ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวระยะลุกลามหรือไม่

ประเด็นคืออะไร
มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian cancer) เกิดจากเซลล์ที่ชั้นผิวของรังไข่หรือเยื่อบุท่อนำไข่ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับเก้าในสตรีทั่วโลก และเป็นชนิดของโรคมะเร็งรังไข่ที่พบมากที่สุด (ประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด) เป็นที่น่าเสียดายว่าสตรีส่วนใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่มักได้รับการวินิจฉัยมื่อตัวโรคอยู่ในระยะท้ายแล้ว ซึ่งมะเร็งได้แพร่กระจายไปทั่วช่องท้อง เนื่องจากมะเร็งรังไข่มักเกิดขึ้นจากส่วนปลายของท่อนำไข่ ที่ซึ่งเซลล์มะเร็งเพียงเซลล์เดียวสามารถหลุดเข้าไปในช่องท้องได้ แม้ว่าขณะนั้นตัวมะเร็งหลักยังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ตาม เซลล์เหล่านี้จะไหลเวียนไปรอบๆ ช่องท้องตามของเหลวในช่องท้อง และไปฝังตัวตามตำแหน่งอื่นๆ และเติบโตขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจนกว่าจะทำให้เกิดอาการ เช่น ท้องอืด และอาการผิดปกติของลำไส้ (มักพบอาการท้องผูกได้บ่อยที่สุด) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและมักทำให้เข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคที่ไม่เป็นอันตราย ในยุโรปและสหราชอาณาจักร มีผู้หญิงมากกว่าหนึ่งในสามที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ มีชีวิตอยู่ห้าปีหลังจากการวินิจฉัย

การรักษาโรคมะเร็งรังไข่โดยทั่วไปประกอบด้วย 2 วิธีคือ การผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด จุดมุ่งหมายของการผ่าตัดคือ การประเมินระยะของโรค (ประเมินว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปที่ใดบ้าง) และเพื่อนำเอาก้อนมะเร็งที่มองเห็นออกไปให้ได้มากที่สุด (เรียกว่า debulking หรือ cytoreduction) ซึ่งมักจะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้หมดจนไม่มีรอยโรคที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเหลือในช่องท้อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสตรีส่วนใหญ่มักอยู่ในระยะที่โรคแพร่กระจาย การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวมักไม่สามารถจะรักษาโรคให้หายได้และส่วนใหญ่จะต้องใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งรังไข่จะใช้ยาในกลุ่ม platinum-based เพื่อกำจัดเซลล์ที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ (รอยโรคที่มองเห็นด้วยตาเปล่า) หรือมีขนาดเล็กเกินไปที่จะเห็น (รอยโรคที่มองเห็นจากกล้องจุลทรรศน์) ตามวิธีดั้งเดิม การให้เคมีบำบัดจะให้หลังการผ่าตัด (การผ่า ตัด debulking เบื้องต้น (PDS) และเคมีบำบัดแบบเสริม) อย่างไรก็ตาม การให้ยาเคมีบำบัดสามารถนำมาใช้ก่อนการผ่าตัดได้ (เรียกว่า neoadjuvant chemotherapy; NACT) และทำการผ่าตัดหลังจากการให้ยาเคมีบำบัด (interval debulking surgery; IDS) เพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงและช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดใหญ่ สตรีที่ได้รับ NACT และ IDS จะทำเคมีบำบัดที่เหลือต่อไปหลังการผ่าตัด

เราทำอะไร
เราค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จนถึงเดือนตุลาคม 2020 และทำการค้นหาด้วยมือสำหรับรายงานการทดลองที่ไม่ได้เผยแพร่ และได้รวบรวมการทดลองแบบ randomised controlled trials ของ NACT และ IDS เปรียบเทียบกับการผ่าตัด (primary debulking surgery; PDS) และตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ในสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อบุรังไข่ระยะลุกลามและรวมผลของการศึกษาเข้าด้วยกันหากสามารถทำได้

เราพบอะไร
เราพบชื่อเรื่องและบทคัดย่อ 2227 รายการ จากการค้นหา จากข้อมูลเหล่านี้ เราพบ RCTs 5 เรื่องซึ่งตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา ซึ่งรวมถึงสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามทั้งหมด 1774 คน ผู้วิจัยสามารถที่จะรวมผลข้อมูลจากการศึกษา 4 ฉบับ เข้าด้วยกัน การศึกษาเหล่านี้เปรียบเทียบสตรีที่ได้รับยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด (NACT) กับสตรีที่ผ่าตัดก่อน (PDS) แล้วค่อยได้รับยาเคมีบำบัด ผู้วิจัยไม่พบความแตกต่างหรือพบน้อยระหว่างการรักษาสองแบบนี้ ในแง่ของระยะเวลารอดชีวิตหรือระยะเวลาที่โรคสงบ เราพบว่าการให้ NACT ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตหลังผ่าตัดและความจำเป็นในการสร้างรูสโตมา ซึ่งมีความแน่นอนสูง ผู้วิจัยพบว่าการให้ NACT อาจจะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างของการผ่าตัด แต่ข้อมูลเหล่านี้มีรายงานน้อยในการศึกษาที่รวบรวมมา ดังนั้นจึงมีความเชื่อมั่นต่ำเกี่ยวกับผลเหล่านี้ การศึกษาทำเฉพาะในสตรีที่มีระยะของโรคมะเร็งรังไข่อยู่ที่ระยะ IIIc/IV คือ ระยะลุกลาม; สตรีส่วนใหญ่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่มาก ขณะนี้ เรากำลังรอผลการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่จำนวน 3 ฉบับ และสิ่งพิมพ์ฉบับสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้เผยแพร่ 1 ฉบับ ซึ่งกำลังรอการจำแนกประเภท ซึ่งหวังว่าจะมีส่วนสนับสนุนหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติทางคลินิกในด้านนี้ในอนาคต

สิ่งนี้หมายความว่าอะไร
โดยรวมแล้ว หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลางถึงสูง มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในระยะเวลาที่ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวระยะลุกลามจะอยู่รอดได้ หากพวกเขาได้รับเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดก่อน โดยจะมีการวางแผนการรักษาทั้งสองแบบ อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในระยะเวลาที่มะเร็งจะเกิดขึ้นใหม่หลังการรักษาครั้งแรก อย่างไรก็ดี วิธี NACT อาจลดความเสี่ยงบางอย่างของการผ่าตัด และอาจจะลดโอกาสได้ครึ่งหนึ่งของการที่จะต้องมีการตัดลำไส้และ/หรือการเปิดลำไส้ผ่านผนังหน้าท้องเพื่อให้มีการขับถ่าย (มีถุงที่แนบมากับผนังหน้าท้องเพื่อเก็บอุจจาระ) ดังนั้น วิธี NACT/IDS เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากการทำ PDS และตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดในสตรีที่มีรอยโรคขนาดใหญ่ในโรคระยะ IIIc/IV ซึ่งการตัดสินใจในแผนการรักษาว่าจะทำสิ่งใดก่อนขึ้นกับความต้องการของแต่ละบุคคล, สุขภาพของสตรีขณะที่ได้รับการวินิจฉัย, ความเสี่ยงของการผ่าตัด และการกระจายของโรค

บทนำ

ในสตรีส่วนใหญ่ มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian cancer) มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งสตรีกลุ่มนี้ต้องได้รับการผ่าตัดและเคมีบำบัดเพื่อเป็นการรักษาที่เหมาะสม การรักษาแบบดั้งเดิมคือทำการผ่าตัดก่อนแล้วให้ยาเคมีบำบัดตามหลัง อย่างไรก็ตาม การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดก็อาจมีประโยชน์เช่นกัน

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินว่าในการรักษาสตรีที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวระยะลุกลามนั้น การให้ยาเคมีบำบัดก่อนที่จะผ่าตัด (neoadjuvant chemotherapy; NACT) มีประโยชน์หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบเดิมที่ให้ยาเคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัด (primary debulking surgery; PDS)

วิธีการสืบค้น

เราค้นหาฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2020: Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), Embase via Ovid, MEDLINE (Silver Platter/Ovid), PDQ และ MetaRegister นอกจากนี้ยังตรวจสอบในเอกสารอ้างอิงของรายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาการศึกษาอื่นๆ ต่อไป และมีการติดต่อผู้วิจัยหลักของการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ในสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวระยะลุกลาม (Federation of International Gynaecologists and Obstetricians (FIGO) stage III/IV) ที่ถูกสุ่มเข้ากลุ่มที่ให้ยาเคมีบำบัดแบบ platinum-based ก่อนที่จะผ่าตัด กับกลุ่มที่ให้ยาเคมีบำบัดแบบ platinum-based หลังการผ่าตัด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนต่างดึงข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของแต่ละการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราดึงข้อมูลการอยู่รอดโดยรวม (OS) และการอยู่รอดที่ปราศจากการลุกลาม (PFS) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดและการเจ็บป่วย และคุณภาพชีวิต ใช้วีธี GRADE เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ผลการวิจัย

เราพบชื่อเรื่องและบทคัดย่อจำนวน 2227 รายการจากการค้นหาของเรา โดยมี RCT 5 ฉบับที่มีคุณภาพและขนาดต่างกันตรงตามเกณฑ์การคัดเลือก การศึกษาเหล่านี้ประเมินสตรี 1774 รายที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะ IIIc/IV สุ่มเป็น NACT ตามด้วยการผ่าตัด (IDS) หรือ PDS ตามด้วยเคมีบำบัด เรารวบรวมผลการศึกษาสี่เรื่องที่มีข้อมูลและพบว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในเรื่องการรอดชีวิตโดยรวม (OS) (อัตราส่วนอันตราย (HR) 0.96, 95% CI 0.86 ถึง 1.08; ผู้เข้าร่วม = 1692 คน; การศึกษา = 4 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง ) หรือการอยู่รอดที่ปราศจากการลุกลามของโรคในการทดลอง 4 ฉบับที่เรารวบรวมข้อมูลได้ (Hazard Ratio 0.98, 95% CI 0.88 ถึง 1.08; ผู้เข้าร่วม = 1692 คน; การศึกษา = 4 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

ผลลัพธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์, ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และคุณภาพชีวิต (quality of life; QoL) มีรายงานแต่ไม่สมบูรณ์ในแต่ละการศึกษา อาจมีความแตกต่างที่สำคัญทางคลินิกเกี่ยวกับข้อดีของวิธีที่ให้ NACT เมื่อเทียบกับ PDS ในแง่ของผลข้างเคียงที่รุนแรง (ระดับ 3 +) 6% ในกลุ่ม NACT เทียบกับ 29% ในกลุ่ม PDS (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.22, 95% CI 0.13 ถึง 0.38; ผู้เข้าร่วม = 435 คน; การศึกษา = 2 ฉบับ; ดัชนีความแตกต่าง (I2) = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) NACT อาจส่งผลใหเกิดรูเปิดต่างๆ จากการผ่าตัด ลดลงอย่างมาก: 5.9% ในกลุ่ม NACT เทียบกับ 20.4% ในกลุ่ม PDS (RR 0.29, 95% CI 0.12 ถึง 0.74; ผู้เข้าร่วม = 632 คน; การศึกษา = 2 ฉบับ; I 2 = 70%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการที่ต้องตัดลำไส้ออกในขณะที่ทำการผ่าตัด: 13.0% ในกลุ่ม NACT เทียบกับ 26.6% ในกลุ่ม PDS (RR 0.49, 95% CI 0.30 ถึง 0.79; ผู้เข้าร่วม = 1565 คน; การศึกษา = 4 ฉบับ; I2 = 79%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) NACT ลดอัตราการเสียชีวิตหลังผ่าตัด: 0.6% ในกลุ่ม NACT เทียบกับ 3.6% ในกลุ่ม PDS (RR 0.16, 95% CI 0.06 ถึง 0.46; ผู้เข้าร่วม = 1623 คน; การศึกษา = 5 ฉบับ; I2 = 0%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูง) คุณภาพชีวิต (QoL) ของ European Organisation for the Research and Treatment of Cancer Quality of Life Questionnaire (EORTC QLQ-C30) scale ให้ผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกันและไม่แม่นยำในการศึกษา 3 ฉบับ (MD -0.29, 95% CI -2.77 ถึง 2.20; ผู้เข้าร่วม = 524 คน; การศึกษา = 3 ฉบับ; I2 = 81%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) แต่หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง และควรตีความด้วยความระมัดระวัง

ข้อสรุปของผู้วิจัย

หลักฐานความเชื่อมั่นสูงถึงปานกลางที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์การรอดชีวิตขั้นต้นระหว่าง PDS และ NACT มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย NACT อาจช่วยลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการผ่าตัด และลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตหลังผ่าตัดและความจำเป็นในการสร้างช่องเปิด ข้อมูลเหล่านี้จะแจ้งให้สตรีและแพทย์ทราบ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับทีมสหสาขาวิชาชีพทางนรีเวช) และช่วยให้มีการปรับการรักษาให้เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยคำนึงถึงความสามารถในการผ่าตัด อายุ เนื้อเยื่อวิทยา ระยะของโรคและสภาวะของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อมูลจากการศึกษาที่ไม่ได้เผยแพร่และการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ที่จะมาเพิ่มเติมในอนาคต

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 6 ธันวาคม 2022

Citation
Shawky M, Choudhary C, Coleridge SL, Bryant A, Morrison J. Neoadjuvant chemotherapy before surgery versus surgery followed by chemotherapy for initial treatment in advanced epithelial ovarian cancer. Cochrane Database of Systematic Reviews 2025, Issue 2. Art. No.: CD005343. DOI: 10.1002/14651858.CD005343.pub7.