การให้วิตามิน D เสริมเป็นประโยชน์หรืออันตรายสำหรับสตรีระหว่างตั้งครรภ์

ปัญหาคืออะไร?

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการให้วิตามิน D เสริม ทั้งเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับแคลเซียมหรือวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ระหว่างตั้งครรภ์ จะมีประโยชน์หรือเป็นอันตรายสำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือบุตรหรือไม่

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

วิตามิน D เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกระดูก การทำงานของกล้ามเนื้อ การนำเส้นประสาท และการทำงานของเซลล์ทั่วไป ระดับวิตามิน D ที่ต่ำในกระแสเลือดของสตรีตั้งครรภ์สัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นที่มาว่าการให้วิตามิน D เสริมระหว่างตั้งครรภ์อาจจะจำเป็น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

มีการศึกษาอะไรในการทบทวนวรรณกรรรมนี้

การศึกษานี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Cochrane หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2012 และมีการปรับปรุงอีกครั้งในปี 2016 รีวิวนี้ประเมินผลของการเสริมวิตามิน D เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับ micronutrients อื่นๆสำหรับสตรีในระหว่างตั้งครรภ์เปรียบเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง โดยไม่คำนึงถึงปริมาณ ระยะเวลาหรือเวลาของการเริ่มต้นของการเสริม หรือชนิดของการเสริม (รับประทานหรือโดยการฉีด)

เราพบข้อมูลเชิงประจักษ์อะไรบ้าง

เราค้นหาหลักฐาน (ถึงกรกฎาคม 2018) และพบ 30 การศึกษา (สตรี 7033 ราย) สำหรับการรวมในการปรับปรุงนี้

หลักฐานจาก 22 การศึกษาในสตรตั้งครรภ์ 3725 รายแนะนำว่าการเสริมวิตามิน D เพียงอย่างเดียวในระหว่างตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของ ครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และความเสี่ยงของการมีทารกที่มีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซงและอาจทำให้เกิดความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีผลในการคลอดก่อนกำหนด อาจลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา เช่นภาวะตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีข้อสังเกตว่าผลนี้เป็นที่ไม่คาดคิดและขึ้นอยู่กับการศึกษาเดียว

หลักฐานจากเก้าการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ 1916 รายแนะนำว่าการเสริมวิตามิน D และแคลเซียมอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนี้ควรเป็นข้อพิจารณาในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการเสริมแคลเซียม

หลักฐานจากหนึ่งการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ 1300 ราย แนะนำว่าการเสริมวิตามิน D ร่วมกับสารอาหารอื่นๆอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันต่อความเสี่ยงที่ประเมิน

ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดาไม่ได้ศึกษาในการศึกษาส่วนใหญ่

หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร

การให้วิตามิน D เสริมเพียงอย่างเดียวในสตรีตั้งครรภ์อาจช่วยลดความเสี่ยงของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยและความเสี่ยงของการตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง ส่งผลเล็กน้อยหรือไม่เกิดความแตกต่างของการคลอดก่อนกำหนดที่น้อยกว่าอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ การเสริมวิตามิน D ร่วมกับแคลเซียมอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดที่น้อยกว่าอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ (ผลการศึกษานี้ควรมีการศึกษาเพิ่มในอนาคต) การเสริมวิตามิน D ร่วมกับสารอาหารอื่นๆอาจส่งผลเล็กน้อยหรือไม่เกิดความแตกต่างในความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย (น้อยกว่า 2500 กรัม) และผลต่อโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดาไม่ชัดเจน ควรมีการทดลองแบบสุ่มที่มีขนาดใหญ่เพิ่มเติมเพื่อประเมินผลของการเสริมวิตามิน D ในสตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาผลของความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เรารวบรวม 30 การศึกษา (สตรี 7033 ราย) ในการเปรียบเทียบสามแบบ การประเมิน GRADE อยู่ในระดับปานกลางจนถึงระดับต่ำมาก การลดระดับคุณภาพเนื่องจากข้อจำกัดในการออกแบบการศึกษา, imprecision และ indirectness

การให้วิตามิน D เสริมเพียงอย่างเดียวในสตรีตั้งครรภ์อาจช่วยลดความเสี่ยงของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานระหว่างตั้งครร์, ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยและความเสี่ยงของการตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง ส่งผลเล็กน้อยหรือไม่เกิดความแตกต่างของการคลอดก่อนกำหนดที่น้อยกว่าอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ การเสริมวิตามิน D ร่วมกับแคลเซียมอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดที่น้อยกว่าอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ (ผลการศึกษานี้ควรมีการศึกษาเพิ่มในอนาคต) การเสริมวิตามินD ร่วมกับสารอาหารอื่นๆอาจส่งผลเล็กน้อยหรือไม่เกิดความแตกต่างในความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ < 37 สัปดาห์หรือทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย (น้อยกว่า2500กรัม) ควรมีการทดลองแบบสุ่มที่มีขนาดใหญ่เพิ่มเติมเพื่อประเมินผลของการเสริมวิตามิน D ในสตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาผลของความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การให้วิตามิน D เสริมในระหว่างตั้งครรภ์อาจจำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดผลการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ นี่คือการปรับปรุงของรีวิวที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2012 และปรับปรุงอีกครั้งในปี 2016

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าวิตามิน D เสริมเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับแคลเซียมหรือวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆทีให้กับสตรีในระหว่างตั้งครรภ์สามารถปรับปรุงผลของมารดาและทารกแรกเกิดได้อย่างปลอดภัย

วิธีการสืบค้น: 

ในการปรับปรุงนี้เราสืบค้นหลักฐานจาก Cochrane Pregnancy and Childbirth’s Trials Register (12 กรกฎาคม 2018) ติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง (15 พฤษภาคม 2018) เอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่สืบค้นมาได้ และการศึกษาที่ลงทะเบียนใน clinicaltrials.gov และ WHO International Clinical Trials Registry Platform (12 กรกฎาคม 2018) บทคัดย่อที่ถูกรวมไว้ถ้ามีข้อมูลเพียงพอที่จะดึงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

Randomised and quasi-randomised trials ที่ประเมินผลของการเสริมด้วยวิตามิน D เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับ micronutrients อื่นๆสำหรับสตรีในระหว่างตั้งครรภเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้รีวิวสองคนดำเนินการอย่างเป็นอิสระต่อกันในการ i) ประเมินคุณสมบัติของการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้า, ii) ดึงข้อมูลจากการศึกษาที่รวบรวมมา และ iii) ประเมินความเสี่ยงของอคติของการศึกษา ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม 30 การศึกษา (สตรี 7033 ราย) คัดออก 60 การศึกษา พบหกการศึกษาที่กำลังดำเนินการและ สองการศึกษาที่กำลังรอการประเมิน

การให้วิตามิน D เสริมเพียงอย่างเดียวเทียบกับยาหลอก/ไม่มีการแทรกแซง

การศึกษาทั้งหมด 22 การศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ 3725 รายถูกรวมอยู่ในการเปรียบเทียบนี้ 19 การศึกษามีความเสี่ยงของการเกิดอคติของงานวิจัยในระดับต่ำถึงปานกลาง และ สามการศึกษาได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติของงานวิจัย การให้วิตามิน D เสริมเพียงอย่างเดียวในระหว่างตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ (risk ratio (RR) 0.48, 95% confidence interval (CI) 0.30 ถึง 0.79; 4 การศึกษา, สตรี 499 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับปานกลาง) และโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ((RR 0.51, 95% CI 0.27 ถึง 0.97; 4 การศึกษา, สตรี 446 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับปานกลาง); และอาจจะช่วยลดความเสี่ยงของการมีทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวต่ำ (น้อยกว่า2500กรัม) (RR 0.55, 95% CI 0.35 ถึง 0.87; 5 การศึกษา, สตรี 697 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับปานกลาง) เมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง การให้วิตามิน D เสริมอาจส่งผลเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ < 37 สัปดาห์เมื่อเทียบกับไม่มีการแทรกแซงหรือยาหลอก (RR 0.66, 95% CI 0.34 ถึง 1.30; 7 การศึกษา, สตรี 1640 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) ในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา, การให้วิตามิน D เสริม อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง (RR 0.68, 95% CI 0.51 ถึง 0.91; 1 การศึกษา, สตรี 1134 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) มีกรณีของการเกิด แคลเซียมสูงเกินในกระแสเลือด (1 การศึกษา, สตรี 1134 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ), และมีความไม่แน่นอนว่าวิตามิน D เพิ่มหรือลดความเสี่ยงของโรค nephritic (RR 0.17, 95% CI 0.01 ถึง 4.06; 1 การศึกษา, สตรี 135 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำมาก) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลโดยทั่วไปสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดามีน้อยมาก จึงไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้

การให้วิตามิน D เสริมร่วมกับแคลเซียม เทียบกับยาหลอก/ไม่มีการแทรกแซง

เก้าการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ 1916 ราย รวมอยู่ในการเปรียบเทียบนี้; สามการศึกษามีความเสี่ยงของการเกิดอคติของงานวิจัยในระดับต่ำสำหรับ allocation และ blinding, สี่การศึกษาได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติของงานวิจัย และ สองการศึกษาได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำ สูง และไม่ชัดเจนของการเกิดอคติของงานวิจัยในประเด็นต่างๆ การให้วิตามิน D เสริมร่วมกับแคลเซียมในระหว่างตั้งครรภ์อาจช่วยลดความเสี่ยงของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ (RR 0.50, 95% CI 0.32 ถึง 0.78; 4 การศึกษา, สตรี 1174 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับปานกลาง) ผลไม่แน่นอน เกี่ยวกับการเกิดโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (RR 0.33, 95% CI 0.01 ถึง 7.84; 1 การศึกษา, สตรี 54 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำมาก); และการมีทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวต่ำ (น้อยกว่า2500กรัม) (RR 0.68, 95% CI 0.10 ถึง 4.55; 2 การศึกษา, สตรี 110 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำมาก) เมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง การให้วิตามิน D เสริมร่วมกับแคลเซียมในระหว่างตั้งครรภอาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ < 37 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง (RR 1.52, 95% CI 1.01 ถึง 2.28; 5 การศึกษา, สตรี 942 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) ไม่มีการศึกษาในการเปรียบเทียบนี้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา

การให้วิตามิน D เสริม + แคลเซียม + วิตามินอื่นๆและแร่ธาตุ เทียบกับแคลเซียม + วิตามินอื่นๆและแร่ธาตุ (แต่ไม่มีวิตามิน D)

หนึ่งการศึกษาทำในสตรี 1300 รายรวมอยู่ในการเปรียบเทียบนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำของการเกิดอคติของงานวิจัย ไม่มีการประเมินเรื่องภาวะครรภ์เป็นพิษ การให้วิตามิน D เสริม+ สารอาหารอื่นๆอาจส่งผลเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ < 37 สัปดาห์ (RR1.04, 95% CI 0.68 ถึง 1.59; 1 การศึกษา, สตรี 1298 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ); หรือ การมีทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวต่ำ (น้อยกว่า2500กรัม) (RR 1.12, 95% CI 0.82 ถึง 1.51; 1 การศึกษา, สตรี 1298 ราย, คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) ผลไม่เป็นที่ชัดเจนต่อการเกิดความเสี่ยงของโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (RR 0.42, 95% CI 0.10 ถึง 1.73) หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา (ไม่พบภาวะ hypercalcemia; hypercalciuria RR 0.25, 95% CI 0.02 ถึง 3.97; 1 การศึกษา, สตรี 1298 ราย) เพราคุณภาพของหลักฐานงานวิจัยสำหรับทั้งสองกรณีอยู่ในระดับต่ำมาก

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล พญ.นันทสิริ เอี่ยมอุดมกาล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information