การบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับสตรีที่มีประสบการณ์ได้รับความรุนแรงจากชีวิตคู่

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ความรุนแรงในครอบครัว (ทางร่างกาย อารมณ์ การล่วงละเมิดทางเพศ และพฤติกรรมการควบคุมโดยคู่รักหรืออดีตคู่รัก) เป็นเรื่องที่พบได้มากในทั่วโลก และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทางอารมณ์และร่างกายที่คงอยู่ยาวนาน การบำบัดทางจิตวิทยา (การให้คำปรึกษาโดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม) อาจช่วยพัฒนาสุขภาพจิตของสตรีและช่วยให้พวกเขาให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนความปลอดภัย การเข้าถึงแหล่งข้อมูลสำหรับตัวเองและลูก ๆ ของพวกเขา และเป้าหมายสูงสุดเพื่อหลีกเลี่ยงจากความรุนแรงในครอบครัว

เราสืบค้นวรรณกรรมที่เป็นงานวิจัยเชิงทดลองทั่วโลกที่ศึกษาเปรียบเทียบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ระหว่างกลุ่มสตรีที่รอดชีวิตจากการได้รับความรุนแรงในครอบครัวที่ได้รับการบำบัดทางจิตวิทยากับกลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดทางจิตวิทยาจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2019 เพื่อทำความเข้าใจว่าวิธีการรักษาดังกล่าวปลอดภัยและได้ผลหรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

สตรีที่ถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลองที่ได้รับการบำบัดทางจิตวิทยาหรืออีกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ เราพบการทดลอง 33 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นสตรี 5517 คน อายุเฉลี่ย 37 ปี และ 2 ใน 3 ของพวกเขาว่างงาน ครึ่งหนึ่งของพวกเขาแต่งงานหรืออยู่กับคู่รัก และครึ่งหนึ่งของพวกเขาได้รับความรุนแรงในครอบครัวยาวนานถึง 12 เดือน การบำบัดทางจิตวิทยาส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบเห็นหน้าแบบตัวต่อตัว แต่แตกต่างกันไปตามระยะเวลาในการรักษา (2 ถึง 50 ครั้ง) และบุคลากรที่ทำการบำบัด (นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน แพทย์ประจำครอบครัว นักวิจัย) สตรีได้รับเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการวิจัยจากสถานพยาบาล ศูนย์ชุมชน และสถานพักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยจากการได้รับความรุนแรงในครอบครัว การทดลอง 19 เรื่อง วัดภาวะซึมเศร้าของสตรี 2 เรื่องใช้การประเมินความสามารถในตนเอง (ถ้าสตรีเชื่อว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองได้) และทุกการศึกษาประเมินการออกกลางคันจากการศึกษา เราใช้จำนวนการออกกลางคันเพื่อวัดผลกระทบที่เป็นอันตราย การทดลองส่วนใหญ่ติดตามประเมินผลสตรีภายใน 6 เดือนหลังจากเริ่มการทดลอง

ผลการศึกษาที่สำคัญ

เราพบหลักฐานว่าการบำบัดทางจิตวิทยาอาจช่วยลดอาการซึมเศร้าและอาจลดอาการวิตกกังวลสำหรับสตรีที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว (ติดตามประเมินผล 6 ถึง 12 เดือนหลังการบำบัด) การบำบัดทางจิตวิทยาไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ อย่างไรก็ตามเราไม่แน่ใจว่าการบำบัดทางจิตวิทยาจะช่วยเพิ่มความสามารถในตนเอง สุขภาพจิต คุณภาพชีวิต การสนับสนุนทางสังคม การรับบริการด้านการดูแลสุขภาพและความรุนแรงในครอบครัว การวางแผนความปลอดภัยหรือลดอาการที่เกิดจาก การได้รับบาดแผลทางใจ (Post-traumatic stress disorder) และการได้รับความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบต่างๆได้หรือไม่

โดยรวมแล้วยังมีความต้องการงานวิจัยเชิงทดลองเพิ่มที่ออกแบบการประเมินผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันและกำหนดเวลาในการติดตามผลที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากเราไม่สามารถรวมการวิจัยเหล่านี้เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ ดังนั้นในขณะที่สตรีที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัวอาจได้รับความช่วยเหลือจากการบำบัดทางจิตวิทยาเพื่อให้สุขภาพทางอารมณ์ดีขึ้นซึ่งอาจช่วยตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การได้รับการสนับสนุนและการดูแลแบบองค์รวมจากการบาดเจ็บที่ซับซ้อน แต่เราไม่แน่ใจว่าการบำบัดทางจิตวิทยาจะช่วยพัฒนามิติต่างๆเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขาได้หรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานแสดงว่าสำหรับสตรีที่มีประสบการณ์ IPV การบำบัดทางจิตวิทยาอาจช่วยลดอาการซึมเศร้าและอาจลดความวิตกกังวลได้ อย่างไรก็ตามเราไม่แน่ใจว่าการบำบัดทางจิตวิทยาจะช่วยทำให้ผลลัพธ์อื่นๆ ดีขึ้นได้หรือไม่ (การรับรู้ความสามารถของตนเอง PTSD, การได้รับ IPV ซ้ำ, การวางแผนด้านความปลอดภัย) และมีข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการเข้าร่วมโครงการวิจัยหรือไม่ ดังนั้นในขณะที่การบำบัดทางจิตใจอาจช่วยทำให้สุขภาพทางอารมณ์ดีขึ้น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าความต้องการในปัจจุบันของสตรีในด้านความปลอดภัย การสนับสนุนและการรักษาแบบองค์รวมจากการบาดเจ็บที่ซับซ้อนจะได้รับการแก้ไขโดยวิธีนี้หรือไม่ โดยรวมแล้วมีความจำเป็นในการศีกษาการวิจัยเชิงทดลองเพิ่มเติมโดยเน้นที่การได้รับบาดแผลทางใจเป็นแกนในการรักษา (trauma approach) ระเบียบวิธีการวิจัยที่เข้มงวด (ใช้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันและติดตามประเมินผลในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน) เนื่องจากเราไม่สามารถรวมผลการวิจัยเหล่านี้ได้มากเพื่อให้เห็นภาพรวมได้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความรุนแรงจากคู่ชีวิต (IPV) ต่อสตรีเป็นสิ่งที่พบมากและมีความสัมพันธ์อย่างมากกับปัญหาสุขภาพจิต สตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงจากคู่ชีวิต (IPV ) เข้ารับบริการด้านสุขภาพบ่อยครั้งในประเด็นปัญหาสุขภาพจิต องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าสตรีที่มีประสบการณ์ IPV และได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิตควรได้รับการรักษาสุขภาพจิตตามหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าการบำบัดทางจิตวิทยาใช้ได้ผลกับสตรีในบริบทของ IPV หรือไม่และก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับสตรีที่มีประสบการณ์ IPV เกี่ยวกับผลลัพธ์หลักของภาวะซึมเศร้าการรับรู้ความสามารถของตนเองและตัวบ่งชี้อาการข้างเคียงจากการเข้าร่วมโครงการ (การออกกลางคัน) ในการติดตามผล 6 ถึง 12 เดือนและผลลัพธ์รองของสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น อาการวิตกกังวลคุณภาพชีวิต การได้รับความรุนแรงจากคู่ชีวิตซ้ ำการวางแผนและพฤติกรรมเพื่อความปลอดภัย การใช้บริการด้านการดูแลสุขภาพและการดูแลผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากชีวิตคู่ (IPV) และการสนับสนุนทางสังคม

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นในฐานข้อมูลการวิจัยแบบทดลองของ Cochrane Common Mental Disorders Controlled Trials Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO และฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 3 รายการ จนถึงเดือนตุลาคม 2019 นอกจากนี้เรายังสืบค้นจากทะเบียนการทดลองระหว่างประเทศเพื่อค้นหาการทดลองที่ยังไม่ได้เผยแพร่หรือกำลังดำเนินอยู่และสืบค้นด้วยมือจากวารสารที่เลือกสรร จากรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เรานำมาทบทวนและวรรณกรรมที่มีการเผยแพร่ในวงจำกัดหรือไม่ได้เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT), quasi-RCTs, cluster-RCTs และ การทดลองแบบไขว้ (cross-over trials) ของการบำบัดทางจิตวิทยาในสตรีอายุ 16 ปีขึ้นไปที่รายงานด้วยตนเองว่ามีประสบการณ์ IPV ล่าสุดหรือตลอดชีวิต เรารวมการทดลองในกรณีที่สตรีได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาการใช้สารเสพติด หรือมีปัญหาทั้งสองประเด็นร่วมด้วย การบำบัดทางจิตวิทยา ประกอบด้วย การทดลองที่ใช้การบำบัดทางจิตวิทยาที่หลากหลายที่มีการกำหนดเป้าหมายไปที่ การรู้คิด แรงจูงใจและพฤติกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ ไม่ได้รับการรักษา การได้รับการรักษาที่ล่าช้าหรือน้อยที่สุด เราจัดประเภทการบำบัดทางจิตวิทยาตามรายการการบำบัดทางจิตวิทยาของ Cochrane Common Mental Disorders

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คนคัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่นำเข้า เปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมการทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบในการประเมินผลระยะสั้น (ไม่เกิน 6 เดือนหลังการประเมินข้อมูลพื้นฐานก่อนการทดลอง) ระยะกลาง (6 เดือน ถึงต่ำกว่า 12 เดือน ผลลัพธ์หลักในช่วงเวลาการประเมินผลที่กำหนดไว้) และการติดตามผลระยะยาว (ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป) เราใช้ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) สำหรับตัวแปรที่เป็นอัตราส่วนต่อเนื่องและอัตราออด (Odd ratio) (OR) สำหรับผลลัพธ์แบบตัวแปรที่มีสองคำตอบ และใช้การวิเคราะห์ random-effects meta-analysis เนื่องจากงานวิจัยเชิงทดลองที่รวบรวมมามีความแตกต่างกันสูง

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการทดลองทางจิตวิทยา 33 เรื่อง มีสตรีเข้าร่วมการวิจัยทั้งหมด 5517 คนที่ได้รับการสุ่มให้เข้ากลุ่มทดลอง (สตรี 2798 คน, 51%) และเข้ากลุ่มเปรียบเทียบ (สตรี 2719 คน, 49%) การบำบัดทางจิตวิทยาประกอบด้วยการบำบัดแบบผสมผสาน 11 เรื่อง, การบำบัดแบบมนุษยนิยม 9 เรื่อง, การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด 6 เรื่อง, การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดคลื่นลูกที่สาม 4 เรื่อง, และการบำบัดเชิงจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ อีก 3 เรื่อง ไม่มีการทดลองใดที่จัดว่าเป็นการบำบัดทางจิตพลวัตร การทดลองส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีรายได้สูง (19 เรื่อง ในสหรัฐอเมริกา, 3 เรื่อง ในอิหร่าน, 2 เรื่องในออสเตรเลียและกรีซ และ ในจีน อินเดีย เคนยาไนจีเรีย ปากีสถาน สเปนและสหราชอาณาจักร ประเทศละ 1 เรื่อง) กลุ่มสตรีที่เข้าโครงการวิจัยได้รับการเชิญชวนจากสถานพยาบาลดูแลสุขภาพ ชุมชนสถานที่พักพิงหรือที่หลบภัย หรือการรวมกันจากสถานที่เหล่านี้หรือจากทุกแห่ง การบำบัดทางจิตวิทยาส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบเห็นหน้าแบบตัวต่อตัว (28 เรื่อง) แต่แตกต่างกันไปตามระยะเวลาในการรักษา (2 ถึง 50 ครั้ง) และบุคลากรที่ทำการบำบัด (นักสังคมสงเคราะห ์พยาบาล นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน แพทย์ประจำครอบครัว นักวิจัย) ขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ยคือสตรีจำนวน 82 คน (14 ถึง 479 คน) อายุเฉลี่ย 37 ปี และ 66% ว่างงาน ครึ่งหนึ่งของสตรีที่เข้าร่วมโครงการแต่งงานหรืออยู่กับคู่รักและมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมวิจัยมีประสบการณ์ IPV ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (การทดลอง 17เรื่อง) มีประสบการณ์การถูก IPV ในช่วงสองปีที่ผ่านมา 6% (การทดลอง 2 เรื่อง) และ 42% มีประสบการณ์การถูก IPV ในช่วงชีวิตของพวกเขา (14 การทดลอง)

ในขณะที่การทดลอง 20 เรื่อง (61%) อธิบายถึงกลยุทธ์การสุ่มตัวอย่างที่มีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำต่อการมีความเสี่ยง มีเพียง 12 การทดลอง (36%) เท่านั้นที่อธิบายขั้นตอนที่เชื่อถือได้เพื่อปกปิดการจัดสรรสถานะของผู้เข้าร่วมวิจัยในแต่ละกลุ่ม

ในขณะที่การทดลอง 19 เรื่องวัดภาวะซึมเศร้าของสตรี มีเพียง 4 การทดลองเท่านั้นที่วัดภาวะซึมเศร้าเป็นผลลัพธ์ต่อเนื่องในการติดตามประเมินผลระยะกลาง การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการบำบัดทางจิตวิทยาในการลดภาวะซึมเศร้า (SMD −0.24, 95% CI −0.47 ถึง −0.01; การทดลอง 4 เรื่อง, สตรี 600 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) อย่างไรก็ตามสำหรับความสามารถในการรับรู้ความสามารถของตนเองอาจไม่มีหลักฐานเพียงพอในการระบุความแตกต่างระหว่างกลุ่ม (SMD −0.12, 95% CI −0.33 ถึง 0.09; การทดลอง 1 เรื่องที่มีข้อมูลการติดตามประเมินผลระยะกลาง, สตรี 346 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) นอกจากนี้อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างจำนวนสตรีที่ออกจากกลุ่มการทดลองหรือกลุ่มควบคุมที่มีการให้กิจกรรม รวมถึงตัวบ่งชี้ผลข้างเคียงจากการเข้าร่วมวิจัย (OR 1.04, 95% CI 0.75 ถึง 1.44; การทดลอง 5 เรื่องที่มีข้อมูลการติดตามประเมินผลระยะกลาง, สตรี 840 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) แม้ว่าจะไม่มีการทดลองรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการบำบัดทางจิตวิทยาหรือการมีส่วนร่วมในการทดลอง แต่มีการทดลองเพียง 1 เรื่องเท่านั้นที่วัดผลลัพธ์ข้างเคียงโดยใช้เครื่องมือที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว

สำหรับผลลัพธ์รอง การวิจัยที่ประเมินความวิตกกังวลเฉพาะในช่วงการติดตามผลระยะสั้นแสดงให้เห็นว่าการบำบัดทางจิตวิทยาอาจลดอาการวิตกกังวลได้ (SMD −0.96, 95% CI −1.29 ถึง −0.63; การทดลอง 4 เรื่อง, สตรี 158 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) อย่างไรก็ตามในการติดตามผลในระยะกลางจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำพบว่าอาจไม่มีหลักฐานความแตกต่างระหว่างกลุ่มสำหรับผลลัพธ์ด้านการวางแผนความปลอดภัย (SMD 0.04, 95% CI −0.18 ถึง 0.25; การทดลอง 1 เรื่อง, สตรี 337 คน), บาดแผลทางใจ (PTSD) (SMD −0.24, 95% CI −0.54 ถึง 0.06; การทดลอง 4 เรื่อง, สตรี 484 คน) หรือการได้รับความรุนแรงซ้ำจาก IPV ทุกรูปแบบ (SMD 0.03, 95% CI −0.14 ถึง 0.2; การทดลอง 2 เรื่อง, สตรี 547 คน)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 16 เมษายน 2021

Tools
Information