การฝึกโยคะเปรียบเทียบกับการดูแลที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยจิตเภท

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

โยคะเป็นการรักษาเสริมที่มีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาเสริมอื่นๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภทหรือไม่

ความเป็นมา

การฝึกโยคะได้ริเริ่มมาจากประเทศอินเดียโบราณเกี่ยวข้องกับการจัดท่าทางทางกายและการฝึกการหายใจ เพื่อส่งเสริมความสมดุลระหว่างจิตใจและร่างกาย ปัจจุบันโยคะได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในรูปแบบการผ่อนคลายและการออกกำลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การประสานงานของร่างกาย ความอดทน และการควบคุมการหายใจและสมาธิ โยคะยังช่วยลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพและความรู้สึกผาสุกอีกด้วย โยคะถูกใช้เป็นการบำบัดเสริมสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง รวมถึง การการควบคุมความดันโลหิต ตลอดจนภาวะสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

บางการศึกษาชี้ให้เห็นว่าโยคะอาจเป็นประโยชน์ในฐานะการรักษาเสริมไปจากการรักษาตามปกติเพื่อลดอาการที่ซับซ้อนของโรคจิตเภทที่ป่วยทางจิตขั้นรุนแรง (เช่น หูแว่ว มองเห็นภาพหลอน การขาดความสนใจในผู้คนและกิจกรรม ความเหนื่อยล้า การสูญเสียการแสดงออกของอารมณ์ และการแยกตัว) และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท การวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิผลของโยคะเปรียบเทียบกับการรักษาเสริมอื่นๆ ที่มีอยู่ (เป็นการรักษาที่ไม่ใช่รักษาด้วยยาและไม่ใช่การปรึกษาหรือจิตบำบัด) ที่เพิ่มไปจากการรักษาตามปกติ

การสืบค้นหลักฐาน

เราทำการสืบค้นงานวิจัยเชิงทดลองทางอิเล็กทรอนิกส์ (การสืบค้นล่าสุดคือในเดือนมีนาคม 2017) สำหรับการทดลองที่สุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคจิตเภทเพื่อรับการฝึกโยคะหรือการรักษาเสริมอื่น ๆ ผลการสืบค้น ได้งานวิจัยจำนวน 1034 รายการ และตรวจสอบโดยผู้ทบทวน

ข้อค้นพบจากหลักฐาน

การทดลอง 6 รายการ ที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 586 คนมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการทบทวนและให้ข้อมูลที่นำไปใช้ได้ การรักษาเสริมอื่นๆ ประกอบด้วยวิธีการออกกำลังกายรูปแบบอื่นเท่านั้น ขณะนี้มีหลักฐานเพียงเล็กน้อย มีคุณภาพต่ำ และได้ข้อแนะนำว่าโยคะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากไปกว่าการรักษาแบบเสริมอื่นๆ สำหรับโรคจิตเภท

ข้อสรุป

หลักฐานปัจจุบันจากงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแสดงให้เห็นว่าโยคะไม่ได้มีผลดีไปกว่าการรักษาโรคจิตเภทแบบอื่นๆ แต่มีตัวเปรียบเทียบที่ใช้เปรียบเทียบกับการฝึกโยคะเพียงวิธีการเดียวคือการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ หลักฐานที่ทบทวนมีจุดอ่อนเนื่องจากจำนวนการศึกษาที่มีอยู่มีจำนวนน้อย และรายงานเฉพาะการติดตามผลในระยะเวลาสั้นเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และประเมินผลระยะยาวที่เปรียบเทียบโยคะกับทางเลือกอื่นเพิ่มเติมไปจากการออกกำลังกาย

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราพบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างโยคะกับการดูแลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งการดูแลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานคือการใช้การออกกำลังกายเป็นคู่เปรียบเทียบซึ่งอาจเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกทั่วไป ผลลัพธ์ส่วนใหญ่มาจากการศึกษาเดียวที่มีขนาดตัวอย่างจำกัดและติดตามผลในระยะสั้น โดยรวมแล้วผลลัพธ์หลายด้านไม่ได้ถูกรายงาน และหลักฐานที่นำมาทบทวนนี้มีคุณภาพระดับต่ำถึงปานกลาง ซึ่งมีจุดอ่อนมากที่จะบ่งชี้ว่าโยคะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าหรือด้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับการดูแลผู้ป่วยจิตเภท

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โยคะเป็นการฝึกฝนทางจิตวิญญาณสมัยโบราญที่เริ่มต้นในประเทศอินเดียและปัจจุบันได้เป็นที่ยอมรับนำมาใช้ในโลกตะวันตกในรูปแบบการผ่อนคลายและการออกกำลังกาย เป็นที่ได้รับความสนใจว่าการฝึกโยคะอาจเป็นทางเลือกในการรักษาหรือการเสริมเพิ่มไปจากการรักษาตามปกติสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภท

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลอย่างเป็นระบบในการเปรียบเทียบผลของการฝึกโยคะกับการดูแลที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยจิตเภท

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก Cochrane Schizophrenia Group Trials Register (ล่าสุด 30 มีนาคม 2017) ซึ่งเป็นการสืบค้นบนฐานข้อมูลของ MEDLINE, PubMed, Embase, CINAHL, BIOSS, AMED, PsychINFO และทะเบียนการทดลองทางคลินิก เราสืบค้นจากเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่รวมไว้ทั้งหมด เกณฑ์การคัดเข้าไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา ระยะเวลา ประเภทเอกสารหรือสถานะการเผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาประเภท randomised controlled trials (RCTs) ทั้งหมด ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นโรคจิตเภท เปรียบเทียบระหว่างการฝึกโยคะกับการดูแลที่ไม่เป็นตามมาตรฐาน เราได้รวมการทดลองที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกและรายงานข้อมูลที่ใช้งานได้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ทีมผู้ทบทวนเลือกและดึงข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่คัดเลือกไว้ ทำการประเมินคุณภาพ อย่างเป็นอิสระต่อกัน สำหรับผลลัพธ์ชนิด binary outcomes เราทำการคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง (risk ratio; RR) และช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% โดยวิธีวิเคราะห์แบบ intention-to-treat สำหรับข้อมูลแบบต่อเนื่องจะรายงานด้วยความแตกต่างของค่าเฉลี่ย mean difference (MD) ระหว่างกลุ่มและค่า 95% CI เราใช้ fixed-effect model สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล เราตรวจสอบความแตกต่างของข้อมูล (I2 technique), ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติสำหรับการศึกษาที่รวบรวมมา และสร้างตาราง 'สรุปข้อค้นพบ' สำหรับผลลัพธ์หลัก 7 ผลลัพธ์ โดยใช้ GRADE (Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation)

ผลการวิจัย: 

เราสามารถรวมการศึกษาได้ 6 รายการ (ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 586 คน) การดูแลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานประกอบด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ผลลัพธ์ทั้งหมดเป็นการประเมินผลระยะสั้น (น้อยกว่า 6 สัปดาห์) มีความแตกต่างที่ชัดเจนในผลลัพธ์ เรื่องการออกจากการศึกษาก่อนกำหนด (6 RCTs, n=586, RR 0.64 CI 0.49 ถึง 0.83, หลักฐานคุณภาพระดับปานกลาง) ในกลุ่มที่ใช้การฝึกโยคะ ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่ม สำหรับผลลัพธ์อื่นๆ สิ่งเหล่านี้รวมถึงสภาพจิต (ค่าคะแนนในแบบประเมินอาการด้านบวกและด้านลบดีขึ้น, 1 RCT, n=84, RR 0.81 CI 0.62 ถึง 1.07, หลักฐานคุณภาพระดับต่ำ), การทำหน้าที่ทางสังคม (ค่าคะแนนจากแบบประเมินการทำหน้าที่ด้านอาชีพทางสังคมดีขึ้น, 1 RCT, n=84, RR 0.90 CI 0.78 ถึง 1.04 หลักฐานคุณภาพระดับต่ำ), คุณภาพชีวิต (สุขภาพจิต) (การเปลี่ยนแปลงค่าคะแนนเฉลี่ยจากแบบประเมิน 36-Item Short Form Survey (SF-36) คุณภาพชีวิตในรายด้าน, 1 RCT, n=69, MD - 5.30 CI -17.78 ถึง 7.18 หลักฐานคุณภาพระดับต่ำ), สุขภาพกาย (การเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยจากแบบประเมิน WHOQOL-BREF physical-health sub-scale, 1 RCT, n=69, MD 9.22 CI -0.42 to 18.86, หลักฐานคุณภาพระดับต่ำ) มีเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานผลข้างเคียง โดยไม่พบอุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มการทดลองใด มีผลลัพธ์ที่ขาดหายไปหลายด้าน ซึ่งรวมถึงอาการกำเริบ การเปลี่ยนแปลงในการรู้คิด ค่าใช้จ่ายในการดูแล ผลกระทบต่อการดูแลตามมาตรฐาน รูปแบบบริการ ความทุพพลภาพ และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น วันที่ 26 มิถุนายน 2021

Tools
Information