ดนตรีบำบัดสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภทและโรคคล้ายจิตเภท

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การให้ดนตรีบำบัดหรือการเพิ่มดนตรีบำบัดในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือโรคคล้ายจิตเภทมีผลอย่างไร

ที่มาและความสำคัญ

ลักษณะของโรคจิตเภทและโรคคล้ายจิตเภทคือความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ และการรับรู้ที่ผิดปกติ ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมักมีอาการหลักสองประเภท ได้แก่ อาการเฉียบพลันของการได้ยินเสียงหรือการเห็นสิ่งต่างๆ (ภาพหลอน) และความเชื่อแปลก ๆ (อาการหลงผิด) และอาการเรื้อรัง เช่น อารมณ์/ภาวะซึมเศร้าต่ำ การถอนตัวทางสังคม และปัญหาด้านความจำ ดนตรีบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ประสบการณ์ทางดนตรีเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตอย่างร้ายแรงปรับปรุงความสามารถทางอารมณ์และความสัมพันธ์ และแก้ไขปัญหาที่พวกเขาอาจไม่สามารถใช้คำพูดเพียงอย่างเดียวได้

การสืบค้นหลักฐาน

เราดำเนินการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์จนถึงเดือนมกราคม 2015 สำหรับการทดลองสุ่มผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือโรคคล้ายจิตเภทเพื่อรับการบำบัดด้วยดนตรีหรือการดูแลตามมาตรฐาน เราพบและตรวจสอบ 176 การศึกษาที่เป็นไปได้

ข้อค้นพบจากหลักฐาน

มี 18 การทดลอง ที่มีผู้เข้าร่วม 1215 คนมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการทบทวนวรรณกรรมและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันมีคุณภาพต่ำถึงปานกลาง ผลการศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าดนตรีบำบัดช่วยปรับปรุงสภาวะโดยรวมและอาจช่วยปรับปรุงสภาพจิตใจ การทำงาน และคุณภาพชีวิตได้หากมีจำนวนครั้งของดนตรีบำบัดเพียงพอ

ข้อสรุป

ดนตรีบำบัดดูเหมือนจะช่วยผู้ที่เป็นโรคจิตเภทได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลในเชิงบวกที่พบในการทบทวนวรรณกรรมนี้ งานวิจัยนี้ควรกล่าวถึงผลระยะยาวของดนตรีบำบัด คุณภาพของดนตรีบำบัดที่จัดให้ และการวัดผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีบำบัดโดยเฉพาะ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานคุณภาพปานกลางถึงต่ำแสดงให้เห็นว่าดนตรีบำบัดเป็นส่วนเสริมของการดูแลมาตรฐานช่วยปรับปรุงสภาพทั่วไป สภาพจิตใจ (รวมถึงอาการทางลบและอาการทั่วไป) การทำงานทางสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือโรคคล้ายจิตเภท อย่างไรก็ตาม ผลไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาและขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของดนตรีบำบัด ตลอดจนคุณภาพของดนตรีบำบัดที่มีให้ การวิจัยเพิ่มเติมควรกล่าวถึงผลระยะยาวของดนตรีบำบัด dose-response relationship และความเกี่ยวข้องของการวัดผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีบำบัด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ดนตรีบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ปฏิสัมพันธ์ทางดนตรีเป็นวิธีการสื่อสารและการแสดงออก ภายในขอบเขตของความผิดปกติทางจิตอย่างร้ายแรง จุดมุ่งหมายของการบำบัดคือการช่วยพัฒนาความสามารถทางอารมณ์และความสัมพันธ์ และแก้ไขปัญหาที่อาจไม่สามารถใช้คำพูดเพียงอย่างเดียวได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อทบทวนผลของดนตรีบำบัดหรือดนตรีบำบัดที่เพิ่มในการดูแลมาตรฐาน เปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยยาหลอก การดูแลมาตรฐาน หรือไม่ได้รับการรักษาสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตอย่างร้ายแรง เช่น โรคจิตเภท

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น Cochrane Schizophrenia Group's Trials Study-Based Register (ธันวาคม 2010 และ 15 มกราคม 2015) และเสริมด้วยการติดต่อผู้ทำการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การค้นหาวารสารดนตรีบำบัดด้วยมือ และการค้นหารายการอ้างอิงด้วยตนเอง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มความคุม (RCTs) ทั้งหมดที่เปรียบเทียบดนตรีบำบัดกับการดูแลแบบมาตรฐาน การรักษาด้วยยาหลอก หรือไม่ได้รับการรักษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคัดเลือก ประเมินคุณภาพ และคัดลอกข้อมูลการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราไม่รวมข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมในกลุ่มมากกว่า 30% สูญเสียการติดตาม เราสังเคราะห์ข้อมูลปลายทางต่อเนื่องที่ไม่เบี่ยงเบนจากมาตราส่วนที่ถูกต้องโดยใช้ค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) เราใช้ fixed-effect model สำหรับการวิเคราะห์ทั้งหมด หากพบ statistical heterogeneity เราจะตรวจสอบขนาดของการรักษา (เช่น จำนวนครั้งของการรักษา) และแนวทางการรักษาซึ่งเป็นแหล่งที่เป็นไปได้ของความแตกต่าง

ผลการวิจัย: 

มีการเพิ่มการศึกษาใหม่ 10 รายการในการปรับปรุงนี้ ขณะนี้มี 18 การศึกษา ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1215 คน ตรวจสอบผลของดนตรีบำบัดในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีขนาดของการรักษาที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ 7 ถึง 240 ครั้ง โดยรวม ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำหรือไม่ชัดเจน

ดนตรีบำบัดพบว่ามีผลในเชิงบวกต่อสภาวะโดยรวมเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐาน (ระยะกลาง, 2 RCTs, n = 133, RR 0.38, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.24 ถึง 0.59, หลักฐานคุณภาพต่ำ, จำนวนที่จำเป็นต้องการรักษาสำหรับ 1 ผลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม NNTB 2, 95% CI 2 ถึง 4) ไม่มีข้อมูลแบบ binary สำหรับผลลัพธ์อื่นๆ ข้อมูลแบบต่อเนื่องระยะกลางพบผลที่ดีสำหรับดนตรีบำบัดต่ออาการทางลบโดยใช้ the Scale for the Assessment of Negative Symptoms (3 RCTs n = 177, SMD - 0.55, 95% CI -0.87 ถึง -0.24,หลักฐานคุณภาพต่ำ) คะแนน ณ จุดสิ้นสุดของสภาพจิตทั่วไปโดยใช้ Positive and Negative Symptoms Scale ดีกว่าสำหรับดนตรีบำบัด (2 RCTs, n = 159, SMD -0.97 95% CI -1.31 ถึง -0.63, หลักฐานคุณภาพต่ำ ) เช่นเดียวกับคะแนน ณ จุดสิ้นสุดเฉลี่ยใน the Brief Psychiatric Rating Scale (1 RCT, n = 70, SMD -1.25 95% CI -1.77 ถึง -0.73, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) คะแนนเฉลี่ย ณ จุดสิ้นสุดระยะกลางโดยใช้ Global Assessment of Functioning ไม่มีผลสำหรับดนตรีบำบัดต่อการทำงานทั่วไป (2 RCTs, n = 118, SMD -0.19 CI -0.56 ถึง 0.18, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) อย่างไรก็ตาม ดนตรีบำบัดมีผลในเชิงบวกทั้งในด้านการทำงานทางสังคม (Social Disability Screening Schedule scores; 2 RCTs, n = 160, SMD -0.72 95% CI -1.04 ถึง -0.40) และคุณภาพชีวิต (General Well-Being Schedule scores: 1 RCT, n = 72, SMD 1.82 95% CI 1.27 ถึง 2.38, หลักฐานคุณภาพปานกลาง ) ไม่มีข้อมูลสำหรับผลแทรกซ้อน การใช้บริการ การมีส่วนร่วมกับบริการ หรือต้นทุน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแกน 18 กรกฎาคม 2021

Tools
Information