สารขับธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ความเป็นมา

ความเสียหายของสมองหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีความซับซ้อน มีทั้งความเสียหายที่เกิดในทันทีและที่เกิดตามมาในภายหลัง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับธาตุเหล็กในบริเวณที่เกิดเลือดออกอาจเชื่อมโยงกับความเสียหายของสมองที่เกิดในเวลาต่อมา ดังนั้น การลดความเป็นพิษของธาตุเหล็กจึงอาจเป็นหนึ่งในวิธีรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยสารขับธาตุเหล็ก (Iron-chelating drugs) สามารถดักจับธาตุเหล็กส่วนเกินในกระแสเลือดและในเนื้อเยื่อเฉพาะที่ และอาจลดการสะสมของธาตุเหล็กและการบาดเจ็บของสมองที่จากธาตุเหล็กได้ สนับสนุนโดยการศึกษาในสัตว์ทดลองที่พบว่าสารขับธาตุเหล็กสามารถป้องกันเซลล์สมองหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

ช่วงเวลาที่สืบค้น

การสืบค้นดำเนินการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2019

ลักษณะการศึกษา

ผู้วิจัยได้พบการศึกษา 2 รายการ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 333 คน ซึ่งศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกของการบำบัดด้วยคีเลชั่นเหล็ก (Iron chelation therapy) ด้วย deferoxamine สำหรับโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน การศึกษาทั้งสองสนใจผลลัพธ์ในผู้ที่มีเลือดออกในสมองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถรวมผลลัพธ์ของทั้งสองการศึกษาได้ ข้อมูลที่ได้จึงไม่แสดงความแตกต่างในแง่ของผลลัพธ์ทางระบบประสาทที่ดีระหว่างทั้งสองกลุ่ม การศึกษาทั้งสองรายงานว่าการให้ deferoxamine มีความปลอดภัยในทางคลินิก และการบวมน้ำ (Oedema) รอบก้อนเลือดออกในสมองลดลงเล็กน้อยในกลุ่มที่ได้รับ deferoxamine ในการศึกษาหนึ่ง แต่ไม่พบผลลัพธ์ดังกล่าวในอีกการศึกษา

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับการใช้ deferoxamine ในการเพิ่มผลลัพธ์ทางระบบประสาทสำหรับภาวะเลือดออกในสมองอยู่ในระดับต่ำ ตัดสินจากการศึกษาขนาดเล็กสองฉบับที่มีการติดตามผลในระยะสั้นและมีความแตกต่างในการวัดผล อีกทั้งข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ผลดีของการบำบัดด้วยคีเลชั่นเหล็กในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือเลือดออกในชั้น subarachnoid (subarachnoid haemorrhage) จึงยังไม่ทราบแน่ชัด

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นพบ RCT 2 รายการ ที่เข้าเกณฑ์เพื่อนำมาทบทวนต่อ แต่ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ใด ๆ สำหรับการใช้สารขับธาตุเหล็กในภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นเอง ดังนั้น ผลดีของการบำบัดด้วยคีเลชั่นเหล็กในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือเลือดออกในชั้น subarachnoid (subarachnoid haemorrhage) จึงยังไม่ทราบแน่ชัด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองและเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะทุพพลภาพทั่วโลก การศึกษาทางคลินิกและในสัตว์ย้อนหลังได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการป้องกันระบบประสาทของสารขับธาตุเหล็ก (Iron chelators) ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง บทความนี้เป็นการอัปเดต Cochrane Review ที่ตีพิมพ์ในปี 2012

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารขับธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute stroke)

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นใน Cochrane Stroke Group Trials Register (2 กันยายน 2019), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (The Cochrane Library 2019, Issue 9; 2 กันยายน 2019), MEDLINE Ovid (2 กันยายน 2019), Embase Ovid (2 กันยายน 2019) และ Science Citation Index (2 กันยายน 2019) นอกจากนี้ยังค้นหาการทดลองที่ลงทะเบียนว่ากำลังดำเนินการอยู่ด้วย

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยได้รวมการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) ของการให้สารขับธาตุเหล็กกับการไม่ให้สารขับธาตุเหล็กหรือยาหลอกสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันรวมถึงภาวะเลือดออกในชั้น subarachnoid (Subarachnoid haemorrhage)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรมทั้งสองคนคัดเลือกการศึกษาโดยเป็นอิสระต่อกัน และผู้วิจัยได้นำรายงานฉบับเต็มของงานวิจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการศึกษามาประเมินเพื่อคัดเข้าสู่การทบทวนวรรณกรรม โดยใช้เครื่องมือ “Risk of Bias” ของ Cochrane และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

มีการศึกษา RCT 2 รายการ (ผู้เข้าร่วม 333 คน) ที่ได้รับการคัดเลือกซึ่งทั้งสองการศึกษาเปรียบเทียบสารขับธาตุเหล็ก deferoxamine กับยาหลอก ในผู้ป่วยเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous intracerebral haemorrhage) ผู้วิจัยประเมินว่าการศึกษาหนึ่งมีความเสี่ยงของการมีอคติ และอีกการศึกษามีความเป็นไปได้ที่จะมีอคติ

ด้วยข้อมูลที่จำกัดและแตกต่างกันจึงไม่สามารถนำผลลัพธ์มาทำ meta-analysis ได้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ deferoxamine อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันในอัตราตาย (8% ในกลุ่มยาหลอกเทียบกับ 8% ในกลุ่ม deferoxamine ที่ 180 วัน; 1 RCT, 291 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) RCTs ทั้งสองชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์ทางระบบประสาทที่ดี (modified Rankin Scale score 0 ถึง 2) ที่ 30, 90 และ 180 วัน อาจต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันเลยระหว่างทั้งสองกลุ่ม (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine: 67% เทียบกับ 57% ที่ 30 วันและ 36% เทียบกับ 45% ที่ 180 วัน; RCT 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) RCT หนึ่งฉบับชี้ให้เห็นว่าการใช้ deferoxamine อาจไม่เพิ่มจำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขั้นร้ายแรงหรืออัตราเสียชีวิต (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine: 33% เทียบกับ 27% ที่ 180 วัน; risk ratio 0.81, 95% confidence interval 0.57 ถึง 1.16; RCT 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 291 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) แต่ไม่พบข้อมูลการเสียชีวิตภายในระยะที่ศึกษา Deferoxamine อาจส่งผลที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันเลยในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของคะแนน National Institute of Health Stroke Scale จากค่าพื้นฐานถึง 90 วัน (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine: 13 ถึง 4 เทียบกับ 13 ถึง 3; P = 0.37; RTCs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) Deferoxamine อาจลดอาการบวมน้ำรอบก้อนเลือดออกในสมองได้เล็กน้อยใน 15 วัน (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine; 1.91 เทียบกับ 10.26; P = 0.042; RTCs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำ ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 14 ธันวาคม 2020

Tools
Information