การออกกำลังกายมีประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อโรคตับแข็งหรือไม่?

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

การเกิดความเสียหายของตับเป็นเวลานานสามารถก่อให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็น ซึ่งท้ายที่สุดแผลเป็นดังกล่าวนี้จะไปแทนที่เนื้อเยื่อตับที่มีสุขภาพดีและส่งผลให้เกิดความเสียหายเรื้อรัง (โรคตับแข็ง) ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งมักจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนั้นการออกกำลังกายอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราศึกษาประโยชน์และอันตรายของการออกกำลังกายเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายหลอก (Sham exercise) ตัวอย่างเช่น การฝึกผ่อนคลาย (Supervised relaxation sessions) หรือ ไม่มีการออกกำลังกาย ในผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง

ช่วงเวลาที่สืบค้น

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

แหล่งเงินทุนการวิจัย

ไม่มีการศึกษาใดที่ได้รับทุนสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยาหรืออุปกรณ์

ลักษณะของการศึกษา

เราพบ 6 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) (ผู้เข้าร่วมโครงการถูกจัดสรรให้เข้ากลุ่มหนึ่งในสองกลุ่มโดยสุ่ม) โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 173 คน ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นโรคตับแข็ง สิ่งแทรกแซง (Intervention) ที่ศึกษาคือการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การปั่นจักรยาน การเดินบนลู่วิ่ง และการยกน้ำหนัก เป็นต้น โปรแกรมต่าง ๆ ทำที่บ้านหรืออยู่ภายใต้การดูแล และใช้เวลาประมาณ 8 ถึง 14 สัปดาห์

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การออกกำลังกายเหมือนจะไม่ส่งผลต่อการเสียชีวิติ ผลข้างเคียง หรือคุณภาพชีวิต

คุณภาพของหลักฐานการศึกษา

โดยรวมพบว่า หลักฐานของผลของการออกกำลังกายมีคุณภาพต่ำหรือต่ำมาก ปัจจัยที่ลดระดับคุณภาพของหลักฐาน ได้แก่ การขาดการศึกษาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติต่ำ การศึกษามีขนาดเล็ก และผลการศึกษาแตกต่างกัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ประโยชน์และอันตรายของการออกกำลังกายยังไม่ชัดเจนต่อการตาย การเจ็บป่วย หรือคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของการออกกำลังกายต่อผลลัพธ์ทางคลินิก

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความอ่อนแอของกล้ามเนื้อเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง และสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของการออกกำลังกายเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายหลอกหรือไม่ออกกำลังกายในผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจากแหล่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ ได้แก่ The Cochrane Hepato-Biliary Group Controlled Trials Register, the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE Ovid, Embase Ovid และอีก 3 แหล่ง ได้แก่ การสืบค้นด้วยมือจากรายการอ้างอิง (Reference lists), บทคัดย่อและการนำเสนอในการประชุม, Google Scholar และการลงทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองทางคลินิก จนถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราศึกษาในการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) โดยไม่จำกัดสถานะการตีพิมพ์ หรือภาษา เกณฑ์การคัดเข้า ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง โดยไม่จำกัดสาเหตุ หรือระยะของโรค สิ่งแทรกแซงที่ศึกษา คือ การออกกำลังกาย เปรียบเทียบกับการออกกำลังกายหลอก หรือไม่ออกกำลังกาย

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ 2 คนดึงข้อมูลโดยอิสระต่อกัน เราวิเคราะห์เมตต้า และนำเสนอผลการศึกษาด้วยค่าความเสี่ยงสัมพันธ์ (Risk ratios: RRs) สำหรับผลลัพธ์ทวิวิภาค (dichotomous) และผลต่างค่าเฉลี่ย (Mean differences: MDs) สำหรับผลลัพธ์ต่อเนื่อง (Continuous) พร้อมกับ 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CIs.) และค่าไอกำลังสอง (I-squared) ซึ่งบอกถึงภาวะความต่าง (Heterogeneity) เราประเมินอคตตามแนวทางของ the Cochrane Hepato-Biliary Group และพิจารณาความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยใช้วิธีการ GRADE

ผลการวิจัย: 

เราพบ 6 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 173 ราย ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นโรคตับแข็งที่อยู่ในระยะ Child-Pugh stage A หรือ B กลุ่มที่ได้รับสิ่งแทรกแซงได้เข้าร่วมการออกกำลังกาย 8 ถึง 14 สัปดาห์ (แอโรบิก 3 การศึกษา การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน(Resistance exercise) 1 การศึกษา หรือแอโรบิกร่วมกับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน 2 การศึกษา) กลุ่มควบคุมได้รับการออกกำลังกายหลอก (การผ่อนคลายภายใต้การดูแล 1 การศึกษา) หรือไม่มีการแทรกแซง (5 การศึกษา) ไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มออกกำลังกายทั้งหมด 89 คน และพบผู้เสียชีวิตในกลุ่มควบคุม 2 คน จาก 84 คน (RR 0.19, 95% CI 0.01 ถึง 3.73; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) สาเหตุของการเสียชีวิตคือ ตับวายเฉียบพลันซ้ำเติมโรคตับเรื้อรังที่มีอยู่ก่อนแล้ว (Acute-on-chronic liver disease) พบผู้เข้าร่วมโครงการ 9 รายในกลุ่มออกกำลังกาย และ 13 รายในกลุ่มควบคุมมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง (RR 0.61, 95% CI 0.19 ถึง 1.94; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

การออกกำลังกายไม่แสดงผลที่เป็นประโยชน์หรือโทษต่อคุณภาพชีวิตที่ประเมินโดยแบบสอบถามโรคตับเรื้อรัง (MD 0.11, 95% CI –0.44 ถึง 0.67; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ในทำนองเดียวกัน การออกกำลังกายไม่แสดงผลที่ชัดเจนต่อสมรรถภาพทางกาย (วัดจากการใช้ออกซิเจนสูงสุดในขณะออกกำลังอย่างเต็มที่ (Peak exercise oxygen uptake)) (MD 0.3 มล./กิโลกรัม/นาที 95% CI –2.74 ถึง 3.35; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และการทดสอบเดินหกนาที (MD 56.06 นาที, 95% CI –9.14 ถึง 121.26; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การออกกำลังกายไม่แสดงผลที่ชัดเจนต่อเส้นรอบวงต้นขา (MD 1.76 ซม., 95% CI -0.26 ถึง 3.77; หลักฐานคุณภาพต่ำ) แต่พบว่าเส้นรอบวงต้นแขนเพิ่มขึ้น (MD 2.61 ซม., 95% CI 0.36 ถึง 4.85; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม สาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 27 ธันวาคม 2561

Tools
Information