แสงแดดเพื่อป้องกันและรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงในทารกคลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนดระยะท้าย

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

แสงแดดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลเพียงใดในการรักษาหรือป้องกันโรคดีซ่าน (ผิวเหลืองเรียกว่าภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง) ในทารกแรกเกิด

ความเป็นมา

ทารกที่เป็นโรคดีซ่านมักได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ ซึ่งจะปล่อยแสงสีเขียวแกมน้ำเงินที่เปลี่ยนแปลงบิลิรูบิน (สารสีเหลืองที่พบในเลือดของทารกตามธรรมชาติ) เพื่อให้สามารถขับออกได้ง่ายขึ้น

แสงแดดเปล่งแสงในสเปกตรัมที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม แสงแดดยังปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายและรังสีอินฟราเรดซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดดและมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้ การให้ทารกสัมผัสกับแสงแดดอาจหมายความว่าพวกเขาอาจจะร้อนหรือเย็นเกินไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMIC) การส่องไฟบางครั้งอาจไม่มีให้ใช้สำหรับทารกที่ต้องการ นอกจากนี้ ทารกในประเทศเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดีซ่านที่เป็นอันตรายมากขึ้น โดยที่บิลิรูบินในเลือดถึงระดับที่สามารถผ่านเยื่อหุ้มสมองและทำให้เกิดความเสียหายต่อสมอง ทารกใน LMIC มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดีซ่านเพิ่มขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่การเข้าถึงการดูแลมารดาที่ไม่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ จำนวนความผิดปกติของโรคเลือดที่ก่อให้เกิดโรคดีซ่านเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บจากการคลอดเพิ่มขึ้น

เนื่องจากแสงแดดมีพร้อมอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาว่าแสงแดดปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการตัวเหลืองในทารกใน LMIC หรือไม่

ลักษณะการศึกษา

เรารวมการทดลองทางคลินิก 3 ฉบับ ที่มีทารก 1103 คนจากสองประเทศ การทดลองรวมทารกที่เกิดในหรือใกล้ถึงวันครบกำหนด (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ขึ้นไป) และมีอายุน้อยกว่า 2 สัปดาห์ การศึกษา 1 ฉบับ ประเมินทารกที่มีสุขภาพดี และอีกสองการศึกษาประเมินทารกที่เป็นโรคดีซ่าน ในการศึกษา 1 ฉบับ เด็กทารกได้รับการรักษาด้วยแสงแดดหรือไม่ได้รับการรักษาใดๆ เพื่อประเมินแสงแดดในการป้องกันหรือลดอาการดีซ่าน ในการศึกษาอีก 2 ฉบับ มีการสุ่มเลือกทารกที่เป็นโรคดีซ่านให้เข้ารับการบำบัดด้วยเครื่องส่องไฟหรือรับแสงแดดผ่านเต็นท์กรองแสงที่กันแสงอัลตราไวโอเลตและรังสีอินฟราเรด และกลุ่มเหล่านี้ได้รับการเปรียบเทียบการดีขึ้นของอาการดีซ่าน การศึกษา 1 ฉบับไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเงินทุนวิจัย การศึกษาอีก 2 ฉบับ ได้รับทุนจากกองทุนวิจัย Thrasher หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงมิถุนายน 2020

ผลลัพธ์สำคัญ

แสงแดดกับการไม่รักษา: ทารกที่โดนแสงแดดอาจมีอาการดีซ่านน้อยลงและมีอาการตัวเหลืองน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ไม่ได้รับการรักษาป้องกันโรคดีซ่าน ไม่มีการลดลงในการกลับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการดีซ่านในทารกที่โดนแสงแดดเมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ไม่ได้รับการรักษา

แสงแดดกับแหล่งอื่นๆ ของการส่องไฟ: เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ได้รับการบำบัดด้วยการส่องไฟด้วยไฟฟ้า ทารกที่สัมผัสแสงแดดจะมีอัตราการลดลงของระดับบิลิรูบินใกล้เคียงกัน การใช้ฟิล์มกรองแสง ทารกที่โดนแสงแดดไม่มีอัตราการถูกแดดเผา ภาวะขาดน้ำ หรืออุณหภูมิต่ำกว่าปกติ ทารกที่โดนแสงแดดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอุณหภูมิกายสูงเกิน ประสิทธิภาพของแสงแดดอาจไม่ด้อยไปกว่าการส่องไฟ หากสามารถโดนแสงแดดได้อย่างน้อยสี่ชั่วโมงต่อวัน และสามารถส่องไฟด้วยไฟฟ้าในเวลากลางคืนเมื่อจำเป็น

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ความแน่นอนของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ในการศึกษาทั้งสามอยู่ในระดับต่ำมากถึงปานกลาง ต่ำมากสำหรับผลลัพธ์หลักทั้งหมดในแต่ละการศึกษา เราไม่แน่ใจว่าแสงแดดมีประสิทธิผลในการป้องกันหรือรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงในทารกคลอดครบกำหนดหรือทารกคลอดก่อนกำหนดช่วงปลายหรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แสงแดดอาจเป็นส่วนเสริมที่มีประสิทธิผลร่วมกับการส่องไฟแบบเดิมใน LMIC อาจใช้ในกรณีที่เครื่องส่องไฟมีจำกัดโดยการใช้หมุนเวียนกัน และอาจเหมาะกับครอบครัวมากกว่าเนื่องจากจะช่วยให้มีการใกล้ชิดกับทารกเพิ่มขึ้น การกรองแสงแดดเพื่อป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายและการตรวจอุณหภูมิทารกภายใต้แสงแดดเป็นประจำอาจได้รับการรับประกันเรื่องความปลอดภัย แสงแดดอาจมีประสิทธิผลในการป้องกันภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงในบางกรณี แต่การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าแสงแดดเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิผลสำหรับการรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง เนื่องจากแสงแดดมีอยู่เป็นระยะๆ และความเชื่อมั่นในหลักฐานในการศึกษาเหล่านี้ต่ำหรือต่ำมาก

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

กลุ่มอาการทางสมองจากบิลิรูบินเฉียบพลัน (ABE) และภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ ของภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงอย่างรุนแรงในทารกแรกเกิด เกิดขึ้นบ่อยในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMIC) เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ทำให้ทารกใน LMIC มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง ซึ่งรวมถึงความชุกของความผิดปกติทางโลหิตวิทยาที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น การดูแลก่อนคลอดหรือหลังคลอดที่น้อย และการขาดทรัพยากรในการรักษาทารกที่เป็นดีซ่าน มีบ่อยครั้งที่โรงพยาบาลและคลินิกประสบปัญหาการขาดแคลนเครื่องส่องไฟที่ใช้งานได้และการเข้าถึงไฟฟ้าเพื่อใช้งานเครื่องก็ไม่สม่ำเสมอ แสงแดดมีศักยภาพในการรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง: ประกอบด้วยความยาวคลื่นของแสงที่ผลิตโดยเครื่องส่องไฟ อย่างไรก็ตาม มันมีแสงอัลตราไวโอเลตและรังสีอินฟราเรดที่เป็นอันตราย และการเปิดรับแสงเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การถูกแดดเผา ความเสียหายของผิวหนัง และภาวะอุณหภูมิเกินหรืออุณหภูมิต่ำกว่าปกติ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของแสงแดดที่ใช้เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับอุปกรณ์กรองหรือขยายในการป้องกันและรักษาโรคดีซ่านทางคลินิกหรือภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงที่ได้รับการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการทั้งในทารกคลอดครบกำหนดและทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดระยะท้าย

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้กลยุทธ์การสืบค้นตามมาตรฐานของ Cochrane Neonatal เพื่อค้นหาใน CENTRAL (2019 ฉบับที่ 5), MEDLINE, Embase และ CINAHL เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2019 เราสืบค้นฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิก รายงานการดำเนินการประชุม และรายการอ้างอิงของบทความที่ได้มาสำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs

เราปรับปรุงการค้นหาในวันที่ 1 มิถุนายน 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวม RCTs, quasi-RCTs และ cluster RCTs เราไม่รวมการศึกษาแบบ crossover RCTs การศึกษาที่รวมต้องมีการประเมินแสงแดด (มีหรือไม่มีตัวกรองหรือการขยาย) เพื่อป้องกันและรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงหรือโรคดีซ่านในทารกคลอดครบกำหนดหรือทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดระยะท้าย ทารกแรกเกิดต้องลงทะเบียนในการศึกษานี้ตามอายุหลังคลอด 1 สัปดาห์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ผลลัพธ์หลักของเราคือ: การใช้การส่องไฟแบบทั่วไป ความล้มเหลวในการรักษาที่ต้องให้ถ่ายเลือด ABE กลุ่มอาการทางสมองจากบิลิรูบินเรื้อรัง และการเสียชีวิต

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 3 ฉบับ (ทารก 1103 คน) การศึกษาทั้ง 3 ฉบับ มีขนาดตัวอย่างที่เล็ก ไม่มีการปกปิด และมีความเสี่ยงที่จะมีอคติสูง เราวางแผนที่จะดำเนินการเปรียบเทียบ 4 แบบ แต่พบการศึกษาที่รายงานการเปรียบเทียบ 2 แบบ เท่านั้น

แสงแดดที่มีหรือไม่มีตัวกรอง ( filters) หรือการขยาย (amplification) เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษาเพื่อป้องกันและรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงในทารกคลอดครบกำหนดและทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดระยะท้าย

การศึกษา 1 ฉบับ เกี่ยวกับการสัมผัสกับแสงแดดวันละ 2 ครั้ง (30 ถึง 60 นาที) เมื่อเทียบกับไม่ได้รับ พบว่า การรักษารายงานว่าอุบัติการณ์ของโรคดีซ่านอาจลดลง (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR] 0.61, ช่วงความเชื่อมั่น 95% [CI] 0.45 ถึง 0.82; ความแตกต่างของความเสี่ยง [RD] −0.14, 95% CI −0.22 ถึง −0.06; จำนวนที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม 1 คน [NNTB] 7, 95% CI 5 ถึง 17; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 482 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และจำนวนวันที่ทารกที่เป็นโรคดีซ่านอาจลดลงได้ (ความแตกต่างเฉลี่ย [MD] −2.20 วัน, 95% CI −2.60 ถึง −1.80; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 482 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือผลที่เป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการที่ใช้ (intervention) การศึกษาไม่ได้ประเมินการใช้การส่องไฟแบบทั่วไป ความล้มเหลวในการรักษาที่ต้องให้ถ่ายเลือด ABE และผลที่ตามมาของภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงในระยะยาว การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการบำบัดด้วยแสงแดดอาจลดอัตราการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายในเจ็ดวันนับจากวันที่ออกจากโรงพยาบาลเพื่อรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง แต่หลักฐานมีความไม่แน่นอนมาก (RR 0.55, 95% CI 0.27 ถึง 1.11; RD −0.04, −0.08 ถึง 0.01; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 482 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

แสงแดดที่มีหรือไม่มีตัวกรอง (filters) หรือการขยายสัญญาณ (amplification) เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งอื่น ๆ ของการส่องไฟเพื่อรักษาภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงในทารกที่ได้รับการยืนยันมีภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง

การศึกษา 2 ฉบับ (ทารก 621 คน) เปรียบเทียบผลของการได้รับแสงแดดที่ผ่านการกรองกับแหล่งอื่นของการส่องไฟ (phototherapy) ในทารกที่ยืนยันภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง การส่องไฟที่ผ่านการกรองด้วยแสงแดด (FSPT) และการส่องไฟด้วยไฟฟ้าแบบทั่วไปหรือแบบเข้มข้นทำให้การรักษามีประสิทธิผลในจำนวนวันเท่ากัน (กำหนดอย่างกว้างๆ ว่าเป็นการเพิ่มระดับบิลิรูบินเพียงเล็กน้อยในทารกที่อายุน้อยกว่า 72 ชั่วโมง และปริมาณบิลิรูบินในทารกลดลงในทารกอายุมากกว่า 72 ชั่วโมงในวันใดก็ตามที่มีการบำบัดด้วยแสงแดดอย่างน้อย 4 ถึง 5 ชั่วโมง) อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในความล้มเหลวในการรักษาที่ต้องการการถ่ายเลือด (typical RR 1.00, 95% CI 0.06 ถึง 15.73; typical RD 0.00, 95% CI −0.01 ถึง 0.01; การศึกษา 2 ฉบับ, ทารก 621 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษา 1 ฉบับ รายงาน ABE และไม่มีทารกใดพัฒนาผลลัพธ์นี้ (RR ประเมินไม่ได้; RD 0.00, 95% CI −0.02 ถึง 0.02; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 174 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษา 1 ฉบับ รายงานการเสียชีวิตเป็นเหตุผลในการถอนตังจากการศึกษา ไม่มีการถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากเสียชีวิต (RR ไม่สามารถประมาณค่าได้ RD ปกติทั่วไป 0.00, 95% CI −0.01 ถึง 0.01; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 447 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดประเมินผลลัพธ์ในระยะยาว

อันตรายที่อาจเกิดขึ้น: การศึกษาทั้ง 2 ฉบับแสดงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับภาวะอุณหภูมิเกิน (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.5 °C) เมื่อใช้ FSPT (โดยทั่วไปคือ RR 4.39, 95% CI 2.98 ถึง 6.47, RD 0.30, 95% CI 0.23 ถึง 0.36; จำนวนที่จำเป็นในการรักษา สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายเพิ่มเติม [NNTH] 3, 95% CI 2 ถึง 4; การศึกษา 2 ฉบับ, ทารก 621 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติอาจไม่แตกต่างกัน (อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35.5 °C) (typical RR 1.06, 95% CI 0.55 ถึง 2.03; typical RD 0.00, 95% CI −0.03 ถึง 0.04; การศึกษา 2 ฉบับ, ทารก 621 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลาง)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 14 ธันวาคม 2022

Tools
Information