต ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพ และผู้ดูแลเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือในสถานที่รับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก CENTRAL, Ovid MEDLINE (R), Embase, CINAHL และจากทะเบียนการทดลองทางคลินิกจนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2020 เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่นำมาทบทวนอย่างเป็นระบบ สำหรับการศึกษาที่รวบรวมได้ เราได้ตรวจสอบรายการอ้างอิงและทำการสืบค้นไปข้างหน้าโดยใช้ ISI Web of Science เราค้นหาวารสารการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่จัดทำดัชนีโดย ISI Web of Science สำหรับการอ้างอิงครั้งแรกทางออนไลน์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมประเมินประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านเปรียบเทียบกับการดูแลผู้ป่วยในหรือการดูแลที่สถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ดึงข้อมูลและประเมินคุณภาพของการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน ตามความเหมาะสม เราได้รวมข้อมูลที่เผยแพรที่ผลลัพธ์เป็นแบบ 2 ค่า (dichotomous) โดยใช้การวิเคราะห fixed-effect Mantel-Haenszel meta-analysis เพื่อคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) เมื่อข้อมูลผลลัพธ์รวมกันไม่ได้ เราจึงรายงานผลจากการศึกษาทีละเรื่องที่ศึกษา

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มได้ 4 เรื่องและไม่พบการศึกษาใหม่จากการสืบค้นในเดือนมีนาคม 2020 การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านจะเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตที่บ้านเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ (RR 1.31, 95% CI 1.12 ถึง 1.52; 2 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 539 คน; I2 = 25%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูง) การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีความต่างกันในแต่ละการทดลอง (ช่วง RR 0.62, 95% CI 0.48 ถึง 0.79, ถึง RR 2.61, 95% CI 1.50 ถึง 4.55) ผลกระทบต่อผลลัพธ์ของผู้ป่วยและการควบคุมอาการยังไม่ชัดเจน การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านอาจเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยในการติดตามผลที่ 1 เดือน และมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการติดตามผลที่ 6 เดือน (2 การทดลอง หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ผลกระทบต่อผู้ดูแล (2 การทดลอง หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) เจ้าหน้าที่ (1 การทดลอง หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) และค่าใช้จ่ายบริการด้านสุขภาพไม่ชัดเจน (2 การทดลอง; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก)

บันทึกการแปล: 

วราลักษณ์ กิตติวัฒน์ไพศาล วันที่ 17 มีนาคม 2021

Tools
Information