โอกาสเกิดลิ่มเลือดในผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 และใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับผลของการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนต่อการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงอาการทางหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง หรือผลลัพธ์ที่รุนแรงอื่น ๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรค COVID-19 เราต้องการดูผู้ที่ใช้รูปแบบการคุมกำเนิดแบบรวม (ที่มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน) เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนหรือผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน เราพบการศึกษาเพียง 5 ฉบับ ที่นำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้

ความเป็นมา

การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน โดยเฉพาะการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดที่ขาหรือปอด หรือเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เรายังพบว่าลิ่มเลือดที่ขาหรือปอดอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ COVID-19 เราไม่แน่ใจว่าผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนมีโอกาสสูงที่จะเกิดลิ่มเลือดหรือไม่หากพวกเขาติดเชื้อ COVID-19 เราต้องการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนทราบว่าควรหยุดหรือเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดหากตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19

ลักษณะการศึกษา

เรารวมการศึกษาที่เผยแพร่จนถึงเดือนมีนาคม 2022 เราค้นหาการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องการการดูแลระดับสูง เช่น ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ หรือความเสี่ยงในการเสียชีวิตจาก COVID-19 ในผู้ที่ใช้การคุมกำเนิด โดยเฉพาะการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรวม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด เนื่องจากมีการศึกษาน้อยมาก เราจึงดูการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ใช้การคุมกำเนิดซึ่งเกิดลิ่มเลือดเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ เรารวบรวมการศึกษาทั้งหมด 5 ฉบับ การศึกษา 1 ฉบับ ศึกษาใน 18,892 คน ดูความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 และใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบรวม การศึกษาอีก 1 ฉบับ ศึกษาใน 295,689 คนดูที่ความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบรวมซึ่งได้ติดตามอาการของ COVID-19 บนแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน แต่ไม่ได้ตรวจหา COVID-19 โดยเฉพาะ การศึกษาที่ 3 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเพียง 123 คน ดูความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนชนิดใดก็ได้ การศึกษา 2 ฉบับ ศึกษาในผู้ป่วย COVID-19 ทั้งหมด 13 คนที่มีภาวะลิ่มเลือดจับตัวเป็นก้อนได้ศึกษาจำนวนผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบรวม

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การศึกษา 1 ฉบับ รายงานความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันในการเสียชีวิตจาก COVID-19 ในกลุ่มผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมและผู้ที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด แต่หลักฐานไม่แน่นอนอย่างมาก

ผลจากการศึกษา 1 ฉบับ พบว่าความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรค COVID-19 อาจลดลงเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม แต่หลักฐานไม่แน่นอนอย่างมาก ผลลัพธ์จากการศึกษาขนาดเล็กพบว่าอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของการใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนชนิดใดๆ ต่อความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่เป็นโรค COVID-19 แต่หลักฐานไม่แน่นอนอย่างมาก

การใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความเสี่ยงที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ที่เป็นโรค COVID-19 แต่หลักฐานไม่แน่นอนอย่างมาก

รายงานที่บรรยายสตรีและเด็กหญิงรวม 13 คนที่ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งมีลิ่มเลือดพบว่า 2 คนใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม

เราไม่พบหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงของหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองสำหรับผู้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดที่เป็นโรค COVID-19

เราไม่พบหลักฐานใด ๆ สำหรับผลลัพธ์ใด ๆ ในผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว

โดยรวมแล้วมีงานวิจัยไม่กี่ฉบับที่เราสามารถรวบรวมได้ และทุกการศึกษาล้วนมีปัญหาด้านการออกแบบที่ทำให้ตีความหลักฐานได้ยากมาก หลักฐานไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยงของอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน อาจมีความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้เคียงกันหรือลดลงสำหรับผู้ที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

เรามีความเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในหลักฐาน เนื่องจากการศึกษาไม่ได้ให้ข้อมูลสำคัญที่เราสนใจ เช่น เหตุผลที่ผู้คนอาจมีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด การศึกษายังไม่ได้รวมประเภทของผู้คนที่เรากำลังมองหา เช่น ผู้ที่มีเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการยืนยันด้วยการทดสอบ หรือผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าคุมกำเนิดเมื่อพวกเขาติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาไม่เพียงพอที่จะแน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบที่ประเมินความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วย COVID-19 ที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้ มีหลักฐานน้อยมากในการตรวจสอบความเสี่ยงของความรุนแรงของโรค COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด และหลักฐานที่มีอยู่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก

ความเสี่ยงของการรักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดแบบผสมอาจลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน แต่หลักฐานไม่แน่นอนมาก เนื่องจากอ้างอิงจากการศึกษา 1 ฉบับ ที่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 35 kg/m 2 อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของการใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมต่อความเสี่ยงของการใส่ท่อช่วยหายใจหรือการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ COVID-19 เป็นบวกและผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดชนิดใดก็ได้ต่อโอกาสในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วย COVID-19 เราสังเกตว่าไม่มีผลมากสำหรับความเสี่ยงของความรุนแรงของโรค COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นในผู้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

เราสังเกตเห็นข้อจำกัดในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น สูตร ปริมาณฮอร์โมน และระยะเวลาหรือช่วงเวลาของการใช้ยาคุมกำเนิด เอสโตรเจนที่แตกต่างกันอาจมีศักยภาพในการกระตุ้นการเกิดลิ่มเลือดแตกต่างกัน เนื่องจากมีศักยภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทราบว่าสูตรผสมมีอะไร เช่น ethinyl estradiol เทียบกับ estradiol valerate นอกจากนี้ เรายังลดระดับความเชื่อมั่นของการศึกษาหลายฉบับเนื่องจากความเสี่ยงของการมีอคติ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของการใช้การคุมกำเนิดที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ COVID-19 และการปฏิบัติตามวิธีการไม่ได้รับการยืนยัน ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงข้อบ่งชี้ของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากบุคคลที่ใช้ฮอร์โมนในการรักษาสภาวะทางการแพทย์ เช่น เลือดประจำเดือนออกมาก อาจมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับบุคคลที่ใช้ฮอร์โมนเพื่อการคุมกำเนิด การศึกษาในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การรวมปัจจัยตัวกวนที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุ โรคอ้วน ประวัติการอุดตันของหลอดเลือดดำก่อนหน้านี้ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ และการตั้งครรภ์เมื่อเร็วๆ นี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) นำไปสู่การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการเกิดลิ่มเลือดที่มีอุบัติการณ์สูง มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนในการคุมกำเนิดในช่วงการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระสำหรับการเกิดลิ่มเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยาชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างไรก็ตาม ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นอาจมีส่วนป้องกัน COVID-19 ที่รุนแรงได้ หลักฐานสำหรับความเสี่ยงของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดในช่วงการระบาดของ COVID-19 มีอยู่น้อย เราดำเนินการทบทวนอย่างมีชีวิตเป็นระบบ (living systematic review ) ซึ่งจะได้รับการปรับปรุงเมื่อมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดในผู้ป่วย COVID-19

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงในสตรีที่เป็น COVID‐19 หรือไม่

เพื่อพิจารณาว่าการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเพิ่มตัวชี้วัดอื่นๆ ของความรุนแรงของ COVID-19 หรือไม่ รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยหนัก อาการหายใจลำบากเฉียบพลัน การใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิต

วัตถุประสงค์รองคือการรักษากระแสของหลักฐานโดยใช้แนวทางการทบทวนแบบ living systematic review

วิธีการสืบค้น: 

⁠⁠⁠⁠เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, Global Index Medicus, Global Health และ Scopus เป็นประจำทุกเดือน โดยการค้นหาล่าสุดดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2023 เราอัปเดตกลยุทธ์การค้นหาด้วยคำศัพท์ใหม่ และเพิ่มฐานข้อมูล Global Index Medicus แทนการค้นหาใน LILACS เมื่อเดือนมีนาคม 2023

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาที่เผยแพร่และกำลังดำเนินการของผู้ป่วย COVID-19 เปรียบเทียบผลลัพธ์ของผู้ที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ซึ่งรวมถึงกรณีศึกษาและการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาแบบไม่มีการสุ่ม (non-randomized studies of interventions; NRSI)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 1 คน ดึงข้อมูลการศึกษาและตรวจสอบโดยผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนที่ 2 ผู้ประพันธ์ 2 คนประเมินความเสี่ยงของการมีอคติด้วยตนเองสำหรับการศึกษาเปรียบเทียบโดยใช้เครื่องมือ ROBINS-I และผู้ประพันธ์คนที่ 3 ช่วยหาข้อสรุปในประเด็นที่ความเห็นแตกต่างกัน สำหรับการตรวจสอบแบบ living systematic review เราจะเผยแพร่การปรับปรุงการสังเคราะห์ของเราทุก ๆ 6 เดือน ในกรณีที่เราพบการศึกษาที่มีการออกแบบการศึกษาที่เข้มงวดกว่าหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อนการปรับปรุงตามแผน 6 เดือน เราจะเร่งเผยแพร่การสังเคราะห์

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษษรูปแบบ NRSI 3 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 314,704 คน และ 2 case series ที่รายงานผู้ป่วย 13 คน NRSIs ทั้ง 3 ฉบับมีความเสี่ยงที่ร้ายแรงถึงวิกฤตของการมีอคติในหลายโดเมนและคุณภาพการศึกษาต่ำ มีเพียง NRSI เดียวเท่านั้นที่ยืนยันการใช้ยาคุมกำเนิดในปัจจุบันตามการรายงานโดยผู้ป่วย อีก 2 NRSIs ใช้รหัสการวินิจฉัยในเวชระเบียนเพื่อประเมินการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด แต่ไม่ได้ยืนยันการใช้ในปัจจุบันหรือข้อบ่งชี้ในการใช้ ไม่มี NRSIs ใดที่มีผลลัพธ์เรื่องการอุดตันของลิ่มเลือด การศึกษามีความคล้ายคลึงกันไม่เพียงพอในแง่ของผลลัพธ์ วิธีการรักษา และประชากรในการศึกษาเพื่อรวมเข้าใน meta-analysis ดังนั้นเราจึงสังเคราะห์การศึกษาที่รวบรวมทั้งหมดโดยการบรรยาย

จากผลลัพธ์จากการศึกษาแบบ NRSI 1 ฉบับ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของการใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมต่ออัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 (odds ratio (OR) 1.00, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.41 ถึง 2.40; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 18,892 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การศึกษาแบบ NRSIs 2 ฉบับ ตรวจสอบอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเทียบกับผู้ที่ไม่ใช้ ผลลัพธ์จากการศึกษาแบบ NRSI 1 ฉบับ พบว่าอัตราการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้มีผลบวกต่อการติดเชื้อ COVID-19 ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน อาจลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 35 kg/m 2 (OR 0.79, 95% CI 0.64 ถึง 0.97, การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 295,689 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) จากผลของ NRSI เรื่องอื่น ที่ประเมินการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดชนิดใด ๆ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 (OR 0.99, 95% CI 0.68 ถึง 1.44; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 123 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

เรารวม 2 case series เนื่องจากไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบที่ประเมินผลลัพธ์ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันโดยตรง ใน 1 case series ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 6 รายที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด 1 ราย (อายุมากกว่า 15 ปี) ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนชนิดรวม ใน case series ที่ 2 ของผู้ป่วยที่ผลตรวจ COVID-19 เป็นบวกจำนวน 7 รายที่มีภาวะเส้นเลือดดำในสมองอุดตัน หนึ่งรายใช้ยาคุมกำเนิดชนิดกิน

การศึกษาแบบเปรียบเทียบ 1 ฉบับ และ การศึกษาแบบ case series 1 ฉบับ รายงานเกี่ยวกับอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจ แต่หลักฐานสำหรับทั้ง 2 กรณีนั้นไม่แน่นอนอย่างมาก ในการศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 123 ราย (N = 44 รายที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด และ N = 79 รายที่ไม่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด) ไม่มีผู้ป่วยในทั้ง 2 กลุ่มที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ใน case series ของผู้ป่วย 7 รายที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำในสมอง ผู้ใช้ยาคุมกำเนิด 1 รายและผู้ไม่ใช้ 1 รายจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย แพทย์หญิง ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 31 มกราคม 2024

Tools
Information