การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการฟื้นตัวที่ดีหลังโรคหลอดเลือดสมอง

คำถามการทบทวน

เราได้ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับผลของการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง และพบการศึกษา 1 ฉบับ

ความเป็นมา

ปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจเป็นวิธีการให้คำปรึกษาที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการค้นหาและแก้ไขความขัดแย้งด้วยทักษะการสื่อสารที่เป็นมาตรฐาน เป็นวิธีเฉพาะในการเพิ่มความคาดหวังและความเชื่อในการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เราต้องการทราบว่าการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองดีขึ้นหรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม 2015 มีเพียงการศึกษาเดียวที่ตรงตามเกณฑ์ที่เรากำหนด ซึ่งเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 411 รายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือการดูแลตามปกติระหว่าง 5 ถึง 28 วันหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ระยะเวลาติดตามผลคือ 12 เดือน การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจประกอบด้วยการสัมภาษณ์หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ จำนวนสี่ครั้งต่อคน โดยแต่ละครั้งของการสัมภาษณ์ใช้เวลา 30 ถึง 60 นาที

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

หลักฐานที่เราพบจากการศึกษาเดียวไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนว่า การใช้การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจช่วยให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันดีขึ้นหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์เป็นปกติมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ

คุณภาพของหลักฐาน

จากการประเมินการศึกษานี้ พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดอคติในด้านคุณภาพของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องจากไม่สามารถปกปิดผู้ประเมินและผู้เข้าร่วมการวิจัยได้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่า การใช้การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจจะทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีงานวิจัย RCTs ที่มีการออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ปัญหาทางจิตใจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจเป็นวิธีเฉพาะที่ช่วยในการเพิ่มแรงจูงใจภายใน ซึ่งอาจช่วยปรับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้นได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อศึกษาผลของการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการปรับปรุงการทำกิจวัตรประจำวันหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาจาก Cochrane Stroke Group's Trials Register (พฤศจิกายน 2014), the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2015, ฉบับที่ 1), MEDLINE (1948 ถึง มีนาคม 2015), EMBASE (1980 ถึง มีนาคม 2015), CINAHL (1982 ถึง มีนาคม 2015), AMED 1985 ถึงมีนาคม 2015), PsycINFO (1806 ถึงมีนาคม 2015), PsycBITE (มีนาคม 2015) และฐานข้อมูลที่เป็นภาษาจีนจำนวน 4 ฐาน ในการค้นหาการศึกษาที่ตีพิมพ์ ไม่ได้ตีพิมพ์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เราค้นหาการลงทะเบียนการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่และหนังสือประมวลผลการประชุมทางวิชาการ ตรวจสอบรายการอ้างอิง และติดต่อผู้นิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เปรียบเทียบการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับไม่มีการสัมภาษณ์ หรือการสัมภาษณ์เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจแบบหลอก หรือการบำบัดทางจิตวิทยาอื่นๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองเป็นเกณฑ์การคัดเลือก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนสองคนคัดเลือกการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้า สกัดข้อมูลที่เข้าข่าย และประเมินความเสี่ยงต่อการมีอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน การวัดผลลัพธ์ประกอบด้วยกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อารมณ์ และการเสียชีวิต

ผลการวิจัย: 

มีการศึกษาหนึ่งเรื่องที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 411 คน ซึ่งได้เปรียบเทียบการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับการดูแลตามปกติ ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้า ผลการทบทวนนี้ไม่ได้แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตามปกติ สำหรับผู้เข้าร่วมที่ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการเสียชีวิตหลังจากติดตามผลในระยะ 3 เดือนและ 12 เดือน แต่ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์เป็นปกติมากกว่าผู้ที่ได้รับการดูแลตามปกติเมื่อติดตามผล 3 เดือนและ 12 เดือน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ดร.วิภาวดี โพธิโสภา Edit โดย ผกากรอง 8 มกราคม 2023

Tools
Information