การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) นั้นแม่นยำเพียงใดในการตรวจหามะเร็งตับ

ใจความสำคัญ

ในผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI: cross-sectional scans ภายในร่างกาย) อาจพลาดมะเร็งตับในคน 16% ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือเหมาะสม และพบมะเร็งตับในคน 6% อย่างไม่ถูกต้องทำให้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น

MRI อาจพลาดมะเร็งตับใน 16% ของผู้ป่วยมะเร็งตับที่ควรจะได้รับการผ่าตัดเอาส่วนหนึ่งของตับออก และพบมะเร็งตับอย่างไม่ถูกต้องใน 7% ของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดที่ไม่เหมาะสม

การศึกษามีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติและแตกต่างกันมากเกินไปจนทำให้เราไม่สามารถสรุปผลได้อย่างแน่วแน่ตามหลักฐาน

ทำไมการวินิจฉัยมะเร็งตับอย่างแม่นยำจึงเป็นสิ่งสำคัญ

มะเร็งตับหรือ 'hepatocellular carcinoma' มักเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคโดยไม่ขึ้นกับสาเหตุของตับเรื้อรัง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งเป็นอันดับ 3 วินิจฉัยได้ยากเพราะอาการเริ่มแรกคล้ายกับโรคตับ ผู้ที่มีผลการตรวจเลือดหรืออัลตราซาวนด์ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็งตับอาจเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การสแกนที่สร้างภาพตับ หรือการตรวจชิ้นเนื้อโดยการตัดชิ้นส่วนเล็กๆ ของตับออกมาตรวจ หากตรวจพบมะเร็งตับตั้งแต่เนิ่นๆ ผู็ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาส่วนหนึ่งของตับออก (เรียกว่าการผ่าตัดตับ) หรือการปลูกถ่ายตับ หากมะเร็งตับลุกลามมากขึ้น อาจต้องได้รับเคมีบำบัด หากการตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับผิดพลาด ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยมะเร็งตับอย่างไม่ถูกต้องเมื่อไม่มีมะเร็งตับ หมายความอาจได้รับการทดสอบหรือการรักษาโดยไม่จำเป็น

การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) คืออะไรและจะวินิจฉัยมะเร็งตับได้อย่างไร

MRI สร้างภาพที่แสดงภาพตัดขวางหรือ 'ชิ้น' ของกระดูก หลอดเลือด และเนื้อเยื่อภายในร่างกาย รูปภาพคือชุดของความเข้มของสัญญาณที่ควบคุมและรวมเข้าด้วยกันโดยคอมพิวเตอร์ การสแกนด้วย MRI สามารถตรวจพบความผิดปกติในตับที่อาจเป็นมะเร็งได้ แนวทางปฏิบัติในปัจจุบันแนะนำให้ใช้ MRI หรือการถ่ายภาพประเภทอื่นคือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือทำร่วมกันเพื่อยืนยันการมีมะเร็งตับในผู้ที่อาจเป็นมะเร็งตับ

เราต้องการทราบอะไร

เราต้องการทราบว่า MRI มีความแม่นยำเพียงพอในการวินิจฉัยมะเร็งตับในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรังหรือไม่ อันดับแรก เราสนใจมะเร็งตับทุกขนาดและระยะ และอันดับที่สอง มะเร็งตับที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด

เราได้ทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ประเมินความถูกต้องของการสแกนด้วย MRI เปรียบเทียบกับการทดสอบที่ดีที่สุดที่มีอยู่เพื่อยืนยันมะเร็งตับในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง การทดสอบที่ดีที่สุดคือการตรวจตับหรือบางส่วนของตับด้วยกล้องจุลทรรศน์

เราพบอะไร

เราพบ 34 การศึกษา ที่ประเมิน 4841 คน

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรังประมาณ 560 คนจาก 1,000 คน (56%) ได้รับการยืนยันว่าเป็นมะเร็งตับ จาก 1,000 คนเหล่านี้ MRI อาจ:

- ตรวจพบมะเร็งตับได้อย่างถูกต้องใน 473 คน

- พลาดการวินิจฉัยมะเร็งตับ 87 คน

- ตรวจพบมะเร็งตับอย่างไม่ถูกต้องใน 27 คนโดยที่ปราศจากมะเร็ง

- ตรวจพบว่าไม่มีมะเร็งตับได้อย่างถูกต้องใน 413 คน

จากการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ประมาณ 560 คนจาก 1,000 คน (56%) ที่เป็นโรคตับเรื้อรังยืนยันว่าเป็นมะเร็งตับที่ผ่าตัดได้ จาก 1,000 คนเหล่านี้ MRI อาจ:

- ตรวจพบมะเร็งตับที่ผ่าตัดได้ถูกต้องใน 472 คน

- พลาดมะเร็งตับที่ผ่าตัดได้ 88 คน

- ตรวจพบมะเร็งตับที่ตัดออกได้ไม่ถูกต้องใน 31 คน

- ตรวจพบว่าไม่มีมะเร็งตับที่ตัดออกได้ถูกต้องใน 409 คน

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นในหลักฐานของเรามีจำกัด เนื่องจากการศึกษาใช้วิธีการเลือกผู้เข้าร่วมการศึกษาต่างกันและใช้คำจำกัดความชองการเป็นโรคตับที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าการสแกนด้วย MRI อาจมีความแม่นยำมากกว่าหรือน้อยกว่าที่พบโดยการวิเคราะห์หลักฐานของเรา

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การใช้ MRI เป็นวิธีการถ่ายภาพที่สองเพื่อวินิจฉัยมะเร็งตับในขนาดและระยะใด ๆ เราพบว่า16% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับจะถูกวินิจฉัยผิด และ 6% ของผู้ที่ไม่มีมะเร็งตับจะได้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น สำหรับมะเร็งตับที่ผ่าตัดออกได้ เราพบว่า 16% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับที่ตัดออกได้จะไม่ได้รับการตัดตับ ในขณะที่ 7% ของผู้ที่ไม่มีมะเร็งเซลล์ตับจะได้รับการผ่าตัดที่ไม่เหมาะสม ความไม่เชื่อมั่นที่เกิดจากความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติในการศึกษาที่รวมไว้และข้อกังวลเกี่ยวกับการนำไปใช้จำกัดความสามารถของเราในการสรุปผลอย่างเชื่อมั่นตามผลลัพธ์ของเรา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มะเร็งตับเกิดขึ้นส่วนใหญ่ในผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรังและอยู่ในอันดับที่ 6 ในแง่ของอัตราการเกิดมะเร็งทั่วโลก และอันดับที่ 3 ในแง่ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในการปฏิบัติทางคลินิก การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) จะใช้เป็นวิธีการสร้างภาพวินิจฉัยลำดับที่สองเพื่อยืนยันการมีรอยโรคเฉพาะที่ในตับที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งตับหลังการตรวจวินิจฉัยที่ทำก่อนหน้า เช่น อัลตราซาวนด์ช่องท้องหรืออัลฟา-ฟีโตโปรตีน หรือตรวจทั้งสองอย่างในโปรแกรมการเฝ้าระวังหรือในการบริบททางคลินิก ตามแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน การศึกษาภาพที่เพิ่มคอนทราสต์เพียงครั้งเดียว (computed tomography (CT) หรือ MRI) ที่แสดงลักษณะเฉพาะของมะเร็งตับในผู้ที่เป็นโรคตับแข็งนั้นถือว่าใช้ได้ในการวินิจฉัยมะเร็งตับ การตรวจหามะเร็งตับที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดอาจช่วยปรับปรุงการพยากรณ์โรคได้ อย่างไรก็ตาม มะเร็งตับจำนวนมากไม่ได้แสดงลักษณะเฉพาะของรูปแบบการถ่ายภาพ และอาจมองข้ามการวินิจฉัยมะเร็งตับได้ ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ของโปรแกรมการเฝ้าระวังในแง่ของการอยู่รอดโดยรวม: ผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกันอาจเป็นผลมาจากการตรวจหาที่ไม่ถูกต้อง การรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือทั้งสองอย่าง การประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยของ MRI อาจชี้ว่าการไม่มีประโยชน์นี้อาจเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยได้น้อยกว่าความเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ การประเมินความถูกต้องของ MRI ในผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรังที่ไม่อยู่ในโปรแกรมการเฝ้าระวัง เป็นการตรวจที่จำเป็นเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งตับหรือตัดโรคนี้ออกไป

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลัก: เพื่อประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยด้วย MRI สำหรับการวินิจฉัยมะเร็งตับทุกขนาดและทุกระยะในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง

วัตถุประสงค์รอง: เพื่อประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยด้วย MRI สำหรับการวินิจฉัยมะเร็งตับที่สามารถตัดออกได้ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง และเพื่อระบุแหล่งที่มาของความแตกต่างของผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Hepato-Biliary Group Controlled Trials Register, the Cochrane Hepato-Biliary Group Diagnostic Test of Accuracy Studies Register, Cochrane Library, MEDLINE, Embase และฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 3 ฐานข้อมูลจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2021 เราค้นหาบทความที่พบ ติดต่อผู้เชี่ยวชาญ ค้นหาบทคัดย่อจากการประชุมที่จัดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วยตนเอง และค้นหาวรรณกรรมใน OpenGrey (9 พฤศจิกายน 2021) มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมทางอีเมล์ แต่ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ได้รับข้อมูลจากการติดต่อกับผู้วิจัย เราไม่มีข้อจำกัดในเรื่องภาษาหรือประเภทของเอกสาร

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยของ MRI สำหรับการวินิจฉัยมะเร็งตับในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ด้วยการออกแบบการศึกษาบภาคตัดขวาง โดยใช้หนึ่งในมาตรฐานอ้างอิงที่ยอมรับได้ เช่น พยาธิวิทยาของตับที่ตรวจพบ แลผลเนื้อของรอยโรคที่ตับที่ตัดออกหรือตัดชิ้นเนื้อที่มีรอยโรค โดยมีการติดตามผลอย่างน้อยหกเดือน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรมอย่างน้อยสองคนคัดกรองการศึกษา คัดลอกข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของอคติและข้อกังวลของการนำไปใช้อย่างอิสระโดยใช้ QUADAS-2 checklist เรานำเสนอผลลัพธ์ของความไวและความจำเพาะ โดยใช้ paired forest plots และเราจัดทำตารางผลลัพธ์ เราใช้การวิเคราะห์อภิมานแบบลำดับชั้น (hierarchical meta-analysis) ตามความเหมาะสม เรานำเสนอความไม่แน่นอนของการประมาณความแม่นยำโดยใช้ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) เราตรวจสอบการคัดลอกและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง

ผลการวิจัย: 

เรารวม 34 การศึกษา มีผู้เข้าร่วม 4841 คน เราตัดสินว่าการศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติในอย่างน้อยหนึ่งโดเมน เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานอ้างอิงที่แตกต่างกัน มักจะไม่เหมาะสมที่จะแยกการมีอยู่ของภาวะเป้าหมาย และไม่ค่อยกำหนดช่วงเวลาระหว่างการผลทดสอบกับมาตรฐานอ้างอิง . เกี่ยวกับการนำผลไปใช้ เราตัดสินว่า 15% (5/34) ของการศึกษามีความกังวลต่ำ และ 85% (29/34) ของการศึกษามีความกังวลสูงโดยส่วนใหญ่เกิดจากลักษณะของผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรายชื่อรอ การปลูกถ่ายตับ orthotopic และเนื่องจากพยาธิสภาพของตับที่ถูกเอาออกมาเป็นมาตรฐานอ้างอิงเพียงอย่างเดียว

MRI สำหรับมะเร็งตับทุกขนาดและทุกระยะ: ความไว 84.4% (95% CI 80.1% ถึง 87.9%) และความจำเพาะ 93.8% (95% CI 90.1% ถึง 96.1%) (34 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 4841 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

MRI สำหรับมะเร็งตับที่ตัดออกได้: ความไว 84.3% (95% CI 77.6% ถึง 89.3%) และความจำเพาะ 92.9% (95% CI 88.3% ถึง 95.9%) (16 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 2150 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ความแตกต่างที่สังเกตพบในผลลัพธ์ส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถอธิบายได้ Sensitivity analysis ซึ่งรวมเฉพาะการศึกษาที่มีเกณฑ์เชิงบวกที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน และเฉพาะการศึกษาที่มีการตีความผลลัพธ์มาตรฐานอ้างอิงโดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับผลการทดสอบดัชนี ไม่พบความเปลี่ยนแปลงในผลลัพธ์

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 24 มิถุนายน 2022 edit โดย ผกากรอง 20 ตุลาคม 2022

Tools
Information