การเสริม carnitine สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต

ประเด็นคืออะไร

การขาด carnitine เป็นปัญหาสำคัญในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) ที่ต้องฟอกไต การขาด carnitine ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกไตอาจทำให้อาการระหว่างการฟอกไตรุนแรงขึ้น (เช่น อาการของกล้ามเนื้อ เช่น ตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง และความดันเลือดต่ำ) และภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของไตวาย (เช่น ภาวะโลหิตจาง) อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าการเสริม carnitine สามารถปรับปรุงอาการของการขาด carnitine ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกไตได้หรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาวรรณกรรมทางการแพทย์สำหรับการทดลองแบบสุ่มทั้งหมดที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเสริม carnitine ในผู้ป่วย CKD ที่ต้องฟอกไต เป้าหมายของเราคือเพื่อตรวจสอบว่าการเสริมนี้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต (QoL) และอาการที่เกิดจากการขาด carnitine หรือไม่ เรายังประเมินว่าการเสริม carnitine มีความปลอดภัยในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ ความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการประเมินโดยใช้ Grading of Recommendations, Assessment, Development and Evaluation (GRADE)

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 52 ฉบับ โดยมีผู้ป่วย CKD ทั้งหมด 3398 รายที่ได้รับการฟอกไต เราไม่สามารถระบุผลของ carnitine ต่อคุณภาพชีวิต (QoL) และอาการต่างๆ เนื่องจากการขาด carnitine ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกไต L-carnitine อาจปรับปรุงภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยเหล่านี้ นอกจากนี้ หลักฐานสำหรับผลข้างเคียงของการเสริม L-carnitine ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีจำกัดมาก

บทสรุป

เราพบว่าผลของการเสริม carnitine ในส่วนที่เกี่ยวกับ QoL คะแนนความเหนื่อยล้า ตะคริวของกล้ามเนื้อ และความดันเลือดต่ำขณะฟอกไตยังไม่ชัดเจน L-carnitine อาจปรับปรุงตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจาง (ระดับฮีโมโกลบินและค่าฮีมาโตคริต) ในผู้ป่วย CKD ที่ต้องฟอกไต จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการเสริมคาร์นิทีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สนับสนุนการใช้การเสริม carnitine ในการรักษาภาวะขาด carnitine ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกไต แม้ว่าการเสริม carnitine อาจช่วยปรับปรุงตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจางได้เล็กน้อย แต่การเสริม carnitine สร้างความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเหล่านี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จำกัด ดังนั้นจึงควรตีความด้วยความระมัดระวัง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การขาด carnitine พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) ที่ต้องฟอกไต การศึกษาทางคลินิกหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าการเสริม carnitine มีประโยชน์ต่ออาการที่เกี่ยวข้องกับการล้างไต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิจารณาประสิทธิผลทางคลินิกและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริม carnitine ในผู้ป่วยล้างไต

วัตถุประสงค์: 

การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการเสริม carnitine สำหรับการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตในผู้ป่วย CKD ที่ต้องฟอกไต

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน Cochrane Kidney and Transplant Register of Studies จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2022 ผ่านการติดต่อกับ Information Specialist โดยใช้คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาใน Register ได้จากการค้นหาของ CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE รายงานการประชุม International Clinical Trials Register (ICTRP) และ ClinicalTrials.gov

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs ทั้งหมด (RCTs ที่การจัดสรรการรักษาได้มาจากการสลับกัน การใช้เวชระเบียนทางเลือก วันเกิด หรือวิธีการอื่นๆ ที่คาดการณ์ได้) ที่เปรียบเทียบการเสริมคาร์นิทีนกับยาหลอกหรือการดูแลมาตรฐานในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์สองคนคัดลอกข้อมูลการศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาโดยอิสระต่อกัน เราใช้ random-effects model เพื่อทำการสังเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ

เราใช้สถิติ I² เพื่อวัดความแตกต่างระหว่างการศึกษาในการวิเคราะห์แต่ละครั้ง เรารายงานค่าประมาณการโดยสรุปเป็นอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) สำหรับผลลัพธ์แบบสองทางเลือก ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) สำหรับผลลัพธ์ต่อเนื่อง หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) หากใช้มาตราส่วนที่แตกต่างกัน โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) นอกจากนี้ยังใช้วิธีการ GRADE (Grades of Recommendation, Assessment, Development, and Evaluation) ในการประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานในแต่ละผลลัพธ์หลัก

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 52 ฉบับ (parallel RCTs 47 ฉบับ และ cross-over RCTs 5 ฉบับ) (ผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม 3398 คน) การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบ L-carnitine กับยาหลอก การรักษาอื่น ๆ หรือไม่มีการรักษา การดูแลมาตรฐานยังคงดำเนินต่อไปโดยเป็นวิธีการร่วมในแต่ละกลุ่ม การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับการตัดสินว่ามีอคติที่ไม่ชัดเจนหรือมีความเสี่ยงสูง

L-carnitine อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อคุณภาพชีวิต (QoL) SF-36 คะแนนองค์ประกอบทางกายภาพ (PCS) (การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 134 คน: SMD 0.57, 95% CI -0.15 ถึง 1.28; I² = 73%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และคะแนน QoL ทั้งหมด (คุณภาพชีวิตโรคไต (KDQOL), VAS (ความเป็นอยู่ที่ดีทั่วไป) หรือ PedsQL) (การศึกษา 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 230 คน: SMD -0.02, 95% CI -0.29 ถึง 0.25; I² = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) แอล-คาร์นิทีนอาจเพิ่ม SF-36 คะแนนองค์ประกอบทางจิต (MCS) (การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 134 คน: SMD 0.70, 95% CI 0.22 ถึง 1.18; I² = 42%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) L-carnitine อาจมีผลต่อคะแนนความเหนื่อยล้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 353 คน: SMD 0.01, 95% CI -0.20 ถึง 0.23; I² = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ), เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (การศึกษา 12 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1041 คน: RR, 1.14, 95% CI 0.86 ถึง 1.51; I² = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ), ปวดกล้ามเนื้อ (การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 102 คน: RR, 0.44, 95% CI 0.18 ถึง 1.09; I² = 23%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และความดันเลือดต่ำระหว่างการฟอกเลือด (การศึกษา 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 128 คน: RR, 0.76, 95% CI 0.34 ถึง 1.69; I² = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) L-carnitine อาจปรับปรุงระดับฮีโมโกลบิน (การศึกษา 26 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1795 คน: MD 0.46 g/dL, 95% CI 0.18 ถึง 0.74; I² = 86%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และค่าฮีมาโตคริต (การศึกษา 14 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 950 คน: MD 1.78%, 95% CI 0.38 ถึง 3.18; I² = 84%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8 มกราคม 2023 Edit โดย ผกากรอง 31 มกราคม 2023

Tools
Information