บุคคลสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาการหายใจในระยะยาว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

1. มีทางเลือกอะไรบ้างสำหรับผู้ที่มีปัญหาการหายใจในระยะยาวและไม่มีปัญหาในการลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร

2. ตัวเลือกเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่มีปัญหาการหายใจในระยะยาวหรือไม่

ความเป็นมา

มลพิษทางอากาศภายนอกอาคารเป็นปัญหาสำคัญ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่ามีคนมากกว่า 90% อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย มีการคิดว่าคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในยุโรปสูญเสียอายุ 1 ปีเนื่องจากคุณภาพอากาศไม่ดี

มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อผู้ที่มีภาวะการหายใจอยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

ตัวเลือกบางอย่างที่ช่วยลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ได้แก่ การสวมหน้ากากที่กรองมลภาวะเมื่ออยู่ภายนอก หลีกเลี่ยงถนนบางสายที่มีการจราจรหนาแน่น หรือใช้การแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลือกเหล่านี้ทำงานได้ดีเพียงใด และยังมีโอกาสที่ตัวเลือกดังกล่าวอาจมีผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่เป็นที่พอใจ

เราตัดสินใจทำวิจัยชิ้นนี้หลังจากพบกลุ่มคนที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในลอนดอน เราขอให้พวกเขาบอกคำถามที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับสุขภาพของพวกเขา สมาชิกในกลุ่มหลายคนต้องการทราบว่ามีหลักฐานสำหรับอะไรบ้างที่พวกเขาสามารถทำได้เองเพื่อลดมลพิษทางอากาศได้

การค้นหาและคัดเลือกการศึกษา

เราค้นหาฐานข้อมูลออนไลน์หลายแห่งสำหรับการศึกษาที่ลองใช้ตัวเลือกต่างๆ เช่น หน้ากากและการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ เราหาการศึกษาในภาษาใดๆ ตีพิมพ์ที่ใดก็ได้ในโลกและทุกเวลา รวมทั้งข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์ด้วย นักวิจัย 2 คนดูรายการการศึกษาแยกกัน แล้วตกลงกันว่าเราควรรวมรายการใดไว้ เราดำเนินการค้นหาล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2020

ลักษณะของการศึกษา

เรารวมการศึกษาใดๆ ที่พยายามใช้วิธีการระดับบุคคลเพื่อลดปริมาณมลพิษทางอากาศที่คนต้องเผชิญ เราหมายถึงบางสิ่งที่บุคคลสามารถทำเองได้ เช่น การสวมหน้ากาก หรือลงทะเบียนเพื่อรับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับระดับมลพิษทางอากาศ เรารวมการศึกษาในผู้ใหญ่และเด็กที่มีสุขภาพดี รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาการหายใจในระยะยาว การวัดหลักที่เราสนใจคือ การวัดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ การกำเริบของปัญหาการหายใจ การเข้าโรงพยาบาล คุณภาพชีวิต และผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับทุนจากรัฐบาลหรือทุนการกุศล

ผลลัพธ์สำคัญ

เราพบ 11 การศึกษา ที่รวมในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาได้ลองใช้วิธีต่างๆ หลายวิธีในการลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศ: 5 การศึกษา ใช้หน้ากากเพื่อกรองมลภาวะ 5 การศึกษา ใช้การแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ และ 1 การศึกษาทดสอบการเดินทางด้วยทางที่มีมลพิษระดับต่ำ การศึกษามีหลากหลายขนาดตั้งแต่ 15 คนจนถึงมากกว่า 1000 คน

เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดแตกต่างกันมาก เราจึงไม่สามารถรวมผลลัพธ์ทางสถิติได้ นอกจากนี้เรายังพบว่าการศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถ 'ปิดบัง' ผู้เข้าร่วมหรือบุคลากรในการศึกษาได้ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในการศึกษารู้ว่าพวกเขาได้รับทางเลือกที่มุ่งลดการสัมผัสมลพิษหรือไม่ นี่เป็นสิ่งสำคัญเพราะการรู้นี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของคน

หน้ากากกรองมลพิษและการศึกษาเส้นทางเดินทาง

เราพบว่าหน้ากากและเส้นทางเดินทางที่มีมลพิษระดับต่ำ อาจมีผลเล็กน้อยต่อตัววัดที่แสดงว่าคุณได้รับมลพิษทางอากาศ (เช่น ความดันโลหิต) แต่ผลจากการศึกษาต่างๆ แตกต่างกัน และเราไม่แน่ใจมาก มี 1 การศึกษารายงานว่า คนพบว่าหายใจลำบากขึ้นเล็กน้อยขณะสวมหน้ากาก แต่ไม่มีการศึกษาอื่นใดที่บันทึกผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะ ผู้ที่ใช้เส้นทางเดินทางที่มีพิษระดับต่ำจะมีอาการระคายเคืองในจมูกและลำคอน้อยกว่า แต่ไม่ส่งผลต่ออาการหายใจอื่นๆ

การศึกษาการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ

มี 1 การศึกษาพบว่าการส่งการแจ้งเตือนเมื่อคุณภาพอากาศไม่ดีอาจเพิ่มจำนวนครั้งที่พวกเขาไปแผนกฉุกเฉินหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่อีก 2 การศึกษาที่ศึกษาเรื่องนี้ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนกับผู้ที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน

เราพบว่าในการศึกษาบางส่วน ผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนเรื่องมลพิษทางอากาศและการศึกษาเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศรายงานพฤติกรรมที่ 'ป้องกัน' มากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งเมื่อคุณภาพอากาศไม่ดี แต่ในการศึกษาอื่นๆ การแจ้งเตือนไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก

อีก 1 การศึกษารายงานว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในอาการการหายใจระหว่างผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศกับคนที่ได้รับการแจ้งเตือน

เราได้ให้คำจำกัดความของคำสำคัญในอภิธานศัพท์ (ตารางที่ 1)

ส่วนสำคัญที่สุด

เราไม่พบการศึกษาจำนวนมากที่จะช่วยตอบคำถามนี้ การศึกษาที่เราพบค่อนข้างแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งหมายความว่าเรายังไม่แน่ใจว่าคำแนะนำที่ดีที่สุดคืออะไรสำหรับผู้ที่ต้องการลดผลกระทบของมลพิษทางอากาศในชีวิตประจำวัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การขาดหลักฐานและความหลากหลายในการศึกษาได้จำกัดข้อสรุปของการทบทวนวรรณกรรมนี้ การใช้หน้ากากหรือเส้นทางที่มีมลพิษต่ำอาจบรรเทาผลกระทบทางสรีรวิทยาบางอย่างจากมลพิษทางอากาศได้ แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนมาก เราพบผลmี่ขัดแย้งกันสำหรับผลลัพธ์อื่นๆ รวมถึงการใช้การดูแลสุขภาพ อาการ และการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติตาม/พฤติกรรม เราไม่พบหลักฐานสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ผู้ให้ทุนควรพิจารณาดำเนินการศึกษาที่ใหญ่และยาวขึ้น โดยใช้วิธีการที่มีคุณภาพและมีการอธิบายอย่างดี โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว การศึกษาควรรายงานผลที่มีความสำคัญต่อผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการกำเริบ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คุณภาพชีวิต และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มากกว่า 90% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกินขีดจำกัดคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ในแต่ละปี คนมากกว่า 4 ล้านคนคาดว่าจะเสียชีวิตก่อนกำหนดเนื่องจากมลพิษทางอากาศ และคุณภาพอากาศที่ไม่ดีนั้นคิดว่าจะลดอายุขัยของชาวยุโรปโดยเฉลี่ยลงได้ 1 ปี บุคคลอาจลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น หน้ากาก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการใช้การแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ จนถึงปัจจุบัน ยังขาดหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวิธีการดังกล่าวสำหรับประชากรทั่วไปและผู้ที่มีภาวะทางเดินหายใจในระยะยาว หัวข้อนี้และคำถามการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับหลักฐานสนับสนุนเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบของมลพิษทางอากาศ เกิดขึ้นโดยตรงจากกลุ่มคนที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ในลอนดอนใต้ ประเทศอังกฤษ

วัตถุประสงค์: 

1. เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการยอมรับของวิธีการระดับบุคคลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีหรือไม่มีภาวะระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเพื่อลดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร

2. เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการยอมรับของวิธีการที่ให้ระดับบุคคล ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยผู้ที่มีภาวะระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ให้ลดผลกระทบส่วนบุคคลของมลพิษทางอากาศภายนอกและปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพ

วิธีการสืบค้น: 

เราพบการศึกษาจาก Cochrane Airways Trials Register, Cochrane Central Register of Controlled Trials และฐานข้อมูลหลักอื่นๆ เราไม่ได้จำกัดการค้นหาตามวันที่ ภาษา หรือประเภทสิ่งพิมพ์ และรวมการค้นหาเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ (เช่น ข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่) เราดำเนินการค้นหาล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการศึกษาที่ไม่สุ่มตัวอย่าง (NRS) ที่รวมกลุ่มการรักษา เปรียบเทียบในผู้ใหญ่และเด็กที่ตรวจสอบประสิทธิผลของวิธีการระดับบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงของมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร เรารวมการศึกษาในบุคคลที่มีสุขภาพดีและในผู้ที่มีปัญหาทางเดินหายใจในระยะยาว เราไม่รวมการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่สภาวะที่ไม่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในระยะยาว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เราไม่ได้จำกัดความเหมาะสมของการศึกษาตามผลลัพธ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนเลือกการทดลองอย่างอิสระเพื่อรวม ดึงข้อมูลลักษณะการศึกษาและข้อมูลผลลัพธ์ และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติโดยใช้เครื่องมือ Cochrane Risk of Bias สำหรับ RCTs และ the Risk Of Bias In Non-randomised Studies - of Interventions (ROBINS-I) ตามความเหมาะสม ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 1 คน ป้อนข้อมูลลงในการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งถูกตรวจสอบโดยผู้ประพันธ์คนที่ 2 เราวางแผนที่จะทำ meta-analysis จาก RCT และ NRS แยกกัน โดยใช้ random-effects model แต่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงนำเสนอหลักฐานโดยบรรยาย เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การวัดการสัมผัสมลพิษทางอากาศ อาการกำเริบของปัญหาทางเดินหายใจ การเข้าโรงพยาบาล คุณภาพชีวิต และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง

ผลการวิจัย: 

เราพบ 11 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 3372 คน) ที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้า (10 RCTs และ 1 NRS) อายุของผู้เข้าร่วมอยู่ระหว่าง 18 ถึง 74 ปี และระยะเวลาของการศึกษาอยู่ระหว่าง 24 ชั่วโมงถึง 104 สัปดาห์ มี 6 การศึกษาแบบ cross over คัดเลือกผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและ 5 การศึกษาคู่ขนานรวมถึงผู้ที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว (3 การศึกษา) หรือสตรีมีครรภ์เท่านั้น (2 การศึกษา) วิธีการที่ใช้ประกอบด้วย หน้ากาก (เช่น หน้ากาก N95 ที่ออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาคในอากาศออก) (5 การศึกษา) การเปลี่ยบเส้นทางการเดินทาง (1 การศึกษา) การแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ และการให้ความรู้ (5 การศึกษา) มีการศึกษาในออสเตรเลีย จีน อิหร่าน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากความหลากหลายของการออกแบบการศึกษา ประชากร วิธีการ และผลลัพธ์ เราจึงไม่ได้ทำ meta-analysis และสรุปผลลัพธ์แบบบรรยายแทน เราตัดสินว่าทั้ง RCTs และ NRS มีความเสี่ยงที่จะมีอคติจากการขาดการปกปิด และขาดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือก การศึกษาจำนวนมากไม่มี protocol ที่เผยแพร่ไว้ล่วงหน้าหรือการลงทะเบียนทดลอง

จาก 5 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 184 คน) เราพบว่าหน้ากากหรือการเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผล ต่อการวัดทางสรีรวิทยาของการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ (เช่น ความดันโลหิตและความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ) แต่เราไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลการประมาณนี้โดยใช้วิธีการของ GRADE เราพบหลักฐานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการใช้การดูแลสุขภาพจากการศึกษาการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ 3 ฉบับ โดย 1 การศึกษาวิจัยแบบ cross over แบบไม่สุ่ม (ผู้เข้าร่วม 35 คน) รายงานว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาฉุกเฉินและมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่อีก 2 การศึกษาแบบ randomised parallel trials (ผู้เข้าร่วม 1553 คน) รายงานความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่าง เรายังให้หลักฐานสำหรับผลลัพธ์นี้ว่าไม่เชื่อมั่นอย่างมากด้วยคะแนน GRADE ไม่มีการทดลองใดที่เรารายงานการกำเริบของปัญหาทางเดินหายใจ คุณภาพชีวิตหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง

ผลลัพธ์รองไม่ได้มีการรายงานอย่างดี แต่ระบุถึงผลที่ไม่สอดคล้องกันของการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศและวิธีการให้ความรู้เกี่ยวกับการยึดมั่น โดยการทดลองบางฉบับรายงานการปรับปรุงในกลุ่มวิธีการ และบางฉบับรายงานความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่าง มีการรายงานอาการต่างๆ โดย 3 การทดลอง โดยมี 1 การทดลอง แบบ randomised cross-over trial (ผู้เข้าร่วม 15 คน) รายงานว่ามีปัญหาในการหายใจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับวิธีการใช้หน้ากาก 1 การทดลอง แบบ non-randomised cross-over trial (ผู้เข้าร่วม 35 คน) รายงานว่ามีการลดลงของอาการระคายเคืองในลำคอและจมูกในกลุ่มการเปลี่ยบเส้นทางการเดินทางที่มีมลพิษน้อยกว่า (แต่ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในอาการระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ) และการทดลองแบบ randomised parallel trial (ผู้เข้าร่วม 519 คน) รายงานว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในอาการระหว่างผู้ที่ได้รับการเตือนหมอกควันกับผู้ที่ไม่ได้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 21 สิงหาคม 2021

Tools
Information