วัคซีนสำหรับโรคไข้หวัด

คำถามการทบทวนวรรณกรรม

วัคซีนช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้หรือไม่

ความเป็นมา

โรคไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คนที่เป็นไข้หวัดมักจะรู้สึกไม่สบาย มีน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ไอโดยมีหรือไม่มีอาการเจ็บคอ และมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้คนมักจะฟื้นตัวเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาควบคุมผลกระทบของการติดเชื้อไวรัส การรักษาภาวะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ โรคไข้หวัดทั่วโลกทำให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างกว้างขวางและการสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ในสหรัฐอเมริกา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคไข้หวัดอยู่ที่ประมาณมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมทั้งการหยุดงานและวันเรียนหลายล้านวัน ในยุโรป ราคารวมต่อการป่วยหนึ่งครั้งอาจสูงถึง 1102 ยูโร นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเนื่องจากการสั่งยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสม การผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดเป็นเรื่องยากเนื่องจากเกิดจากไวรัสหลายชนิด ผลของวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดียังไม่ทราบ

วันที่สืบค้น

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึง 26 เมษายน 2022

ลักษณะการศึกษา

เราไม่พบการทดลองใหม่ใด ๆ เพื่อรวมไว้ในการอัปเดตนี้ การทบทวนนี้รวมถึงการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่พบก่อนหน้านี้ (ประเภทของการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้เข้าร่วมกลุ่มการรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่มขึ้นไป) ที่ดำเนินการในปี 1965 การศึกษานี้เกี่ยวข้องกับทหารหนุ่มที่มีสุขภาพดีจำนวน 2307 คน ที่โรงฝึกในกองทัพเรือสหรัฐฯ และประเมินผลของวัคซีนอะดีโนไวรัสชนิดเชื้อเป็น (อ่อนฤทธิ์) ชนิดเชื้อตายไทป์ 4 และวัคซีนเชื้อตายไทป์ 4 และ 7 เทียบกับยาหลอก (วัคซีนปลอม)

แหล่งเงินทุนสนับสนุนการศึกษา

การทดลองที่รวมนี้ได้รับทุนจากสถาบันของรัฐบาล

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

ไม่มีความแตกต่างในความถี่ของการเกิดโรคไข้หวัดระหว่างผู้ที่ได้รับ live attenuated adenovirus vaccine เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับยาหลอก ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เข้าร่วมการทดลองไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรทั่วไปและมีข้อบกพร่องในการออกแบบการศึกษา ความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของเราจึงต่ำมาก จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคไข้หวัดได้หรือไม่ เนื่องจากหลักฐานในปัจจุบันไม่สนับสนุนการใช้ adenovirus vaccine เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดี

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานว่าต่ำมากเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ เพราะประชากรที่ศึกษาเป็นเพียงชายหนุ่มเท่านั้น และเนื่องจากมีคนจำนวนน้อยที่รวมอยู่ในการศึกษาและจำนวนการเป็นหวัดต่ำ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane นี้อ้างอิงจากการศึกษาหนึ่งเรื่องที่มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจไม่มีความแตกต่างระหว่างวัคซีน adenovirus vaccines และยาหลอกในการลดอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัด เราพบความจำเป็นสำหรับ RCTs ที่ออกแบบมาอย่างดีและมีขนาดเพียงพอเพื่อตรวจสอบวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดี การทดลองในอนาคตเกี่ยวกับวิธีการเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดควรประเมินวัคซีนไวรัสหลายชนิดสำหรับภาวะนี้ และควรวัดผลลัพธ์เช่นอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัด ความปลอดภัยของวัคซีน และการเสียชีวิต (ทุกสาเหตุและเกี่ยวข้องกับวัคซีน)

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคไข้หวัดคือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่หายได้เอง โดยมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ไอ ไม่สบาย เจ็บคอ และมีไข้ (ปกติ < 37.8 ºC) แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วโรคไข้หวัดจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็เป็นสาเหตุของภาระทางเศรษฐกิจเนื่องจากการขาดเรียนและการขาดงาน ในสหรัฐอเมริกา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคไข้หวัดคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมถึงพนักงานขาดงานประมาณ 70 ล้านวันทำงาน เด็กขาดเรียน 189 ล้านวัน และพ่อแม่ขาดงาน 126 ล้านวันเพราะดูแลเด็กที่เป็นหวัด นอกจากนี้ ข้อมูลจากยุโรประบุว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อครั้งอาจสูงถึง 1102 ยูโร นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเนื่องจากการสั่งยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสม การพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดเป็นเรื่องยากเนื่องจากความแปรปรวนของแอนติเจนของไวรัสโรคไข้หวัด แม้แต่แบคทีเรียก็สามารถเป็นตัวก่อโรคได้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของมาตรการป้องกันไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดียังคงมีอยู่ ดังนั้นเราจึงทำการอัปเดต Cochrane Review นี้ ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2011 และอัปเดตในปี 2013 และ 2017

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลทางคลินิกและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (เมษายน 2022), MEDLINE (1948 ถึง เมษายน 2022), Embase (1974 ถึง เมษายน 2022), CINAHL (1981 ถึง เมษายน 2022) และ LILACS (1982 ถึง เมษายน 2022) นอกจากนี้ เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองสามแห่งสำหรับการศึกษาที่กำลังดำเนินการ และสี่เว็บไซต์สำหรับการทดลองเพิ่มเติม (เมษายน 2022) เราไม่ได้กำหนดข้อจำกัดด้านภาษาหรือวันที่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ของวัคซีนไวรัสใด ๆ เปรียบเทียบกับยาหลอกเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดี

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ workflow Screen4Me ของ Cochrane เพื่อประเมินผลลัพธ์การค้นหาเบื้องต้น ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสี่คนทำการคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่ออย่างอิสระเพื่อหาการศึกษาที่อาจเกี่ยวข้อง เราค้นบทความฉบับเต็มสำหรับการศึกษาที่พิจารณาว่าอาจเกี่ยวข้อง และผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคัดกรองรายงานฉบับเต็มโดยอิสระเพื่อรวมเข้าในการทบทวนวรรณกรรม บันทึกเหตุผลในการคัดแยกการศึกษาที่คัดออก ความขัดแย้งใด ๆ ได้รับการแก้ไขโดยการสนทนาหรือโดยการปรึกษาผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนที่สามเมื่อจำเป็น ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสองคนรวบรวมข้อมูลอย่างอิสระในแบบฟอร์มการคัดลอกข้อมูล แก้ไขข้อขัดแย้งใดๆ โดยฉันทามติหรือโดยการมีส่วนร่วมของผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 เราตรวจสอบข้อมูลที่ถ่ายโอนไปยังซอฟต์แวร์ Review Manager 5 อีกครั้ง ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสามคนประเมินความเสี่ยงของการมีอคติโดยอิสระโดยใช้เครื่องมือ RoB 1 ตามที่ระบุไว้ใน คู่มือ Cochrane สำหรับการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของการรักษา เราทำการวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้ Review Manager 5 เราไม่ได้ทำ meta-analysis และเราไม่ได้ประเมิน publication bias เราใช้ GRADEpro GDT software เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานและสร้างตาราง summary of findings

ผลการวิจัย: 

เราไม่พบ RCT ใหม่เพื่อรวมไว้ในการอัปเดตนี้ การทบทวนนี้มี RCT 1 ฉบับ ที่ดำเนินการในปี 1965 โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ RCTนี้ รวมชายหนุ่มที่มีสุขภาพดีจำนวน 2307 คนในหน่วยงานทางทหาร ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในการวิเคราะห์ และเปรียบเทียบผลของ adenovirus vaccines 3 ชนิด (เชื้อมีชีวิต เชื้อตายชนิดที่ 4 และเชื้อตายชนิดที่ 4 และที่ 7) กับยาหลอก (ฉีดน้ำเกลือสรีรวิทยาหรือเจลาตินแคปซุล) มีเหตุการณ์ 13 เหตุการณ์ (1.14%) ในผู้เข้าร่วม 1139 คนในกลุ่มวัคซีน และ 14 เหตุการณ์ (1.19%) ในผู้เข้าร่วม 1168 คนในกลุ่มยาหลอก โดยรวมแล้ว เราไม่ทราบว่ามีความแตกต่างระหว่าง adenovirus vaccines และยาหลอกในการลดอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดหรือไม่ (อัตราส่วนความเสี่ยง 0.95, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.45 ถึง 2.02; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานความแตกต่างของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เมื่อเปรียบเทียบวัคซีนที่มีชีวิตกับยาหลอก เราลดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานลงเหลือต่ำมากเนื่องจากความเสี่ยงของอคติที่ไม่ชัดเจน indirectness เนื่องจากประชากรของการศึกษานี้เป็นเพียงชายหนุ่ม และไม่แม่นยำเนื่องจากช่วงความเชื่อมั่นกว้างและจำนวนเหตุการณ์ต่ำ การศึกษาที่รวบรวมนี้ไม่ได้ประเมินการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 10 มกราคม 2023 Edit โดย ผการกอง 31 มกราคม 2023

Tools
Information